แนวทางการวิจัยและพัฒนา

เอ็มเทคดำเนินงานตามพันธกิจในทิศทางที่สอดคล้องและเชื่อมโยงกับแผนกลยุทธ์ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ฉบับที่ 7.1 (ปีงบประมาณ 2566-2570) ซึ่งเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พ.ศ. 2561-2580 รวมทั้งแผนแม่บทระดับต่างๆ  ได้แก่ ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Model) และยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรม 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579)  

เอ็มเทคให้ความสำคัญกับการใช้โอกาสจากโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีระดับสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก: โครงสร้างพื้นฐานนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0” เพื่อสร้างผลงานที่ตอบสนองความต้องการของภาคส่วนต่างๆ และการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในการแก้ไขบรรเทาปัญหาหรือพัฒนากิจการ อันจะก่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกที่มีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคม

 แนวทางการทำงาน

 เอ็มเทคมุ่งเน้นความร้อยเรียงตามกรอบแนวคิด 4 ด้าน ดังนี้

  1. Excellence: ผลงานที่มีคุณภาพอันเกิดจากการดำเนินงานด้วยความเชี่ยวชาญและความเป็นมืออาชีพ
  2. Relevance: ความเชื่อมโยงและตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ประเทศและความต้องการของผู้ใช้ประโยชน์
  3. Impact:ผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต และความสามารถในการแข่งขัน อันเป็นผลมาจากการวิจัย การพัฒนา และวิศวกรรม
  4. Visibility: ความเชื่อมั่นและการยอมรับในคุณภาพและความเชี่ยวชาญทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาค และระดับโลก

งานวิจัยของเอ็มเทคครอบคลุมหลายด้าน ตั้งแต่การพัฒนาเทคโนโลยีวัสดุ การประยุกต์การออกแบบและเทคโนโลยีการผลิต การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ ตลอดจนการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่จากศาสตร์หลากหลายสาขาเพื่อตอบโจทย์สำคัญของประเทศ และการเสริมสร้างองค์ความรู้และขีดความสามารถให้รองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี

กลไกการดำเนินงาน

เอ็มเทคพัฒนากลไกการทำงานอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง โดยจัดทำแผนการพัฒนาเทคโนโลยี งานวิจัย และการส่งมอบ ใช้ Technology/Research S-curves เป็นเครื่องมือที่ช่วยในการบริหารงานวิจัย การจัดสรรทรัพยากร และวางแผนการทำงาน เอ็มเทคมุ่งเน้นการวางแผนงานวิจัยที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และแก้ปัญหาวิกฤติเร่งด่วนของประเทศ เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้และขีดความสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี

เอ็มเทคส่งมอบผลผลิต (output) จากการวิจัยในรูปแบบต่างๆ ได้แก่ บทความ ต้นแบบ และทรัพย์สินทางปัญญา ต่อยอดไปสู่ผลลัพธ์ (outcome) คือ การใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ ทั้งในเชิงพาณิชย์และสาธารณประโยชน์ ผ่านกลไกการถ่ายทอดเทคโนโลยี การรับจ้างวิจัย การร่วมวิจัย อันนำไปสู่การสร้างผลกระทบ (impact) และการลงทุน (investment) ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคม ในกลุ่มเป้าหมาย 5 กลุ่มหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตและบริการทางวิศวกรรม ความปลอดภัยและคุณภาพชีวิต สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี อุตสาหกรรมฐานเกษตรกรรม และเกษตรกรรม โดยชูประเด็นด้าน Circular Economy, Health and Wellness ที่เป็นโจทย์ของประเทศและกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ คือ โมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy Model) รวมถึงด้าน Industry 4.0 เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมการผลิตและบริการ

การปฏิรูประบบงบประมาณของประเทศ ตั้งแต่ปี 2563 ที่จัดสรรงบประมาณวิจัยผ่านกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) แทนการจัดสรรโดยตรงจากสำนักงบประมาณ ยังคงเป็นความท้าทายของเอ็มเทคในการปรับตัวโดยการพัฒนากระบวนการบริหารการวิจัยให้สอดรับกับแหล่งเงินภายนอกและระบบงบประมาณวิจัยของประเทศ เอ็มเทคจึงมุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายวิจัยร่วมกับพันธมิตรเป้าหมายทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เพื่อพัฒนาโจทย์วิจัยและสร้างโอกาสในการขอสนับสนุนงบประมาณวิจัยในลักษณะโครงการขนาดใหญ่จากแหล่งทุนต่างๆ พร้อมทั้งปรับกระบวนการบริหารภายใน โดยเฉพาะการปรับกลไกการสนับสนุนกระบวนการบริหารงานวิจัยให้เกิดความคล่องตัว เพื่อให้สามารถปรับตัวได้ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว สามารถขับเคลื่อนองค์กรได้อย่างต่อเนื่องและบรรลุเป้าหมายที่วางไว้

ปี 2566 เอ็มเทคได้ขับเคลื่อนแผนงานสำคัญด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy), การเสริมสร้างสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Health and Wellness) และอุตสาหกรรม 4.0 (Industry 4.0) ที่เป็นโจทย์ของประเทศและเป็นวาระแห่งชาติ โดยเอ็มเทคมุ่งสร้างผลงานอย่างต่อเนื่องและเป็นที่ประจักษ์ต่อทุกภาคส่วนเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรม

เศรษฐกิจหมุนเวียน

ในงานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนเอ็มเทคได้สร้างความร่วมมือกับแหล่งทุนฯ และพันธมิตรเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศในการจัดกิจกรรมเพื่อสนับสนุนการปรับเปลี่ยนของอุตสาหกรรมไปสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน การปรับเปลี่ยนนี้จำเป็นต้องคำนึงถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิตและโมเดลธุรกิจ

ตัวอย่างกิจกรรมสำคัญด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ได้แก่

  • การบรรยายพิเศษสำหรับผู้ประกอบการและผู้สนใจด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน “Circular Economy and Resource Efficient and Effective Solutions” เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2566
  • กิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการภายใต้หลักสูตรเข้มข้น “ติดอาวุธอุตสาหกรรมไทย ด้วยการออกแบบตามหลักคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ซีซั่น 2” เมื่อวันที่ 13, 27 มีนาคม และ 4, 21, 28 เมษายน 2566
  • การสัมมนา Circular Economy Talks: จากวิสัยทัศน์เดินหน้าสู่การพัฒนา ในงานประชุมวิชาการประจำปี สวทช. ครั้งที่ 18 (NAC 2023) เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2566
  • กิจกรรมการออกแบบและพัฒนาต้นแบบ Design Solution โดยใช้หลักคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนซีซั่น 2 (Design 4 Circular Economy Challenges Season 2) ระหว่างเดือนเมษายน-กันยายน 2566
  • การลงนามความร่วมมือกับมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย “การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ที่ได้การรับรองฉลากสิ่งแวดล้อม”
  • การลงนามความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาการผลักดันเพิ่มมูลค่ากากอุตสาหกรรมให้เป็นวัตถุดิบ หรือผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อการสิ้นสุดการเป็นของเสีย (End of Waste)

การเสริมสร้างสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี

ในงานด้านการเสริมสร้างสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี เอ็มเทคได้สร้างความร่วมมือกับพันธมิตรเครือข่าย และแหล่งทุนในประเทศ เช่น สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สำนักงานนคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และโรงพยาบาลต่างๆ

ตัวอย่างผลงานที่มีการนำไปใช้จริงที่สำคัญ ได้แก่

  • Gunther Bath: นวัตกรรมตรวจจับและแจ้งเตือนการพลัดตกหกล้มแบบติดตั้งที่ผนังห้อง
  • Rachel: เทคโนโลยีเอ็กโซสูท (Exosuit) ช่วยในการเคลื่อนไหวและป้องกันการบาดเจ็บสำหรับผู้สูงอายุ
  • Ross รุ่น Back Support: เทคโนโลยีเอ็กโซสูทช่วยในการเคลื่อนไหวและป้องกันการบาดเจ็บสำหรับผู้ดูแลผู้ป่วย/ผู้สูงอายุ
  • แพลตฟอร์มเต้านมจำลอง: อุปกรณ์ฝึกความแม่นยำในการวินิจฉัยโรคด้วยอัลตร้าซาวด์และการเจาะชิ้นเนื้อ
  • ระบบการขึ้นรูปแผ่นรองในรองเท้าเฉพาะบุคคลและอุปกรณ์พยุงกระดูกสันหลังเฉพาะบุคคลด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์แบบสามมิติ
  • กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร Ve-Sea: ผลิตภัณฑ์ลูกชิ้นจากโปรตีนพืชรสชาติทะเล เป็นต้น

 

ในปี 2566 มีการจัดกิจกรรมสัมมนาเปิดตัวนวัตกรรม และแสดงผลงานนิทรรศการอย่างต่อเนื่องมากกว่า 15 งาน เช่น การเปิดตัวนวัตกรรมชุดเอ็กโซสูท (Exosuits) “เรเชล (Rachel)” และ “รอส (Ross)” นวัตกรรมชุดบอดี้สูท สำหรับสังคมอายุยืน ตัวช่วยผู้สูงอายุและผู้ดูแล เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2566 และงานแถลงข่าวชุดผลงานนวัตกรรมสำหรับแยกและเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเพื่อรองรับโรคติดเชื้ออุบัติใหม่อุบัติซ้ำ เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2566

 

อุตสาหกรรม 4.0

การวิจัยและพัฒนาเพื่อมุ่งสู่อุตสาหกรรม 4.0 (Industry 4.0) นับเป็นสิ่งสำคัญที่เอ็มเทคใช้ความรู้ช่วยสนับสนุนและยกระดับให้กับอุตสาหกรรม

ตัวอย่างผลงานด้านอุตสาหกรรม 4.0 ได้แก่

  • การพัฒนาโซลูชั่นทางอุตสาหกรรมด้านระบบอัตโนมัติสำหรับกระบวนการผลิต
  • การพัฒนาระบบอัตโนมัติสำหรับงานด้านเครื่องจักรกลการเกษตร
  • การพัฒนาหุ่นยนต์อัตโนมัติสำหรับใช้งานในด้านต่างๆ

ในปี 2566 เอ็มเทคมีผลงานต้นแบบเชิงอุตสาหกรรมหลายผลงานที่นำไปช่วยทั้งภาครัฐและเอกชน ได้แก่ ระบบติดตามปริมาณเถ้าหนักบนสายพานลำเลียงเถ้าหนักออกจากใต้เตา (SSC) เครื่องมือวัดผลต่างอุณหภูมิเพื่อบ่งบอกปริมาณการสะสมตัวของตะกรันบนผนังท่อหม้อน้ำ  และจักรยานยนต์ไฟฟ้าน้ำหนักเบาสมรรถนะสูง เป็นต้น

 

© 2022 All rights reserved​

ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ