Magik Growth

Stakeholder

บริษัท สาลี่ คัลเล่อร์ จำกัด (มหาชน)

พีรพันธ์ จิวะพรทิพย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สาลี่ คัลเล่อร์ จำกัด (มหาชน)

Stakeholder Interview

บริษัท สาลี่ คัลเล่อร์ จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปพลาสติกที่ดำเนินธุรกิจออกแบบและผลิตเม็ดพลาสติกผสมสีและสารปรุงแต่งแบบเข้มข้น (masterbatch), เม็ดพลาสติกผสมสีและสารปรุงแต่งสำเร็จรูป (compound) และสีผสมพลาสติกชนิดผงสำเร็จรูป (dry colorants)  ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี บริษัทฯ ได้พัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถและมีประสบการณ์ในการผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์ในทุกกลุ่มการใช้งาน เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าและการขยายตัวของตลาดทั้งในและต่างประเทศ

คุณพีรพันธ์ จิวะพรทิพย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สาลี่ คัลเล่อร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงจุดเริ่มต้นที่ได้ร่วมมือกับศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ว่า “เนื่องจากประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตและส่งออกพลาสติกรายใหญ่ของโลก ทำให้เราเห็นแนวโน้มว่าในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจพลาสติกมีการเติบโตที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ทีมผู้บริหารของบริษัทฯ จึงได้วางกลยุทธ์ระยะยาวที่จะขยายธุรกิจไปยังผลิตภัณฑ์ที่มีการใช้งานในกลุ่มที่มีศักยภาพในการเติบโต ได้แก่ พลังงานทางเลือก อุตสาหกรรมก่อสร้าง การแพทย์ เกษตรกรรมและอาหาร”

“เมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้ว ผมได้ทราบข่าวทางอีเมลว่า สวทช. จะจัดงานประชุมวิชาการประจำปี 2017 (NAC2017) ในปีนั้นมีหัวข้อสัมมนาด้านการเกษตรที่น่าสนใจ ซึ่งสอดคล้องกับกลยุทธ์ของบริษัทฯ ที่วางไว้ ผมจึงคุยกับทีมงาน ประกอบกับทีมงานรู้จัก ดร.ณัฐภพ (สุวรรณเมฆ) อยู่แล้ว เนื่องจากเป็นลูกค้าที่ซื้อวัตถุดิบของบริษัทไปใช้ในการผลิตต้นแบบ เราจึงนัดพบกันที่งาน NAC2017 เพื่อพูดคุยเรื่องแนวคิด (concept) ของนวัตกรรม Magik Growth ซึ่งบริษัทฯ เห็นความเป็นไปได้ที่จะขยายผลไปสู่เชิงพาณิชย์ จึงเป็นที่มาของการรับถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้”

 

คุณพีรพันธ์กล่าวถึงขั้นตอนการรับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตนวัตกรรม Magik Growth ว่า “ภายหลังจากเซ็นสัญญา ดร.ณัฐภพ ก็ช่วยสนับสนุนข้อมูลต่างๆ ถ่ายทอดสูตรที่ใช้ผลิต คุณสมบัติของ Magik Growth ผลจากแปลงทดลองที่ศึกษากับพืชชนิดต่างๆ รวมถึงการนำผลการศึกษาไปนำเสนอแก่เกษตรกร ข้อแนะนำการใช้งานและประโยชน์ที่เกษตรกรจะได้รับ เพื่อให้เกษตรกรมั่นใจว่าการใช้ Magik Growth คุ้มค่า เพราะสามารถช่วยให้ผลผลิตมีคุณภาพดีขึ้น มีต้นทุนโดยรวมลดลง มีรูปลักษณ์ที่สวยงามทำให้ขายได้ในราคาสูง ส่วนเรื่องการผลิตนั้น  เนื่องจากบริษัทฯ เป็นผู้ผลิตสีและวัตถุดิบอยู่แล้ว ดังนั้น จึงไม่ได้เน้นการรับถ่ายทอดเทคโนโลยีในส่วนนี้”

เมื่อถามถึงบทบาทของบริษัทฯ ในห่วงโซ่คุณค่า คุณพีรพันธ์กล่าวว่า “บริษัทฯ เป็นผู้ผลิตวัตถุดิบ เช่น เม็ดสีและเม็ดพลาสติกผสมสารปรุงแต่งสำเร็จรูป จากนั้นจึงส่งให้ลูกค้าของบริษัทฯ ผลิตเป็นผ้าแบบไม่ถักไม่ทอ (non-woven) เพื่อส่งต่อให้บริษัทภายนอก (outsource) ที่เชี่ยวชาญด้านการตัดเย็บเพื่อเย็บเป็นถุง  ส่วนการจัดจำหน่ายมี 2 ช่องทางคือ บริษัทฯ จำหน่ายเอง และผ่านตัวแทนที่จำหน่ายวัสดุทางการเกษตร”

อย่างไรก็ดี ธุรกิจด้านการเกษตรถือเป็นกลุ่มการใช้งานใหม่ของบริษัทฯ การดำเนินการจึงมีรูปแบบที่แตกต่างจากเดิม กล่าวคือ การดำเนินการแบบเดิมส่วนใหญ่บริษัทฯ จะผลิตสินค้าตามความต้องการจากลูกค้า เนื่องจากมีตลาดรองรับที่แน่นอนอยู่แล้ว แต่ Magik Growth เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ของบริษัทฯ จึงยังไม่มีตลาดรองรับ

คุณพีรพันธ์เปิดเผยว่า “ในช่วงแรกก็มีความกังวล เพราะเราไม่ได้ขายสินค้าเกษตรมาแต่เดิม อีกทั้งไม่มีผู้ที่เชี่ยวชาญทางด้านเกษตรจึงไม่รู้ว่าจะอธิบายเกษตรกรอย่างไร ทั้งยังเคยได้รับทราบมาว่าโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการขยายไปสู่เชิงพาณิชย์มีค่อนข้างน้อย แต่เมื่อได้ร่วมงานกับเอ็มเทค บริษัทฯ ก็ได้รับการสนับสนุนในด้านต่างๆ จากนักวิจัย รวมถึงเกษตรกรที่ร่วมทำแปลงทดลองที่เป็นเครือข่ายของเอ็มเทคด้วย”

“บริษัทฯ ต้องการมีผลการวิจัยมากขึ้นในส่วนที่เกี่ยวกับผลิตผลทางการเกษตร เช่น ผลไม้ จากเดิมเน้นที่มะม่วง ขยายมาที่เมล่อน และล่าสุดก็ทุเรียน หรือดอกไม้ และกล้วยไม้ส่งออก เราจึงต้องการเครือข่ายที่จะร่วมทำแปลงทดลองด้วย ประจวบเหมาะที่เอ็มเทครู้จักสวนทุเรียนที่ระยองจึงได้ไปทดลองที่นั่น การที่เรามีพันธมิตรเพิ่มขึ้น มีคนสนใจมากขึ้น ก็เปรียบเสมือนกับมีตัวจิ๊กซอว์ที่ช่วยให้ภาพสมบูรณ์ขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถเดินต่อไปได้เร็วขึ้น” คุณพีรพันธ์กล่าวเสริม

สำหรับความคาดหวังที่มีต่อผลิตภัณฑ์ Magik Growth คุณพีรพันธ์กล่าวว่า “ความคาดหวังแรกคือ การเป็นที่รู้จักในธุรกิจด้านเกษตรซึ่งจะช่วยให้เราสามารถต่อยอดไปได้ ปัจจุบันเราเริ่มมีข้อมูล พันธมิตร ลูกค้า และมีผลงานวิจัยมากขึ้น ความหวังต่อไปคือการพัฒนาให้เกิดการใช้งานที่แพร่หลายมากขึ้นทั้งในแง่การเพิ่มพื้นที่ใช้งานและจำนวนครัวเรือนของเกษตรกรที่ใช้ผลิตภัณฑ์ หากมองภาพรวมของการทำงานที่ผ่านมาถือว่าเราประสบความสำเร็จประมาณหนึ่งซึ่งก็เกินความคาดหวังที่ตั้งไว้”

ในอนาคตหากเอ็มเทคมีงานวิจัยที่ตรงกับทิศทางและกลยุทธ์ของบริษัทฯ ก็น่าจะมีความร่วมมือกันต่อไป คุณพีรพันธ์กล่าวว่า “เนื่องจากเราเป็นองค์กรธุรกิจ ย่อมต้องการให้ธุรกิจเติบโตและมีผลประกอบการที่ดี เราจึงพยายามติดตามความก้าวหน้าของงานวิจัยและนวัตกรรมอย่างสม่ำเสมอ การแข่งขันในตลาดเดิมๆ ถ้าคู่แข่งเพิ่มขึ้น ยอดขายลดลง กำไรก็ย่อมลดลงด้วยซึ่งเป็นเรื่องปกติ จึงจำเป็นต้องปรับตัว”

“กรณีของ Magik Growth ถ้าผมไม่ได้รับอีเมลฉบับนั้นก็อาจไม่ได้ร่วมงานกับเอ็มเทค ดังนั้น การสื่อสารจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก หากเอ็มเทคเพิ่มช่องทางที่หลากหลายเพื่อให้คนเข้าถึงง่ายก็จะช่วยให้งานวิจัยแพร่หลายมากขึ้น ในยุคนี้ผู้สื่อสารต้องป้อนข้อมูลข่าวสารไปให้ถึงผู้รับ มากกว่ารอให้ผู้รับมาค้นหาเอง เพราะยุคนี้เป็นยุคของการนำเสนอข้อมูลที่น่าสนใจ”

“นอกจากนี้ การสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้งานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์ได้ เนื่องจากภาคเอกชนให้ความสนใจงานวิจัย เพียงแต่อาจมองไม่ออกว่าจะไปต่ออย่างไร บางรายเก่งผลิตแต่ไม่ได้เก่งขาย หรือบางรายเก่งขายแต่ไม่สามารถส่งคุณค่าที่เพิ่มขึ้นของงานวิจัยได้ ดังนั้น หน่วยงานรัฐอาจช่วยหาสายโซ่แล้วต่อให้มีรูปแบบเพื่อผลักดันผลงานไปให้ถึงฝั่ง” คุณพีรพันธ์ให้ข้อเสนอแนะ

© 2022 All rights reserved​

ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ