สนามทดสอบจำลองน้ำท่วมขัง

ปัจจุบันรถขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าเริ่มเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยมากขึ้นเรื่อยๆ ตามแนวโน้มตลาดโลก แต่ยังคงมีความกังวลจากผู้บริโภคเนื่องจากมีข่าวอุบัติเหตุของรถไฟฟ้าจากสื่อต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศเป็นระยะ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องเพลิงไหม้จากระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า ดังนั้นรถไฟฟ้าจึงควรได้รับการทดสอบความปลอดภัยทางไฟฟ้าเพื่อยืนยันความปลอดภัยแก่ผู้ใช้รถใช้ถนนอย่างเข้มงวด

การทดสอบหนึ่งที่ช่วยยืนยันเรื่องความปลอดภัยทางไฟฟ้าคือ การทดสอบขับขี่ผ่านพื้นที่น้ำท่วมขัง การทดสอบนี้เป็นสิ่งจำเป็นในประเทศไทย เนื่องจากหลายพื้นที่มักประสบปัญหาน้ำท่วมขังจากสภาพอากาศที่มีฝนตกชุก แต่ปัจจุบันยังไม่มีสนามทดสอบที่เหมาะสมสำหรับการทดสอบดังกล่าว ทีมวิจัยจึงได้พัฒนาสนามทดสอบจำลองน้ำท่วมขัง โดยให้ครอบคลุมการใช้งานที่หลากหลาย ทั้งในส่วนของประเภทรถและระดับน้ำที่ต้องการจำลอง

ในขั้นตอนการดำเนินงาน ทีมวิจัยได้ศึกษาความต้องการในการทดสอบลุยน้ำ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการออกแบบพัฒนาสนามทดสอบจำลองน้ำท่วมขัง โดยได้สืบค้นการทดสอบตามมาตรฐานและข้อกำหนดต่างๆ ทดสอบตลาดจากผู้ผลิตรถและสื่อสารมวลชน ซึ่งสะท้อนความต้องการของผู้ซื้อรถ ศึกษาสภาพน้ำท่วมขังในบริบทของประเทศไทย สืบค้นสนามทดสอบน้ำท่วมขังในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนลงพื้นที่รวบรวมความคิดเห็นจากตัวแทนผู้ผลิตและผู้เดินรถ ทีมวิจัยใช้กระบวนการออกแบบแบบผสานความคิดมาพัฒนาสนามทดสอบจำลองน้ำท่วมขัง เพื่อค้นหาลักษณะสนามทดสอบที่เหมาะสม สามารถทดสอบลุยน้ำได้สะดวก ทั้งยังนำข้อกำหนดในการก่อสร้างทางตามประกาศของกรมทางหลวง ข้อกำหนดของรถตามประกาศของกรมการขนส่งทางบก และคุณลักษณะของรถประเภทต่างๆ มาผสานในการออกแบบโดยเฉพาะในส่วนของทางลาดและทางกลับรถ รวมถึงใช้กระบวนการคำนวณความแข็งแรงเชิงวิศวกรรมที่สอดคล้องกับการใช้งานด้วย

สนามทดสอบจำลองน้ำท่วมขังที่พัฒนาได้รับการรับรองความแข็งแรงจากวิศวกรที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมระดับภาคีวิศวกร และได้ทำการทดสอบตามมาตรฐานสากลตั้งแต่ช่วงของการก่อสร้าง และทดสอบใช้งานจริงหลังก่อสร้างเสร็จ ปัจจุบันมีการใช้งานสนามทดสอบอย่างต่อเนื่องโดยเปิดให้บริการทดสอบขับขี่ผ่านน้ำท่วมขังในรูปแบบเชิงพาณิชย์ ทั้งจากการให้บริการโดยทีมวิจัยในฐานะผู้สร้างต้นแบบและการให้บริการของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตปราจีนบุรีในฐานะเจ้าของพื้นที่

 

สนามทดสอบจำลองน้ำท่วมขังสามารถรองรับการทดสอบกับรถหลายประเภท ตั้งแต่รถจักรยานยนต์สองล้อจนถึงรถขนาดใหญ่อย่างรถโดยสารความยาว 12 เมตร สนามทดสอบมีความยาวรวม 111.5 เมตร มีส่วนที่กว้างที่สุด 25 เมตร มีความยาวส่วนที่เป็นบ่อรางน้ำ (ส่วนที่จำลองน้ำท่วมขัง) 50 เมตร สามารถปรับระดับน้ำในสนามทดสอบให้เหมาะกับการทดสอบได้ โดยจำลองน้ำท่วมได้ที่ระดับความสูงสูงสุดถึง 1 เมตร มีเซอร์วิสโรดด้านข้างเพื่อสังเกตการณ์และกู้ภัยกรณีเหตุฉุกเฉิน นอกจากนี้ยังมีตู้ไฟสำหรับชาร์จรถไฟฟ้าในระหว่างการทดสอบด้วย 

รายชื่อทีมวิจัย:
ดร.ฉัตรชัย ศรีสุรางค์กุล, เศรษฐลัทธ์ แปงเครื่อง, ฝอยฝน ศรีสวัสดิ์, มนัสนันท์ แสงเพ็ญฉาย และ พิชามญชุ์ ถิระศุภศรี 

© 2022 All rights reserved​

ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ