ทีมวิจัยการออกแบบเพื่อการเป็นอยู่ที่ดี
ทีมวิจัยการออกแบบเพื่อการเป็นอยู่ที่ดี มุ่งเน้นออกแบบผลิตภัณฑ์และพัฒนานวัตกรรม สำหรับช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน ด้วยการผสมผสานความเข้าใจที่ลึกซึ้งถึงความต้องการของผู้ใช้ เข้ากับเทคโนโลยีที่เหมาะสม ในกระบวนการออกแบบที่มีผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง
งานวิจัยและพัฒนาของทีมสร้างบนพื้นฐานความเชี่ยวชาญของสมาชิกในทีมจากหลากหลายสาขา รวมถึง การออกแบบ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การออกแบบเชิงวิศวกรรม การออกแบบเครื่องจักรกล วิศวกรรมย้อนกลับ วิศวกรรมชีวการแพทย์ ชีวกลศาสตร์ การยศาสตร์ กายวิภาคของมนุษย์ กายภาพบำบัด วัสดุศาสตร์ ฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ประยุกต์ การออกแบบการทดลอง การจำลองระบบ เอ็กโซสเกเลตัน และปัญญาประดิษฐ์
กระบวนการออกแบบที่มีผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง: Attentive Empathetic Design (Sukkasi et al; HERD 2022)
Well-Living Systems (ระบบดูแลผู้อยู่อาศัยเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีและปลอดภัยด้วยปัญญาประดิษฐ์)
เป็นผู้ช่วยของผู้ดูแล ช่วยเฝ้าระวังเหตุการณ์ที่น่ากังวลหรืออันตรายต่อสุขภาพของผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพัง ขณะที่ผู้ดูแลไม่อยู่บ้านอย่างชาญฉลาด (เรียนรู้พฤติกรรมที่ปกติของผู้อยู่อาศัยโดยอัตโนมัติ และตรวจจับความผิดปกติตามเกณฑ์พฤติกรรมเฉพาะของแต่ละบ้าน) ไม่ละเมิดความเป็นส่วนตัว (ไม่มีกล้อง ไม่อัดเสียง แจ้งเตือนด้วยข้อมูลที่จำเป็น) และทำการเฝ้าระวังตลอดเวลา
Rachel (ชุดสวมใส่พยุงกล้ามเนื้อเพื่อช่วยในการเคลื่อนไหวของผู้สูงอายุ)
ชุดสวมใส่แบบบอดีสูท ช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถดำเนินกิจวัตรประจำวันได้อย่างคล่องแคล่วและปลอดภัย ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุรักษาระดับของการทำกิจกรรมเพื่อสุขภาพที่แข็งแรงอย่างยืนยาว ชุดได้รับการออกแบบให้เสริมการทำงานและความมั่นคงให้กล้ามเนื้อบริเวณต้นขา หลัง หน้าท้อง และสะบัก เพื่อช่วยการทำงานของกล้ามเนื้อที่อาจมีความอ่อนแรงตามอายุ เนื้อผ้าของชุดมีความโปร่งเบา ระบายความความร้อนได้ดี จึงเหมาะต่อการใส่เป็นชุดชั้นในในชีวิตประจำวัน
Ross (Motion-Assist Exosuit รุ่น Back Support – ชุดเสริมแรงพยุงหลังสำหรับผู้ดูแลผู้ป่วย)
เป็นชุดที่ช่วยเสริมแรงและพยุงกล้ามเนื้อหลังสำหรับผู้ที่ต้องยกวัตถุหรือผู้ป่วยเป็นประจำ เช่น งานดูแลผู้ป่วยที่ต้องมีการอุ้ม เคลื่อนย้ายหรือพลิกตัวผู้ป่วย ชุด Ross มีกลไกที่ช่วยสะสมพลังงานขณะผู้ใช้ย่อตัวลงไป และขณะที่ยืดตัวขึ้น พลังงานที่ถูกสะสมในชุดจะช่วยผลักให้ร่างกายยืดตัวได้ง่ายขึ้น อีกทั้งลดภาระการทำงานของกล้ามเนื้อหลัง ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อที่มีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บสูงในกลุ่มผู้ดูแลผู้ป่วย ชุด Ross ได้รับการออกแบบให้สวมใส่และถอดง่าย และไม่เป็นอุปสรรคต่อการเดิน หรือกิจกรรมอื่นๆ
PETE (Patient Isolation and Transportation Chamber – เปลปกป้อง)
อุปกรณ์เคลื่อนย้ายผู้ป่วยทางด้านระบบทางเดินหายใจสำหรับภาวะโรคอุบัติใหม่หรือโรคอุบัติซ้ำที่เกี่ยวข้องกับการแพร่กระจายเชื้อทางเดินหายใจ สามารถรองรับการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยบนภาคพื้นและอากาศยาน สามาถนำผู้ป่วยพร้อมระบบเข้าเครื่อง CT-SCAN พร้อมระบบแจ้งเตือนและควบคุมการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านมาตรฐานการทดสอบความปลอดภัยห้องคลีนรูม ISO14644, ความปลอดภัยเครื่องมือแพทย์ IEC60601-1, การทดสอบความเข้ากันได้ทางแม่เหล็กไฟฟ้า IEC60601-1-2
HI-PETE (ห้องควบคุมความดันอากาศลบสำหรับคัดแยกผู้ป่วยที่ติดเชื้อทางเดินหายใจ)
ห้องควบคุมความดันอากาศลบสำหรับคัดแยกผู้ป่วยที่ติดเชื้อทางเดินหายใจสามารถใช้งานในการแยกผู้ป่วยที่ติดเชื้อฯที่บ้าน ห้องคัดกรองผู้เสี่ยงติดเชื้อทางเดินหายใจ ห้องผ่าตัดทำหัตถการที่ต้องควบคุมระบบการไหลเวียนอากาศเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ แบ่งออกเป็น 3 รุ่นย่อยคือ compact, balloon และ grande ทั้งสามระบบผ่านมาตรฐานการทดสอบความปลอดภัยห้องคลีนรูม ISO14644, ความปลอดภัยเครื่องมือแพทย์ IEC60601-1, การทดสอบความเข้ากันได้ทางแม่เหล็กไฟฟ้า IEC60601-1-2
XOMoCap
เครื่องมือ (Toolbox) สำหรับการวิเคราะห์ผลเกี่ยวกับ Motion Capture โดยละเอียดและครบวงจร มีรูปแบบเป็นโค้ดเปิด สามารถพัฒนาต่อยอด หรือปรับรูปแบบการวิเคราะห์ให้ตรงกับจุดประสงค์งานวิจัยที่หลากหลายได้ เช่น การวิเคราะห์แบบอัตโนมัติ หรือการวิเคราะห์การเคลื่อนไหวเฉพาะทาง ผู้ใช้งานสามารถนำข้อมูลในส่วน Markers ทั้งที่เก็บจากกล้อง 3 มิติ หรือผ่านการแปรข้อมูลจาก IMU เข้ามาประกอบการวิเคราะห์ร่วมกับสัญญาณที่เก็บ เช่น EMG หรือ แรงต่าง ๆ โดยสามารถนำข้อมูล 3 มิติมาสร้างเป็นแบบจำลองหุ่นเส้น (Stick figure) ที่มีการประเมินมวลกาย เพื่อการวิเคราะห์ที่ละเอียดขึ้น สามารถอ่านและวิเคราะห์ผลข้อมูลที่ได้จาก simulation software เช่น AnyBody เพิ่มเติมประกอบการวิเคราะห์อย่างไร้รอยต่อ ผลการวิเคราะห์สามารถจัดทำเป็นรายงานอัตโนมัติ และสร้างไฟล์ภาพที่เป็น Interactive ได้ผ่าน PGFPlots และ FZGeIl
Mobile salon
เป็นรถเข็นสระผมเคลื่อนที่ พัฒนาโดยนักวิจัยเอ็มเทคร่วมกับสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ ใช้สำหรับสระผมที่เตียงให้กับผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุ ถูกออกแบบมาให้ใช้งานง่าย สะดวก และปลอดภัย ใช้ไฟจากแบตเตอรี่ 12V มีระบบป้องกันน้ำล้น ไฟแจ้งเตือนระดับน้ำ ระบบตัดการทำงานของปั๊มน้ำเมื่อน้ำหมด และสามารถปรับความสูงตัวรถได้ตามสรีระของผู้ใช้งานหรือเตียงคนไข้ เหมาะสำหรับใช้ในโรงพยาบาลหรือศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ผ่านการทดสอบการใช้งานจริงจากสถาบันประสาทวิทยา ปัจจุบันได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบริษัทเอกชนแล้ว 1 ราย
Aree
ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 โรงพยาบาลหลายแห่งจำเป็นต้องจัดตั้งหอผู้ป่วยเฉพาะกิจเพื่อให้การดูแลกลุ่มผู้ป่วยโดยเฉพาะ และทุกครั้งที่บุคลากรทางการแพทย์เข้าไปปฏิบัติงานในหอผู้ป่วยเฉพาะกิจก็ต้องใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (Personal Protection Equipment; PPE) ซึ่งจำเป็นต้องกำจัดทิ้งหลังการเข้าหอผู้ป่วยเฉพาะกิจทุกครั้งทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมาก การใช้ Remote-controlled Cart “AREE” ในการขนส่งสัมภาระแทนบุคลากรทางการแพทย์ก็จะช่วยลดค่าใช้จ่าย รวมถึงลดความเสี่ยงในการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ โดยอารีมีสมบัติคือ มีอุปกรณ์ขับเคลื่อนและควบคุมทั้งหมดอยู่ภายในตู้ไฟกันน้ำบริเวณด้านล่างของรถเข็น มีถาดรองรับสัมภาระ 2 ชั้น สามารถขับเคลื่อนด้วยความเร็วไม่เกิน 2 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีรัศมีวงเลี้ยวต่ำสุด 0 cm (หมุนอยู่กับที่ได้) สามารถควบคุมให้เดินหน้า-ถอยหลัง เลี้ยวซ้าย-เลี้ยวขวาด้วยรีโมทคอนโทรล มีแบตเตอรี่ชาร์จซ้ำได้อยู่ภายใน โดยมีระยะทางวิ่งประมาณ 3 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง สามารถรับน้ำหนักสัมภาระได้ 5 กิโลกรัม โดยที่ความเร็วไม่ลดลง สามารถฉีดน้ำยาทำความสะอาดลงบนตัวต้นแบบได้ ออกแบบให้ใช้งานง่าย โดยไม่ต้องมีการ Training
Better Aging toys for older adults (ของเล่นสำหรับผู้สูงอายุ)
ทีมวิจัยได้ดำเนินโครงการรับจ้างวิจัย จากบริษัท แปลน ครีเอชั่นส์ จํากัด ผู้ผลิตและส่งออกของเล่นเด็กผลิตจากไม้ยางพาราภายใต้แบรนด์ “PlanToys” ในการออกแบบและพัฒนาของเล่นสำหรับผู้สูงอายุที่สามารถช่วยกระตุ้นและฝึกความสามารถสมองในเฉพาะด้าน สร้างความรู้สึกจากการเล่นและอารมณ์เชิงบวกที่เหมาะสม และเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางจิตใจกับคนในครอบครัว จากรูปแบบของเล่นกว่า 60 แนวคิดที่ออกแบบจากการทำความเข้าใจที่ลึกซึ้ง และพิจารณารูปแบบการเล่นที่น่าสนใจ โครงการได้คัดเลือกและทำต้นแบบของเล่นส่วนหนึ่ง เพื่อประเมินโดยผู้สูงอายุและครอบครัว รวมถึงพิจารณาความเป็นไปได้ทางการตลาด ปัจจุบันมีการจัดจำหน่ายของเล่นสำหรับผู้สูงอายุแล้วจำนวน 8 แบบ
ข้อมูลเพิ่มเติม: ผลิตภัณฑ์ Better Aging
Telecare – teleconsultation and remote care assistance
เป็นอุปกรณ์วิเคราะห์สำหรับใช้ในทางการแพทย์ สามารถช่วยให้แพทย์เฉพาะทางด้านสมองและระบบประสาทสามารถตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยแบบทางไกลด้วยตัวเอง แพทย์สามารถพูดคุยสื่อสารกับผู้ป่วยได้โดยตรง เห็นการเคลื่อนไหวส่วนต่างๆ ของร่างกายและใบหน้าได้พร้อมๆ กัน อีกทั้งยังสามารถตรวจการตอบสนองของม่านตาได้อีกด้วย อุปกรณ์ประกอบด้วยไมโครโฟน อุปกรณ์บันทึกภาพวีดิโอมุมแคบที่สามารถรับภาพอินฟราเรดและภาพแสงปกติ มีน้ำหนักไม่มากนักสามารถเคลื่อนย้ายอุปกรณ์ไปได้ด้วยผู้ใช้งาน โดยอุปกรณ์จะวางอยู่บริเวณปลายเตียงผู้ป่วยและรับส่งสัญญาณภาพวีดิทัศน์สองภาพและเสียงพร้อมๆ กัน
Joey (เตียงตื่นตัว)
เป็นเตียงที่สามารถปรับเปลี่ยนเป็นที่นั่งแสนสบายได้ เป็นตัวช่วยให้ผู้สูงอายุลุกนั่งและลุกขึ้นยืนได้อย่างมั่นใจและปลอดภัยมากขึ้นได้ด้วยตนเอง ลดความเสี่ยงต่อการหกล้ม และลดภาระของผู้ดูแล ส่งเสริมให้ได้ทำกิจกรรมต่างๆ กับผู้อื่นมากขึ้น นอกจากนี้ยังตอบโจทย์ผู้ป่วยที่อยู่ในช่วงฟื้นฟูหลังการผ่าตัดและผู้ป่วยที่มีความลำบากในการเคลื่อนที่ เช่น โรคอัมพฤกษ์ ปัจจุบันบริษัท เอสบี ดีไซน์สแควร์ จำกัด ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและปรับรูปลักษณ์ให้เข้ากับผลิตภัณฑ์ของบริษัท มีความสวยงามน่าใช้ และจัดจำหน่ายภายใต้ชื่อ เตียงไฟฟ้าปรับระดับ Power Lift Bed
ข้อมูลเพิ่มเติม: ผลิตภัณฑ์ Power Lift Bed, ข่าวเปิดตัวผลิตภัณฑ์ และ ข้อมูลเทคโนโลยี
Akiko (ผ้ากระตุ้นสมอง)
เป็นผ้าห่มกระตุ้นประสาทสัมผัสและความทรงจำที่ดีให้แก่ผู้สูงอายุและผู้ป่วยสมองเสื่อมจากการได้สัมผัสผ้าที่อ่อนนุ่มที่มีรูปแบบทั้งผิวสัมผัสและลายผ้าที่หลากหลาย สามารถใส่รูปภาพ สิ่งของ หรือกลิ่นหอมที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความคุ้นเคยจะช่วยให้ผู้สูงอายุและผู้ป่วยสมองเสื่อมรู้สึกผ่อนคลายทั้งร่างกายและจิตใจ และลดความกระวนกระวายลงได้ นอกจากนี้ ยังสามารถใช้ทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัว เป็นการฝึกความทรงจำ การคิดตัดสินใจ ด้วยการเล่นเกมกับสิ่งที่ใส่ในผ้าได้
Monica (เกมฝึกสมอง)
เป็นเกมกระตุ้นสมองสำหรับผู้สูงอายุและบุคคลทั่วไป เพื่อพัฒนาสมาธิและความจำ ประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่ (1) ซอฟต์แวร์เกม ที่จะเน้นการใช้ภาพหรือไอคอนง่ายๆ เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำ มีกติกาการเล่นที่ง่าย ไม่ซับซ้อน แต่สามารถปรับระดับความยากได้ รวมถึงมีระบบจัดเก็บและรวบรวมคะแนนเพื่อให้สามารถติดตามผลได้ภายหลัง และ (2) อุปกรณ์ Joypad เป็นฮาร์ดแวร์ที่ใช้ควบคุมเกมแบบไร้สาย ซึ่งมีส่วนประกอบคือ ปุ่มกด แท่นรองปุ่ม เบาะวางตัก และหูหิ้ว โดยที่อุปกรณ์ได้รับการออกแบบให้ผู้สูงอายุสามารถใช้งานได้ง่าย ปุ่มมีขนาดใหญ่ จับถนัดมือและกดง่าย ตัวเบาะเว้ารับกับลำตัวผู้สูงอายุ ทำให้สามารถวางอุปกรณ์บนตักได้อย่างมั่นคง ลดโอกาสเกิดการเมื่อยล้า
ข้อมูลเพิ่มเติม: ผลิตภัณฑ์ Monica Joypad และ ข้อมูลเทคโนโลยี
ดาวน์โหลด: แอปพลิเคชันเกม Monica โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
Ben (อุปกรณ์ขึ้นลงเตียง)
เป็นอุปกรณ์ช่วยให้ผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่ต้องใช้เตียงสูงสามารถลุกนั่ง และขึ้นลงจากเตียงด้วยตัวเองได้อย่างปลอดภัย ช่วยการกระตุ้นการลุกขึ้นนั่ง ลดการนอนติดเตียง จึงช่วยฟื้นฟูสุขภาพร่างกายและจิตใจโดยทั่วไปหรือหลังผ่าตัดได้ดี นอกจากนี้ ยังสามารถปรับเปลี่ยนเป็นเก้าอี้สำหรับพยาบาลในการทำหัตถการ และสำหรับญาติที่มาเยี่ยม อุปกรณ์ถูกออกแบบให้สามารถเคลื่อนย้ายและจัดเก็บได้ง่าย
ห้องปฏิบัติการให้คำปรึกษาด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสวมใส่ (Wearable Technologies Consulting Services lab)
ห้องปฏิบัติการได้รับการสนับสนุนงบประมาณจัดตั้งภายใต้แผนงานบูรณาการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต ประจำปีงบประมาณ 2565 จากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เพื่อใช้ในงานวิเคราะห์ทดสอบด้านเทคโนโลยีสวมใส่ มีเครื่องมือที่พร้อมใช้ในการวิเคราะห์ทดสอบโดยทีมผู้ชำนาญการ ดังต่อไปนี้
อุปกรณ์เซ็นเซอร์เพื่อวิเคราะห์การเคลื่อนไหว: XSens MVN Awinda/XSens MVN Analyze software
ระบบกล้องวิเคราะห์การเคลื่อนไหว: OptiTrack PrimeX 22/Motive Optical Motion Capture software
ชุดเครื่องวัดและวิเคราะห์สัญญาณไฟฟ้ากล้ามเนื้อ (Electromyography, EMG): Delsys Trigno(R) Avanti EMG + IMU System
อุปกรณ์วิเคราะห์ท่าทางในการเดินแบบสวมใส่: G-walk Wearable Inertial Sensor for Motion Analysis
เครื่องมือวิเคราะห์อัตราการเผาผลาญพลังงานด้วยวิธี Indirect Calorimetry: Ultima CPX™ Metabolic Stress Testing System
เครื่องทดสอบแรงอเนกประสงค์ (Electrodynamic Testing Machine): Zwick/Roell LTM10
เครื่องทดสอบแรงอเนกประสงค์ (Universal Testing Machine) พร้อม Extensometer ความละเอียดสูง เครื่องทดสอบความแข็ง (Hardness Tester) เครื่องทดสอบไดนามิกและความล้า (Dynamic and Fatigue Tester) ด้วยเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยและการสอบเทียบแม่นยำได้ตามมาตรสากลทั้ง DIN, EN, ISO, ASTM, JIS, BS
Partners
ทีมวิจัยการออกแบบเพื่อการเป็นอยู่ที่ดี (WLDT)
ดร.วรวริศ กอปรสิริพัฒน์
โทร : 0 2564 6500 ต่อ 4754
อีเมล : worawark@mtec.or.th
ทีมวิจัยในกลุ่มการออกแบบเชิงวิศวกรรมและการคำนวณ