เส้นทางชีวิตการทำงานของ ธัญพร ยอดแก้ว

“สมัยเป็นเด็กชอบอ่านหนังสือเกี่ยวกับสารคดี และเรื่องราวการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยอย่างเหตุการณ์ 14 ตุลา จึงเกิดแรงบันดาลใจต้องการทำงานเพื่อสังคม ถึงขนาดใฝ่ฝันอยากเป็นปลัดจังหวัดและสูงกว่านั้นคือผู้ว่าราชการจังหวัด แต่เมื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยกลับเลือกเรียนวิทยาศาสตร์ สาขาเคมี ซึ่งไม่ได้ตรงตามฝันที่ตั้งใจไว้”

ธัญพร ยอดแก้ว
ผู้ช่วยวิจัยอาวุโส
ทีมวิจัยเทคโนโลยีกระบวนการผลิตวัสดุผง
กลุ่มวิจัยกระบวนการทางวัสดุและการผลิตอัตโนมัติ

เส้นทางการศึกษา

คุณธัญพร ยอดแก้ว ผู้ช่วยวิจัยอาวุโส ทีมวิจัยเทคโนโลยีกระบวนการผลิตวัสดุผง กลุ่มวิจัยกระบวนการทางวัสดุและการผลิตอัตโนมัติ จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะวิทยาศาสตร์ สาขาเคมีอนินทรีย์ แต่เธอชื่นชอบที่จะเรียนวิชาเลือกเกี่ยวกับการจัดการด้านวัสดุศาสตร์ ดังนั้น เมื่อมีโอกาสได้ศึกษาต่อในระดับปริญญาโท จึงเบนเข็มจากวิทยาศาสตร์มาวัสดุศาสตร์

เธอเล่าว่า “สมัยเป็นเด็กชอบอ่านหนังสือเกี่ยวกับสารคดี และเรื่องราวการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยอย่างเหตุการณ์ 14 ตุลา จึงเกิดแรงบันดาลใจต้องการทำงานเพื่อสังคม ถึงขนาดใฝ่ฝันอยากเป็นปลัดจังหวัดและสูงกว่านั้นคือผู้ว่าราชการจังหวัด แต่เมื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยกลับเลือกเรียนวิทยาศาสตร์ สาขาเคมี ซึ่งไม่ได้ตรงตามฝันที่ตั้งใจไว้”

เธอเล่าถึงสาเหตุว่า “สมัยที่เรียน ม.ปลาย ได้รับอิทธิพลจากคุณพ่อซึ่งเป็นครูสอนวิชาเคมีทำให้ตัดสินใจเลือกเรียนในคณะที่เกี่ยวข้องกับสาขานี้ ซึ่งหนึ่งในคณะที่เลือกคือ วิทยาศาสตร์ สาขาเคมี”

“ในขณะที่เรียนวิทยาศาสตร์ สาขาเคมี ก็ค้นพบว่าตัวเองชื่นชอบวิชาเลือกที่เกี่ยวกับการจัดการด้านวัสดุศาสตร์ เมื่อจบการศึกษาได้เข้าทำงานที่บริษัทเอกชนแห่งหนึ่งที่ทำธุรกิจด้านการบำบัดน้ำเสียของโรงพยาบาลในตำแหน่งตัวแทนจำหน่าย แต่ด้วยลักษณะของงานที่ทำต้องเดินทางไปต่างจังหวัดบ่อยครั้ง อีกทั้งการเป็นตัวแทนจำหน่ายไม่ใช่อาชีพที่ใฝ่ฝัน ดังนั้น เมื่อทำงานได้ระยะหนึ่งที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีก็เปิดรับเจ้าหน้าที่ที่ช่วยอาจารย์จัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนของสายวิชาเทคโนโลยีวัสดุ จึงลาออกจากบริษัทฯ”

“เมื่อทำงานได้ 2 ปี ก็ได้รับทุนเรียนต่อในระดับ ป.โท แต่เนื่องจากจบ ป.ตรี จากคณะวิทยาศาสตร์ ทำให้ต้องไปเรียนด้านวิศวกรรมศาสตร์ก่อน โดยเริ่มเรียนหลักสูตรประกาศนียบัตรเป็นเวลา 1 ปี เมื่อเรียนจบหลักสูตรก็สามารถโอนย้ายหน่วยวิชาเรียนไประดับ ป.โท ต่อได้”

คุณธัญพรเสริมว่า “สมัยก่อนคณะพลังงานและวัสดุมีอาจารย์ประจำไม่กี่คนและไม่ครบทุกสาขาของวัสดุ ดังนั้น ในสาขาที่ขาดแคลนก็จะเชิญอาจารย์จากภายนอกไปสอน ซึ่งนักวิจัยจากเอ็มเทคหลายท่านก็ได้รับเชิญให้ไปสอนเช่นกัน อีกทั้งอาจารย์แต่ละท่านก็ต้องรับนักศึกษาเพื่อทำวิทยานิพนธ์ด้วย ตัวเองเลือกทำด้านโลหะ แม้จะต้องปรับตัวมากหน่อย แต่ตอนที่เรียนประกาศฯ ก็ได้รับการฝึกฝนให้ใช้เครื่องมือ และเตรียมชิ้นงานด้านโลหะมาพอสมควรซึ่งเป็นประโยชน์มาก ตอนทำวิทยานิพนธ์ก็มาทำที่เอ็มเทค ในช่วงเวลานั้นที่เอ็มเทคมีเครื่อง MIM (Metal Injection Molding) มาใหม่จึงได้ใช้เครื่องนี้ทำวิทยานิพนธ์เป็นคนแรก”

 

 

“การทำงานของทีมวิจัยที่สังกัดอยู่นี้เน้นงานใน 2 ลักษณะ คือ หนึ่งงานสร้างองค์ความรู้ เป็นการศึกษาความรู้พื้นฐานเชิงลึก และสองงานที่เป็นไปตามนโยบายขององค์กร รวมถึงงานแก้ปัญหาให้อุตสาหกรรม โดยส่วนตัวชอบงานแก้ปัญหาให้อุตสาหกรรมโดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรม SME นี่เป็นงานที่ภาคภูมิใจเนื่องจากอุตสาหกรรมสามารถนำไปใช้ได้จริง”

เส้นทางอาชีพ

คุณธัญพรเล่าว่า “เมื่อจบ ป.โทก็ได้ทำงานที่เอ็มเทคในตำแหน่งผู้ช่วยวิจัย ซึ่งมี ดร.เรืองเดชที่เคยเป็นอาจารย์สอนสมัยเรียน ป.โทเป็นผู้บังคับบัญชา การทำงานของทีมวิจัยที่สังกัดอยู่นี้เน้นงานใน 2 ลักษณะ คือ หนึ่งงานสร้างองค์ความรู้ เป็นการศึกษาความรู้พื้นฐานเชิงลึก และสองงานที่เป็นไปตามนโยบายขององค์กร รวมถึงงานแก้ปัญหาให้อุตสาหกรรม โดยส่วนตัวชอบงานแก้ปัญหาให้อุตสาหกรรมโดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรม SME นี่เป็นงานที่ภาคภูมิใจเนื่องจากอุตสาหกรรมสามารถนำไปใช้ได้จริง”

เมื่อถามถึงงานที่มีความเชี่ยวชาญ เธอตอบว่า “เนื่องจากกระบวนการขึ้นรูปผงโลหะต้องใช้เครื่องมือหนัก ซึ่งตัวเองไม่ถนัด ดังนั้นในการทำงานจะมีเพื่อนร่วมงานที่ช่วยทำในส่วนของกระบวนการให้ ส่วนตัวชอบงานวิเคราะห์ลักษณะเฉพาะของโลหะกลุ่มเหล็ก รวมถึงเหล็กกล้าไร้สนิม ในส่วนของการเขียนรายงานหรือบทความวิชาการก็จะทำเป็นทีม โดย ดร.เรืองเดช จะช่วยตรวจและแก้ไขให้”

 

 

“ในอนาคตหากตัวเองต้องเติบโตไปเป็นนักวิจัย ก็มีความกังวลเช่นกันเพราะความรับผิดชอบย่อมสูงขึ้น ทั้งต้องดูแลโครงการวิจัย และเขียนบทความวิชาการ ต้องยอมรับว่าเราอาจไม่ได้เชี่ยวชาญการเขียนบทความภาษาอังกฤษมากนัก ปัจจุบันก็พยายามทำโดยมีผู้บังคับบัญชาให้คำแนะนำและช่วยเหลือ หวังว่าสักวันหนึ่งเราคงก้าวข้ามความกังวลนี้ไปได้ ”

การเติบโตในสายงาน

เมื่อถามถึงประสบการณ์ทำงาน คุณธัญพรเล่าว่า “เริ่มเข้าทำงานตั้งปี 2547 และได้บรรจุเป็นพนักงานโครงการปี 2551 ปัจจุบันทำงานมา 16 ปีมีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยวิจัยอาวุโส หน้าที่ความรับผิดชอบย่อมเพิ่มขึ้นไปตามอายุงาน บางครั้งก็แอบคิดขึ้นมาบ้างถึงการเปลี่ยนสายงานมาเป็นฝ่ายสนับสนุน”

“เมื่อได้คุยกับเพื่อนร่วมงานที่เติบโตจากผู้ช่วยวิจัยเหมือนกันแต่ปัจจุบันได้เป็นนักวิจัยแล้ว บอกว่าในช่วงเปลี่ยนผ่านก็มีความเครียดและวิตกกังวลบ้าง แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็สามารถปรับตัวได้ เขาก็รู้สึกว่าตัวเองคิดถูกที่เลือกเส้นทางสายวิจัยนี้”

“ในอนาคตหากตัวเองต้องเติบโตไปเป็นนักวิจัย ก็มีความกังวลเช่นกันเพราะความรับผิดชอบย่อมสูงขึ้น ทั้งต้องดูแลโครงการวิจัย และเขียนบทความวิชาการ ต้องยอมรับว่าเราอาจไม่ได้เชี่ยวชาญการเขียนบทความภาษาอังกฤษมากนัก ปัจจุบันก็พยายามทำโดยมีผู้บังคับบัญชาให้คำแนะนำและช่วยเหลือ หวังว่าสักวันหนึ่งเราคงก้าวข้ามความกังวลนี้ไปได้” เธอกล่าวทิ้งท้าย

____________________________________________________________

ธัญพร ยอดแก้ว

จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะวิทยาศาสตร์ สาขาเคมี และปริญญาโทจากคณะพลังงานและวัสดุ สายวิชาเทคโนโลยีวัสดุ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (ชื่อในสมัยนั้น)

ปัจจุบันเป็นผู้ช่วยวิจัยอาวุโส ทีมวิจัยเทคโนโลยีกระบวนการผลิตวัสดุผง กลุ่มวิจัยกระบวนการทางวัสดุและการผลิตอัตโนมัติ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ