จำนวนประชากรโลกที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้มีการใช้ทรัพยากรมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ขยะและมลพิษทางสิ่งแวดล้อมก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย หากมนุษย์ยังคงดำเนินวิถีชีวิตด้วยเศรษฐกิจแบบเส้นตรง (linear economy) คือนำทรัพยากรมาผลิต บริโภค และทิ้ง โลกก็จะมีขยะเพิ่มขึ้นอย่างไม่สิ้นสุด เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว จึงมีการนำแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) มาใช้ กล่าวคือพยายามใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ นำ ‘ของเหลือทิ้ง (waste)’ จากกระบวนการหนึ่งไปใช้เป็น ‘วัตถุดิบ (feedstock)’ ของอีกกระบวนการหนึ่ง เพื่อลดปริมาณของเสียและมลพิษที่เกิดขึ้น มีการตั้งเป้าหมายในการจัดการของเสียผ่านการออกแบบวัสดุ ผลิตภัณฑ์ ระบบ และโมเดลธุรกิจที่ดีกว่าเดิม อันจะนำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
ในกรณีของปัญหาขยะพลาสติก รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญอย่างสูง จึงมีข้อสั่งการให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกับทุกภาคส่วนเร่งดำเนินการป้องกันและแก้ไขขยะพลาสติกแบบบูรณาการ ทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน ในการบริหารจัดการพลาสติกตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต การจำหน่าย การบริโภค และการจัดการปลายทางเพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการการบริหารจัดการขยะพลาสติกภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยมีปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประธาน และมีตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ ร่วมเป็นคณะอนุกรรมการ หนึ่งในคณะอนุกรรมการคือ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือผู้แทน
คณะอนุกรรมการการบริหารจัดการขยะพลาสติกได้แต่งตั้งคณะทำงานสนับสนุนการบริหารจัดการขยะพลาสติก 3 คณะ ได้แก่ 1) คณะทำงานด้านการพัฒนากลไกการจัดการพลาสติก 2) คณะทำงานด้านการส่งเสริมและรณรงค์ประชาสัมพันธ์ และ 3) คณะทำงานด้านการพัฒนาและใช้ประโยชน์ขยะพลาสติก โดยมีตัวแทนจากภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน ทั้งนี้ สวทช. ได้แต่งตั้ง ดร.นุจรินทร์ รามัญกุล ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม เป็นผู้แทนหลัก และ ดร.วิชชุดา เดาด์ หัวหน้าทีมวิจัยเทคโนโลยีพลาสติก เป็นผู้แทนสำรองร่วมในคณะทำงานด้านการพัฒนาและใช้ประโยชน์ขยะพลาสติก
“เศรษฐกิจหมุนเวียนไม่ได้หมายถึงเราต้องลดความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตลง เพียงแต่ต้องคิดถึงการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่ามากขึ้น โดยเพิ่มมูลค่าของขยะ ลดปริมาณขยะที่ไม่มีมูลค่าลง วิธีการที่ดีที่สุดคือเริ่มจากการคัดแยกขยะให้ถูกต้อง”
ดร.วิชชุดา เดาด์ หัวหน้าทีมวิจัยเทคโนโลยีพลาสติก
ภาพโดย: กฤษณ คูหาจิต
ดร.วิชชุดา เล่าถึงบทบาทของคณะทำงานว่า “ตัวแทนจาก สวทช. อยู่ในคณะทำงานด้านการพัฒนาและใช้ประโยชน์ขยะพลาสติกทำหน้าที่ในการพัฒนารูปแบบการนำพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน เสนอแนวทางการทำฐานข้อมูลขยะพลาสติกในประเทศไทยตามแนวคิด material flow analysis รวมถึงสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกในกระบวนการผลิตและส่งเสริมอุตสาหกรรมรีไซเคิลให้มีการดำเนินงานได้มาตรฐาน นอกจากนี้ ยังให้ข้อมูลทางวิชาการ เช่น คำจำกัดความ หรือหน้าที่ของสารเคมีที่เกี่ยวข้องกับพลาสติก แก่คณะทำงานเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการทำ Roadmap อีกด้วย”
“ในการจัดทำฐานข้อมูลขยะพลาสติก คณะทำงานได้ศึกษาสถานการณ์ของขยะพลาสติกในประเทศ โดยใช้แนวคิด material flow analysis เพื่อดูเส้นทางของพลาสติกว่าเป็นอย่างไร โดยคิดจากปริมาณเม็ดพลาสติกที่ผลิตในประเทศรวมกับเม็ดพลาสติกที่นำเข้าเพื่อนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับใช้ภายในประเทศว่ามีปริมาณเท่าไหร่ ผลิตภัณฑ์เหล่านี้แบ่งเป็นหลายประเภท แต่ละประเภทเมื่อใช้งานแล้ว นำกลับมาใช้ประโยชน์ ฝังกลบ หรือปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมคิดเป็นปริมาณเท่าไหร่”
“เมื่อได้ข้อมูลดังกล่าวข้างต้น คณะทำงานจะนำมาตรการต่างๆ มาใช้แก้ปัญหา และวัดประสิทธิผลของการดำเนินกิจกรรมตามที่ได้กำหนดเป้าหมายไว้ 2 เรื่อง คือ 1) ลดและเลิกใช้พลาสติกบางประเภทตามกรอบเวลา ได้แก่ ภายในปี 2562 เลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ผสมสารอ็อกโซ[1] และไมโครบีด[2] ส่วนภายในปี 2565 เลิกใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วที่มีความหนาน้อยกว่า 36 ไมโครเมตร กล่องโฟมบรรจุอาหาร หลอดพลาสติก และแก้วพลาสติกชนิดบางแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง และ 2) ภายในปี 2570 จะนำพลาสติกเป้าหมายกลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้ 100%”
คณะทำงานทั้ง 3 คณะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด รวมถึงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากภาครัฐและเอกชนเพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
ดร.วิชชุดาเล่าว่า“คณะทำงานด้านการพัฒนากลไกการจัดการพลาสติกได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น บริษัทผู้ผลิตน้ำดื่ม ให้เลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดในการผลิต สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ออกประกาศห้ามผลิต นำเข้า และจำหน่ายเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของไมโครบีด สำนักมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ประกาศห้ามนำเข้า ผลิต และจำหน่ายสารอ็อกโซ และร่วมกับห้างร้านให้งดแจกถุงในบางวัน หรือมีคะแนนสะสมพิเศษสำหรับลูกค้าที่นำถุงมาเอง เป็นต้น ส่วนคณะทำงานด้านการส่งเสริมและรณรงค์ประชาสัมพันธ์ก็ประชาสัมพันธ์โดยเริ่มจากรณรงค์ลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง”
ส่วนการทำงานของคณะทำงานด้านการพัฒนาและใช้ประโยชน์ขยะพลาสติก ดร.วิชชุดา เล่าว่า “เนื่องจากคณะทำงานชุดนี้มีตัวแทนจากภาคเอกชนเข้าร่วมหลายบริษัท เช่น บริษัท ดาว ประเทศไทย และบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนที่ดี เนื่องจากบริษัทเหล่านี้สนับสนุนการดำเนินธุรกิจด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนอยู่แล้วจึงทุ่มเทค่อนข้างมาก”
ดร.วิชชุดา อธิบายเพิ่มเติมว่า “บริษัท ดาว ประเทศไทยมีองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการอัปไซเคิล และการรีไซเคิล ที่สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับขยะพลาสติกโดยเปลี่ยนเป็นพลังงาน หรือเปลี่ยนเป็นวัตถุดิบ ในส่วนบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด สนใจบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดหลายชั้น ซึ่งมีความยุ่งยากในการนำไปรีไซเคิล บริษัทฯ จึงพยายามพัฒนาวิธีการนำพลาสติกมูลค่าต่ำเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ ทั้งสองบริษัทจึงร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีที่นำขยะพลาสติกนี้มาเป็นส่วนผสมในถนนยางมะตอยและลานจอดรถที่นิคมอุตสาหกรรม เมืองอมตะซิตี้ชลบุรี”
การจัดการขยะพลาสติกให้เกิดความยั่งยืนตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนจะต้องนำพลาสติกกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตเพื่อเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ดังนั้นกระบวนการคัดแยกขยะถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญ ดร.วิชชุดา กล่าวว่า “แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนแตกต่างจากเศรษฐกิจแบบเส้นตรงในแง่ที่ว่าทำให้ขยะมีมูลค่า ดังนั้น การที่ขยะจะมีมูลค่าสูงได้ต้องเริ่มตั้งแต่การคัดแยกขยะที่ถูกต้อง เพราะขยะที่เกิดขึ้นจากกระบวนการแรกจะถูกนำไปใช้ในกระบวนการที่ 2 และต่อเนื่องไปไม่สิ้นสุด ซึ่งหากทำในระดับประเทศจะเป็นภาพใหญ่ โอกาสสำเร็จมีน้อย ดังนั้นจึงเริ่มจากพื้นที่นำร่อง เช่น โมเดลเมือง ที่เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร และโมเดลจังหวัด ที่ระยอง โดยเอกชนเข้าไปให้ความรู้และสร้างแรงจูงใจในเรื่องของการเก็บและคัดแยกขยะ ทำให้คนในชุมชนช่วยกันเก็บขยะไปขายและมีรายได้กลับมา”
“การทำโมเดลนี้ช่วยให้เราสามารถร่างข้อเสนอโครงการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเพื่อของบประมาณจากต่างประเทศ อีกทั้งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและการยอมรับในเวทีโลก เพราะเศรษฐกิจหมุนเวียนเชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals, SDGs)[3] ขององค์การสหประชาชาติ” ดร.วิชชุดา กล่าวเสริม
[1] สารอ็อกโซ (oxo) คือสารเติมแต่งที่ใช้ผสมในพลาสติกแล้วทำให้เกิดการแตกตัว ซึ่งในช่วงแรกเข้าใจว่าช่วยให้พลาสติกสามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ แต่แท้จริงแล้ว สารนี้ทำให้พลาสติกแตกเป็นชิ้นเล็ก ซึ่งกลายเป็นไมโครพลาสติกหรือนาโนพลาสติกที่เป็นมลพิษทางสิ่งแวดล้อม
[2] ไมโครบีด (Microbead) คือเม็ดพลาสติกขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร ผลิตจากปิโตรเคมี มักใช้ผสมในเครื่องสำอาง ยาสีฟัน และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด
[3] เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals, SDGs) มี 17 ข้อ ได้แก่ 1 ) ขจัดความยากจน 2) ขจัดความหิวโหย 3) การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี 4) การศึกษาที่เท่าเทียม 5) ความเท่าเทียมทางเพศ 6) การจัดการน้ำและสุขาภิบาล 7) พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ 8) การจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ 9) อุตสาหกรรม นวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน 10) ลดความเหลื่อมล้ำ 11) เมืองและถิ่นฐานมนุษย์อย่างยั่งยืน 12) แผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน 13) การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 14) การใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล 15) การใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบก 16) สังคมสงบสุข ยุติธรรม ไม่แบ่งแยก และ 17) ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ที่มา: https://www.un.or.th/globalgoals/th/the-goals/)
ดร.วิชชุดา เล่าว่า “Ellen MacArthur เป็นผู้บุกเบิกหลักการของเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยมีแนวคิดว่า การนำวัสดุมาเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์ต้องคิดตั้งแต่การออกแบบให้ทั้งวัสดุและผลิตภัณฑ์นี้ถูกนำมาใช้ต่อไปได้เรื่อยๆ โดยไม่มีของเสียเกิดขึ้น (zero waste) กล่าวคือพยายามใช้วัสดุ และผลิตภัณฑ์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผลิตภัณฑ์อย่างรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ ที่เลิกใช้แล้วอย่าทิ้งให้นำมาใช้ซ้ำ ซ่อม ผลิตใหม่ หรือรีไซเคิล ถ้าเป็นของเสียทางชีวภาพต้องเปลี่ยนไปเป็นทรัพยากรได้ใหม่ เปลี่ยนเป็นพลังงาน หรือเปลี่ยนเป็นวัสดุตั้งต้น (feedstock) ป้อนเข้าสู่โรงงาน”
แผนภาพเศรษฐกิจหมุนเวียน
ดูจาก: https://www.ellenmacarthurfoundation.org/circular-economy/concept/infographic
ดร.วิชชุดา ยกตัวอย่าง “การนำขยะจากขวดเพ็ต[4] พีพี[5] และพีอี[6] มารีไซเคิลเป็นเม็ดพลาสติกอาจไม่คุ้มค่า เนื่องจากมีข้อด้อยที่เกิดการปนเปื้อน มีราคาสูงกว่าเม็ดพลาสติกใหม่ และไม่ได้รับการยอมรับเมื่อนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์บางชนิด แต่หากใช้เทคโนโลยีเปลี่ยนขยะเหล่านี้ให้เป็นก๊าซ และนำกลับมาเป็นวัสดุตั้งต้นสำหรับผลิตเม็ดพลาสติกใหม่ก็น่าจะเป็นอีกทางเลือก ซึ่งเรียกว่าการอัปไซเคิล”
“การอัปไซเคิลมี 2 แบบ คือ 1) นำผลิตภัณฑ์มาแปลงสภาพเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่โดยการดัดแปรหรือใส่ความคิดสร้างสรรค์เพื่อทำให้ผลิตภัณฑ์ใหม่มีมูลค่าสูงขึ้น และ 2) ใช้เทคโนโลยีในการเปลี่ยนสภาพ เช่น การนำขวดเพ็ตไปผ่านกระบวนการเพื่อเปลี่ยนให้เป็นพีบีที[7] ซึ่งสามารถนำไปขึ้นรูปเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์อื่นได้”
กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีโพลิเมอร์ขั้นสูงของเอ็มเทคได้จัดฟอรัม โดย ดร.อศิรา เฟื่องฟูชาติ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยได้บรรยายเกี่ยวกับภาพรวมของเศรษฐกิจหมุนเวียน ในขณะที่ ดร.วิชชุดา บรรยายเกี่ยวกับการบริหารจัดการขยะ
ดร.วิชชุดาเล่าถึงวัตถุประสงค์ของฟอรัมครั้งนี้ว่า “เราต้องการให้นักวิจัยในทีมรับทราบแนวโน้มของโลก รวมถึงคิดและออกแบบใหม่ในส่วนของการผลิตงานวิจัยในอนาคตที่ต้องการมากกว่าการใช้งาน แต่ต้องรวมไปถึงการจัดการปลายทางด้วย กล่าวคือ มุ่งสู่เศรษฐกิจพลาสติกใหม่ (new plastic economy) ที่ต้องสามารถจัดการขยะพลาสติกได้ง่ายขึ้น ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม และผลิตได้จากทรัพยากรอื่น เช่น ข้าวโพด น้ำตาล แบคทีเรีย หรือก๊าซเรือนกระจก เพื่อทดแทนพลาสติกจากฟอสซิล ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการวิจัยและพัฒนา”
แผนภาพเศรษฐกิจพลาสติกใหม่
ดูจาก: https://www.ellenmacarthurfoundation.org/assets/downloads/Foundation_New-Plastics-Economy_9.jpg
“เศรษฐกิจหมุนเวียนไม่ได้หมายถึงเราต้องลดความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตลง เพียงแต่ต้องคิดถึงการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่ามากขึ้น โดยเพิ่มมูลค่าของขยะ ลดปริมาณขยะที่ไม่มีมูลค่าลง วิธีการที่ดีที่สุดคือเริ่มจากการคัดแยกขยะให้ถูกต้อง โดยเฉพาะขยะพลาสติกที่เป็นบรรจุภัณฑ์เพราะเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันและเห็นได้ชัดเจนที่สุด” ดร.วิชชุดา กล่าวทิ้งท้าย
ข้อมูลเพิ่มเติม
- https://www.pcd.go.th/Info_serv/File/Plastic%20pdf
- https://www.ellenmacarthurfoundation.org/
- https://www.ellenmacarthurfoundation.org/assets/downloads/EllenMacArthurFoundation_TheNewPlasticsEconomy_Pages.pdf