ผลิตภัณฑ์สิ่งก่อสร้างรักษ์โลกจากเศษกระเบื้องเหลือทิ้ง

สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย
งานพัฒนาคุณภาพการเผยแพร่เทคโนโลยีวัสดุ ฝ่ายเผยแพร่เทคโนโลยี
ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการเผาแล้ว มีตำหนิหรือเสียหายจากกระบวนการผลิตที่ไม่อาจจะขายได้ โดยทั่วไปโรงงานจะใช้วิธีฝังกลบในพื้นที่ของบริษัท หรือหาทางกำจัดของเสียหรือเศษผลิตภัณฑ์ที่ชำรุดเสียหายนั้นออกไป ทำให้สิ้นเปลืองทรัพยากร พร้อมกับปริมาณทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่จำกัดทั่วโลกลดลง และเกิดแนวโน้มขาดแคลนเพิ่มขึ้น ทำให้ปัจจุบันมีแนวคิดลดการปลดปล่อยขยะของเสียที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมขึ้น เกิดหลักคิดที่ไม่เพียงใช้ทรัพยากรเพียงอย่างเดียว แต่กลับให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่ามากที่สุด โดยนำวัสดุเหลือทิ้งกลับมาเป็นวัตถุดิบผลิตใหม่ ส่งผลให้แนวทางการวิจัยและพัฒนาต้องพยายามผลักดันให้เกิดการมองให้ครบด้านตลอดวัฏจักรชีวิต (life cycle) ของผลิตภัณฑ์ด้วย
จุดเริ่มต้นความร่วมมือของศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ กับบริษัท เคนไซซีรามิคส์อินดัสตรี้ จำกัด ผู้ผลิตและส่งออกกระเบื้องเซรามิค มีแนวคิดความต้องการผลิตภัณฑ์สิ่งก่อสร้างจากเศษกระเบื้องเหลือทิ้งให้สามารถจำหน่ายในท้องตลาดได้ และเกิดความคุ้มค่าในเชิงต้นทุน และใช้เทคนิคที่ไม่ซับซ้อน
คอนกรีตน้ำซึมผ่านเร็ว และบล็อกช่องลมจากเศษกระเบื้องเหลือทิ้ง
คอนกรีตน้ำซึมผ่านเร็ว เป็นผลิตภัณฑ์ตัวแรกจากเศษกระเบื้องบดขนาดใหญ่ มีลักษณะรูพรุนสูงและสามารถให้น้ำไหลผ่านได้ เหมาะใช้งานกับระบบการระบายน้ำของเมืองใหญ่ เช่น ทางเดิน สนามกีฬา สวนสาธารณะ ถนน เป็นต้น ไม่ต้องการให้น้ำท่วมขังและระบายน้ำลงไปในระบบระบายน้ำของเมืองได้อย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ เพื่อลดการสูญเปล่าของทรัพยากรหรือวัตถุดิบที่นำมาหมุนเวียนใหม่ได้ให้มากที่สุด ก็ยังมีเศษกระเบื้องที่บดละเอียดเหลือทิ้งอีกส่วนหนึ่ง ได้นำมาพัฒนาต่อเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ คือ บล็อกช่องลม เป็นผลงานที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการออกแบบตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน ปีที่ 2 ตอบโจทย์การนำกลับมาใช้ซ้ำ หรือการจัดการซากผลิตภัณฑ์เมื่อสิ้นอายุการใช้งานหรือไม่ใช้แล้ว มีการหมุนเวียนการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด
ทีมวิจัยได้นำความรู้ด้านวัสดุศาสตร์และนำเทคโนโลยีร่วมพัฒนาสูตรผสมและเทคนิคในการผลิต ร่วมศึกษาและหาวิธีการทดสอบเทียบเคียงมาตรฐานของบล็อกช่องลมกับของต่างประเทศด้วย ส่วนคอนกรีตน้ำซึมผ่านเร็ว มีคุณสมบัติที่สามารถปรับความพรุนมากน้อยได้ตามความต้องการ และผ่านการทดสอบการรับแรงสำหรับการปูพื้นทางเท้า ซึ่งทั้ง 2 ผลิตภัณฑ์มีต้นทุนต่ำเพราะใช้วัสดุเหลือทิ้งของบริษัทฯ นำกลับมาใช้ประโยชน์หรือสร้างมูลค่าเพิ่ม จำนวนมากกว่า 500 ตัน ซึ่งเป็นปัญหาสะสมมาอย่างยาวนาน ถือเป็นการลดการพึ่งพาวัตถุดิบปฐมภูมิหรือทรัพยากรธรรมชาติได้
นอกเหนือจากนี้ เอ็มเทค ยังได้เข้าไปสนับสนุนตามโครงการยกระดับนวัตกรรมฐานวัสดุ สู่ตลาดชั้นนำเพื่อการเติบโตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ได้มีการรวบรวมข้อมูลเพื่อนำไปปรับปรุงกระบวนการผลิต การผลักดันการจัดทำบัญชีนวัตกรรม และประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นต์ของผลิตภัณฑ์ด้วย
สนใจรายละเอียดติดต่อ
คุณภัทรวรรณ เฉยเจริญ
งานประสานธุรกิจและอุตสาหกรรม ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ
อีเมล: pattarac@mtec.or.th