อุปกรณ์ป้องกันคลื่นสำหรับรถยานเกราะล้อยาง R600 8×8 แบบสะเทินน้ำสะเทินบก
รถยานเกราะล้อยาง เป็นยุทโธปกรณ์ที่สำคัญของกำลังรบภาคพื้นดิน มีบทบาทหน้าที่หลักในการเคลื่อนย้ายลำเลียงกำลังพลให้ไปถึงที่หมายอย่างรวดเร็ว ปลอดภัย ภายใต้ความหลากหลายทางด้านสภาพภูมิประเทศและสภาพอากาศ ด้วยขีดความสามารถที่หลากหลายจึงทำให้รถยานเกราะเป็นยุทธยานยนต์ที่มีความยืดหยุ่นในการปฏิบัติการสูง และเป็นยุทโธปกรณ์ที่สำคัญในการปกป้องอธิปไตยและความมั่นคงของประเทศ ในกรณีของรถยานเกราะที่มีขีดความสามารถพิเศษแบบสะเทินน้ำสะเทินบกจะมีความสามารถในการเคลื่อนที่ในน้ำและสามารถปฏิบัติการทางยุทธวิธียกพลขึ้นบกจากเรือขึ้นสู่ฝั่งได้ โดยทั่วไปจะมีการติดตั้งวอเตอร์เจ็ท (water jet) ที่ใช้สำหรับขับเคลื่อนในน้ำ และติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันคลื่น (wave protection flap) บริเวณด้านหน้าของรถยานเกราะเพื่อให้สามารถเคลื่อนที่ในน้ำได้
รถยานเกราะล้อยาง R600 8×8 แบบสะเทินน้ำสะเทินบก (R600 8X8 Amphibious Armored Vehicle) เป็นต้นแบบรถยานเกราะฯ ฝีมือคนไทยทั้งหมด โดยบริษัท พนัส อินโนเวชั่น จำกัด (Panus Innovation Co.,LTD.) ออกแบบ เพื่อให้ตอบโจทย์ตามความต้องการของหน่วยนาวิกโยธินไทย (Royal Thai Marine Corps, RTMC) กองทัพเรือไทย (Royal Thai Navy, RTN) โดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติหรือเอ็มเทค มีส่วนร่วมในการออกแบบอุปกรณ์ป้องกันคลื่นสำหรับรถยานเกราะล้อยาง R600 8×8 แบบสะเทินน้ำสะเทินบกให้เป็นตามหลักองค์ความรู้ทางด้านวิศวกรรม โดยนำความรู้ทั้งทางด้านอากาศพลศาสตร์ (aerodynamics) สำหรับดูเรื่องการไหลของอากาศผ่านอุปกรณ์ป้องกันคลื่นเมื่อมีการติดตั้งกับตัวรถ และความรู้ทางด้านอุทกพลศาสตร์ (hydrodynamics) มาช่วยในการอธิบายการเคลื่อนที่ของรถยานเกราะฯ ขณะมีการเคลื่อนที่ในน้ำ โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการคำนวณทางพลศาสตร์ของไหล (Computational Fluid Dynamics, CFD) ช่วยหารูปร่างและมุมที่เหมาะสมของอุปกรณ์ป้องกันคลื่นที่ติดตั้งบริเวณด้านหน้าของรถยานเกราะฯ เพื่อให้ต้นแบบรถยานเกราะล้อยาง R600 8×8 สามารถเคลื่อนที่บนผิวน้ำได้ความเร็วที่สูงขึ้น และยังคงมีเสถียรภาพในการทรงตัวขณะเคลื่อนที่บนผิวน้ำ โดยสามารถลดแรงต้านทานน้ำรวม (total resistance) ลงได้ประมาณ 38% เมื่อเปรียบเทียบกับแบบเริ่มต้น ส่งผลให้รถยานเกราะฯ สามารถเคลื่อนที่ในน้ำด้วยความเร็วที่สูงขึ้น ในขณะที่ใช้กำลังของเครื่องยนต์เท่าเดิมภายใต้ขอบเขตและเงื่อนไขเดียวกัน
เอ็มเทคได้พัฒนาต้นแบบอุปกรณ์ป้องกันคลื่นสำหรับรถยานเกราะล้อยาง R600 8×8 แบบสะเทินน้ำสะเทินบก ดังกล่าวข้างต้นได้สำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์ โดยบริษัทฯ ได้นำผลการจำลองพลศาสตร์ของไหล และขนาดรูปร่างของอุปกรณ์ป้องกันคลื่นนำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการรับรองมาตรฐานคณะกรรมการมาตรฐานยุทโธปกรณ์กระทรวงกลาโหม (กมย.กห.) จนได้รับการรับรองมาตรฐานยุทโธปกรณ์กระทรวงกลาโหม ว่าด้วยรถเกราะล้อยาง (กมย.กห.1/2563) เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 และได้นำผลการออกแบบอุปกรณ์กันคลื่นไปสร้างต้นแบบจริงจนสามารถผ่านการทดสอบ และพัฒนาองค์ความรู้จนนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้ โดยอุปกรณ์ป้องกันคลื่นใช้ระบบไฮดรอลิค (Hydraulic) ควบคุมด้วยระบบดิจิทัล สามารถเลื่อนขึ้น-ลง ขณะใช้งานทางน้ำและทางบกได้ ป้องก้นน้ำได้ดี สามารถทำความเร็วสูงสุดในน้ำ 12 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
รายชื่อทีมวิจัย
ดร.อธิพงษ์ มาลาทิพย์, ดร.สมบูรณ์ โอตรวรรณะ, นิทัศน์ ปานอ่อน และ ชัยวิวัฒน์ เกยูรธำมรงค์