เฉลิมพล สุขยิ่ง ผู้บุกเบิกงานความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม

“เอ็มเทคเป็นศูนย์ฯ แรกในสวทช.ที่จัดตั้งงานความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมขึ้น จึงอยากฝากให้คงความเป็นมาตรฐาน เพราะเราคงไม่อยู่ในระดับนี้ตลอด เราต้องพัฒนามากขึ้นไปเรื่อยๆ เราต้องเป็นแบบอย่างให้คนอื่นและต้องถีบตัวเองขึ้นตลอด”
เฉลิมพล สุขยิ่ง
ผู้จัดการ
งานความปลอดภัยชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม
____________________________________________________________
คุณเฉลิมพล สุขยิ่ง เกษียณอายุราชการเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2563 หลังจากทำงานที่ สวทช. มาถึง 23 ปี เป็นผู้ที่คร่ำหวอดในงานด้านความปลอดภัย และเสนอก่อตั้งหน่วยงานความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมเป็นศูนย์ฯ แรกของ สวทช. จากแนวคิดที่ให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยในทุกเรื่อง จึงสร้างชื่อเสียงให้แก่ศูนย์ฯ ด้วยการคว้ารางวัลด้านความปลอดภัยมาได้มากมาย
เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่ปลอดภัยขึ้นในองค์กร บุคคลแรกที่ต้องนึกถึงคือ พี่เฉลิมพล สุขยิ่ง ชายรุ่นใหญ่หัวใจวัยรุ่นที่หลายคนคงคิดไม่ถึงว่าจะเกษียณอายุการทำงานแล้ว
เฉลิมพลได้ให้เกียรติมาเล่าประวัติการทำงานและประสบการณ์ให้ฟังว่า “ก่อนมาทำงานที่เอ็มเทค ผมเคยทำงานศูนย์ทดสอบมาตรวิทยา ที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) มา 7 ปี ต่อมาได้เปลี่ยนมาทำงานเอกชนที่ บริษัท ดีทแฮล์ม (ประเทศไทย) จำกัด ดูแลรับผิดชอบการบริการหลังการขาย และที่บริษัท Inchcape Testing Services (Thailand) Co. Ltd มีตำแหน่งเป็นหัวหน้าทีมผู้ตรวจสอบควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้ผ่านการทดสอบ ได้ก่อตั้งแล็บทดสอบผลิตภัณฑ์ด้านความปลอดภัย และให้การรับรองด้านความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐาน ETL Listed Mark สำหรับส่งออกไปสหรัฐอเมริกา โดยดูทั้งด้านกฎหมาย การจ้างแรงงาน โครงสร้างและระบบสิ่งแวดล้อมภาพรวมที่ควบคุมโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ จึงทำให้เกิดความเข้าใจและมีประสบการณ์ด้านความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์และโรงงานมากขึ้น”
“หลังจากช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ผมมาสมัครงานที่เอ็มเทค และนำประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมามาปรับใช้กับงานที่เอ็มเทค โดยมีแนวคิดด้านงานวิจัยว่า ต้องให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยเริ่มต้นตั้งแต่การออกแบบ ไม่ใช่ผลิตมาแล้วค่อยมาดูเรื่องความปลอดภัยภายหลัง จึงเกิดแรงบันดาลใจเรื่องความปลอดภัยสำหรับคนทำงานวิจัยด้วย”

“ต้องให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยเริ่มต้นตั้งแต่การออกแบบ ไม่ใช่ผลิตมาแล้วค่อยมาดูเรื่องความปลอดภัยภายหลัง จึงเกิดแรงบันดาลใจเรื่องความปลอดภัยสำหรับคนทำงานวิจัยด้วย”
งานแรกที่เอ็มเทค
พี่เฉลิมพล เล่าว่า “ตอนที่เข้ามามำงานที่เอ็มเทค ไม่ได้ทำงานด้านความปลอดภัยโดยตรง งานช่วงแรกเป็นผู้ดูแลเรื่องการติดตั้ง ซ่อมบำรุงเครื่องมือวิทยาศาสตร์ ประสานงานกับบริษัทที่เข้ามาติดตั้งซ่อม และดูแลพื้นที่ในภาพรวม ต่อมาเกิดแนวคิดที่อยากจะเน้นเรื่องความปลอดภัยมากขึ้น จึงขอตั้งหน่วยงานด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมขึ้นเป็นหน่วยงานแรกของ สวทช. ในช่วงที่ ดร.ปริทรรศน์ เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ และมีคณะกรรมการบริหารเป็นผู้อนุมัติ หน่วยงานนี้ขึ้นตรงกับผู้อำนวยการศูนย์ฯ ในช่วงเวลานั้นมีบุคลากรเพียง 2 คน คือ ผมและคุณณพล”

“เมื่อจัดตั้งงานความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม ผมก็เริ่มศึกษาเนื้องานเพิ่มขึ้น และคิดว่าประสบการณ์อย่างเดียวไม่น่าจะเพียงพอ เราต้องศึกษาทฤษฎีเพิ่มขึ้นด้วย”
เริ่มตั้งงานความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม
พี่เฉลิมพลเล่าว่า “เมื่อจัดตั้งงานความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม ผมก็เริ่มศึกษาเนื้องานเพิ่มขึ้น และคิดว่าประสบการณ์อย่างเดียวไม่น่าจะเพียงพอ เราต้องศึกษาทฤษฎีเพิ่มขึ้นด้วย จึงตัดสินใจไปเรียนต่อด้านอาชีวอนามัยที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) หลักสูตรปริญญาตรีเพิ่ม”
“การที่เรามีประสบการณ์มาแล้วระดับหนึ่ง พอได้มาเรียนทฤษฎีก็จะเห็นภาพและเข้าใจมากขึ้น เช่น ในทางทฤษฎีการนั่งมีผลต่อการทำงานตามหลักการยศาสตร์ (ergonomics) ด้วยสรีระของแต่ละคนมีการนั่งที่ไม่เหมือนกัน ส่งผลกับการเลือกเก้าอี้ให้เหมาะสมกับสรีระร่างกาย เป็นต้น พอได้เรียนก็รู้ที่มาที่ไปจากทฤษฎีเพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับงานในทางปฏิบัติ จึงเป็นข้อได้เปรียบของการที่เรียนไปด้วยทำงานไปด้วย การมีประสบการณ์ช่วยทำให้เข้าใจได้เร็วขึ้น”

“ผมมักนำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาเป็นกรณีศึกษาและบรรยายให้พนักงานได้ทราบ เพื่อจะได้ตระหนักถึงความปลอดภัยในการทำงาน และเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องให้มีการประเมินความเสี่ยงขึ้น”
กรณีศึกษาความเสี่ยงระดับรุนแรงมาก
พี่เฉลิมพล เล่าว่า “เอ็มเทคเคยเกิดไฟไหม้ครั้งหนึ่งในช่วงที่ยังทำงานอยู่ที่อาคารโยธี ซึ่งมีสาเหตุมาจากการกลั่นสารแล้วปล่อยทิ้งไว้โดยไม่มีคนดูแล วันนั้นหากไม่มีพนักงานคนหนึ่ง (คุณธนวิทย์ โพธิ์ศรี) เดินผ่านมาเห็นและช่วยดับไฟได้ทันคงเกิดความเสียหายมากกว่านี้ เพราะในอาคารมีการเก็บสารเคมีสำหรับการวิจัยอยู่หลายชั้น นี่เป็นเหตุการณ์ที่หนักสุดที่เกิดขึ้นในเอ็มเทค นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ผมมักนำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาเป็นกรณีศึกษาและบรรยายให้พนักงานได้ทราบ เพื่อจะได้ตระหนักถึงความปลอดภัยในการทำงาน และเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องให้มีการประเมินความเสี่ยงขึ้น”
การวางรากฐานรุ่นต่อไป
เมื่อถามถึงวิธีการฝึกทีมงานรุ่นต่อไป พี่เฉลิมตอบว่า “ผมใช้หลัก On the Job Training คือ ไปไหนก็ไปด้วยกัน วิธีนี้เป็นการฝึกการปฏิบัติงานไปพร้อมการทำงานจริง ด้วยน้องๆ ในทีมจบด้านอาชีวอนามัยโดยตรงก็สามารถเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว แต่เรื่องคนก็ต้องมีวิธีการรับมือคือ ต้องคุยให้เกิดความเข้าใจ เรื่องใดที่ยอมได้ก็ยอม แต่เรื่องที่ซีเรียสมากก็ยอมไม่ได้ หากมีเรื่องใดที่คุยกันแล้วเกิดความไม่เข้าใจกัน ก็จะนำเรื่องเข้าหารือในคณะกรรมการด้านความปลอดภัยช่วยพิจารณา ร่วมแสดงความคิดเห็น เพื่อหาแนวทางปฏิบัติร่วมกัน ซึ่งการสื่อสารต้องใช้ความรู้วิชาการอย่างแม่นยำ”
ความภาคภูมิใจ
พี่เฉลิมพลเล่าด้วยแววตามีความสุขว่า “การก่อตั้งหน่วยงานความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมขึ้นเป็นหน่วยงานแรกใน สวทช. นับเป็นความภาคภูมิใจมาก เนื่องจากในช่วงเวลานั้นมีกฎหมายเริ่มบังคับให้มีหน่วยงานความปลอดภัยและต้องขึ้นตรงต่อผู้บริหารสูงสุดเพื่อการบริหารจัดการที่รวดเร็วทันท่วงทีไม่มีอคติ และเพราะมีข่าวอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยมากในอุตสาหกรรมต่างๆ จึงทำให้เห็นถึงความสำคัญของการตั้งหน่วยงานและคณะกรรมการด้านความปลอดภัยขึ้น”
“ความภาคภูมิใจเรื่องที่สองคือ การได้ทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัย (จป.) ซึ่งผมเห็นว่าอาชีพนี้มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าอาชีพหมอ เพราะว่าตามปกติหมอจะดูแลและรักษาผู้ป่วยหลังจากการเกิดอุบัติเหตุหรือเกิดโรคจากการทำงานแล้ว ส่วนจป.นั้นจะมีเป้าหมายหลักในการป้องกันและลดอุบัติเหตุและโรคจากการทำงาน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการทำงาน ซึ่งเป็นการป้องกันเชิงรุกและสามารถลดงบประมาณที่จะใช้เป็นค่ารักษาพยาบาลพนักงานโดยทางอ้อม”
“ความภูมิใจเรื่องต่อมาคือ การนำเทคโนโลยีด้าน IT มาใช้กับระบบจัดการสารเคมีหรือวัตถุอันตรายในเอ็มเทค ‘โปรแกรมด้านการบริหารจัดการสารเคมี COSHH Form’ เพื่อให้ผู้ใช้มีความรู้ความเข้าใจและสามารถทำงานกับสารเคมีได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย รู้วิธีการจัดเก็บและจัดการที่ถูกต้องโดยนำข้อมูลที่จำเป็นมาลงทะเบียนผ่านระบบของโปรแกรมได้ และเมื่อเห็นถึงประโยชน์ของการใช้งานจริงจึงนำโปรแกรมส่งเข้าประกวดในงาน ICT Award ในนามของ สวทช. ได้รับรางวัลชมเชยด้าน Commended Award Healthcare ในงาน Thailand ICT Awards 2006 จากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และยังใช้อยู่ถึงปัจจุบันนี้”
“อีกโครงการหนึ่งได้เล็งเห็นปัญหาการจัดเก็บเอกสารที่ใช้ในการประเมินความเสี่ยง เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของหน่วยงานแต่ละครั้งหรือมีการแก้ไขหรือประเมินความเสี่ยงใหม่ทำให้เกิดการจัดเก็บเอกสารแบบกระดาษในปริมาณมาก เป็นการไม่ประหยัดทรัพยากร เสียเวลา และไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร จึงมีแนวคิดที่จะใช้ระบบ IT เข้ามาใช้ โดยได้หารือภายในทีมงานและได้คิดค้นออกแบบโครงสร้างของโปรแกรม HIRA ทั้งระบบร่วมกับงานระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ (Management Information System, MIS) จนในที่สุดได้เปลี่ยนมาใช้เป็นการจัดเก็บ เอกสาร Online ด้วยระบบ ‘โปรแกรมการชี้บ่งอันตรายและประเมินความเสี่ยง (HIRA)’ ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ใช้สำหรับการควบคุมและลดความเสี่ยงเพื่อเป็นการป้องกันอันตรายจากอุบัติเหตุ อุบัติการณ์ โดยที่ผู้ใช้งาน ผู้เกี่ยวข้องและผู้บังคับบัญชา สามารถปรับแก้และอนุมัติได้ตามขั้นตอน และต่อมาโปรแกรมนี้ได้นำไปใช้กับทุกศูนย์ฯ ใน สวทช. และกรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงานได้นำไปแสดงเป็นตัวอย่างต้นแบบการนำ IT มาใช้ในการบริหารจัดการความปลอดภัย ในงานสัปดาห์ความปลอดภัยแห่งชาติ”
“และอีกผลงานได้ส่งประกวดคือ ‘สถานประกอบกิจการดีเด่นด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานระดับประเทศ’ ได้รับรางวัลต่อเนื่อง 5 ปี (ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555-2559) เป็นศูนย์ฯ แรกและศูนย์ฯเดียวใน สวทช. โดยเริ่มต้นมีความคิดแค่อยากเปรียบเทียบการจัดการด้านความปลอดภัยเทียบกับของบริษัทเอกชน โดยในปีแรกได้รับรางวัลสถานประกอบกิจการดีเด่นด้านความปลอดภัยในระดับจังหวัด และปีต่อๆ มาได้รับรางวัลในระดับประเทศอย่างต่อเนื่องพอได้รับรางวัลต่อเนื่องก็ถือว่ามีการดำเนินการที่เป็นระบบสามารถเทียบเคียงได้กับมาตรฐานสากล”
ไม่เพียงเท่านั้น พี่เฉลิมพลเล่าต่อว่า “ต้องการให้ทุกคนในเอ็มเทคสามารถเข้าถึงการแจ้งปัญหา ข้อบกพร่องที่พบเกี่ยวกับความปลอดภัยแบบรวดเร็ว ตลอดเวลา จึงคิด ‘ระบบ MTEC SHE Messenger Online’ (SHE: Safety Health and Environment) โดยพนักงานสามารถแจ้งความต้องการหรือความไม่ปลอดภัยที่พบได้ตลอดเวลา และสามารถตอบสนองได้ทันที รวดเร็ว และนอกจากนี้ยังได้ทำฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ที่เรียกว่าระบบฐานข้อมูลกฎหมายด้านความปลอดภัย จัดเก็บไว้บนอินทราเน็ตของเอ็มเทค โดยสรุปเนื้อหาข้อมูลกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทุกฝ่ายงานของเอ็มเทค เพื่ออำนวยความสะดวกให้พนักงานที่เกี่ยวข้องด้วย”

*** งานความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม มีหน้าที่เป็นที่ปรึกษาช่วยแก้ปัญหา ให้ความคิดเห็น ไม่ได้มาจับผิด อยากให้มีแนวคิดเรื่องความปลอดภัยเป็นอันดับสำคัญ***
มีความรู้ ประสบการณ์ ก็อยากถ่ายทอด
ช่วงหลังพี่เฉลิมพลเล่าว่า “เริ่มทำงานเป็นวิทยากรรับเชิญ เช่นบรรยายตามโรงเรียนภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัยสวนดุสิต มหาวิทยาลัยราชภัฎมหาสารคาม และกรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน หลักสูตรผู้บริหารความปลอดภัยขั้นสูง เป็นต้น หากเป็นเรื่องใหม่ๆ ทำให้เราต้องเตรียมเนื้อหามากให้ทันกับสถานการณ์ และทำให้ได้ความรู้มากขึ้น”
เป้าหมายชีวิต
พี่เฉลิมพล บอกว่า “อยากทำอะไรที่ให้ประโยชน์กับสังคม ครอบครัวให้มากที่สุด ต้องวางแผนการใช้เงิน มีหลายอย่างที่เตรียมตัวทำหลังเกษียณ มีธุรกิจปล่อยเช่าคอนโด และใช้ประโยชน์จากที่ดินที่มีอยู่ มีความคิดอยู่หลายอย่างก็กำลังคิดอยู่ คงต้องหาอะไรทำเพื่อป้องกันสมองฝ่อ”
ข้อคิดที่ฝากไว้
“เอ็มเทค เป็นศูนย์ฯ แรกที่ตั้งงานความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมขึ้นใน สวทช. และหน่วยงานภายนอกรู้จักเป็นอย่างดี ก็อยากฝากให้คงความเป็นมาตรฐาน เราคงไม่อยู่ในระดับนี้ตลอด เราต้องพัฒนามากขึ้นไปเรื่อยๆ หากเรายังคงอยู่แบบนี้ก็เหมือนถอยหลัง เพราะทุกศูนย์ฯ ก็จะตามเราได้ทัน ภาพใหญ่ของสวทช. ก็ได้พัฒนาแล้ว ตัวเราต้องเป็นแบบอย่างและถีบตัวเองขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ภูมิใจในทีมงานที่มีความรู้ ความสามารถ และต้องสะสมประสบการณ์มากขึ้น”
____________________________________________________________
เฉลิมพล สุขยิ่ง
จบการศึกษาระดับปริญญาโท สาขาการจัดการสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และระดับปริญญาตรี สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิชาเอกอาชีวอนามัยและความปลอดภัย สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า วิทยาเขตพระนครเหนือ