Stakeholder
บริษัท สุพรีร่า อินโนเวชั่น จำกัด
Stakeholder Interview
บริษัท สุพรีร่า อินโนเวชั่น จำกัด เป็นบริษัทสตาร์ทอัพภายใต้แนวคิดในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ออกแบบสร้างสรรค์ และพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องมือทางการแพทย์ด้วยฝีมือคนไทย
บริษัทฯ มุ่งเน้นการออกแบบและพัฒนาเทคโนโลยีรถทางการแพทย์ เช่น รถตรวจคัดกรองโควิด รถตรวจมะเร็งเต้านม รถตรวจสุขภาพ รถพยาบาล และรถเอกซเรย์ ซึ่งทั้งรถพยาบาล และรถเอกซเรย์ได้ขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทยในชื่อ “รถพยาบาลเคลือบสารต้านจุลชีพ” “รถพยาบาลโครงสร้างปลอดภัยเคลือบสารต้านจุลชีพ” และ “รถเอกซเรย์เคลือบสารนาโนต้านจุลชีพ” เรียบร้อยแล้ว
บริษัทฯ ยังพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีและระบบอัจฉริยะเพื่อใช้ในเครื่องมือแพทย์ระบบ Tele-Medicine ระบบเชื่อมต่อและส่งข้อมูลทั้งในและระหว่างโรงพยาบาล ระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติ เช่น ระบบจ่ายยา เป็นต้น
คุณไกร กาญจนวตี กรรมการผู้จัดการ บริษัท สุพรีร่า อินโนเวชั่น จำกัด กล่าวถึงจุดเริ่มต้นที่ได้ร่วมมือกับศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ว่า “ผมได้อ่านข่าวกรณีเหตุการณ์รถตู้โดยสารเกิดอุบัติเหตุจนหลังคารถฉีกและมีผู้โดยสารกระเด็นออกนอกตัวรถ ซึ่งข่าวนี้ได้อ้างอิงถึงบทความเกี่ยวกับความปลอดภัยของรถตู้โดยสารที่เขียนโดย ดร.ศราวุธ เลิศพลังสันติ ก็เกิดความสนใจ เนื่องจากบริษัทฯ เองก็ได้รับข้อมูลจากลูกค้าที่อยู่ในกลุ่มโรงพยาบาลว่ามีกรณีที่รถพยาบาลประสบอุบัติเหตุเป็นเหตุให้ต้องสูญเสียบุคลากรทางการแพทย์อยู่หลายครั้ง ผมจึงมีแนวคิดในการนำความรู้ความสามารถของนักวิจัยไทยมาช่วยแก้ปัญหา”
ด้วยความมุ่งมั่นที่จะพัฒนารถพยาบาลให้ได้มาตรฐานด้านความปลอดภัย บริษัทฯ จึงได้เชิญ ดร.ศราวุธ มาบรรยายให้ความรู้ความเข้าใจแก่บุคลากร และหลังจากนั้นก็ได้ร่วมมือกันในหลายโครงการวิจัยมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลามากกว่า 5 ปีแล้ว
คุณไกรกล่าวว่า “ตลอดระยะเวลาที่ได้ร่วมงานกันการทำงานมีความราบรื่นดี บางเรื่องบริษัทฯ อาจไม่ได้มีความเชี่ยวชาญมากนัก แต่ก็ได้รับความอนุเคราะห์จากทีมวิจัยเอ็มเทคมาให้ความรู้ทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติที่ออฟฟิศและโรงงาน และหลายครั้งที่บริษัทได้รับข้อร้องเรียนจากลูกค้า ทีมวิจัยเอ็มเทคก็ช่วยวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาได้ภายในระยะเวลาที่เหมาะสม ทำให้ลูกค้าของบริษัทฯ มีความพึงพอใจ ซึ่งเป็นไปตามที่บริษัทฯ คาดหวัง”
เมื่อถามว่า บริษัทฯ มีจุดแข็งอะไรที่ทำให้ลูกค้ามีความไว้วางใจและเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ เนื่องจากตลาดเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์เป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม (niche market) แม้จะมีตลาดที่ชัดเจนแต่การทำตลาดจะค่อนข้างยากเพราะเกี่ยวพันถึงชีวิตคน
คุณไกรอธิบายว่า “บริษัทฯ ต้องสร้างความมั่นใจให้แก่ลูกค้าให้ได้ เพื่อให้เขาเกิดความเชื่อมั่นใจในผลิตภัณฑ์ของเรา อย่างรถพยาบาล หรือระบบจ่ายยา เมื่อลูกค้าพบปัญหา (pain point) จากการใช้งานไม่ว่าจะเป็นเรื่องใหญ่หรือเล็กเราก็จะหาวิธีแก้ปัญหานั้น เพื่อให้ลูกค้าได้รับความพึงพอใจสูงสุด ดังนั้นการให้บริการหลังการขาย การดูแลและการช่วยแก้ปัญหาต่างๆ จึงเป็นสิ่งที่ชนะใจลูกค้า ซึ่งถือเป็นจุดแข็งและจุดขายของบริษัทฯ”
คุณไกรอธิบายเพิ่มเติมว่า “เมื่อลูกค้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มโรงพยาบาลพบปัญหา บริษัทฯ ก็จะพยายามหาแนวทางแก้ไขปัญหานั้นไม่ว่าจะเป็นการจัดซื้อจัดจ้างอะไรบางอย่าง หรือการวิจัยและพัฒนาร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่มีความเชี่ยวชาญ เช่น การเป็นพันธมิตรกับเอ็มเทคก็เป็นแนวทางหนึ่ง ซึ่งเราและเอ็มเทคก็สามารถแก้ปัญหาของลูกค้าได้ตรงจุดตามที่คาดหวัง”
“นอกจากนี้ การร่วมมือกับเอ็มเทคยังก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดด้านความสามารถในกระบวนการผลิต อย่างโครงการล่าสุดเป็นการพัฒนากระบวนการผลิตรถที่มีโครงสร้างแข็งแรง ซึ่งกระบวนการนี้เดิมทีใช้เวลาในการผลิตค่อนข้างมาก หากเราพัฒนากระบวนการผลิตที่สามารถเพิ่มผลิตภาพ (productivity) ให้สูงขึ้นโดยใช้กำลังคนลดลง เพื่อนำกำลังคนที่เหลือไปตั้งไลน์การผลิตก็น่าจะช่วยให้บริษัทฯ สามารถบุกตลาดได้ง่ายขึ้น” คุณไกรยกตัวอย่าง
สำหรับเรื่องการผลักดันให้เกิดการใช้งานและเป็นที่ยอมรับ คุณไกรกล่าวว่า “เราเป็นบริษัทแรกที่ทำนวัตกรรมรถพยาบาลโครงสร้างปลอดภัยเคลือบสารต้านจุลชีพได้ ซึ่งติดตลาดพอสมควร ส่วนนวัตกรรมอื่น เช่น เปลความดันลบก็จัดจำหน่ายไปใช้หลายแห่งแล้ว แต่ปริมาณการใช้อาจยังไม่มากเพราะมีต้นทุนที่สูงกว่าเปลที่นำเข้าจากประเทศจีน อย่างไรก็ดี การนำเข้าเพียงอย่างเดียวอาจไม่มีความยั่งยืน เราควรพึ่งพาตัวเองด้วยการผลิตและใช้งานอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ผลิตได้ในประเทศ ถึงแม้ราคาอาจไม่ได้ต่ำที่สุด แต่มีคุณภาพดีพอและผลิตได้ในประเทศ ถ้ามีปริมาณการใช้ที่มากขึ้นก็จะสามารถแข่งขันด้านราคาได้ ดังนั้น เราจะไม่หยุดเพียงแค่นี้ เราจะยังคงพัฒนาร่วมกับเอ็มเทคต่อไปอย่างต่อเนื่อง”
สำหรับข้อเสนอแนะ คุณไกรกล่าวว่า “ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ หากมีความร่วมมือเรื่องการเลือกเฟ้นซัพพลายเออร์ (supplier) ให้มากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งบริษัทอาจตามไม่ทัน ก็น่าจะช่วยให้บริษัทฯ ก้าวเข้าสู่ตลาดได้เร็วขึ้นและมั่นใจมากขึ้น เพราะถ้าเรามีการคัดเลือกซัพพลายเออร์ที่ดีก็น่าจะช่วยให้ต้นทุนลดลงได้ อีกทั้งเป็นการบริหารความเสี่ยงที่อาจเกิดจากซัพพลายเออร์อีกด้วย นอกจากนี้ หากเอ็มเทคมีความร่วมมือกับหน่วยงานทดสอบต่างๆ โดยอาจทำข้อตกลงเรื่องช่วงเวลาในการส่งตัวอย่างเพื่อทดสอบก็น่าจะช่วยให้บริษัทฯ สามารถดำเนินการได้รวดเร็วยิ่งขึ้น”