อุปกรณ์ป้องกันด้านข้างรูปแบบต่างๆ ที่ใช้กระบวนการออกแบบแบบผสานความคิด

ชื่อต้นแบบ

ต้นแบบอุปกรณ์ป้องกันด้านข้างของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ (LUPD)

อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งคือการมุดลอดใต้รถบรรทุกจากด้านข้าง ผู้ผลิตและผู้ประกอบการรถบรรทุกในประเทศหลายรายจึงติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันด้านข้าง หรือ Lateral Underrun Protection Device (LUPD) อย่างไรก็ดีอุปกรณ์ดังกล่าวนี้ยังไม่แพร่หลาย ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ขาดการใช้ความรู้เชิงวิศวกรรมในการออกแบบ อีกทั้งรถบรรทุกในปัจจุบันยังมีลักษณะแตกต่างกันถึง 9 แบบ ดังนั้น หากจะมีการประกาศกฎหมายเพื่อบังคับใช้จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาให้ครอบคลุมเสียก่อน

ทีมวิจัยเอ็มเทคร่วมกับกรมการขนส่งทางบกและตัวแทนผู้ผลิตในการนำมาตรฐานอุปกรณ์ป้องกันการชนด้านข้าง UN R73 มาพัฒนาอุปกรณ์ LUPD  โดยใช้กระบวนการออกแบบแบบผสานความคิด (morphological matrix) ที่คำนึงถึงฟังก์ชันย่อยทั้งหมดของอุปกรณ์ป้องกัน กระบวนการนี้ทำให้มีตัวเลือกของอุปกรณ์ที่หลากหลายเหมาะกับรถบรรทุกหลายประเภท โดยมีความแข็งแรงเป็นไปตามมาตรฐาน UN R73  สามารถผลิตขึ้นจากวัสดุที่หาได้ภายในประเทศและใช้กระบวนการผลิตที่ผู้ผลิตในประเทศทั่วไปทำได้ ตลอดจนมีต้นทุนไม่สูงสามารถแข่งขันได้

ปัจจุบันทีมวิจัยได้ส่งมอบแบบเชิงวิศวกรรมของอุปกรณ์ป้องกันการชนด้านข้างจำนวน 18 แบบ ที่ผู้ผลิตทั่วประเทศสามารถเข้าถึงได้เชิงสาธารณประโยชน์ รวมถึงร่างข้อกำหนดสำหรับการออกแบบ การตรวจสอบ การทดสอบและรับรองการติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันด้านข้าง เพื่อให้กรมการขนส่งทางบกใช้เป็นข้อมูลในการออกข้อกำหนดบังคับ ซึ่งมีแผนที่จะประกาศใช้ในปี พ.ศ.2567 ทั้งนี้ในปัจจุบัน (พ.ศ.2565) มีผู้ผลิตรายหลายได้นำไปประยุกต์ใช้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ทีมวิจัยยังได้พัฒนาแท่นทดสอบความแข็งแรงของอุปกรณ์ป้องกันด้านข้างตามมาตฐาน UN R73 พร้อมทั้งจัดเตรียมสถานที่ทดสอบกลางสำหรับใช้ทดสอบอุปกรณ์ป้องกันด้านท้ายในกรณีที่ผู้ผลิตมีความประสงค์ หรือมีศักยภาพในการพัฒนาอุปกรณ์ดังกล่าว ซึ่งจะมีส่วนช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันของผู้ผลิตในประเทศได้อีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้นำมาตรฐานนี้เข้าพิจารณาร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอุปกรณ์ป้องกันด้านข้างยานยนต์ ตามมาตรฐานเลขที่ มอก. 2348-25xx ซึ่งมีตัวแทนจากคณะวิจัยเป็นหนี่งในคณะอนุกรรมการด้วย

ทีมวิจัย

ดร.ศราวุธ เลิศพลังสันติ, ณรงค์  พิทักษ์ทรัพย์สิน, พีรกิตติ์ วิริยะรัตนศักดิ์, ณรงค์ฤทธิ์ สืบนันตา, ดร.ฉัตรชัย  ศรีสุรางค์กุล, เศรษฐลัทธ์ แปงเครื่อง, ประสิทธิ์ วัฒนวงศ์สกุล, รัตนสุดา แนวเงินดี และ ดร.สุธี โอฬารฤทธินันท์

© 2022 All rights reserved​

ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ

Print Friendly, PDF & Email