เอ็มเทค สวทช. ร่วมกับ University of New South Wales จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ขับเคลื่อนงานวิจัยมลพิษอุบัติใหม่ในแหล่งน้ำ

11 เมษายน 2568
ห้องประชุม 506 อาคารศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ปทุมธานี

          สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ได้จัดการประชุมหารือร่วมกับคณะผู้แทนจากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ (University of New South Wales, UNSW) ประเทศออสเตรเลีย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เพื่อกำหนดแนวทางความร่วมมือด้านงานวิจัย การบริหารจัดการน้ำ และการแก้ไขปัญหามลพิษอุบัติใหม่ในแหล่งน้ำ โดยเฉพาะสาร PFAS (Per- and Polyfluoroalkyl Substances) ซึ่งนำไปสู่การจัดทำบันทึกความเข้าใจทางวิชาการว่าด้วยการบูรณาการความร่วมมือด้านอุทกวิทยาเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน

           การประชุมครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก Prof. Denis O’Carroll, รองคณบดี (ฝ่ายวิจัย) คณะวิศวกรรมศาสตร์โยธาและสิ่งแวดล้อม และผู้อำนวยการบริหารห้องปฏิบัติการวิจัยน้ำ (WRL) University of New South Wales พร้อมด้วยคณะผู้แทนจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดย รศ.ดร.อักษรา พฤทธิวิทยา อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ และ ดร.ทวิช สุริโย นักวิจัยชำนาญการจากสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เข้าร่วมหารือกับ รศ. ดร.เติมศักดิ์ ศรีคิรินทร์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. และคณะ 

             ที่ประชุมได้มุ่งเน้นการอภิปรายถึงแนวทางความร่วมมือด้านงานวิจัยระหว่างทั้ง 4 หน่วยงาน รวมถึงการพัฒนาองค์ความรู้และงานวิจัยเพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการบริหารจัดการน้ำ การตรวจสอบคุณภาพน้ำ และการจัดการปัญหามลพิษอุบัติใหม่ในแหล่งน้ำ โดยเฉพาะสาร PFAS และ Antimicrobial Resistance โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการศึกษาและจัดการปัญหาสารปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมอย่างรอบด้าน เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพและระบบนิเวศให้มีประสิทธิภาพ และลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม

         นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้นำเสนอร่างบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการบริหารจัดการน้ำ การตรวจสอบคุณภาพน้ำ และมลพิษอุบัติใหม่ในแหล่งน้ำ ระหว่าง สวทช. University of New South Wales จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการบูรณาการเทคโนโลยีและองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ในการบริหารจัดการน้ำของทั้งสองประเทศให้เกิดประสิทธิภาพและความยั่งยืน