ความท้าทายใหม่...ยกระดับไม้เศรษฐกิจ “ไผ่” ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ดร.ทิพย์จักร ณ ลำปาง
Theme Leader strategic themes: ไม้เศรษฐกิจ “ไผ่”
และหัวหน้าทีมวิจัยวิศวกรรมไม้เพื่อความยั่งยืน กลุ่มวิจัยการออกแบบเชิงวิศวกรรมและการคำนวณ
สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย งานสื่อสารและขับเคลื่อนความรู้
ฝ่ายเผยแพร่เทคโนโลยีวัสดุ
ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) มียุทธศาสตร์การวิจัยที่มุ่งสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ภาคอุตสาหกรรมโดยการขับเคลื่อน 4 กลุ่มงานวิจัยหลัก (main research themes) ซึ่งแบ่งย่อยเป็น 14 แนวทางการวิจัยเชิงกลยุทธ์ (strategic themes) ทั้งนี้ แนวทางการวิจัยเชิงกลยุทธ์ ไม้เศรษฐกิจ “ไผ่” นับเป็นหนึ่งในแนวทางการวิจัยเชิงกลยุทธ์ซึ่งอยู่ในกลุ่มวิจัยหลัก คือ การพัฒนาวัสดุชีวภาพสู่ผลิตภัณฑ์สมบัติเฉพาะที่มีมูลค่าสูง
ดร.ทิพย์จักร ณ ลำปาง หัวหน้าทีมวิจัย ทีมวิจัยวิศวกรรมไม้เพื่อความยั่งยืน กลุ่มวิจัยการออกแบบเชิงวิศวกรรมและการคำนวณ เป็น Theme Leader เป็นผู้นำทีมในการสานต่อวิสัยทัศน์ในการยกระดับอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ไม้เศรษฐกิจของชุมชนไทยอย่างยั่งยืนด้วยวิศวกรรมและเทคโนโลยี
ที่มา
ดร.ทิพย์จักร เล่าว่า “เมื่อปี พ.ศ. 2563 สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้เข้าไปมีส่วนร่วมเป็นเจ้าภาพในการจัดทำ Wood Innovation HUB White paper เพื่อมุ่งให้เกิดการบูรณาการการพัฒนาอุตสาหกรรมไม้ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแบบครบวงจร โดยมีเป้าหมายตอบโจทย์การยกระดับไม้เศรษฐกิจของประเทศไทย”
เมื่อ ดร.เติมศักดิ์ ศรีคิรินทร์ มาดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ ซึ่งท่านสนใจมุ่งเน้นการแก้ปัญหาสำคัญของประเทศ เปลี่ยนมุมมองงานวิจัยเป็นกลไกการช่วยผลักดันการลงทุนเกิดการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน ไม่ใช่วิจัยเพื่อวิจัยเท่านั้น ทั้งยังเล็งเห็นการต่อยอดเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้ว เอ็มเทคจึงจัดตั้งทีมวิจัยวิศวกรรมไม้เพื่อความยั่งยืน และ Strategic Theme ไม้เศรษฐกิจ “ไผ่” ขึ้น เพื่อให้สอดรับกับนโยบายของ สวทช. ที่ต้องการช่วยยกระดับพืชไม้เศรษฐกิจมูลค่าสูงด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ภายใต้โมเดล BCG Implementation พลิกโฉมเศรษฐกิจและสังคมไทย” และทั้งนี้ยังทราบถึงการดำเนินงานในปัจจุบันของ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ที่ได้มีศึกษาวิจัยเรื่องพันธุ์ไม้ไผ่และไม้เศรษฐกิจอื่นๆ ด้วย
“Strategic Theme ไม้เศรษฐกิจ “ไผ่” เป็นหนึ่งในยุทธศสตร์การวิจัยที่เอ็มเทคเล็งเห็นความสำคัญของการต่อยอดเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้ว และต้องการเป็น technical arms ในการสนับสนุนเทคโนโลยีสู่กลุ่มผู้ใช้ประโยชน์ ภารกิจหลักของ Strategic Theme ไม้เศรษฐกิจที่ในระยะปัจจุบันได้มุ่งเน้นไปที่ไม้เศรษฐกิจมี 3 ข้อ ได้แก่ 1. ประยุกต์ใช้องค์ความรู้ทางด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยีเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไม้เศรษฐกิจของประเทศ 2. ผลักดันให้เกิดมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมไม้เศรษฐกิจ เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และ 3. วิจัยและพัฒนาร่วมกับภาคอุตสาหกรรมและชุมชน เพื่อยกระดับเทคโนโลยีและสร้างนวัตกรรมที่ต่อยอดไปยังการพัฒนาอุตสาหกรรมไม้เศรษฐกิจ โดยมีทีมวิจัยวิศวกรรมไม้เพื่อความยั่งยืนรับผิดชอบหลัก และสอดรับกับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ด้วยการบูรณาการความร่วมมือร่วมกับพันธมิตรทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน”
มุ่งเป้าอย่างไรให้มั่นใจ
ปัจจุบันประเทศไทยปลูกไผ่กว่า 11 สายพันธุ์ บนพื้นที่เกือบ 1 แสนไร่ การนำไปใช้ประโยชน์มีหลากหลาย เช่น เครื่องจักสาน เฟอร์นิเจอร์ ถ่าน หรือเป็นหน่อไม้ปรุงอาหาร และสิ่งก่อสร้าง แต่ไผ่ที่นำมาใช้กับสิ่งก่อสร้างที่เหมาะสมได้แก่ ไผ่ซางหม่น ส่วนไผ่อื่นๆ เช่น ไผ่รวก และไผ่เลี้ยง ซึ่งมีการปลูกอยู่ที่ 50% ของการปลูกในประเทศ ก็มีการใช้งานในรูปแบบอื่นๆ ที่แตกต่างกันไป
ดร.ทิพย์จักร เล่าว่า “ในต่างประเทศมีการนำไผ่ไปใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างหลากหลาย เช่น อุตสาหกรรมก่อสร้าง สิ่งทอ เวชสำอาง ไปจนถึงชิ้นส่วนรถฟ้า อุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ประเทศไทยมีข้อได้เปรียบเรื่องพื้นที่ปลูกและสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมต่อการขยายพันธุ์ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือภาคตะวันออก และยังรวมไปถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้วย ซึ่งสำรวจพบชนิดพันธุ์ไผ่พื้นเมืองกว่า 50 ชนิด และยังพบว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังส่งออกไม้ในรูปของแปรรูปหรือไม้ท่อนไปต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ขาดการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าของไม้เศรษฐกิจ เอ็มเทคเล็งเห็นจุดที่ขาดในด้านต่างๆ จึงมีนโยบายทำหน้าที่เป็น Technical Arms และมุ่งเน้นตอบโจทย์ทั้งห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) เพื่อผลักดันให้เกิดผลิตภัณฑ์สำหรับผู้ใช้ ทีมวิจัยต้องศึกษาข้อมูลผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ทำจากไผ่ รวมทั้งร่วมทำงานกับทางด้านต้นน้ำที่เป็นเกษตรกรเพื่อส่งเสริมปริมาณการปลูกไผ่ กลางน้ำที่ทีมวิจัยต้องเข้าไปทำให้เกิดการแปรรูปไผ่สู่การประโยชน์เชิงธุรกิจได้จริงเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ชุมชน และปลายน้ำซึ่งเป็นกลุ่มผู้ต้องการใช้บอร์ดไผ่ในธุรกิจผู้จำหน่ายวัสดุก่อสร้างและผู้ใช้อย่างธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย”
“ด้วยบทบาทของ เอ็มเทค ซึ่งต้องการเป็น Technical Arms ทำให้เรามุ่งเน้นความร่วมมือกับผู้ที่เกี่ยวข้องที่สำคัญทั้งในและต่างประเทศ ทีมวิจัยได้มีโอกาสเข้าไปมีส่วนช่วยยกระดับการผลักดันแผนยุทธศาสตร์/แผนงานโครงการฯ ในการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปไผ่และไม้ในจังหวัดลำปาง โดยเบื้องต้นในระยะสั้นจังหวัดจะมีการสนับสนุนการปลูกไผ่เพื่อให้มีปริมาณเพียงพอสามารถรองรับต่อการผลิตไม้บอร์ดในอนาคต ซึ่งเป็นโมเดลที่จะขยายฐานไปที่จังหวัดอื่นด้วย เช่น จังหวัดอุดรธานี ซึ่งมีศักยภาพในการปลูกไผ่เช่นเดียวกัน โดยเป้าหมายสำคัญระยะต้นเพื่อให้เกิดการับรู้ของตลาดและตอบสนองต่อการใช้งานในประเทศให้ได้ก่อน”
“หลักของการสร้างกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อให้เกิดการใช้งานอย่างกว้างนั้น จำเป็นต้องหาเอกชนเข้ามารับสินค้าในปริมาณเป้าหมายที่จะสร้างความมั่นใจได้ และต้องสำรวจการตลาด (Market Survey) เพื่อช่วยตัดสินใจและสร้างโอกาสทางการตลาด จนเรามีความต้องการอย่างชัดเจนแล้ว จึงได้เข้าไปทำงานร่วมมือกับหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ซึ่งได้เสนอให้เอ็มเทคเข้าไปช่วยสนับสนุนในส่วนของการลดช่องว่างทางเทคโนโลยี หรือ technology gap โดยเราได้รับทุนสนับสนุนบางส่วนในการสร้างโรงงานต้นแบบสำหรับสายการผลิตนำร่องในปีนี้”
บ่มเพาะเทคโนโลยี ก้าวสู่ธุรกิจ
ดร.ทิพยจักร เล่าถึงแนวทางการดำเนินงานว่า “เป้าหมายของทีมคือ ช่วยสนับสนุนเทคโนโลยีการผลิตด้วยงานวิจัยและความสามารถของทีมที่จะช่วยในการแปรรูปให้มีมูลค่าเพิ่ม โดยการศึกษาข้อมูลความต้องการของตลาดและลูกค้า รวมถึงการจัดทำแผนที่สิทธิบัตร (Patent Mapping) วิเคราะห์เอกสารสิทธิบัตร เพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุนการมุ่งเป้าไปที่ไม้เศรษฐกิจ “ไผ่” ก่อน ได้เริ่มต้นที่ผลิตภัณฑ์ไม้บอร์ดที่ผลิตจากไผ่ เนื่องจากไผ่เป็นพืชที่น่าสนใจ เติบโตได้เร็ว ทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศ มีคุณสมบัติที่ดี และมีคุณประโยชน์สามารถนำมาใช้ได้อย่างหลากหลาย ทำให้สามารถบริหารจัดการการปลูกได้ เมื่อนำมาพัฒนารูปแบบการผลิตก็จะสามารถแปรรูปทดแทนไม้เนื้อแข็งเพื่อช่วยลดการตัดไม้ทำลายป่าสู่การบริโภคที่ยั่งยืนได้”
“ทีมวิจัยเล็งเห็นว่า หากเราเริ่มการยกระดับธุรกิจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยเริ่มจากการวิจัยอาจจะไม่ทันการณ์และไม่เกิดผลประโยชน์อย่างเต็มที่ ถ้าต้องการให้เกิดการใช้งานจริงในระดับผู้ประกอบการไทยและกลุ่มลูกค้าปลายทาง จะใช้แนวทางที่เรียกว่า Technology Localization โดยการใช้กลยุทธ์การจัดหาเทคโนโลยีและเครื่องจักรจากสาธารณรัฐประชาชนจีนซึ่งมีการพัฒนาไปไกลมากแล้ว โดยสร้างความร่วมมือและทำงานร่วมกัน เรียนรู้เพื่อให้ได้ประโยชน์อย่างแท้จริง เอ็มเทคจะส่งทีมงานและมีแนวคิดส่งไผ่ซางหม่นของประเทศไทยไปทดลองใช้กับเครื่องจักรจริง เพื่อมั่นใจว่าเครื่องจักรดังกล่าวสามารถใช้กับไผ่ของเราได้ เป็นความร่วมมือกับ Nanjing Forestry University (NJFU) สาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมการพัฒนา “การถ่ายทอดเทคโนโลยีนวัตกรรมวัสดุก่อสร้างทางเลือกจากไม้ไผ่ เพื่อลดผลกระทบจากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม” เพื่อสนับสนุนและเสริมสร้างความเข้มแข็งการเกษตรแบบยั่งยืน พร้อมเพิ่มขีดความสามารถทางเทคโนโลยีนวัตกรรมวัสดุขึ้น”
“กลยุทธ์การทำงานเบื้องต้นประกอบด้วยการทำงานกับพันธมิตรที่มีความเข้มแข็งด้านการพัฒนาระบบ พัฒนาผลิตภัณฑ์ การนำร่องการใช้ความรู้และเครื่องมือร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากสาธารณรัฐประชาชนจีน และสำหรับในพื้นที่ได้ร่วมทำงานกับเจ้าหน้าที่ของเครือข่ายสภาเกษตรกรจังหวัดลำปางและจังหวัดอุดรธานี รวมถึงมหาวิทยาลัยต่างๆ ในพื้นที่ เพื่อบ่มเพาะความรู้ให้สามารถนำความรู้กลับไปต่อยอดในพื้นที่ได้ และจากการศึกษาด้านการตลาดร่วมกับทีม BD ทีมวิจัยพบว่า ประเทศไทยยังขาดเทคโนโลยีด้านไม้บอร์ดให้สามารถขึ้นรูปจากไม้ไผ่มาใช้เป็นวัสดุก่อสร้างได้ เป้าหมายที่สนใจศึกษาแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์ไม้บอร์ด ไม้ฝา สำหรับงานDecoration และกลุ่มผลิตภัณฑ์พวกเสา คานในงานก่อสร้าง หรืองาน Structural เพื่อให้เป็นทางเลือกของ End user ที่ต้องการผลิตภัณฑ์ที่แข็งแรงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”
“ไม้บอร์ด ไม้ฝาจากไผ่” เป็นผลิตภัณฑ์ที่ทีมได้ศึกษาความเป็นไปได้และความต้องการของลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้างแล้วระดับหนึ่ง จึงต้องการยกระดับผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าสูงและสามารถใช้ได้อย่างแพร่หลาย ไผ่เป็นไม้ที่มีรูปร่างและเนื้อผิวที่มีลักษณะเฉพาะตัว และมีความแข็งแรงเทียบเท่าหรือสูงกว่าไม้อื่นทั่วไป ดังนั้น ทีมวิจัยมองว่าจะสามารถใช้กรรมวิธีเชิงเทคนิคปรับปรุงคุณสมบัติให้ได้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงได้”
“แผนการจัดตั้งโรงงานต้นแบบสายการผลิตไผ่ (Production line prototype plant) เป็นการลงทุนตั้งโรงงานต้นแบบผลิตนำร่องขึ้นสำหรับลดความเสี่ยงแทนผู้ประกอบการที่ต้องการลงทุน เพื่อรองรับการผลิตผลิตภัณฑ์และปรับเปลี่ยนแบบได้ตามความต้องการของลูกค้า เป็นการทำงานร่วมกันของหลายกลุ่มวิจัย ทั้งกลุ่มวิจัยด้านโพลิเมอร์และกลุ่มวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อศึกษาวิจัยหลายเรื่อง เช่น การทำสี และการขึ้นรูป นอกจากนี้ ทีมวิจัยได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการยกร่างมาตรฐานไม้บอร์ดจากไผ่ด้วย ซึ่งต้องมีการทดสอบวิจัยสมบัติเพื่อสนับสนุนการยกร่างมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) ด้วย”
สู่กลยุทธ์ความยั่งยืน
“ทีมวิจัยมุ่งมั่นผลักดันให้เกิดภาพความเชื่อมโยงที่เกิดมูลค่าเพิ่มของห่วงโซ่อุปทานของกระบวนการผลิตทั้งในระดับชุมชนหรือผู้ประกอบการต่างๆ ในพื้นที่ปลูกไผ่ของประเทศ โดยเป็นตัวเชื่อมต่อทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนให้เกิดการผลิตผลิตภัณฑ์สำหรับสิ่งก่อสร้างและใช้ได้จริง ช่วยยกระดับอุตสาหกรรมในประเทศในเบื้องต้นและมีศักยภาพในการส่งออกได้ในอนาคต ด้วยการสนับสนุนทางเทคนิคและช่วยกำหนดมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ รวมถึงสิ่งที่สำคัญช่วยพัฒนาคนหรือนวัตกรของแต่ละพื้นที่ เน้นการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการประยุกต์ใช้ไม้ไผ่เป็นวัสดุก่อสร้างให้เป็นนวัตกรรมทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างความเข้มแข็งให้แก่การเกษตรแบบยั่งยืน”
ในการสร้างนวัตกรรมหรืองานวิจัยในอนาคตตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน “ทีมวิจัยวางแผนโดยยึดหลักการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และการสิ้นสุดการเป็นของเสีย (End-of-Waste) ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้เหลือน้อยที่สุดในกระบวนการผลิตไม้บอร์ดจากไผ่ ทั้งนี้จะนำของเสียทั้งแบบขุย เสี้ยน ข้อไผ่ที่แข็ง และของเสียอื่นๆ แปรรูปไปใช้ประโยชน์ต่อ (Waste Utilization) เช่น ผลิตเป็นถ่านกัมมันต์ Bamboo composite ด้วย” ดร. ทิพย์จักร กล่าวทิ้งท้าย
สนใจรายละเอียดติดต่อ
ทีมวิจัยวิศวกรรมไม้เพื่อความยั่งยืน เว็บไซต์ https://www.mtec.or.th/edc-research-group/west/
ขอบคุณข้อมูลจาก
ดร.ทิพย์จักร ณ ลำปาง
E-mail: thipjak.nal@mtec.or.th
ทีมวิจัยวิศวกรรมไม้เพื่อความยั่งยืน กลุ่มวิจัยการออกแบบเชิงวิศวกรรมและการคำนวณ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค)