Stakeholder
บริษัท ธนัทธร จำกัด
คุณวษุวัต บุญวิทย์
ผู้บริหาร บริษัท ธนัทธร จำกัด
Stakeholder Interview
บริษัท ธนัทธร จำกัด เป็นผู้ผลิต จำหน่าย บริการติดตั้ง รับเหมา และซ่อมบำรุงอุปกรณ์จราจร อุปกรณ์ไฟฟ้า และบริการอื่นๆ แบบครบวงจร บริษัทดำเนินการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า โดยมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบให้ทันสมัย มีคุณภาพ และถือหลักความปลอดภัยของผู้ใช้ถนนเป็นสำคัญ ด้วยเหตุนี้บริษัทฯ จึงได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมายาวนานกว่า 30 ปี
คุณวษุวัต บุญวิทย์ ผู้บริหาร บริษัท ธนัทธร จำกัด เล่าถึงที่มาของความร่วมมือกับศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ว่า “ผมได้รับทราบข้อมูลจากคุณวรศักดิ์ (วงษ์รอด) ซึ่งในขณะนั้นท่านดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์สร้างทางสงขลา กรมทางหลวงว่า เอ็มเทคได้พัฒนายางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติกหรือ TPNR (Thermoplastic Natural Rubber) ในตอนนั้นกรมทางหลวงก็ได้รับนโยบายว่าให้นำยางพารามาใช้ในเครื่องหมายจราจร เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงที่ราคายางตกต่ำ ผมเห็นว่ายางพารามีน้ำหนักค่อนข้างมากซึ่งน่าจะทำให้กรวยจราจรเกาะถนนได้ดีขึ้น อีกทั้งการผลิตกรวยจราจรจาก TPNR สามารถทำได้โดยไม่ต้องลงทุนเครื่องจักรและแม่พิมพ์เพิ่มก็น่าจะเป็นประโยชน์ จึงเป็นที่มาในการรับถ่ายทอดเทคโนโลยี”
เมื่อถามถึงการทำงานร่วมกันว่าเป็นไปตามความคาดหวังหรือไม่ คุณวษุวัต ตอบว่า “บริษัทสามารถตอบโจทย์ของกรมทางหลวงที่ต้องการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางได้สำเร็จก็ถือว่าเป็นไปตามที่คาดหวังไว้ ส่วนในขั้นตอนการถ่ายทอดเทคโนโลยี บริษัทฯ ไม่มีความเชี่ยวชาญด้านกระบวนการผลิตกรวยจราจรยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติกเลย เนื่องจากมีขั้นตอนการผลิตและส่วนผสมที่แตกต่างจากกรวยจราจรพลาสติกที่บริษัทฯ มีความเชี่ยวชาญ ดังนั้น ในระหว่างการทำงาน บริษัทฯ จึงขอคำปรึกษาจากคุณธงศักดิ์ (แก้วประกอบ) ทีมวิจัยก็ให้ความรู้แก่บุคลากรของบริษัทฯ โดยมีการอบรมทั้งในเชิงทฤษฎีและปฏิบัติ”
ส่วนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ คุณวษุวัตกล่าวว่า “การผลิตกรวยจราจรยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติกมีข้อดีที่สามารถผลิตได้เร็วกว่ากรวยจราจรพลาสติกอีวีเอ (EVA, ethylene-vinyl acetate copolymer) เนื่องจากยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติกเมื่อเข้าเครื่องฉีดจะไม่ติดแม่พิมพ์จึงแกะแบบได้ง่ายกว่า ของเสียที่เกิดขึ้นก็น้อยกว่าและยังสามารถนำของเสียกลับไปหลอมขึ้นรูปใหม่ได้ ส่วนคุณสมบัติของกรวยก็มีน้ำหนักมากขึ้นช่วยให้ยึดเกาะกับถนนได้ดีจึงไม่จำเป็นต้องผลิตกรวยขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อเพิ่มน้ำหนัก มีความยืดหยุ่นจึงทนทานต่อแรงกระแทก ดังนั้น แม้ราคาจะสูงกว่าแต่ผลิตภัณฑ์ก็มีคุณภาพดีขึ้น”
“นอกจากนี้ แม้ปัจจุบันจะมีมาตรฐานอุตสาหกรรมของกรวยพลาสติกกั้นจราจร แต่มาตรฐานนี้ยังไม่รวมกรวยจราจรที่ทำจากวัสดุอื่น ซึ่งรวมถึงยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติกด้วย ดร.ภาสรี (เล้ากิจเจริญ) ก็มีความมุ่งมั่นที่จะผลักดันมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของกรวยจราจรยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติกเพื่อให้ครอบคลุมกรวยยางผสมพลาสติกด้วย จึงเป็นการเพิ่มช่องทางให้ TPNR ไปสู่ตลาดได้มากขึ้น อีกทั้งยังทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐานไม่สามารถถูกนำมาใช้งานได้”
สำหรับความร่วมมือในอนาคต คุณวษุวัตกล่าวว่า “บริษัทฯ มีแผนจะใช้วัสดุ TPNR พัฒนาหลักล้มลุกให้สามารถคืนตัวได้หลายครั้ง ซึ่งคงต้องศึกษาเพื่อดูว่าสามารถทดแทนวัสดุอีวีเอได้หรือไม่ด้วย หากไม่สำเร็จก็อาจปรับแผนไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อื่น เช่น เป้าสะท้อนแสงที่มักติดกับแบริเออร์ (barrier) ซึ่งส่วนใหญ่ทำจากโลหะหากสามารถเปลี่ยนมาใช้ TPNR หรือพลาสติกแทนได้ก็จะดี”
คุณวษุวัตยังได้กล่าวทิ้งท้ายว่า“การทำงานที่ผ่านมาถือว่ามีความสมบูรณ์แบบดีมาก บริษัทฯ ขอขอบคุณเอ็มเทคที่ให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดีจนกระทั่งบริษัทฯ สามารถผลิตกรวยจราจรยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติกได้เองสำเร็จ”