อุปกรณ์ป้องกันด้านท้ายของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ
ข้อมูลของศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ระบุว่า รูปแบบของการเกิดอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งกับรถบรรทุกที่ใช้ขนส่งสัตว์และสิ่งของจนเกิดการบาดเจ็บรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต คือ การที่ยานพาหนะที่มีขนาดเล็กกว่าชนหรือมุดลอดใต้ท้ายรถบรรทุก แนวทางหนึ่งในการลดความรุนแรงของปัญหาดังกล่าวคือ การติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันด้านท้าย (Rear Underrun Protection Device, RUPD) ที่มีความสอดคล้องกับมาตรฐาน UN R58 บนรถขนส่ง อุปกรณ์ดังกล่าวนี้ทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้รถที่เข้ามาชนมุดลอดท้ายใต้รถบรรทุกได้
ทีมวิจัยได้ทำงานร่วมกับกรมการขนส่งทางบกในการศึกษามาตรฐานอุปกรณ์ป้องกันด้านท้าย UN R58 ลงพื้นที่เก็บข้อมูลอุปกรณ์ดังกล่าว รวมถึงสัมภาษณ์ตัวแทนผู้ผลิตรถบรรทุก เพื่อให้ได้ข้อมูลโจทย์วิจัยเชิงวิศวกรรม การผลิต ตลอดจนต้นทุนที่ครบถ้วน จากนั้นจึงนำกระบวนการออกแบบแบบผสานความคิด (Morphological matrix) มาพัฒนาอุปกรณ์ RUPD ให้มีตัวเลือกที่หลากหลายเหมาะสมกับรถบรรทุกประเภทต่างๆ โดยสามารถใช้ชิ้นส่วนร่วมกันได้ ตลอดจนสร้างกระบวนการวิเคราะห์ความแข็งแรงเชิงวิศวกรรมของต้นแบบด้วยระเบียบวิธีไฟไนต์เอลิเมนต์ที่สอดคล้องกับรูปแบบการทดสอบตามมาตรฐาน UN R58 ร่วมกับตรวจสอบกระบวนการดังกล่าวด้วยการทดสอบบนแท่นทดสอบแรงกระทำที่จัดสร้างขึ้นตาม UN R58 เพื่อยืนยันถึงผลลัพธ์ของแนวทางการออกแบบและวิเคราะห์ โดยทั้งหมดมีความสอดคล้องกับประกาศกรมการขนส่งทางบกเรื่อง “กำหนดคุณลักษณะ ขนาด ประสิทธิภาพ ตำแหน่ง และเงื่อนไขในการติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันด้านท้ายของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ” พ.ศ. 2566 ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2567 ตลอดจนเงื่อนไขต่างๆ ดังนี้
- มีความแข็งแรงเป็นไปตามมาตรฐาน UN R58
- ผลิตขึ้นจากวัสดุที่สามารถจัดหาได้ภายในประเทศ
- มีกระบวนการผลิตไม่ซับซ้อน ผู้ผลิตทุกระดับสามารถทำได้
- มีต้นทุนไม่สูง สามารถแข่งขันได้
ทีมวิจัยดำเนินงานการออกแบบ วิเคราะห์ พัฒนาต้นแบบและทดสอบอุปกรณ์ป้องกันด้านท้าย จนได้ผลลัพธ์เป็นแบบเชิงวิศวกรรมของอุปกรณ์ป้องกันการชนด้านท้ายจำนวน 72 แบบ ครอบคลุมลักษณะรถที่ใช้ขนส่งสิ่งของ ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2524) โดยสามารถเข้าถึงในเชิงสาธารณประโยชน์ได้ที่ https://dolt-dev.web.app/#/ ทั้งนี้อุปกรณ์ทั้งหมดผลิตได้จากเหล็กที่สามารถหาได้ทั่วไป หรือเป็นเหล็กเกรดที่ผู้ผลิตใช้อยู่แล้ว ด้วยกระบวนการผลิตพื้นฐานอันประกอบไปด้วยการตัด การพับ การดัด การเจาะ และการเชื่อม ภายใต้การประเมินต้นทุนวัสดุของตัวแทนผู้ผลิต รวมถึงผลการทดสอบระดับภาคสนามเพื่อยืนยันความถูกต้อง
ปัจจุบันได้มีการต่อยอดด้วยการเปิดให้คำปรึกษากับผู้ประกอบการที่ต้องการพัฒนาอุปกรณ์ป้องกันด้านท้ายของตนเอง พร้อมทั้งมีการพัฒนาแท่นทดสอบแรงกระทำของอุปกรณ์ป้องกันด้านท้ายตามมาตฐาน UN R58 เพื่อเป็นทางเลือกในการทดสอบของผู้ประกอบการ รวมถึงการได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานรับรองผลการทดสอบอุปกรณ์ด้านท้ายของกรมการขนส่งทางบก ทั้งในส่วนของการจำลองการทดสอบ และการทดสอบจริงบนแท่นทดสอบแรงกระทำ นอกจากนี้ตัวแทนทีมวิจัยยังเป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการพิจารณาร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอุปกรณ์ป้องกันการลอดใต้ท้ายยานยนต์ ตามมาตรฐานเลขที่ มอก. 2347-25xx ของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ซึ่งอ้างอิงมาตรฐาน UN R58
อุปกรณ์ป้องกันด้านท้ายที่พัฒนาขึ้นนี้ช่วยลดความรุนแรง อัตราการบาดเจ็บและเสียชีวิตของผู้ใช้รถจากอุบัติเหตุการชนแล้วมุดด้านท้ายรถบรรทุก ทั้งยังช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ผลิตในประเทศ รวมถึงสร้างองค์ความรู้ด้านความปลอดภัยเชิงป้องกันให้กับประเทศในอีกทางหนึ่งด้วย
รายชื่อทีมวิจัย
ดร.ศราวุธ เลิศพลังสันติ, ณรงค์ พิทักษ์ทรัพย์สิน, พีรกิตติ์ วิริยะรัตนศักดิ์, ดร.ฉัตรชัย ศรีสุรางค์กุล, เศรษฐลัทธ์ แปงเครื่อง, ประสิทธิ์ วัฒนวงศ์สกุล, ณรงค์ฤทธิ์ สืบนันตา, รัตนสุดา แนวเงินดี และ ดร.สุธี โอฬารฤทธินันท์