พัธนะ มธุรเวช : ขวัญใจชาวเอ็มเทคหลายปีซ้อน

“ในการทำงานเราต้องเข้าใจในเนื้องานอย่างถ่องแท้ บางครั้งย่อมมีเรื่องที่ทำให้รู้สึกไม่สบายใจบ้าง ก็ให้ปล่อยทิ้งไป ให้ทำงานด้วยความใจเย็น มีความสุข และต้องทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต”

พัธนะ มธุรเวช
เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไปอาวุโส

____________________________________________________________

รู้จักพี่กวัก

คุณพัธนะ มธุรเวช หรือพี่กวัก เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไปอาวุโส งานธุรการ ฝ่ายบริหารงานทั่วไป ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) เป็นคนพื้นเพแถวศรีย่าน กรุงเทพฯ จบการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ หรือ ปวช. สาขาช่างก่อสร้าง ที่วิทยาลัยราชสิทธาราม ถนนอิสรภาพ เขตบางกอกใหญ่

พี่กวักเล่าถึงชีวิตในช่วงเริ่มต้นว่า “สมัยที่เรียน ปวช. ไม่ได้พักอยู่กับแม่แต่อยู่บ้านป้า พออายุประมาณ 18-19 ปี ก็เรียนจบ ปวช. และเริ่มทำงานครั้งแรกกับลุงข้างบ้านที่เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างทั่วไป มีหน้าที่เป็นช่างก่อสร้างที่ต้องทำทั้งงานไม้ งานปูน และงานปูกระเบื้อง ได้ค่าแรงวันละ 150-200 บาท”

“เมื่อวางมือจากการเป็นช่างก่อสร้างก็สมัครเป็นลูกจ้างชั่วคราวที่บริษัทเอกชนรายใหญ่แห่งหนึ่ง ผมทำงานในสโตร์ มีหน้าที่จัดรองเท้ากีฬาตามรายการเพื่อส่งไปจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ เมื่อทำงานได้ระยะหนึ่งก็ถูกชักชวนให้ย้ายไปทำงานบริษัทในเครืออีกสาขาหนึ่งที่ใหญ่กว่าในตำแหน่งโฟร์แมน มีหน้าที่ดูแลสโตร์รองเท้ากีฬา โดยจัดเตรียมพื้นที่สำหรับวางสินค้า จัดสินค้าตามประเภทรองเท้า ทั้งรุ่น ขนาด และสี รวมถึงจัดรองเท้าตามออร์เดอร์ลูกค้าเพื่อส่งไปยังท่าเรือสำหรับจำหน่ายในต่างประเทศ”

พี่กวักเล่าเสริมว่า “ประสบการณ์ที่ได้รับจากการทำงานบริษัทเอกชนแห่งนี้คือมีโอกาสได้ขับรถส่งของ และรถฟอร์คลิฟต์สำหรับขนย้ายสินค้าด้วย แม้การทดลองขับครั้งแรกทำได้ไม่สวยนัก เพราะยังไม่คุ้นชินกับรถส่งของที่สูงมากกว่ารถทั่วไปจึงทำให้เกิดอุบัติเหตุ โดยหลังคารถไปชนกับหลังคาทางเข้าของห้างสรรพสินค้า หรือการขับรถฟอร์คลิฟต์ที่ยังไม่เคยขับมาก่อนทำให้ขับไปเบียดกับเสาภายในโรงงาน เหตุการณ์เหล่านี้แม้จะโดนหัวหน้าตำหนิบ้างก็ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่เป็นแรงผลักดันที่ทำให้พัฒนาตัวเองจนสามารถขับรถได้คล่องมากขึ้น”

“ส่วนอีกประสบการณ์หนึ่งคือ การทำงานในสถานการณ์ที่โดนกดดัน เนื่องจากมีเหตุประท้วงในโรงงานโดยพนักงานบางส่วนที่โดนปลดออก พนักงานเหล่านี้ต้องการให้บริษัทเสียหายจากการส่งของไม่ทันกำหนด จึงมากดดันด้วยการตะโกนด่าทอพนักงานที่ทำหน้าที่จัดส่งของ ตอนนั้นผมก็ต้องตั้งใจทำงานต่อไปด้วยความสงบนิ่งเพื่อให้งานบรรลุเป้าหมายส่งมอบทันเวลา ผมทำที่นี่หลายปีจนกระทั่งบริษัทมีแผนย้ายไปที่วังน้อย ซึ่งหากต้องย้ายตามไปเงินเดือนก็ถูกลดจาก 7,000 บาท เหลือเพียง 5,000 บาท ประกอบกับบริษัทอยู่ไกลบ้านจึงลาออกมาทำงานก่อสร้างกับลุงข้างบ้านต่ออีกระยะหนึ่ง”

เอ็มเทค…สถานที่ที่ให้ทุกอย่าง

ชีวิตพลิกผันอีกครั้งเมื่อย้ายกลับไปอยู่กับแม่ พี่กวักเล่าว่า “ปี พ.ศ.2539 ผมย้ายกลับไปอยู่กับแม่ ทำให้ทราบข่าวจากน้องสะใภ้ ซึ่งทำงานที่เอ็มเทคอยู่ก่อนแล้วว่า เอ็มเทคเปิดรับสมัครงานในตำแหน่งช่าง ผมจึงมาสมัครและได้งานที่นี่ ในเวลานั้นเอ็มเทคยังเป็นองค์กรขนาดเล็ก ผมรับผิดชอบงานหลายอย่าง ประจวบกับเป็นช่วงที่เอ็มเทคกำลังย้ายสำนักงานจากตึกกระทรวงวิทย์ฯ มาอาคารวิจัย สวทช. (โยธี) ผมต้องเตรียมโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น ต่อสายโทรศัพท์ ย้ายโต๊ะทำงาน และทาสีในห้องปฏิบัติการ นอกจากนี้ยังต้องดูแลเครื่องถ่ายเอกสารพร้อมบริการถ่ายเอกสาร จัดเตรียมรถยนต์สำหรับผู้บริหารเพื่อเดินทางไปประชุมนอกสถานที่ เตรียมชิ้นงานและสร้างเครื่องมือให้นักวิจัย หรือเมื่อมีพนักงานใหม่ก็ต้องพาแนะนำให้รู้จักกับพนักงานที่มีอยู่ รวมถึงจัดโต๊ะทำงานและเบิกอุปกรณ์สำนักงานให้”

“เมื่อย้ายมาที่อุทยานวิทยาศาสตร์ อีกความรับผิดชอบคือ การควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) และแม่บ้าน ซึ่งก็มีเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้นบ้างก็ต้องคอยสอดส่องดูแลเป็นพิเศษ เช่น การได้รับแจ้งว่า รปภ.หนีเวรหรือแอบหลับบ่อยครั้งขณะปฏิบัติหน้าที่ ผมก็ต้องมาแต่เช้ามืดและกลับดึก เพื่อสังเกตการณ์ว่า รปภ.ทำงานตามเวลาปกติไหม กระทั่งต้องติดตั้งกล้องทางเข้าออกอาคารเพื่อสังเกตการณ์ในภาพรวม รวมถึงดูแลการทำงานของ รปภ.อีกต่อหนึ่งด้วย หากมีปัญหาจริงตามที่ได้รับแจ้งก็จะว่ากล่าวตักเตือนเป็นรายบุคคลเพื่อให้ปรับปรุงตัว แต่หากยังปฏิบัติเช่นเดิมก็จะเชิญหัวหน้า รปภ. มารับทราบปัญหาเพื่อไปดำเนินการแก้ไข”

“หรือกรณี รปภ. ขาดงานและไม่มี รปภ.ปฏิบัติงานแทน ผมก็ต้องรายงานให้หัวหน้างานทราบและทางหัวหน้างานได้ดำเนินการพิจารณาปรับบริษัทตามเงื่อนไขเมื่อกระทำผิดสัญญา หรือ รปภ.ที่ทำหน้าที่ถือกุญแจของทุกห้อง ใช้โอกาสในหน้าที่ขโมยของสำนักงานไปจำหน่าย ก็ต้องหาหลักฐานเพื่อจับกุมดำเนินการตามกฎหมาย ปัจจุบันการควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของ รปภ. และแม่บ้านได้โอนไปขึ้นตรงกับงานบริหารอาคารสถานที่ตามการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์กร”

เมื่อเวลาผ่านไปย่อมมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น องค์กรมีการปรับโครงสร้างใหม่เพื่อการบริหารงานที่มีความเหมาะสมมากขึ้น พี่กวักก็ต้องปรับเปลี่ยนหน้าที่ความรับผิดชอบจากตำแหน่งช่างมาเป็นเจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป และเนื่องจากพี่กวักมีวุฒิการศึกษาสาขาช่างก่อสร้างย่อมมีทักษะทางช่างมากกว่าทางธุรการ ดังนั้น จึงต้องปรับตัวเมื่อต้องเปลี่ยนจากตำแหน่งช่างมาเป็นเจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป

พี่กวักเล่าว่า “การทำงานธุรการที่มีหน้าที่หนึ่งที่ต้องดูแลคืองานไปรษณีย์ และรับส่งเอกสารระหว่างอาคาร ก็จำเป็นต้องใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำนักงานเพื่อจัดทำเอกสารต่างๆ บ้าง พิมพ์จ่าหน้าซองจดหมายบ้าง ช่วงแรกแม้ยังไม่คล่องนักก็มักปรึกษาเพื่อนร่วมงาน และเมื่อฝึกฝนด้วยตัวเองทุกวันก็สามารถทำได้”

“นอกจากงานภายในเอ็มเทคแล้ว ก็ยังต้องรับงานที่ทำในภาพใหญ่ของสวทช. ด้วย เช่น ทุกปี สวทช. มีการจัดงานประชุมประจำปี ผมรับผิดชอบประสานงานด้านอาคาร และระบบขนส่งโดยสารภายในองค์กร ต้องทำหน้าที่ประสานยืมรถจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมถึงวางแผนตารางเดินรถรับส่งคนภายในงานด้วย”

พี่กวักกล่าวเสริมว่า “ปกติงานธุรการของทุกศูนย์มีการประชุมร่วมกันเป็นประจำทุกเดือน เพื่อหาแนวทางการปฏิบัติงานที่ไม่ซ้ำซ้อนและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งการได้ทำงานร่วมกันระหว่างศูนย์ฯ ถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน”

เมื่อถามถึงช่วงเวลาทำงานที่ทำงานสนุกที่สุด พี่กวักตอบว่า “ช่วงที่อาจารย์ปริทรรศน์เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ ช่วงนั้นงานค่อนข้างเยอะมากแต่ทุกคนก็ช่วยกันทำ ส่วนตัวผมประทับใจในตัวอาจารย์ปริทรรศน์ มีครั้งหนึ่ง อาจารย์เคยขอความช่วยเหลือโดยให้ผมช่วยหาตำแหน่งของสถานที่ที่อาจารย์จะไปให้ แต่ผมหาข้อมูลผิดทำให้อาจารย์ไปผิดที่ อาจารย์ก็ไม่ได้ตำหนิอะไร”

ในการทำงานที่ผ่านมาสิ่งที่สร้างความภาคภูมิใจคืออะไร พี่กวักตอบด้วยรอยยิ้มว่า “สิ่งแรกคือ การได้เป็นขวัญใจของชาวเอ็มเทคมากกว่า 2 ปีขึ้นไป โดยเหตุผลที่ได้รับเสียงโหวตมากที่สุดอาจเป็นเพราะทำงานให้บริการแก่ผู้อื่น และอีกสิ่งหนึ่งคือการได้ทำงานที่เอ็มเทค เพราะที่นี่ทำให้ผมและครอบครัวมีชีวิตที่ดีขึ้น เอ็มเทคให้อะไรผมหลายอย่างมาก”

งานที่รับผิดชอบส่วนใหญ่เป็นงานให้บริการ ซึ่งต้องพบเจอผู้คนหลากหลาย เคยเจอคนที่แสดงกิริยาหรือพูดจาไม่ดีหรือไม่ และมีวิธีรับมืออย่างไร

พี่กวักกล่าวว่า “พบบ้างนิดหน่อย แต่เราก็ไม่ได้ตอบโต้อะไร แต่เมื่อเวลาผ่านไป เขาก็มาขอโทษ ซึ่งก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรในการทำงาน”

พี่กวักทำงานที่เอ็มเทคมายาวนานถึง 24 ปีแล้ว และในเดือนตุลาคมปี 2565 ก็จะเกษียณอายุราชการมีการวางแผนการดำเนินชีวิตไว้อย่างไร

พี่กวักเล่าว่า “เนื่องจาก สวทช. ไม่มีนโยบายรับคนเพิ่ม ดังนั้น ในช่วงนี้ก็เริ่มถ่ายทอดงานในหน้าที่ความรับผิดชอบให้แก่เพื่อนร่วมงานในทีม ส่วนคนที่จะมารับผิดชอบงานต่อจากผมต้องให้ผู้จัดการงานธุรการพิจารณามอบหมาย แต่อย่างไรก็ดี ภายในงานเองก็มีการสอนงานให้แก่กัน เพราะทุกคนต้องสามารถทำงานแทนกันได้ ส่วนแผนหลังเกษียณ ตอนนี้ก็เก็บเงิน พอเกษียณก็อยากปลูกผักขายเพราะมีพื้นที่ที่สามารถทำได้ ซึ่งคิดว่าน่าจะพออยู่รอด และถ้าอีก 4 ปีข้างหน้าภรรยาเกษียณก็อาจจะช่วยกันทำกิจการร้านขายก๋วยเตี๋ยว ซึ่งเป็นเมนูที่ภรรยาชอบทำ”

สำหรับข้อแนะนำในการทำงาน พี่กวักกล่าวทิ้งท้ายว่า “ในการทำงานเราต้องเข้าใจในเนื้องานอย่างถ่องแท้ บางครั้งย่อมมีเรื่องที่ทำให้รู้สึกไม่สบายใจบ้าง ก็ให้ปล่อยทิ้งไป ให้ทำงานด้วยความใจเย็น มีความสุข และต้องทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต”