การออกแบบอย่างสร้างสรรค์ตามสไตล์ ดร.สิทธา สุขกสิ

“ลองคิดนอกกรอบดู ชูเรื่องดีไซน์ขึ้นมา ทำให้คนอื่นเห็นว่าถ้าเรามีเป้าหมายที่มีคุณค่าเป็นตัวตั้ง ทำให้เกิด Impact จริงๆ แล้วผลลัพธ์ด้านอื่นๆ เช่น paper patent ก็จะตามมาเอง”

ในปัจจุบันหลายองค์กรที่ทำงานเพื่อสร้าง “นวัตกรรม”ได้ใช้ กระบวนการ และเครื่องมือหลากหลายเพื่อสร้างสิ่งใหม่ๆที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ดร.สิทธา สุขกสิ ได้แสดงให้ทุกคนเห็นว่าเอ็มเทคได้ก้าวไปอีกขั้นในการทำวิจัยที่สามารถตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายได้อย่างตรงจุด สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่เข้าถึงความต้องการของผู้ใช้ได้อย่างแท้จริง ด้วยการใช้กระบวนการ Human–Centric Design เป็นเครื่องมือในการสร้างนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ โดยมองลึกถึงต้นเหตุของปัญหาที่แท้จริงและให้ความสำคัญกับการเข้าถึงความต้องการของคนมากที่สุด ดร.สิทธา และทีมงานได้ใช้กระบวนการนี้เข้าใจความต้องการของคนได้อย่างไร วิธีแก้ไขปัญหาเป็นไปทางใดได้บ้าง เมื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ออกมาแล้วจะมีความยั่งยืนทางธุรกิจได้อย่างไร

ทีมของ ดร.สิทธา เน้นกระบวนการ Human–Centric Design ซึ่งประกอบด้วย 5 ขั้นตอน ได้แก่

* เข้าใจกลุ่มเป้าหมาย (Empathize)
* ตีกรอบปัญหา (Define)
* ระดมความคิด (Ideate)
* สร้างต้นแบบ (Prototype)
* ทดสอบต้นแบบ (Test)

กระบวนการนี้ไม่ได้การทำตามลำดับขั้นตอน แต่จะทำซ้ำไปซ้ำมาและย้อนกลับไปทบทวนในขั้นตอนก่อนหน้าเสมอ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าเราตั้งโจทย์ได้อย่างถูกต้อง มีข้อมูลเพียงพอ และสร้างวิธีแก้ได้ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย

การเข้าใจกลุ่มเป้าหมาย ความชัดเจนในกลุ่มเป้าหมายเป็นสิ่งสำคัญ การสอบถามโดยการสัมภาษณ์เพียงอย่างเดียวมีข้อพึงระวังว่าข้อมูลที่ได้อาจเป็นเพียงความคิดเห็นที่อยู่กรอบของผู้เชี่ยวชาญที่ตอบคำถามดังนั้น ดร.สิทธา จึงนำตัวเองไปอยู่ในสภาพแวดล้อมของกลุ่มเป้าหมายจริงซึ่งจะช่วยให้เข้าใจปัญหามากขึ้น “จากประสบการณ์การไปสัมภาษณ์ จะไม่บอกว่าเป็นนักวิจัย เพราะการตีความคำว่านักวิจัยจากภาพที่คนอื่นคิด ทำให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเป็นไปได้ยาก”

การค้นหาความรู้สึกและความต้องการที่แท้จริงของผู้ถูกสัมภาษณ์ แม้บางอย่างอาจทำไม่ได้ แต่รับมาก่อน แล้วหาทางทำให้เพื่อซื้อใจและทำให้ผู้ถูกสัมภาณ์เปิดใจและให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์

ดร.สิทธาเน้นย้ำว่า “ การทำงานแบบเดิมๆอาจจะมีการโยนเทคโนโลยีที่มีอยู่ลงไปแก้ปัญหาหรือตัวปัญหามาใส่เทคโนโลยีทันทีโดยไม่ได้ศึกษาถึงความต้องการที่แท้จริงของผู้ใช้ผลิตภัณฑ์จริงๆ”

ตีกรอบปัญหา(Define) เป็นส่วนที่สำคัญมาก เพราะถ้าข้อมูลหรือกรอบปัญหาไม่ชัดเจน จะทำให้ไม่สามารถตอบโจทย์หรือดำเนินกระบวนการต่อไปได้

สร้างความคิด (Ideate) หลังจากได้ปัญหาที่ชัดเจนแล้วเราต้องหาไอเดียที่จะแก้ปัญหา การใช้ความคิดสร้างสรรค์ให้ได้ปริมาณไอเดียจำนวนมากเป็นกระบวนการสำคัญของขั้นตอนนี้ ความคิดจะต่อยอดได้ดียิ่งขึ้นเมื่อโจทย์ปัญหาหนึ่งข้ออาจมีทางออกได้มากมาย ตั้งแต่เรียบง่ายที่สุดไปจนถึงวิธีเหนือจินตนาการ

(Adapted from “Double Diamond” by British Design Council)

สร้างต้นแบบ ( Create Prototype) เป็นการนำข้อมูลที่ได้มาออกแบบและสร้างเป็นสิ่งที่จับต้องได้ กลุ่มเป้าหมายอาจไม่รู้ว่าเขาต้องการอะไร แต่เมื่อได้เห็นต้นแบบแล้วอาจรู้สึกชอบและอยากได้ขึ้นมา

ดร.สิทธา ได้คัดเลือกผู้ที่สามารถผลิตต้นแบบในระดับอุตสาหกรรมได้จริงตั้นแต่ต้น เช่น ผลิตภัณฑ์ AKIKO อะกิโกะผ้าห่มกระตุ้นสมอง ก็จะเริ่มจากคนที่รู้จักว่าใครที่จะเย็บผ้าให้ได้ หรือ BEN อุปกรณ์ขึ้นลงเตียง ก็จะไปหาคนที่ผลิตเฟอร์นิเจอร์ได้ตั้งแต่แรก เพื่อให้กระบวนการผลิตที่เหมาะสมถูกสะท้อนอยู่ใน design

ทดสอบต้นแบบ (Test) การนำต้นแบบมาให้กลุ่มเป้าหมายใช้จริงเพื่อนำผลตอบรับที่ได้ไปปรับปรุงตัวต้นแบบ เพื่อให้เกิดความเข้าใจปัญหาและทางออกที่ได้ออกแบบและพัฒนามาได้ชัดเจนขึ้น แล้วย้อนกลับไปทบทวนขั้นตอน ทำความเข้าใจปัญหา (Empathize) อีกครั้งเพื่อทำความเข้าใจกลุ่มเป้าหมายเพื่อกรอบปัญหาที่ชัดเจนขึ้น ดังนั้นการทดสอบต้นแบบจะเกิดการทำซ้ำไปเรื่อยๆจนกว่าจะได้สิ่งที่ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายอย่างแท้จริง

ปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จในกระบวนการ Human–Centric Design ประกอบด้วย

ทีม : ทีมงานที่มาจากหลากหลายสาขาความรู้ และสามารถเชื่อมโยงเรื่องหนึ่งๆจากมุมมองที่แตกต่างกันไป ดร.สิทธามักจะเข้าไปพบกลุ่มเป้าหมายหลายครั้งเพื่อสร้างความคุ้นเคยและมองหาความต้องการที่แท้จริง
  
กระบวนการ : กระบวนการทำสิ่งที่ทำอยู่ตอบโจทย์ปัญหาอย่างแท้จริงจากการที่ต้องคิดทบทวนเกี่ยวกับปัญหาหนึ่งๆ

พื้นที่ : พื้นที่ที่มีสภาพแวดล้อมเอื้ออำนวยต่อการระดมความคิด จะทำให้คนกล้าแสดงความคิดเห็น

ดร.สิทธา และทีมได้แสดงให้ทุกคนเห็นว่ากระบวนการ Human–Centric Design เป็นกระบวนการทำงานที่ทำให้ประสบความสำเร็จตามที่ตั้งใจไว้ว่าจะนำเอาดีไซน์มาช่วยเหลือคน และผลงานมีประโยชน์ต่อสังคมและผู้ใช้อย่างแท้จริง

ดร.สิทธา สุขกสิ : จบการศึกษาระดับปริญญาเอกจาก Massachusetts Institute of Technology 

ปัจจุบันเป็นนักวิจัยห้องปฏิบัติการออกแบบและแก้ปัญหาอุตสาหกรรม หน่วยวิจัยการออกแบบและวิศวกรรม