ฟิล์มคลุมโรงเรือน 3-in-1 (ใช้ 1 ได้ถึง 3)
โรงเรือนทดสอบ ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน จังหวัดนครปฐม
นักวิจัยห้องปฏิบัติการเคมีโพลิเมอร์ หน่วยวิจัยโพลิเมอร์ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ พัฒนาฟิล์มคลุมโรงเรือนที่มีสมบัติหลากหลายรวมไว้ในฟิล์มเดียวทั้งกรองรังสียูวี สะท้อนรังสีเอ็นไออาร์ และกระจายแสงได้ดี ฟิล์มนี้สามารถควบคุมการผ่านของแสงให้เหมาะแก่การเจริญเติบโตของพืช
การนำเทคโนโลยีโรงเรือนมาใช้ประโยชน์ในด้านการควบคุมคุณภาพและปริมาณของผลิตผลนอกจากจะช่วยให้เกษตรกรปลูกพืชได้ผลผลิตที่ดีขึ้นแล้ว ยังช่วยทำให้ปลูกพืชนอกฤดูกาลได้อีกด้วย การเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมต่อการเพาะปลูกพืชขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ชนิดของพืชผล การบำรุงรักษา การใช้งานที่ง่าย และความคุ้มทุนทางเศรษฐกิจ ที่ตั้งและสภาพภูมิอากาศ (geographical และ meteorological parameters) ขนาดและรูปทรงของโรงเรือน รวมทั้งการออกแบบ และชนิดของฟิล์มคลุมโรงเรือนที่เหมาะสม โดยฟิล์มที่ใช้คลุมโรงเรือนควรมีสมบัติดังนี้
1) กรองรังสีอัลตราไวโอเลตได้ เนื่องจากถ้ามีรังสีชนิดนี้มากจะไปยับยั้งกระบวนการสังเคราะห์แสงและทำลายดีเอ็นเอของพืช
2) กรองและสะท้อนรังสีความร้อนหรือเอ็นไออาร์ได้สูง (Near Infrared Radiation, NIR) หากมีรังสีนี้มากเกินไปจะทำให้ภายในโรงเรือนร้อน ส่งผลให้ใบและดอกเหี่ยวเฉา
3) ยอมให้แสงในช่วงพาร์ (Photosynthetically Active Radiation, PAR) ส่องผ่านได้สูง เพราะเป็นช่วงแสงที่พืชต้องการในการเจริญเติบโต
4) กระจายแสงได้ดี (light diffusion) เพื่อให้พืชได้รับแสงอย่างทั่วถึงและสม่ำเสมอ
5) ป้องกันการจับตัวของไอน้ำ
6) ป้องกันฝุ่นจับ เนื่องจากฝุ่นอาจทำให้ปริมาณแสงที่ส่องผ่าน (total transmission) ลดลง และ
7) มีความทนทานและมีสมบัติเชิงกลที่ดี
ดร.อทิตย์สา เพ็ชรสุข ดร.ดวงพร ศิริกิตติกุล และคณะ ได้พัฒนาฟิล์ม MultiTech และ MultiTech-Ultra ให้มีสมบัติพิเศษต่างๆ เพื่อให้เหมาะกับการเจริญเติบโตของพืช โดยทีมวิจัยเน้นการพัฒนาสารเติมแต่ง (functional additives) ชนิดต่างๆ เพื่อนำไปผสมกับโพลิเมอร์ และเป่าขึ้นรูปฟิล์มให้มีสมบัติตามที่ต้องการ ศึกษาสมบัติเชิงแสงในช่วงความยาวคลื่น 200–2500 นาโนเมตร รวมทั้งทดสอบสมบัติทางความร้อนและสมบัติเชิงกล
โดยฟิล์มที่พัฒนาขึ้นสามารถลดการส่องผ่านของรังสีอัลตราไวโอเลต สะท้อนรังสีเอ็นไออาร์ ยอมให้แสงช่วงพาร์ส่องผ่านได้สูง และกระจายแสงได้ดี นอกจากนี้ ฟิล์มที่พัฒนายังมีความทนทานและมีสมบัติเชิงกลที่ดีอีกด้วย
การทดสอบปลูกมะเขือเทศเชอร์รีภายใต้ฟิล์มคลุมโรงเรือนที่ MTEC พัฒนา
ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน จังหวัดนครปฐม
ผลงานวิจัยอยู่ในระหว่างทดสอบประสิทธิภาพฟิล์มคลุมโรงเรือน โดยการขยายผลการใช้ฟิล์มคลุมโรงเรือนทดสอบปลูกพืชชนิดต่างๆ ใน 3 พื้นที่ ได้แก่ 1) บ้านหนองมัง จังหวัดอุบลราชธานี: ปลูกผักกินใบ 2) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน จังหวัดนครปฐม: ปลูกมะเขือเทศ ผักสลัด และเมลอน 3) มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่: ปลูกไหลและผลสตรอว์เบอร์รี่ เพื่อดูการเจริญเติบโตของพืชผัก เทียบกับการใช้ฟิล์มคลุมโรงเรือนทางการค้า
สนใจติดต่อ
ระพีพันธ์ ระหงษ์ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ งานประสานธุรกิจและอุตสาหกรรม โทร: 02 564 6500 ต่อ 4789
อีเมล: rapeepr@mtec.or.th
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
แผ่นพับฟิล์มคลุมโรงเรือน 3-in-1 Multitech และ Multitech-Ultra (click)
โพลิเมอร์กับการใช้งานเป็นฟิล์มคลุมโรงเรือน (click)