ความร่วมมือกับพันธมิตร
เอ็มเทคตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นในการดำเนินการตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยมีบทบาทในการสร้าง องค์ความรู้และเทคโนโลยีวัสดุที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อให้ผู้ประกอบการและผู้บริโภคมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเลือกใช้งานวัสดุอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งปลอดภัยต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม เอ็มเทคให้ความสำคัญกับการคัดเลือกวัสดุและการออกแบบเพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีอายุการใช้งานยาวนาน ใช้ซ้ำได้ รวมถึงเมื่อผลิตภัณฑ์หมดอายุการใช้งานแล้ว วัสดุที่ใช้ทำผลิตภัณฑ์จะสามารถนำกลับมาใช้งานใหม่ได้ นอกจากนี้เอ็มเทคยังเน้นพัฒนากระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และดำเนินการวิจัยและพัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์และสร้างมูลค่าเพิ่มจากของเหลือทิ้งทั้งในภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรม
ตัวอย่างกิจกรรมความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมของเอ็มเทคในด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนประกอบด้วยความร่วมมือกับหน่วยงานภายในประเทศและต่างประเทศ ทั้งที่เป็นการดำเนินงานวิจัยที่มีผลพร้อมใช้งาน และบทบาทการสนับสนุนข้อมูล/องค์ความรู้ทางวิชาการ เช่น
การแก้ปัญหาขยะพลาสติกเพื่อลดมลพิษในแม่น้ำและทะเล ภายใต้โครงการพันธมิตรนวัตกรรมพลาสติกลุ่มน้ำโขงระหว่างไทยและออสเตรเลีย
เอ็มเทคร่วมกับ The Commonwealth Scientific and Industrial Research Organisation (CSIRO) ประเทศออสเตรเลียในการดำเนินโครงการ Plastic Innovation Hub ภายใต้ความริเริ่ม The Indo-Pacific Plastics Innovation Network (IPPIN) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างโครงการวิจัยและสนับสนุนแนวทางความร่วมมือระหว่าง Research-Entrepreneurship-Investment เพื่อจัดการขยะพลาสติก
ที่ผ่านมา CSIRO ได้พัฒนาและดำเนินโครงการ Plastics Innovation Hub ร่วมกับประเทศอินโดนีเซียและเวียดนาม โดย CSIRO และหน่วยงานในประเทศดังกล่าวได้ร่วมกันออกแบบ สนับสนุน และดำเนินกิจกรรมเพื่อส่งเสริมนวัตกรรมการจัดการขยะพลาสติก อีกทั้งยังเป็นการเสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกอีกด้วย
ปัจจุบัน CSIRO มีแผนในการขยายขอบข่ายความร่วมมือและการดำเนินงานมายังประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยพัฒนา Mekong Plastics Innovation Hub ขึ้น ซึ่งภายใต้ The Mekong Hub นี้ เอ็มเทคโดยกลุ่มวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมและกลุ่มวิจัยเทคโนโลยีโพลิเมอร์ขั้นสูงได้รับการประสานจาก CSIRO ให้เข้าร่วมเป็นหน่วยงานดำเนินการ Mekong Plastics Innovation Hub ของประเทศไทย โดยมีระยะเวลาการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม 2566-30 มีนาคม 2567
การประชุมวิชาการ “Workshop on Data Collection & Impact Assessment” ภายใต้โครงการ “Carbon Footprint of Renewable Energy for ASEAN Countries
เอ็มเทคโดยสถาบันเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (สทสย.) ร่วมกับสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรมขั้นสูงแห่งชาติ (AIST) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จัดการประชุมวิชาการ “Workshop on Data Collection & Impact Assessment” ภายใต้โครงการ “Carbon Footprint of Renewable Energy for ASEAN Countries” ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และกองทุนรวมญี่ปุ่น-อาเซียน (JAIF) ระหว่างวันที่ 22–24 พฤษภาคม 2566 ณ โรงแรมพูลแมน คิงเพาเวอร์ กรุงเทพ
การจัดประชุมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้มุมมองและข้อมูลเชิงลึกของประเทศสมาชิกอาเซียนให้เกิดความเข้าใจ เกิดความรู้เชิงปฏิบัติ สื่อสารแนวทางการประเมิน Carbon Footprint (CF) และ Life Cycle Assessment (LCA) ของการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลและพลังงานแสงอาทิตย์ อีกทั้งเป็นการแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับวิธีการจัดทำฐานข้อมูลวัฏจักรชีวิตของประเทศ(National LCI Database) และเป็นโอกาสในการสร้างเครือข่ายการทำงานเพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือด้านพลังงานหมุนเวียนให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นอย่างยั่งยืน โดยการจัดการประชุมวิชาการดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมการประชุมที่เป็นผู้เชี่ยวชาญจาก The National Institute of Advanced Industrial Science and Technology (AIST) ประเทศญี่ปุ่น ผู้แทนจากอาเซียนรวม 10 ประเทศ และผู้เข้าร่วมการประชุมทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนกว่า 70 คน