ไทย
EN
“เรื่อง core technology นี้สำคัญ เราไปเข้าใจว่าเทคโนโลยีมันก้าวกระโดดได้ มันไม่มี มีแต่ย่นเวลาช่วง learning curve เช่น คำพูดที่ว่าไปเสียเวลาสร้างทำไม ซื้อมาก็ได้ คือเขาไม่เข้าใจว่าการที่เรารู้จากการสร้างเองกับไปซื้อมาตั้งใช้ มันผิดกันเยอะ”
ในระยะแรกของการดำเนินงาน เอ็มเทคเคยมีกลไกสนับสนุนหน่วยเทคโนโลยีเฉพาะทาง เพื่อให้หน่วยเทคโนโลยีต่างๆ เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างสถาบันอุดมศึกษาในการผลิตกำลังคนและผลงาน เพื่อนำไปใช้ในภาคธุรกิจอุตสาหกรรม
หน่วยเทคโนโลยีไอออนบีม สังกัดศูนย์วิจัยนิวตรอนพลังงานสูง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีความเข้มแข็งในทางวิชาการ การบริหารจัดการ และมีผลงานเด่นที่เป็นรูปธรรม ได้แก่ เครื่องไอออนอิมแพลนเตอร์ (ion implanter)
ศาสตราจารย์ ดร. ถิรพัฒน์ วิลัยทอง เป็นบุคคลสำคัญที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของหน่วยเทคโนโลยีนี้ จากนักฟิสิกส์ที่ไม่สนใจอิเล็กทรอนิกส์ แต่จำเป็นต้องเรียนรู้ด้วยตนเอง จนสามารถเป็นผู้นำที่ดึงพลังความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ และจัดหางบประมาณมาสร้างเครื่องมือที่ซับซ้อนได้
ท่านเล่าว่าเมื่อครั้งไปเรียนปริญญาโทที่อังกฤษ อาจารย์ที่ปรึกษาสอนว่า
“คุณต้องจำไว้ว่าเทคโนโลยีที่คุณทำวันนี้มันจะล้าสมัยภายใน 5 ปี ดังนั้น สิ่งที่คุณจะได้จากการวิจัยไม่ใช่เทคโนโลยีที่จะยั่งยืน แต่เป็นวิธีการที่จะแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ”
ส่วนเรื่องการพัฒนาคนในทีมให้เก่ง ท่านมีหลักว่า
“วิธีการสร้างคนของที่นี่คือ ทุกคนต้องลงมือเองหมด แล้วแต่ว่าจะหนักไปทางไหน บางคนหนักไปทางเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ บางคนหนักไปทางกระบวนการ แต่กำแพงขั้นต่ำสุดที่ทุกคนต้องผ่านคือเข้าไปทำงานในช็อป รู้คอมพิวเตอร์ และถ้าถึงระดับปริญญาเอก ก็ต้องรู้อิเล็กทรอนิกส์ คือ ยิ่งรู้มากก็ยิ่งกำไร ก็เหมือนมีอาวุธให้เลือกใช้มากเท่านั้นเอง”
“เพราะประเทศของเรามีคนน้อย ไม่เหมือนอเมริกาหรือญี่ปุ่น เงินก็น้อยกว่า คนก็น้อยกว่า ดังนั้น คนของเราคนหนึ่งต้องรู้มากกว่าเขา นี่คือสิ่งที่เราต้องการปลูกฝัง”
สนใจแง่คิดอื่นๆ และการบริหารงานของ ศาสตราจารย์ ดร.ถิรพัฒน์ วิลัยทอง สามารถอ่านได้จากบทความนี้
ที่มา: หนังสือหน่วยเทคโนโลยีเฉพาะทาง ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ หน้า 26-39 สัมภาษณ์โดย บัญชา ธนบุญสมบัติ และ ปิยพร เศรษฐศิริไพบูลย์