Stakeholder

บริษัท ซัมมิท อาร์แอนด์ดี เซ็นเตอร์ จำกัด

Mr. Unarut Prarom, Director of Research and Product Development of Summit R&D Center Co., Ltd.

Stakeholder Interview

บริษัท ซัมมิท อาร์แอนด์ดี เซ็นเตอร์ จำกัด (Summit R&D Center Co., Ltd.) เป็นศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนยานยนต์ และเป็นบริษัทในเครือบริษัท ซัมมิท โอโต บอดี้ อินดัสตรี จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนและตัวถังรถยนต์ระดับแนวหน้าของคนไทย  บริษัทฯ ก่อตั้งขึ้นเพื่อรองรับการขยายธุรกิจจากการเป็นบริษัทรับจ้างผลิต OEM (Original equipment manufacturer) ไปเป็น Design house ที่มีศักยภาพทางด้านการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์และวิเคราะห์กระบวนการผลิตเชิงวิศวกรรมและเทคโนโลยี พร้อมทั้งสร้างนวัตกรรมใหม่ในกระบวนการผลิตเพื่อลดการพึ่งพาการปรึกษาทางเทคนิคจากบริษัทต่างประเทศ

คุณอุณรุธ ปรารมภ์ ผู้อำนวยการ สายงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริษัท ซัมมิท อาร์แอนด์ดี เซ็นเตอร์ จำกัด กล่าวว่า “องค์ความรู้ของบริษัทฯ มีพื้นฐานมาจากการรับจ้างผลิตชิ้นงานโลหะตามแบบด้วยเทคนิคการปั๊มขึ้นรูป ต่อมาเมื่อได้รู้จักกับ สวทช. จึงมีโอกาสเข้ามาร่วมวิจัยและพัฒนากระบวนการขึ้นรูปโลหะเพื่อปรับปรุงสมบัติของโลหะให้มีความแข็งแรงและทนต่อแรงดึงได้มากขึ้นจากเดิมที่ทนต่อแรงดึงได้เพียง 270 MPa โดยพัฒนาต่อเนื่องให้ทนต่อแรงดึงได้มากขึ้นถึง 590 MPa และ 980 MPa ตามลำดับ ซึ่งล่าสุดทางบริษัทฯ ได้เริ่มศึกษาเหล็กความแข็งแรงสูงพิเศษ หรือ Ultra-high tensile steel (UHSS) ที่ทนแรงดึงได้สูงถึง 1180 MPa นอกจากนี้ ทางบริษัทฯ ยังมีการใช้วัสดุชนิดอื่น เช่น ยาง พลาสติกและโพลิเมอร์ เป็นส่วนประกอบในบางชิ้นส่วนด้วย”

คุณอุณรุธ กล่าวถึงที่มาของการเตรียมความพร้อมในการออกแบบชิ้นส่วนด้วยวัสดุทดแทนจากพลาสติก ว่า “เทคโนโลยีรถยนต์พลังงานไฟฟ้าหรือ EV (Electric vehicle) ที่กำลังเข้ามามีผลกระทบกับอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ ส่งผลให้บริษัทฯ ตระหนักถึงความต้องการของตลาดที่กำลังเปลี่ยนไป จึงมีแผนยกระดับขีดความสามารถด้านการผลิตให้หลากหลายมากขึ้นโดยคำนึงถึงลูกค้าเป็นสำคัญ  ทั้งนี้บริษัทฯ เล็งเห็นปัจจัยหลักที่ลูกค้าต้องการ 2 ด้าน ได้แก่ นวัตกรรมการผลิตที่ทำให้ลูกค้าได้เปรียบทางธุรกิจ และวิธีการช่วยลดต้นทุนของผลิตภัณฑ์”

การปรับเปลี่ยนระบบจากสันดาปเป็นไฟฟ้าทำให้ต้องมีการลดน้ำหนักของชิ้นส่วนลง คุณอุณรุธ กล่าวว่า “การลดน้ำหนักสินค้าลงดูเหมือนง่าย แต่ในความเป็นจริงไม่ง่ายเลยเพราะยังต้องรักษาสมบัติต่างๆที่รวมถึงความแข็งแรง สมรรถนะ และสมรรถภาพของชิ้นงานเอาไว้ เราเป็นบริษัทคนไทยที่ไม่ได้เป็นเจ้าของดีไซน์หรือนวัตกรรม จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ท้าทาย นอกจากนี้ยังเป็นการฉีกความถนัดจากแม่พิมพ์โลหะไปเป็นวัสดุทางเลือกซึ่งเดิมบริษัทฯ ไม่มีความถนัดทางด้านสมบัติของวัสดุทางเลือกโดยเฉพาะโพลิเมอร์ รวมถึงไม่มีองค์ความรู้ที่ใช้ในการวิเคราะห์สูตรหรือส่วนผสมของวัสดุ ซึ่งนับว่าเป็นอุปสรรคในการออกแบบการผลิตและการสื่อสารกับลูกค้า ดังนั้น การตัดสินใจเข้าร่วมวิจัยกับทีมนักวิจัยเอ็มเทคนับว่าเป็นสิ่งที่บริษัทเลือกมาถูกทาง

ทั้งนี้บริษัทฯ มีความพอใจกับผลวิจัยซึ่งได้ผลสัมฤทธิ์ที่ดี บริษัทได้ต้นแบบ stay side step ที่เปลี่ยนวัสดุจากโลหะไปเป็นโพลิเมอร์ซึ่งทำให้ชิ้นส่วนมีน้ำหนักเบาลง ทั้งยังมีสมบัติเชิงกลผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด stay side step เป็นชิ้นส่วนที่มีขนาดเล็กแต่มีหน้าที่สำคัญในการรับแรงกระแทกจากการเกิดอุบัติเหตุ จึงเป็นโจทย์ที่ยากและมีความท้าทาย”

คุณอุณรุธ กล่าวชื่นชมการทำงานของ ดร. พัชรี ลาภสุริยกุล และทีมวิจัยจากเอ็มเทค รวมถึงทีมของบริษัทฯ ด้วยที่ร่วมกันฝ่าฟันความยากนี้โดยไม่ท้อถอยจนประสบความสำเร็จและบรรลุเป้าหมายในการสร้างผลิตภัณฑ์ลิขสิทธิ์ได้ด้วยตนเอง โดยได้ต้นแบบ stay side step ที่พร้อมนำไปใช้กับรถหลายรุ่น ซึ่งนับว่าเป็นโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับประเทศอีกด้วย

“ทีมวิจัยเอ็มเทคสามารถโฟกัสงานวิจัยได้อย่างตรงจุดทั้งยังวางแผนเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากบริษัทต้องวางแผนการนำเสนอสินค้าล่วงหน้า 1-2 ปี เพื่อนำไปใช้กับรถ minor change รุ่นใหม่ ซึ่งการบริหารเวลาดังกล่าวยังเพิ่มโอกาสให้บริษัทรับงานผลิตชิ้นส่วนใหม่ๆ ได้ในอนาคตอีกด้วย”

คุณอุณรุธกล่าวว่า บริษัทฯ คาดหวังว่าในอนาคตเอ็มเทคจะมีนวัตกรรมต่างๆที่สนับสนุนการลดต้นทุนของวัตถุดิบประเภทโพลิเมอร์เพื่อให้สามารถแข่งขันกับซัพพลายเออร์ต่างประเทศได้ เพราะที่ผ่านมาการผลิตชิ้นส่วนด้วยเมทัลชีทต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศซึ่งมีราคาสูง แต่หากเปลี่ยนไปใช้เป็นโพลิเมอร์ บริษัทฯ มองว่านอกจากจะมีต้นทุนที่ถูกลงจากการใช้ทรัพยากรการผลิตที่หาได้ภายในประเทศแล้ว ยังมีทีมวิจัยในประเทศที่มีองค์ความรู้และมีประสบการณ์ซึ่งถ้าหากร่วมกันคิดค้นกับซัพพลายเออร์ก็น่าจะสร้างนวัตกรรมการผลิตที่ช่วยลดต้นทุนในส่วนนี้ได้

คุณอุณรุธกล่าวว่า สิ่งที่บริษัทฯ ต้องการพัฒนาต่อจากนี้คือ การเชื่อมชิ้นส่วน stay side step ที่ทำจากโพลิเมอร์นี้กับชิ้นส่วนอื่นที่ทำจากโลหะได้โดยไม่ลดทอนความแข็งแรงและสมบัติต่างๆ ของชิ้นส่วนเหล่านี้ ซึ่งเป็นแผนวิจัยที่บริษัทฯ สนใจพัฒนาร่วมกับเอ็มเทคในอนาคต

คุณอุณรุธ กล่าวขอบคุณเอ็มเทคสำหรับการประชาสัมพันธ์งานวิจัยและศักยภาพของบริษัทฯ ตามช่องทางต่างๆ ที่เป็นเสมือนยาชูใจและสร้างคุณภาพจิตใจให้กับบริษัทที่ลงทุนลงแรงและฝ่าฟันอุปสรรคมา เพราะนอกจากจะได้ผลประโยชน์ทั้งต่อบริษัทแล้วยังสร้างรายได้ให้ประเทศอีกด้วย

ในการดำเนินงานร่วมกับเอ็มเทค คุณอุณรุธ กล่าวว่า “ได้เห็นทีมงานของบริษัทฯ มีความสุขและได้รับการต้อนรับอย่างดีจากทีมเอ็มเทค รวมถึงมีการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่ดี เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่ดีมากพอที่ทำให้อุปสรรคหรือเรื่องไหนๆ ก็ไม่กลายเป็นเรื่องใหญ่”

“อยากให้เกิดความเป็นไปได้ในการสร้างเครื่องจักรและอะไหล่เครื่องจักรได้ภายในประเทศ ซึ่งช่วยลดการนำเข้าและลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุง ทั้งหมดนี้เป็นการลดต้นทุนของผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มโอกาสทางการแข่งขัน” คุณอุณรุธ กล่าวทิ้งท้าย

© 2022 All rights reserved​

ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ