หลักสูตรอบรม
เหล็กกล้าไร้สนิมสำหรับงานวิศวกรรมและกรณีศึกษา
(Stainless Steel for Engineering Applications and Case Studies)
จัดโดย
ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ
ร่วมกับ
ทีมวิจัยเทคโนโลยีการผลิตและซ่อมบำรุง
ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีระบบรางและขนส่งสมัยใหม่
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
วันที่ 24-25 กรกฎาคม 2566 เวลา 9.00-16.45 น.
ห้องบรรยาย 1 อาคารบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร
อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี
หลักการและเหตุผล
ปัจจุบันเราจะเห็นเหล็กกล้าไร้สนิม (Stainless Steel) ปรากฏในรูปของผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและแตกต่างกันออกไปตามการประยุกต์ใช้งาน นับตั้งแต่การใช้งานพื้นฐาน เช่น เครื่องครัวและตกแต่งทั้งภายนอกและภายในอาคารบ้านเรือน ไปจนถึงการใช้งานระดับสูง เช่น ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุพลังงาน อาหารและยา รวมถึงชิ้นส่วนอากาศยาน เป็นต้น
สำหรับท่านที่ปฏิบัติงานใกล้ชิดกับเหล็กกล้าไร้สนิมอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะวิศวกรด้านการกัดกร่อนของโลหะ อาจเข้าใจว่าชื่อดังกล่าวเป็นแค่นามธรรมที่ใช้เรียกชื่อเหล็กกล้าชนิดหนึ่ง เพราะในความเป็นจริงแล้วเหล็กกล้าไร้สนิมสามารถเกิดสนิมได้ ยิ่งไปกว่านั้นยังสามารถเกิดการกัดกร่อนที่สร้างความเสียหายได้ยิ่งกว่าคำว่า “สนิม” เสียอีก โดยเฉพาะในกรณีที่เกิดการกัดกร่อนแบบเฉพาะที่ (Localized Corrosion) อันนำไปสู่ความเสียหายเฉพาะจุดและมีปัจจัยของสิ่งแวดล้อมเป็นตัวเหนี่ยวนำ (Environmental Induced) เพราะว่าในปัจจุบันนี้ สิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะในโรงงานอุตสาหกรรม มีความซับซ้อนและมีฤทธิ์กัดกร่อนค่อนข้างรุนแรงทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่เหมือนกับสนิมที่เกิดขึ้นกับเหล็กกล้าคาร์บอน (Carbon Steel) ที่มีลักษณะสม่ำเสมอทั่วผิวหน้า (General Corrosion) ซึ่งสามารถทำนายอายุการใช้งานหรืออัตราการกัดกร่อนได้
แม้เหล็กกล้าไร้สนิมจะมีสมบัติที่ดีหลายประการ เช่น สมบัติความต้านทานการกัดกร่อนที่สูง มีค่าบำรุงรักษาต่ำ ง่ายต่อการตัด ขึ้นรูป ตบแต่งทางกล และการเชื่อม มีระยะเวลาในการใช้งานคุ้มค่ากับราคา และสามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่ทั้งหมด (รีไซเคิลได้ 100%) ซึ่งเป็นการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมอีกทางหนึ่ง แม้แต่เศษที่เหลือจากการใช้งานก็ยังมีราคาสูง จึงทำให้เหล็กกล้าไร้สนิมเป็นโลหะที่มีคุณค่ายิ่งและมีประโยชน์ใช้สอยที่ไร้ขีดจำกัด แต่ถ้ามีการใช้งานและการดูแลเหล็กกล้าไร้สนิมที่ไม่ถูกต้องก็อาจทำให้เกิดความเสียหายของเหล็กกล้าไร้สนิมอย่างไม่คาดคิดและนำมาซึ่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ต่อเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมได้
ในปัจจุบันพบว่าอุตสาหกรรมปิโตรเคมี พลังงาน อาหารและยาในประเทศไทยพบปัญหาเกิดขึ้นกับเหล็กกล้าไร้สนิมค่อนข้างมาก ซึ่งอาจมีปัจจัยมาจากการเลือกใช้เกรดที่ไม่ถูกต้อง/เหมาะสม การประกอบติดตั้ง (โดยเฉพาะการเชื่อม) ไม่ได้คุณภาพ การตรวจสอบไม่ได้มาตรฐาน การกัดกร่อนที่อุณหภูมิห้องและอุณหภูมิสูงด้วยรูปแบบต่าง ๆ ดังนั้นการเพิ่มทักษะและพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับการเลือกใช้เหล็กกล้าไร้สนิมให้เหมาะสมกับความต้องการ การเปลี่ยนแปลงทางโลหะวิทยาของเหล็กกล้าไร้สนิมที่สัมพันธ์กับกระบวนการขึ้นรูป สมบัติหลังการเชื่อม สมบัติความต้านทานการกัดกร่อน รวมถึงกรณีศึกษาความเสียหายของเหล็กกล้าไร้สนิมที่เกิดขึ้นในประเทศไทยจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อผู้ปฏิบัติงาน และ/หรือผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมดังกล่าวข้างต้น สำหรับป้องกันความเสียหายของชิ้นส่วนโลหะที่จะเกิดขึ้นในระหว่างการใช้งาน
ดังนั้นการสัมมนาเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ จึงได้เน้นให้ผู้เข้าร่วมได้พัฒนาทักษะและความรู้เกี่ยวกับเหล็กกล้าไร้สนิมเกรดต่าง ๆ รวมทั้งการใช้งานในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั้งที่อุณหภูมิห้องและอุณหภูมิสูง การกัดกร่อนและการป้องกัน การเชื่อม และศาสตร์ของการวิเคราะห์ความเสียหายของชิ้นส่วนเหล็กกล้าไร้สนิม ผ่านการบรรยายทางทฤษฎีโดยทีมวิทยากรที่มีความรู้และประสบการณ์ตรงมากกว่า 20 ปี ทั้งจากสถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัย และมีการแสดงและสาธิตเครื่องมือจากบริษัทเอกชน
วัตถุประสงค์
1. เข้าใจโลหะวิทยาของเหล็กกล้าไร้สนิม ประเภทของเหล็กกล้าไร้สนิม การใช้งาน และแนวโน้มการพัฒนาเหล็กกล้าไร้สนิม
2. ทราบถึงหลักการเลือกใช้เหล็กกล้าไร้สนิมในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ
3. ทราบถึงกลไกการกัดกร่อนที่เกิดขึ้นกับเหล็กกล้าไร้สนิมในรูปแบบต่างๆ
4. ทราบถึงเทคนิคการเชื่อมเหล็กกล้าไร้สนิม
5. ทราบถึงเหล็กกล้าไร้สนิมและโลหะผสมสูงใช้งานที่อุณหภูมิสูง
6. ได้เรียนรู้การเสียหายของเหล็กกล้าไร้สนิมด้วยรูปแบบต่างๆ ผ่านกรณีการวิเคราะห์ความเสียหาย
7. ได้เห็นและสังเกตลักษณะความเสียหายที่เกิดขึ้นกับชิ้นงานจริงกับชิ้นส่วนเหล็กกล้าไร้สนิม
8. ทราบถึงเทคนิคและเครื่องมือที่ใช้ในการในการวิเคราะห์ความเสียหายของชิ้นส่วนเหล็กกล้าไร้สนิม
9. สามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานจริง
รูปแบบกิจกรรม
อบรมเชิงปฏิบัติการเน้นการเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ และมีการแสดงและสาธิตเครื่องมือจากบริษัทเอกชน
คุณสมบัติของผู้สมัครเข้ารับการอบรม
– ช่างหรือวิศวกรที่ทำงานในอุตสาหกรรมที่มีการใช้งานเหล็กกล้าไร้สนิม
– ผู้ที่สนใจทั่วไป
วิทยากร
กำหนดการและหัวข้อบรรยาย
วันที่ 24 กรกฎาคม 2566
08.00 น. – 08.30 น. ลงทะเบียน
08.30 น. – 10.30 น. โลหะวิทยาของเหล็กกล้าไร้สนิม ประเภทของเหล็กกล้าไร้สนิม การใช้งานและแนวโน้มการพัฒนาเหล็กกล้าไร้สนิมเพื่อการใช้งานในภาคอุตสาหกรรม
(ดร.เอกรัตน์ ไวยนิตย์)
10.30 น. – 10.45 น. พักรับประทานอาหารว่าง
10.45 น. – 12.00 น. การเลือกใช้เหล็กกล้าไร้สนิมในภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมพลังงาน และ อุตสาหกรรมอาหารและยา
(ดร.เอกรัตน์ ไวยนิตย์)
12.00 น. – 13.00 น. พักรับประทานอาหารกลางวัน
13.00 น. – 14.30 น. เหล็กกล้าไร้สนิมกับการกัดกร่อน
(ดร.วนิดา พงศ์ศักดิ์สวัสดิ์)
14.30 น. – 14.45 น. พักรับประทานอาหารว่าง
14.45 น. – 16.45 น. ภาคปฏิบัติ:
1. อิทธิพลของแรงกระทำทางกลต่อการเปลี่ยนแปลงสมบัติของเหล็กกล้าไร้สนิม
2. การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างจุลภาคของเหล็กกล้าไร้สนิม
3. สมบัติของฟิล์มพาสซีฟในเหล็กกล้าไร้สนิม
4. การตรวจสอบการตกตะกอบของโครเมียมคาร์ไบด์ในเหล็กกล้าไร้สนิมด้วยเทคนิคเคมีไฟฟ้า
5. เทคนิคการตรวจสอบและการแยกเกรดเหล็กกล้าไร้สนิม
วันที่ 25 กรกฎาคม 2566
09.00 น. – 10.30 น. การเชื่อมเหล็กกล้าไร้สนิมชนิดออสเทนนิติก เฟอร์ริติก และดูเพล็กซ์ สำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี พลังงาน อาหารและยา
(รศ.ดร. อิศรทัต พึ่งอ้น)
10.30 น. – 10.45 น. พักรับประทานอาหารว่าง
10.45 น. – 12.00 น. เหล็กกล้าไร้สนิมและโลหะผสมสูงใช้งานที่อุณหภูมิสูง
(รศ.ดร. อิศรทัต พึ่งอ้น)
12.00 น. – 13.00 น. พักรับประทานอาหารกลางวัน
13.00 น. – 14.30 น. กรณีศึกษาความเสียหายของเหล็กกล้าไร้สนิม
– ขั้นตอนและเทคนิคการวิเคราะห์ความเสียหาย
– Corrosion fatigue cracking of SS316 screener mesh
– Pitting corrosion of SS304L chemical transfer pipeline
– Carburization failure of SS310 burner pipe
(อ.สยาม แก้วคำไสย์)
14.30 น. – 14.45 น. พักรับประทานอาหารว่าง
14.45. น. – 16.30 น. กรณีศึกษาความเสียหายของเหล็กกล้าไร้สนิม (ต่อ)
– CUI and Cl-induced stress corrosion cracking of SS304 chemical pipe
– Intergranular cracking of SS321 for chemical feeding pipeline
– Cracking of SS304 water impeller
– Cracking of super-duplex SS tube for offshore application
(อ.โฆษิต วงค์ปิ่นแก้ว)
16.30. น. – 16.45 น. ถาม-ตอบ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น
ค่าลงทะเบียน
บุคคลทั่วไป/เอกชน ราคา 8,453 บาท/ท่าน (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)
ข้าราชการ/พนักงานองค์กรรัฐ ราคา 7,900 บาท/ท่าน (ไม่มีภาษีมูลค่าเพิ่ม)
หมายเหตุ
– อัตราค่าลงทะเบียนรวมค่าอาหารว่าง อาหารกลางวัน เอกสารประกอบการอบรม และภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%
– สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เป็นหน่วยงานของรัฐ จึงไม่อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องหักภาษี 3%
– รับจำนวนจำกัดเพียง 25 ท่านเท่านั้น
การลงทะเบียน
ลงทะเบียนออนไลน์ >>>
การชำระค่าลงทะเบียน
โอนเงิน/ เช็ค สั่งจ่าย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ประเภทออมทรัพย์ สาขาย่อยอุทยานวิทยาศาสตร์ เลขที่บัญชี 080-000001-0
สมัครและสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
งานพัฒนากำลังคนด้านเทคโนโลยีวัสดุเพื่ออุตสาหกรรม (คุณบุญรักษ์ กาญจนวรวณิชย์/ คุณพลธร เวณุนันท์)
ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ
โทรศัพท์ 025646500 ต่อ 4675, 4677 E-mail : boonrkk@mtec.or.th