"บทเรียนจากมินามาตะ" ประสบการณ์ล้ำค่าของ ดร.เสมอแข จรธรรมานุรักษ์

“มินามาตะ” เดิมทีเป็นเพียงชื่อเมืองเล็กๆ ในจังหวัดคุมะโมะโตะ แต่หลังจากเกิดโศกนาฏกรรมซึ่งคนในพื้นที่ล้มป่วยด้วยโรคที่ไม่เคยพบที่ใดมาก่อน และภายหลังมีการยืนยันสาเหตุของโรคว่าเกิดจากการบริโภคสัตว์น้ำที่ปนเปื้อนสารประกอบอินทรีย์ของปรอทจากน้ำเสีย จึงเรียกชื่อโรคนี้ว่า “โรคมินามาตะ”

เดือนธันวาคม 2557 ดร. เสมอแข จงธรรมานุรักษ์ นักวิจัยจากห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีวัสดุเพื่อสิ่งแวดล้อมได้ร่วมอบรมหัวข้อการสร้างขีดความสามารถในการให้สัตยาบันต่อสนธิสัญญามินามาตะว่าด้วยสารปรอท (Capacity Building for Ratification of Minamata Convention on Mercury) ที่จังหวัดคุมะโมะโตะ

ดร.เสมอแขได้พูดคุยกับผู้ป่วย ฟังบรรยายจากแพทย์และผู้แทนรัฐบาลจังหวัดคุมะโมะโตะ และเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ในเมืองมินามาตะ รวมทั้งได้รับทราบการดำเนินงานของรัฐบาลในการเยียวยาผู้ป่วย การฟื้นฟูสภาพอ่าวมินามาตะ การวิจัยที่เกี่ยวข้องกับสารปรอท และการรณรงค์เรื่องสังคมปลอดสารปรอทของรัฐบาลจังหวัดคุมะโมะโตะ

ดร.เสมอแขได้ถ่ายทอดประสบการณ์ผ่านบทความที่เรียบเรียงลำดับเหตุการณ์ไว้อย่างน่าสนใจ และนำเสนอเรื่องราวในหลายมิติ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงการหวังผลจากการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมโดยขาดความเอาใจใส่ด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทำให้ส่งผลร้ายในระยะยาวและเป็นวงกว้าง

“การเข้าร่วมหลักสูตรนี้ทำให้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับพิษของสารเมทิลปรอทที่เกิดจากกิจกรรมอุตสาหกรรมและผลกระทบร้ายแรงต่อระบบนิเวศ สุขภาพของประชาชน และนำไปสู่ผลกระทบในเชิงสังคมศาสตร์ อีกทั้งได้เห็นความร่วมมือร่วมใจในการบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้มินามาตะวันนี้มีสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย และกำลังพัฒนาเชิงรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง”

ดร.เสมอแขสรุปทิ้งท้าย

……………………………………………………………………………………………………….

ผู้ที่สนใจรายละเอียดสามารถอ่านได้ที่ วารสารเทคโนโลยีวัสดุ ฉบับที่ 77 และ 79

 

ดร.เสมอแข จงธรรมานุรักษ์

จบการศึกษาด้านวัสดุอิเล็กทรอนิกส์ และโฟโทนิกส์จาก Massachusetts Institute of Technology สหรัฐอเมริกา มีความเชี่ยวชาญด้านวัสดุฟิล์มบาง สารกึ่งตัวนำ และสนใจการนำวัสดุรูพรุนธรรมชาติเพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำ

ปัจจุบันเป็นนักวิจัย ห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีวัสดุเพื่อสิ่งแวดล้อม หน่วยวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ