เทคโนโลยีไบโอชาร์...หนึ่งในกุญแจสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

เรียบเรียงโดย
งานสื่อสารและขับเคลื่อนความรู้ ฝ่ายเผยแพร่เทคโนโลยีวัสดุ

ประเทศไทยตั้งเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายใน ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายใน ค.ศ. 2065 แนวทางหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวคือ การใช้ ‘เทคโนโลยีไบโอชาร์’

ไบโอชาร์ (biochar) คือ ถ่านชีวภาพที่ได้จากการนำชีวมวล เช่น เศษไม้ ขยะอินทรีย์ และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ไปผ่านกระบวนการเผาในสภาพที่มีออกซิเจนจำกัดหรือไม่มีออกซิเจน (ไพโรไลซิส) ทำให้เกิดเป็นวัสดุที่มีรูพรุนสูงและอุดมไปด้วยคาร์บอน สามารถใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย โดยเฉพาะการปรับปรุงคุณภาพดิน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ประเทศไทยมีอุปทานของชีวมวลในปริมาณมาก หากสามารถนำชีวมวลเหล่านี้มาผลิตไบโอชาร์เพื่อใช้ประโยชน์ในภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรมก็ย่อมจะช่วยบรรเทาปัญหาสิ่งแวดล้อมได้

ไบโอชาร์มีโครงสร้างทางเคมีและกายภาพที่มีเสถียรภาพ สามารถกักเก็บในดินได้หลายร้อยปี ซึ่งจะช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศได้ อย่างไรก็ดี แผนการดำเนินการนี้จะสำเร็จได้ตลอดห่วงโซ่คุณค่า (value chain) จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ เช่น กรมวิชาการเกษตร และสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ในการผลักดันการใช้ประโยชน์จากไบโอชาร์ โดยภาครัฐจะส่งเสริมการใช้ประโยชน์ในวงกว้าง เช่น ใช้เป็นสารปรับปรุงดินสำหรับปลูกพืชเศรษฐกิจ หรือใช้เป็นส่วนผสมในกลุ่มผลิตภัณฑ์ซีเมนต์ คอนกรีต และผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้างเพื่อกักเก็บคาร์บอน

ทั้งนี้ไบโอชาร์นับเป็นทางเลือกหนึ่งในการทำโครงการคาร์บอนเครดิต ซึ่งมีมาตรฐานสากลรองรับการผลิตและการใช้ไบโอชาร์ในการลดก๊าซเรือนกระจก

อย่างไรก็ดี ประเทศไทยมีเศษชีวมวล เทคโนโลยีการผลิต และความพร้อมของอุตสาหกรรมที่มีลักษณะจำเพาะทำให้ไม่สามารถใช้มาตรฐานสากลมาได้โดยตรง ทำให้ต้องจัดทำมาตรฐานที่เหมาะสมกับบริบท ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. จึงร่วมกับ สมอ. จัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์ไบโอชาร์สำหรับการเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม โดยมาตรฐานนี้สามารถอ้างอิงกับมาตรฐานการรับรองไบโอชาร์ในระดับสากล

นอกจากนี้เอ็มเทคยังส่งเสริมการสร้างเตาไพโรไลซิสสำหรับผลิตไบโอชาร์ที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล มีระบบควบคุมการปล่อยมลพิษที่ผ่านมาตรฐานมลพิษทางอากาศ

การดำเนินการทั้งหมดนี้จะช่วยให้ผู้ผลิตสามารถกำหนดคุณลักษณะของไบโอชาร์ได้อย่างชัดเจน ส่วนผู้บริโภคจะเลือกใช้ไบโอชาร์ที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ผู้สนใจสามารถร่วมฟังสัมมนาหัวข้อ “กุญแจสำคัญสู่ Net Zero Emission ด้วยเทคโนโลยีไบโอชาร์ ผนึกกำลังภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคการเกษตร และภาคอุตสาหกรรม” ในงานประชุมวิชาการ NAC2025 วันที่ 28 มีนาคม 2568 เวลา 9.00-12.00 น. ณ ห้องประชุม CC-404 อาคารศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ปทุมธานี

ติดต่อสอบถาม:
คุณอัครพล สร้อยสังวาลย์
โทรศัพท์: 02 564 6500 ต่อ 4679
อีเมล: akrapols@mtec.or.th
คุณเปรียวธิดา จันทรัตน์
โทรศัพท์: 02 564 6500 ต่อ 4795
อีเมล: priawthida.jan@mtec.or.th