ทิพวรรณ ตั้งจิตพิบูล จากงานนโยบายสู่แนวปฏิบัติ กับงานกิจการยุทธศาสตร์

ทิพวรรณ ตั้งจิตพิบูล
จากงานนโยบายสู่แนวปฏิบัติ กับงานกิจการยุทธศาสตร์

คุณทิพวรรณ ตั้งจิตพิบูล หรือเอ็มมี่

จบการศึกษาในระดับปริญญาโท ในปี พ.ศ. 2542 และเริ่มต้นงานที่ สวทช. ในฝ่ายวิจัยนโยบายของสำนักงานกลาง (สก.) โดยต่อมามีการปรับโครงสร้างให้หน่วยงานที่ทำงานด้านวิจัยนโยบายแยกออกไปจัดตั้งเป็นสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) หรือ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ในปัจจุบัน

หลังจากที่เอ็มมี่ออกไปทำงานที่ สวทน. ได้ระยะหนึ่งก็กลับมาทำงานที่ สวทช. อีกครั้งในฝ่ายบริหารคลัสเตอร์และโปรแกรมวิจัย หรือ CPMO สก. โดย ศ.ดร. มรกต ตันติเจริญ ได้ชักชวนให้มาช่วยงาน Delivery Mechanism ซึ่งเป็นการออกแบบกลไกการผลักดันผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ จากนั้นได้ย้ายไปอยู่งานกลยุทธ์ สก. และย้ายมาทำงานสังกัดงานกิจการยุทธศาสตร์ เอ็มเทค ในปัจจุบัน

การกลับมาริเริ่ม สร้างสรรค์งาน

เอ็มมี่ เล่าประสบการณ์ช่วงที่ได้มีโอกาสกลับเข้ามาทำงานที่ สวทช. อีกครั้งว่า “จากที่ได้ทำงานนโยบายระดับชาติมาโดยตลอด พอได้กลับมาทำงานกับ สวทช. ในครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นงานในเชิงปฏิบัติการมากขึ้น ลักษณะงานจึงมีความแตกต่างกัน จากงานนโยบายที่เป็นเชิงกว้างแต่ไม่ลงลึกในรายละเอียดมากนัก เปลี่ยนมาเป็นจับงานเฉพาะเรื่องเพียงจำนวนหนึ่งแต่ลงลึกในรายละเอียด”

ในช่วง 3 ปี กับงานที่ CPMO เธอบอกว่าภารกิจหลักของ CPMO ในช่วงนั้นมีลักษณะคล้ายหน่วยงานให้ทุนวิจัย ซึ่งมีการจัดโครงสร้างเป็นคลัสเตอร์หรือโปรแกรม แต่ตัวเธอเองมิได้สังกัดภายใต้คลัสเตอร์หรือโปรแกรมใดเป็นการเฉพาะ แต่มีหน้าที่วิเคราะห์งานในภาพรวมและหารือกับบุคลากรผู้รับผิดชอบดูแลโปรแกรมต่างๆ เพื่อช่วยกันริเริ่มออกแบบแนวทางการใช้ประโยชน์งานวิจัย ซึ่งอาจเป็นผลงานวิจัยที่ดำเนินการจนส่งมอบต้นแบบในระดับต่างๆ แล้ว หรืออาจเป็นการวางแผนพัฒนาผลงานใหม่ที่มีกลุ่มเป้าหมายชัดเจน

กลับสู่งานกลยุทธ์อีกครั้ง

หลังจากทำงานกับ CPMO ได้ระยะหนึ่ง ก็ได้หวนกลับมาทำงานเชิงนโยบายและแผนอีกครั้งที่ฝ่ายกลยุทธ์ สก. เอ็มมี่เล่าว่าในช่วงนั้นเป็นช่วงที่ สวทช. กำลังจัดทำแผนกลยุทธ์ สวทช. ฉบับที่ 6 ซึ่งเป็นงานในลักษณะที่คล้ายคลึงกับที่ได้เคยจัดทำแผนกลยุทธ์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (พ.ศ. 2547-2556) แม้การจัดทำกลยุทธ์ระดับองค์กรน่าจะมีความซับซ้อนน้อยกว่ากลยุทธ์ระดับชาติ แต่ความเป็นองค์กรระดับชาติของ สวทช. ซึ่งมีภารกิจที่หลากหลาย ทำให้การจัดทำกลยุทธ์ สวทช. มีความซับซ้อนไม่ยิ่งหย่อนกว่ากลยุทธ์ระดับชาติเลย ในกระบวนการจัดทำกลยุทธ์ สิ่งที่เรามักได้ยินเสมอก็คือ กลยุทธ์คือการเลือก ต้องเลือกที่จะเน้นทำอะไรสักอย่างจนบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ

เวลาและทรัพยากรเป็นสิ่งที่มีอยู่อย่างจำกัด เราคงจัดสรรเวลาและทรัพยากรเพื่อทำทุกสิ่งที่เราต้องการทั้งหมดไม่ได้ การมีกลยุทธ์จึงหมายถึงการเลือกที่จะทำหรือไม่ทำอะไรบางอย่าง การทำแผนกลยุทธ์ในระดับยิ่งกว้างเท่าใด การ “เลือก” ก็จะยิ่งยากขึ้นเท่านั้น เนื่องจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องมีมุมมองหรือบริบทแตกต่างกันและบ่อยครั้งก็ขัดแย้งกัน สุดท้ายแล้วก็มักลงเอยที่การจัดการสมดุลของความต้องการ ทั้งนี้ สิ่งที่สำคัญมากกว่าการจัดทำนโยบายหรือแผนก็คือการขับเคลื่อนนโยบายหรือแผนสู่การปฏิบัติ สิ่งที่เขียนไว้ในนโยบายหรือแผนจะไม่มีคุณค่าใดๆ เลยหากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องไม่เห็นด้วยหรือไม่มีกลไกผลักดันให้ต้องดำเนินการ

“กลยุทธ์ คือ การเลือก ต้องเลือกที่จะเน้นทำอะไรสักอย่างจนบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ ซึ่งจะทำให้เราไม่มีเวลาและทรัพยากรไปทำอะไรอย่างอื่น การทำแผนกลยุทธ์ในระดับยิ่งกว้างเท่าใด การ “เลือก” ก็จะยิ่งยากขึ้นเท่านั้น เนื่องจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องมีมุมมองหรือบริบทแตกต่างกัน และบ่อยครั้งที่มีความขัดแย้งกัน”

เมื่อถามถึงบุคคลที่สามารถผลักดันนโยบายให้เกิดผลสำเร็จได้ ต้องเป็นอย่างไร เอ็มมี่ตอบว่า “ถ้ามองในวงการวิทยาศาสตร์ไทย ก็มีชื่ออาจารย์ผู้ใหญ่ที่ตนมีความประทับใจและให้ความเคารพสูงอยู่จำนวนหนึ่ง บุคคลที่มีความสามารถผลักดันงานเชิงนโยบายให้ประสบผลสำเร็จมักมีลักษณะที่โดดเด่นคือมีบุคลิกภาพประนีประนอม มีความคงเส้นคงวา มีหลักการและด้วยคุณลักษณะเหล่านี้น่าจะส่งผลให้บุคคลเหล่านี้สามารถระดมกำลังคนมาช่วยกันทำงานได้ด้วยใจ”

จากนโยบายก้าวสู่การปฏิบัติ

ปัจจุบันเอ็มมี่ได้มาทำงานอยู่ในงานกิจการยุทธศาสตร์ เอ็มเทค ซึ่งเอ็มมี่เล่าว่าลักษณะงานมีความคล้ายคลึงกับงานที่เคยทำกับ CPMO ในบางส่วน ลักษณะงานเป็นในเชิงวิเคราะห์ โดยมีเป้าหมายในการพัฒนางานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์จริง เช่น การวิเคราะห์ทิศทางงานวิจัยที่สอดคล้องกับทิศทางของประเทศการวิเคราะห์ความร้อยเรียงของผลงานในมิติต่างๆ”

“ความร้อยเรียงในมุมมองของผู้บริหารชุดปัจจุบัน
ต้องการร้อยเรียงผลงานวิชาการให้เชื่อมโยง
ไปถึงการใช้ประโยชน์และขยายผลได้”

เมื่อถามถึงมุมมองของการร้อยเรียงของผู้บริหาร เอ็มเทค ชุดปัจจุบันคืออะไร เอ็มมี่บอกว่า “ความร้อยเรียงในมุมมองของผู้บริหารชุดปัจจุบัน ต้องการให้ผลผลิตจากงานวิจัย เช่น ผลงานตีพิมพ์ ต้นแบบ สิทธิบัตร มีการนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ก่อให้เกิดผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจและสังคม หากมองการตั้งตัวชี้วัดหรือ KPI (Key Performance Indicator) ที่มีการกำหนดเป้าหมายผลผลิตจากงานวิจัยในเชิงปริมาณ เช่น จำนวนผลงานตีพิมพ์/สิทธิบัตร/ต้นแบบในแต่ละปีว่าควรจะมีอย่างต่ำเป็นเท่าใด จะเป็นเพียงการนับจำนวนโดยไม่สนใจที่มาว่ามาจากไหนบ้าง แต่ความร้อยเรียงคือการให้ความสำคัญว่าผลผลิตจากการทำวิจัยเหล่านั้นมีการนำไปใช้ประโยชน์หรือก่อให้เกิดผลกระทบอะไรขึ้นบ้าง

ในการทำวิจัยเรื่องหนึ่งๆ ต้องมองเส้นทางการนำไปใช้ประโยชน์ดักรอไว้ด้วย เพราะบ่อยครั้งที่เมื่อเราทราบแนวทางการนำไปใช้ประโยชน์หรือการขยายผล ก็จะสามารถนำบริบทหรือสภาพแวดล้อมของกลุ่มเป้าหมายที่จะเป็นผู้ผลิตหรือผู้ใช้งานเข้ามาเป็นปัจจัยกำหนดเป้าหมายหรือคุณลักษณะสิ่งส่งมอบ (specification) ของโครงการวิจัย เช่น กระบวนการผลิต เครื่องมือเครื่องจักร พฤติกรรมการบริโภค สภาพแวดล้อมในการใช้งาน เช่น ความชื้น ความร้อน การอยู่ใกล้ทะเล เป็นต้น

ผลงานที่สร้างความภาคภูมิใจ

เมื่อถามถึงผลงานที่ผ่านมาและความรู้สึกภูมิใจที่มีส่วนร่วมหรือผลักดันให้เกิดผลสำเร็จ เอ็มมี่เล่าให้ฟังว่า “ตอนสมัยทำงานที่ CPMO ได้มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมในการผลักดันการใช้เชื้อรา Beauveria bassiana (บิวเวอเรีย บาสเซียนา) เพื่อรับมือกับการระบาดของเพลี้ยแป้งในมันสำปะหลังและพืชอื่นๆ โดยได้ทำงานร่วมกับทีมวิจัยของศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ทีมงาน CPMO ได้ช่วยประสานงานและสร้างความเชื่อมโยงกับกรมส่งเสริมการเกษตรเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถผลิตเชื้อสดเพื่อใช้งานได้เอง และในอีกทางก็มีการหารือกับบริษัทผู้ผลิตชีวภัณฑ์เพื่อพัฒนาเชื้อสำเร็จรูปเพื่อจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ด้วย ความประทับใจในโครงการนี้คือทุกคนต่างก็ช่วยกันทำงานโดยมีเป้าหมายเดียวกันคือการส่งเสริมการใช้สารชีวภัณฑ์ที่มีความปลอดภัยต่อทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค

การปรับตัวเพื่อตอบโจทย์

เมื่อถามถึงการปรับตัวจากบทบาทของคนทำนโยบายมาทำงานเชิงปฏิบัติการมากขึ้นว่าเป็นอย่างไร เธอตอบว่า “การทำงานนโยบายวิทยาศาสตร์เป็นงานในลักษณะกว้างแต่มิได้ลงรายละเอียดในเชิงลึก สิ่งสำคัญคือการศึกษาให้เข้าใจบริบทหรือสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องทั้งหมดอย่างเป็นระบบ เพราะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีจำนวนมากมายและหลากหลาย การทำความเข้าใจกับเนื้อหาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก็เป็นสิ่งสำคัญ แต่คงมิต้องลงลึกในรายละเอียดเชิงเทคนิคมากมายนัก ในขณะที่งานในเชิงปฏิบัติการจะมีขอบเขตที่ชัดเจนมากกว่า แม้เราจะไม่ต้องถึงกับเข้าใจเนื้อหาเชิงเทคนิคเท่ากับนักวิจัย แต่ก็ต้องพยายามทำความเข้าใจเทคนิคที่เกี่ยวข้องให้มากขึ้น เพื่อให้สามารถเข้าถึงแก่นหรือหัวใจหลักของผลงานวิจัยในแต่ละเรื่อง”

“สำหรับการทำงานที่ผ่านมา เมื่อได้รับโจทย์มาเรื่องหนึ่ง ก็จะพยายามค้นหาข้อมูลและทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ จากสื่อต่างๆ ก่อน แล้วรวบรวมประเด็นคำถามหรือสิ่งที่ไม่เข้าใจไปสอบถามจากนักวิจัย ซึ่งก็ได้รับความช่วยเหลือจากนักวิจัยช่วยอธิบายให้เกิดความเข้าใจจนกระจ่างขึ้น จากที่ได้สัมผัสกับนักวิจัยเอ็มเทค ก็รู้สึกประทับใจในความน่ารัก นักวิจัยยินดีให้ความร่วมมือและให้คำปรึกษาเชิงเทคนิค และอยากให้เราเข้าไปหาและฟังให้เข้าใจในภาพรวมของงานทั้งหมด มากกว่าเพียงแค่ไปถามคำถามเฉพาะเจาะจงเป็นส่วนๆ เท่านั้น การมาทำงานในเชิงปฏิบัติการทำให้มีโอกาสได้ทำงานร่วมกับนักวิจัยใกล้ชิดขึ้น มองเห็นภาพหน้างานตามสภาพความเป็นจริงมากขึ้น ซึ่งต่างจากงานเชิงนโยบาย ซึ่งจะทำงานใกล้ชิดกับผู้บริหารมากกว่า

“ต้องเป็นคนคิดเยอะๆ คิดในหลายๆ มุม กล้าคิดกล้าถาม
มีทักษะการฟังที่ดี สามารถสรุปใจความสำคัญในเรื่องต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง
และที่สำคัญมากคือ ความใฝ่เรียนรู้ มีทักษะการประสานงานที่ดี และไม่เกี่ยงงาน”

เวลาการสร้างความสุข

เมื่อถามถึงงานอดิเรก หรือกิจกรรมที่สร้างความสมดุลให้กับตัวเอง เอ็มมี่ ตอบว่า “จริงๆ แล้วมีงานอดิเรกหลายอย่างที่ชื่นชอบ เช่น งานฝีมือเย็บปักถักร้อย ปลูกต้นไม้ ทำให้มีความสุข และชอบใช้เวลาวันหยุดในการเรียนออนไลน์หลักสูตรใหม่ๆ หรือแม้แต่หลักสูตรพื้นฐานเช่น การใช้งานโปรแกรม excel”

ส่วนความคาดหวังต่อหน้าที่การงาน เอ็มมี่ ตอบว่า “ตอนนี้มีความสุขกับงานที่ทำอยู่ในปัจจุบัน การได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการผลักดันผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์จริง นักวิจัยมีความสุข ผู้ประกอบการมีความสุข ผู้ใช้งานมีความสุข เราก็มีความสุขด้วย”

_______________________________________________
ทิพวรรณ ตั้งจิตพิบูล
จบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ระดับปริญญาโท Engineering Business Management จาก Warwick University สหราชอาณาจักร