นวัตกรรมห้ามเลือดและลดแผลเป็น : ความภูมิใจของ ดร.บุญล้อม ถาวรยุติการต์

ดร.บุญล้อม ถาวรยุติการต์ อธิบายว่า ไคติน-ไคโตซานซึ่งสกัดจากเปลือกกุ้ง กระดองปู แกนปลาหมึก เมื่อนำมาพัฒนาเป็นวัสดุปิดแผลรักษาแผลเป็นจะสามารถดูดซับน้ำเลือดและน้ำหนองได้ดี ไม่ยึดติดแผล ลอกออกง่าย ตัววัสดุยังมีฤทธิ์สมานแผล ยับยั้งจุลินทรีย์บางชนิด ช่วยห้ามเลือด และรักษาแผลให้หายเร็วขึ้น

ผลงานวิจัยได้ผ่านการทดสอบทางคลินิคในโรงพยาบาลเรียบร้อยแล้ว โดยได้รับความร่วมมือจาก นายแพทย์ไพโรจน์ สุรัตนวนิช นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ โรงพยาบาลอ่างทอง และ รองศาสตราจารย์นายแพทย์ อภิชัย อังสพันธ์ หน่วยศัลยกรรมตกแต่ง และเสริมสร้าง ภาควิชาศัลยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งเปิดโอกาสให้นำผลงานวิจัยเข้าไปทดสอบประสิทธิภาพกับผู้ป่วย โดยทดลองใช้กับแผลผู้ป่วยที่ผ่านการปลูกถ่ายผิวหนัง (skin graft) ซึ่งเป็นการนำผิวหนังในที่ปกปิด เช่น ผิวหนังบริเวณสะโพกมารักษาแผลตามร่างกาย ทั้งนี้ได้ทดสอบกับผู้ป่วยหลายรายเพื่อยืนยันผลการใช้งาน

ดร.บุญล้อม ได้พัฒนา “แผ่นผ้าเคลือบซิลิโคนเจลเพื่อลดการเกิดแผลเป็น” เนื่องจากซิลิโคนเจลมีคุณสมบัติเหนียวและยืดหยุ่น ช่วยลดการเกิดแผลเป็นได้ดี ส่วนแผ่นผ้าเป็นวัสดุที่นุ่มจึงช่วยเสริมแรงกดทับลงบนผิวหนังที่จะเกิดแผลเป็น ทำให้ผิวหนังใหม่จัดเรียงตัวได้ดีขึ้น การทดสอบการใช้แผ่นผ้าเคลือบซิลิโคนเจลรักษาแผลเป็นได้ร่วมกับบริษัท วาโก้ ประเทศไทย จำกัด โดยใช้เป็นผ้ายืดรัดที่เป็นวัสดุทางการแพทย์ ผลงานวิจัยสามารถช่วยผู้ป่วยที่ถูกไฟไหม้ น้ำร้อนลวก คนป่วยมากกว่า 400 คนในโรงพยาบาล 18 แห่งโดยพบว่าแผลเป็นมีความแข็ง ความหนา และความขรุขระลดลงอย่างเห็นได้ชัด ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา

นวัตกรรมนี้หากสามารถผลักดันให้สามารถผลิตในเชิงพาณิชย์ก็จะทำให้ผู้ป่วยที่เข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพมีจำนวนมากขึ้น

ดร.บุญล้อม มีแววตาเป็นประกายเมื่อพูดถึงผลงานวิจัยที่ทำสำเร็จ มีประสิทธิภาพในการรักษาและช่วยผู้ป่วยได้จริงนอกจากนี้ไม่ควรลืมว่าการทดสอบภาคสนามต้องใช้ความอดทน เนื่องจากสภาพแผลที่ไม่น่ามอง ผู้ป่วยบางคนเป็นเบาหวานต้องถูกตัดขา เมื่อนึกภาพตามก็อดหวาดเสียวด้วยไม่ได้

ประสบการณ์การทำงานอันยาวนานหล่อหลอมให้เธอมีความอดทน อีกทั้งความเพียรพยายามที่จะเอาชนะอุปสรรคที่เกิดขึ้นระหว่างการทำงานก็เป็นสิ่งที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง

ดร.บุญล้อม มุ่งมั่นมั่นที่จะเป็นนักวิจัยที่มีคุณภาพ ศึกษาค้นคว้าวิจัยในเรื่องใหม่อย่างต่อเนื่อง เช่น การใช้โครงเลี้ยงเซลล์สำหรับงานด้านวิศวกรรมเนื้อเยื้อ (scaffold for tissue engineering) หากทำสำเร็จก็จะสามารถเพาะเลี้ยงเซลล์ของคนไข้ให้แข็งแรง แล้วนำกลับไปปลูกถ่ายในร่างกายของคนไข้คนนั้นเกิดเป็นอวัยวะใหม่แทนชิ้นเก่าที่เสื่อมไปได้

เป้าหมายของเธอคือการได้สานต่อแนวทางการทำงานของทีมวิจัยเพื่อพัฒนาเทคนิคใหม่และสร้างนวัตกรรมที่ช่วยป้องกัน รักษา ซ่อมแซม และฟื้นฟูร่างกายที่เหมาะสมกับกายวิภาคของคนไทย ทดแทนการนำเข้าวัสดุอุปกรณ์ เทคโนโลยีทางการแพทย์จากต่างประเทศ และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในประเทศ

ดร.บุญล้อม ถาวรยุติการต์: สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจาก Monash University Australia ปัจจุบันทำงานในตำแหน่งนักวิจัย ทีมวิจัยวัสดุเฉพาะทางชีวภาพ กลุ่มวิจัยวัสดุและอุปกรณ์เฉพาะทางชีวภาพ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ