ผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อไก่จากโปรตีนพืช – Ve-Chick
ที่มา
เนื้อไก่จากโปรตีนพืช (Ve-Chick) เป็นผลงานวิจัยที่เกิดจากการที่ทีมวิจัยต้องการเพิ่มการใช้ประโยชน์จากไฟเบอร์ที่เป็นผลพลอยได้จากการสกัดเพคตินจากเปลือกส้มโอ โดยนำไฟเบอร์ดังกล่าวไปใช้ปรับเนื้อสัมผัสในผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ รวมถึงอาหารจากพืช ผลิตภัณฑ์แรกที่พัฒนาขึ้น ได้แก่ ต้นแบบนักเก็ต (nugget) ในขณะเดียวกันอาหารจากพืชมีแนวโน้มการเติบโตในตลาดสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทีมวิจัยจึงมีแนวคิดที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ไปสู่เชิงพาณิชย์
ทีมวิจัยได้ทดลองใช้วัตถุดิบหลักอื่นๆ ในท้องตลาด อย่างพืชตระกูลถั่ว เช่น ถั่วเหลือง ถั่วลันเตา และถั่วเขียว ในการปรับเนื้อสัมผัสและโครงสร้างให้คล้ายกับเนื้อไก่ พบว่าถั่วแต่ละชนิดให้เนื้อสัมผัสที่แตกต่างกันขึ้นกับชนิดของกรดอะมิโน โดยถั่วเหลืองมีศักยภาพในการแข่งขันมากที่สุดเพราะมีราคาต้นทุนต่ำ อีกทั้งโครงสร้างโปรตีนมีความแข็งแรงและเมื่อผสมกลูเตนจะทำให้เนื้อเทียมที่ได้ทนต่อการแช่แข็งและการละลายน้ำแข็ง นอกจากถั่วแล้วยังมีส่วนประกอบอื่นๆ เช่น ตัวประสาน (binder) ไฟเบอร์ และอื่นๆ (ซึ่งทีมวิจัยเอ็มเทคได้จดความลับทางการค้าไว้เรียบร้อยแล้ว) ด้วยคุณสมบัติเด่นดังกล่าวจึงสามารถพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายตามความต้องการของผู้ประกอบการ
เป้าหมาย
1. ผลิตภัณฑ์เนื้อไก่แบบผงสำเร็จรูป (premix) จากโปรตีนพืชปราศจากกลูเตน
2. ผลิตภัณฑ์เนื้อไก่กึ่งสำเร็จรูป (pre-cooked) จากโปรตีนถั่วเหลือง
ทีมวิจัยทำอย่างไร
ทีมวิจัยสร้างโครงสร้างเส้นใยจากการจัดเรียงโครงสร้างใหม่โดยใช้กระบวนการปั่นผสม เพราะมีต้นทุนการผลิตต่ำ ไม่ต้องใช้เครื่องมือหรือเครื่องจักรที่จำเพาะ กระบวนการปั่นผสมเป็นวิธีระดับมหภาค (macro) จะไม่ทำลายโครงสร้างโปรตีนหรือลงลึกในระดับโมเลกุล แต่เป็นการออกแบบโครงสร้างจากการผสมส่วนประกอบต่างๆ เข้าด้วยกัน แล้วทำให้เกิดการแยกเฟส เพื่อให้เกิดการจัดเรียงโครงสร้างเป็นชั้น ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ได้สุดท้ายมีเนื้อสัมผัสเหมือนเนื้อไก่
ผลงานวิจัย
จุดเด่นของ Ve-Chick คือมีผลิตภัณฑ์ 2 รูปแบบ ได้แก่ (1) เนื้อไก่แบบผงสำเร็จรูปปราศจากกลูเตน และ (2) เนื้อไก่กึ่งสำเร็จรูป
ผลิตภัณฑ์เนื้อไก่แบบผงสำเร็จรูปบรรจุอยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่กันความชื้นและกันกลิ่น เก็บรักษาได้เป็นปีที่อุณหภูมิห้อง ขนส่งง่าย และสามารถส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศได้ ผงสำเร็จรูปมีลักษณะเหมือนแป้งเค้กสำเร็จรูป เตรียมได้โดยนำมาปั่นผสมกับน้ำและน้ำมันให้เนื้อเนียนแล้วจึงนำมาขึ้นรูปเป็นเนื้อไก่ด้วยการปั้นหรือใส่ในแม่พิมพ์ หลังจากนั้นนำเนื้อไก่มาหั่นเป็นชิ้นๆ แล้วปรุงสุกรับประทานได้ทันที เหมาะสำหรับผู้บริโภคทั่วไปและผู้ที่แพ้กลูเตน รวมถึงร้านอาหารและโรงแรม
ส่วนเนื้อไก่กึ่งสำเร็จรูปจากโปรตีนถั่วเหลืองผลิตเพื่อจำหน่ายเป็นชิ้นเนื้อไก่ มีทั้งชิ้นเนื้ออกไก่แช่แข็งที่ผู้บริโภคสามารถนำมาปรุงเป็นเมนูต่างๆ ได้ หรือเนื้ออกไก่ทอดแช่แข็งที่นำมาอุ่นด้วยหม้อลมร้อนได้ หรือเป็นเมนูพร้อมทานแช่แข็งต่างๆ ที่อุ่นได้โดยเนื้อสัมผัสไม่เปลี่ยนไป
สถานภาพการวิจัย
ผลงานนี้ถ่ายทอดเทคโนโลยีเชิงพาณิชย์ให้แก่บริษัท 3 ราย ได้แก่ บริษัท ปรายา ควอลิตี้ จำกัด, บริษัท กรีน สพูนส์ จำกัด และ บริษัท บี ไอ จี เนเชอรัล กรีน จำกัด
แผนงานวิจัยในอนาคต
1. พัฒนาผลิตภัณฑ์ Ve-Chick ในรูปแบบผลิตภัณฑ์พร้อมรับประทานที่ผ่านการฆ่าเชื้อด้วยรีทอร์ท ทั้งที่บรรจุในบรรจุภัณฑ์อ่อนตัว (รีทอร์ทเพาซ์) หรือ กระป๋อง เพื่อให้สามารถเก็บที่อุณหภูมิห้องได้เป็นเวลานาน
2. ศึกษากระบวนการเอ็กซ์ทรูชันคือ การใช้ความร้อนและแรงเฉือน (thermomechanical processing) ในการเปลี่ยนโปรตีนจากก้อนกลมเป็นเส้นตรง และจัดเรียงโครงสร้างโปรตีนใหม่ให้เป็นตามแนวแรง ซึ่งจะทำให้ได้เนื้อเทียมที่มีลักษณะคล้ายเส้นใยของเนื้อสัตว์มากขึ้น
3. พัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับโครงสร้างอาหารจากโปรตีนพืชต่อการย่อย และการดูดซึมสารอาหารในระบบการจำลองการย่อยอาหารของผู้ใหญ่และผุ้สูงอายุ
รายชื่อทีมวิจัย
ดร.กมลวรรณ อิศราคาร, ดร.ชัยวุฒิ กมลพิลาส, ดร.นิสภา ศีตะปันย์, ดร.ภาวดี เมธะคานนท์, ดร.อศิรา เฟื่องฟูชาติ, รัตนา อยู่เบิก
ติดต่อ
ชนิต วานิกานุกูล
งานประสานธุรกิจและอุตสาหกรรม
ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ
โทรศัพท์ 0 2564 6500 ต่อ 4788
อีเมล chanitw@mtec.or.th