โครงการส่งเสริมการออกแบบตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน
ที่มา
กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักในการจัดหาและบริหารจัดการวัตถุดิบ ทั้งวัตถุดิบจากแหล่งธรรมชาติ (primary raw materials) วัตถุดิบทดแทนที่ได้จากการรีไซเคิลขยะหรือของเสีย (secondary raw materials) ได้ริเริ่มโครงการส่งเสริมการออกแบบตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Design for Circular Economy) เพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน กพร. ได้มอบหมายให้ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. เป็นที่ปรึกษาดำเนินโครงการ โดยมุ่งหวังให้ผู้ประกอบการนำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบ และร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้ไทยสามารถพัฒนาไปสู่การเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ รวมทั้งเป้าหมายของไทยสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emission หรือ Net Zero Carbon) ภายในปี ค.ศ. 2065 ต่อไป
เป้าหมาย
พัฒนาและยกระดับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมให้มีการประยุกต์หลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนในการออกแบบและประยุกต์ใช้ตามแนวทาง Design for Circular Economy ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบและ/หรือกระบวนการผลิตต้นแบบ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยโดยเร่งปรับตัวเพื่อตอบรับต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงในเวทีโลกที่ต่างหันมาใช้นโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน ตลอดจนสร้างความร่วมมือเพื่อการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในอนาคต
ทีมวิจัยทำอย่างไร
ทีมวิจัยเอ็มเทคดำเนินกิจกรรม 5 ขั้นตอน ดังนี้
1. การถ่ายทอดองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับหลักคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมทั้งนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง โดยจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการภายใต้หลักสูตรเข้มข้น “ติดอาวุธอุตสาหกรรมไทย ด้วยการออกแบบตามหลักคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน” เพื่อเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการไทยในด้านการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ และ/หรือกระบวนการให้คงคุณค่าและลดผลกระทบของวัสดุ/ผลิตภัณฑ์ การออกแบบตามหลักคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนจะพิจารณาตลอดช่วงชีวิต (life cycle thinking) รวมทั้งมองตลอดโครงข่ายคุณค่า (value network) และส่งเสริมให้เกิดการฟื้นสภาพและปฏิรูปฟื้นฟู (restorative & regenerative) เพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน
2. การให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกแก่สถานประกอบการที่ได้รับคัดเลือกจำนวน 6 ราย เพื่อเสริมสร้างทักษะและองค์ความรู้ด้านการออกแบบตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน ผ่านการลงมือทำจริงในการพัฒนาต้นแบบ “CE ดีไซน์โซลูชัน” เพื่อปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (รวมถึงบรรจุภัณฑ์)/กระบวนการผลิต/การเลือกใช้วัตถุดิบ/การใช้งาน/การจัดการเมื่อสิ้นสุดการใช้งานหรือไม่ใช้แล้ว กิจกรรมนี้ใช้กระบวนการคัดเลือกที่นำ CE Principles จากร่างมาตรฐาน ISO 59004 WD2 มาเป็นแนวคิดหลัก เพื่อส่งเสริมให้เกิดการคิดในเชิงระบบและการสร้างความเชื่อมโยงกิจกรรมในโซ่คุณค่า/โครงข่ายคุณค่า
3. การร่วมพัฒนาต้นแบบ “CE ดีไซน์โซลูชัน” ซึ่งทีมที่ปรึกษาระดมสมอง ร่วมกับทีมงานของบริษัทที่ได้รับการคัดเลือก เพื่อร่างแผนการพัฒนาให้สอดคล้องกับ CE Principles กำหนดขอบเขตของระบบที่สนใจ ประเมินบริบทต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง (รวมถึงกฎระเบียบและผู้มีส่วนได้เสีย) เก็บข้อมูลพื้นฐานของการใช้และการหมุนเวียนทรัพยากรในระบบที่สนใจ และเลือกกลยุทธ์ (CE strategy) และขอบเขตการดำเนินงาน (areas of action) ที่มีศักยภาพ ทั้งนี้ ได้มีการนำเสนอและคัดเลือกโซลูชันที่มีความเป็นไปได้เบื้องต้น ซึ่งในขั้นตอนนี้ทีมผู้เชี่ยวชาญไทยและสวีเดนได้ให้คำแนะนำเพื่อนำไปพัฒนาต้นแบบและพิสูจน์แนวคิด
4. การประเมินความเป็นไปได้เบื้องต้นของต้นแบบดีไซน์โซลูชัน 3 ต้นแบบ ได้แก่ (1) ต้นแบบโมดูล่าร์ดีไซน์ (2) ต้นแบบการปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อลดของเสียและนำผลพลอยได้มาสร้างมูลค่าเพิ่ม และ (3) ต้นแบบการออกแบบถุงนมโรงเรียนให้สามารถรีไซเคิลกลับมาใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการผลิตบรรจุภัณฑ์ใหม่ และประเมินค่าประสิทธิผลในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก
5. การเผยแพร่ผลสำเร็จและการถ่ายทอดองค์ความรู้ผ่านการจัดสัมมนา “ต่อยอดธุรกิจด้วยการออกแบบตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (CE Design Solution in Practice)” เพื่อนำเสนอผลสำเร็จของการพัฒนาต้นแบบดีไซน์โซลูชัน และถ่ายทอดองค์ความรู้นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการประยุกต์ใช้หลักคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในการออกแบบ โดยเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดและประสบการณ์ระหว่างผู้เข้าร่วมสัมมนากับผู้ประกอบการต้นแบบ
ผลงานวิจัย
ต้นแบบ “CE ดีไซน์โซลูชัน” ที่ได้พัฒนามีดังนี้ The developed CE design solutions are:
1. การประยุกต์ใช้โมดูลาร์ดีไซน์ โดยทีมบริษัท อุตสาหกรรมดีสวัสดิ์ จำกัด ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ไม้สักที่สามารถเปลี่ยนรูปแบบ/ฟังก์ชันเพื่อใช้งานในรูปแบบแตกต่างกันได้ตลอดช่วงอายุ
2. การปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อลดของเสีย และนำผลพลอยได้ (by products) มาสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยทีมบริษัท สันติภาพ (ฮั่วเพ้ง 1958) จำกัด ได้วิเคราะห์ข้อมูลประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรและแนวทางการลดของเสีย
3. การออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อให้สามารถรีไซเคิลกลับมาใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการผลิตบรรจุภัณฑ์ใหม่ โดยบริษัท ซิกเวอร์ค (ประเทศไทย) จำกัด นำหมึกพิมพ์ที่ลอกได้ (de-ink) มาใช้ในกระบวนการพิมพ์บรรจุภัณฑ์ และการพัฒนากระบวนการลอกหมึกในขั้นตอนการล้างพลาสติกเพื่อนำไปรีไซเคิล ร่วมกับบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) (SCGC) พัฒนาพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูงจากถุงนมโรงเรียน ด้วยการออกแบบบรรจุภัณฑ์และการจัดการวัสดุตลอดวงจร
4. การเลือกใช้วัตถุดิบทดแทนจากการรีไซเคิลเพื่อเพิ่มสัดส่วนการใช้วัตถุดิบหมุนเวียนและสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยทีมห้างหุ้นส่วนจำกัด พี เอส เอ็ม พลาสิเทค กรุ๊ป พัฒนาเม็ดคอมพาวนด์จากพลาสติก PCR ประเภทพีพีที่มีคุณภาพสูงสำหรับผลิตชิ้นส่วนยานยนต์
5. การเลือกใช้วัตถุดิบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและปรับปรุงคุณสมบัติเพื่อยืดอายุการใช้งาน โดยทีมมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้พัฒนากล่องของขวัญที่มีส่วนผสมของเยื่อจากแก้วกาแฟกระดาษจากร้านตอยตุงที่ได้รับการเพิ่มความสามารถในการกันน้ำ
สถานภาพการวิจัย
ดำเนินการเสร็จสมบูรณ์
แผนงานวิจัยในอนาคต
ประยุกต์การออกแบบตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนให้แก่ผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ เพิ่มเติมของโครงการฯ ในเฟสที่ 2 ต่อไป
รายชื่อทีมวิจัย
ดร.นุจรินทร์ รามัญกุล, ดร.อศิรา เฟื่องฟูชาติ, ดร.วิชชุดา เดาด์, ดร.ศิริกาญจน์ วิเศษสุวรรณภูมิ, ดร.ยศ บุญทองคง, ณัฐกร กีรติไพบูลย์, ปวเรศ วิวัฒนาสิทธิพงศ์, สายสมร คุณหอม, หนึ่งฤทัย ช่วยเรือง, สายทิพย์ โสรัตน์, กนกพร มั่นสกุล และ ภารดี บุญรอง
ติดต่อ
ภารดี บุญรอง
งานประสานธุรกิจและอุตสาหกรรม
โทรศัพท์ 0 2564 6500 ต่อ 4303
อีเมล paradeeb@mtec.or.th