ไทย
EN
คุณสุพจน์ เล่าประสบการณ์ว่า ช่วง 6 ปีแรกทำงานในภาคเอกชน งานแรกอยู่ในบริษัทญี่ปุ่นแห่งหนึ่งเป็นวิศวกรทำหน้าที่ควบคุมการก่อสร้างคลังน้ำมัน ปตท. หลังจากนั้นได้ไปทำงานกับ บริษัท อิตาเลียนไทย ดี เวล๊อปเมนต์จำกัด ในโครงการปรับปรุงคุณภาพดินเพื่อก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ เริ่มตั้งแต่การการปรับปรุงคุณภาพดินของพื้นที่หนองงูเห่าซึ่งมีลักษณะเป็นหลุมและหนองน้ำ ไม่สามารถรับน้ำหนักองค์อาคารขนาดใหญ่ได้ โดยการใช้เทคนิคระบายน้ำตามแนวดิ่ง (Prefabricated Vertical Drains)
ขั้นตอนการปรับพื้นที่อย่างเดียวต้องใช้เวลาเป็นปี ต้องดูเวลาการทรุดตัวของดิน เมื่อทดสอบผ่านแล้วจึงสามารถถมดินชั้นแรกแล้วตามด้วยการลงทราย ในขณะนั้นคุณสุพจน์ได้รับมอบหมายให้ดูแลเรื่องการจัดทำเอกสารขอเบิกจ่ายเงินงวด (payment) และการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในโครงการ (cost engineering) ทำให้ได้มีโอกาสเห็นภาพของโครงการด้านการบริหารจัดการการเงิน โดยเฉพาะการไหลเข้า-ไหลออกของกระแสเงินสด ซึ่งเป็นประสบการณ์อันทรงคุณค่าที่ภายหลังคุณสุพจน์นำไปใช้บริหารจัดการโครงการก่อสร้างใน สวทช.
ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 เกิดปัญหาความผันผวนของค่าเงินบาท เอกชนหลายบริษัทต้องปิดตัวลง บางคนถูกเลิกจ้างงาน บางคนเงินเดือนไม่ขึ้นติดต่อกันหลายปี คุณสุพจน์จึงเริ่มมองหางานใหม่ที่มีความมั่นคงในภาครัฐซึ่งในขณะนั้น สวทช. กำลังเปิดรับสมัครงานจึงได้มาสมัคร และได้รับเลือกให้เข้ามาทำงานกับ สวทช. ในปี 2544 รับผิดชอบงานด้านการก่อสร้างทั้งหมดภายในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย
ในงานก่อสร้างภายใต้ความรับผิดชอบทั้งหมดที่ผ่านมานั้น คุณสุพจน์ รู้สึกภูมิใจในงานก่อสร้างอาคารกลุ่มนวัตกรรม 2 (INC2) เป็นพิเศษ เนื่องจากโครงการดังกล่าวเป็นโครงการขนาดใหญ่ งบประมาณทั้งโครงการประมาณ 3,000 ล้านบาท (รวมงานถนน ไฟฟ้าแรงสูง และระบบสาธารณูปโภค) มีปัญหาท้าทายให้ขบคิดและแก้ไขโดยตลอดทุกขั้นตอนตั้งแต่เริ่มงานออกแบบ การวางโครงการ งบประมาณค่าก่อสร้าง และการบริหารโครงการก่อสร้างในภาพรวม คุณสุพจน์มีความมุ่งมั่นตั้งใจ และทุ่มเทในการทำงานนี้อย่างมากจนกระทั่งอาคารเสร็จสมบูรณ์
อาคารกลุ่มนวัตกรรม 2 (INC2) เป็นกลุ่มอาคารที่มีทางเชื่อมต่อเนื่องกัน ทำให้สามารถเชื่อมโยงพื้นที่ได้ทั้งแนวดิ่งและแนวราบโดยออกแบบภายใต้แนวคิด “Work-Life Integration” มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ และสิ่งอำนวยความสะดวกที่หลากหลาย รูปแบบห้องปฏิบัติการ (modular laboratory) สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการของผู้ใช้งาน
คุณสุพจน์อธิบายว่าก่อนเริ่มงานก่อสร้างทุกโครงการ ต้องมีการวางแผน กำหนดเป้าหมาย ว่าจะต้องสร้างเสร็จภายในระยะเวลานานแค่ไหนและใช้งบประมาณเท่าใด ทั้งนี้ความละเอียดและเทคนิคที่ใช้วางแผน อาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละโครงการ การวางแผนโครงการก่อสร้าง จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการควบคุมโครงการ ถ้าสามารถวางแผนได้ดี มองงานออกอย่างทะลุปรุโปร่ง ก็จะทำให้สามารถติดตามผลระหว่างการก่อสร้างได้ง่ายและมีประสิทธิภาพ
กลยุทธ์ในการทำงานให้สำเร็จที่คุณสุพจน์ ยึดเป็นหลัก คือ ต้องเลือกคนที่จะร่วมงานด้วยให้ถูกต้อง ตั้งแต่ระดับบริหารจนถึงระดับปฏิบัติการ เช่น โครงการนี้ผู้บริหารท่านใดเป็นผู้ตัดสินใจหลัก ถ้าเกิดปัญหาระหว่างการทำงาน ผู้บริหาร และ/หรือ ฝ่ายงานใดที่จะสามารถช่วยแก้ปัญหาให้เราได้ เช่น ฝ่ายพัสดุ เราควรต้องรู้ว่าต้องคุยกับคนไหนที่แม่นระเบียบและสามารถเสนอทางออกในการแก้ไขปัญหาได้ ในการเลือกผู้รับเหมาก่อสร้างก็ต้องเลือกบริษัทให้ดี มีประวัติการทำงานและผลงานเป็นที่ประจักษ์ สิ่งเหล่านี้ต้องระบุเป็นข้อกำหนดให้ชัดเจน ในด้านการบริหารสัญญาควรยึดหลักความเป็นธรรม ไม่เอาเปรียบซึ่งกันและกัน โครงการหนึ่งๆ ก็จะจบได้แบบไม่มีปัญหาทั้ง 2 ฝ่าย
คุณสุพจน์มีแนวปฏิบัติว่า “แม้เราจะไม่สามารถทำให้ทุกคนคิดแบบเราได้ แต่หากงานสิ่งใดที่เรารับผิดชอบอยู่ หรืออะไรที่อยู่ในมือเรา แล้วเราทำให้โปร่งใส เชื่อถือได้ ก็จะส่งผลดีต่อภาพรวมในที่สุด”
สุพจน์ มงคลชัยพิริยะ : จบการศึกษาหลักสูตรวิศวกรรมโยธา จากมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี และบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาวิชาการเงินและการธนาคาร มหาวิทยาลัยรามคำแหง
ปัจจุบัน ทำงานตำแหน่ง ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารโครงสร้างพื้นฐานภายใน ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สวทช.