จากวิศวกรโลหการสู่ผู้เชี่ยวชาญด้านอะลูมิเนียมผสมไดคาสติ้ง : พีรกิตติ์ วิริยะรัตนศักดิ์

ถ่ายภาพโดย กฤษณ คูหาจิต
สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย งานสื่อสารและขับเคลื่อนความรู้
ฝ่ายเผยแพร่เทคโนโลยีวัสดุ

คุณพีรกิตติ์ วิริยะรัตนศักดิ์ นักวิจัย กลุ่มวิจัยการออกแบบเชิงวิศวกรรมและการคำนวณ (EDC) ทีมวิจัยเทคโนโลยียานยนต์และการขับขี่ (DVTT) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ มีความรู้และความเชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยีการหล่อโลหะ เทคโนโลยีไดคาสติ้ง และการจำลองการหล่อโลหะบนคอมพิวเตอร์ คุณพีรกิตติ์ สำเร็จการศึกษาและมีประสบการณ์ทั้งการฝึกงานและทำงานวิจัยที่ประเทศญี่ปุ่น และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังหลากหลายผลงานที่ก่อให้เกิดประโยชน์และนำมาซึ่งความภาคภูมิใจทั้งต่อตนเองและองค์กร

จุดเริ่มต้นของการศึกษาด้านวิศวกรรมโลหการที่ประเทศญี่ปุ่น

“ได้รับทุนรัฐบาล (กระทรวงวิทยาศาสตร์) ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี โท เอก ด้านวิศวกรรมโลหการ เน้นเรื่อง Solidification processing ที่มหาวิทยาลัยโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยต้องเรียนหลักสูตรภาษาญี่ปุ่นเป็นเวลา 1 ปีครึ่ง และสอบวัดระดับความรู้ภาษาญี่ปุ่นก่อนสมัครสอบเข้ามหาวิทยาลัย ลักษณะการเรียนระดับปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยโตเกียวจะเป็นแบบเก็บหน่วยกิจทั่วไปโดยใช้เวลา 2 ปีครึ่ง และในชั้นปีที่ 3 ภาคการศึกษาที่ 2 นักศึกษาจะเข้าไปประจำในห้องแล็บของอาจารย์ที่ปรึกษาเพื่อทำวิทยานิพนธ์คนละ 1 เล่มในหัวข้อที่ได้ตกลงกับอาจารย์ที่ปรึกษาเพื่อขอจบการศึกษา

หัวข้อที่ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการแข็งตัวในทิศทางเดียวของโลหะผสมเหล็กนิกเกิล โดยศึกษาหาลำดับการเกิดโครงสร้างลาเมลลา (lamella) ในภาวะเริ่มต้นชั่วคราว (initial transient) โดยใช้เทคนิคการบังคับให้โลหะแข็งตัวในทิศทางเดียว (unidirectional solidification) ในการหาลำดับในปรากฏการณ์การเกิดโครงสร้างจุลภาคดังกล่าว”

ก้าวแรกสู่เส้นทางสายวิจัยและการเริ่มต้นศึกษาจนเชี่ยวชาญด้านอะลูมิเนียมผสมไดคาสติ้ง

“หลังจบการศึกษาในระดับปริญญาตรีได้ขอยุติการรับทุนเพื่อกลับมาทำงานที่ต้นสังกัดที่ให้ทุนคือ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ในตำแหน่งผู้ช่วยนักวิจัยประจำศูนย์เทคโนโลยีการผลิตและการออกแบบ (MDTC) รับผิดชอบงานเกี่ยวกับการจำลองการหล่อโลหะบนคอมพิวเตอร์ (Casting simulation) โดยเน้นงานหล่อเหล็กหล่อและเหล็กกล้าหล่อ ซึ่งเอ็มเทคถือเป็นหน่วยงานแรกๆ ของประเทศที่มีการจำลองการหล่อโลหะ (casting simulation) จึงได้ทำงานในส่วนนี้อยู่หลายปี โดยยุคแรกๆ นี้จะเป็นลักษณะการทำงานหล่อด้วยกระบวนการหล่อทราย (sand casting)

เมื่อทำงานที่เอ็มเทคได้ระยะหนึ่งได้มีโอกาสร่วมงานกับอาจารย์นียามะ (Niyama) ซึ่งได้รับเชิญให้มาทำงานเป็นที่ปรึกษาให้กับเอ็มเทคเป็นเวลา 2 ปี อาจารย์นียามะนับเป็นบุคคลแรกๆ ของประเทศญี่ปุ่นที่ทำงานด้านการจำลองการหล่อโลหะ โดยร่วมมือกับบริษัทฮิตาชิและเครือข่ายบริษัทรถยนต์ต่างๆ  และเป็นผู้คิดค้นนียามะพารามิเตอร์ (Niyama parameter) การได้ทำงานกับอาจารย์นียามะจึงได้เรียนรู้ทฤษฎีในเชิงลึกและวิธีการวิจัยอย่างเป็นระบบจากผู้เชี่ยวชาญตัวจริง และได้เริ่มต้นศึกษาเทคโนโลยีอะลูมิเนียมผสมไดคาสติ้ง ซึ่งเป็นกระบวนการหล่อโลหะหลักสำหรับการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในปัจจุบัน”

ประสบการณ์ที่ได้รับจากการฝึกงานและทำงานวิจัยด้านอะลูมิเนียมผสมไดคาสติ้งที่ประเทศญี่ปุ่น

“ทางรัฐบาลท้องถิ่นจังหวัดคานากาวะได้ประกาศรับสมัครทุนเพื่อไปฝึกงานที่ประเทศญี่ปุ่น จึงสมัครรับทุนและได้มีโอกาสไปฝึกงานที่บริษัท นิสสันมอเตอร์ จำกัด โดยไปอยู่กับทีมวิจัยและพัฒนาทางด้านการจำลองการหล่อโลหะบนคอมพิวเตอร์ของบริษัทฯ เป็นเวลาประมาณ 6 เดือน

ในช่วงเวลาดังกล่าวได้เก็บเกี่ยวความรู้และแนวความคิดในการทำงานด้านอะลูมิเนียมผสมไดคาสติ้งซึ่งจะเน้นระบบออโตเมชันเป็นหลัก นอกจากนี้ยังมีโอกาสได้มีโอกาสพบปะกับวิศวกรด้านการออกแบบของบริษัทฯ เพื่อรับฟังขั้นตอนในการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำรวมถึงการได้เข้าเยี่ยมชมกระบวนการผลิตชิ้นส่วนงานหล่อทั้งกลุ่มเหล็กหล่อและกลุ่มอะลูมิเนียมผสมจนถึงกระบวนการประกอบรถยนต์ ทำให้เข้าใจภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่แท้จริง

ในปีถัดมาได้รับเชิญให้ไปเป็นนักวิจัยในโครงการวิจัยและพัฒนาของภูมิภาคโตโฮกุของญี่ปุ่น โดยมีมหาวิทยาลัยโตโฮกุเป็นหน่วยงานหลัก ซึ่งได้ทำหน้าที่ในส่วนของการจำลองการผลิตชิ้นส่วนอะลูมิเนียมผสมไดคาสติ้งด้วยกระบวนการแบบกึ่งของแข็ง (semi-solid die casting) เนื้องานหลักจะเป็นการออกแบบระบบจ่ายน้ำโลหะสำหรับกระบวนการไดคาสติ้งแบบกึ่งของแข็ง การหาเงื่อนไขขอบเขต และค่าเริ่มต้นที่เหมาะสมสำหรับโลหะในสถานะกึ่งของแข็ง รวมถึงการทดสอบเพื่อเปรียบเทียบระหว่างการผลิตจริงและการจำลองการหล่อโลหะบนคอมพิวเตอร์สำหรับเป็นข้อมูลใช้ในการปรับปรุงกระบวนการผลิตจริงเพื่อเข้าสู่การผลิตเชิงปริมาณและการยกระดับความแม่นยำของผลการจำลองการหล่อโลหะบนคอมพิวเตอร์ให้สูงขึ้น ตลอดระยะเวลาประมาณ 1 ปีครึ่ง ที่ได้ร่วมในโครงการฯ ดังกล่าว ทำให้เข้าใจกระบวนการหล่อแบบไดคาสติ้งอย่างแท้จริง ตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำ ได้แก่ การปรับส่วนผสมของโลหะ กระบวนการหลอมโลหะ กระบวนการทำให้โลหะมีความบริสุทธิ์ กระบวนการกลางน้ำ ได้แก่ การกำหนดเงื่อนไขสำหรับการผลิต และกระบวนการปลายน้ำ ได้แก่ การทดสอบเพื่อยืนยันคุณภาพในการใช้งาน

นอกจากนี้ยังได้เรียนรู้วิธีการทำงานแบบเป็นทีมของญี่ปุ่น จากที่สังเกตุและสัมผัสได้จะไม่ใช่แบบที่คนไทยเข้าใจ การทำงานเป็นทีมของญี่ปุ่นคือการทำงานคนเดียวไม่ยุ่งกับใคร แต่เมื่อทำงานเสร็จและนำผลงานไปรวมกับผลงานส่วนอื่นๆ ที่ต่างคนต่างทำมาแล้วออกมาเป็นผลงานที่ดี อันนั้นจึงถือเป็นการทำงานเป็นทีม เรื่องนี้ตอนเรียนก็ไม่ทราบ แต่พอไปทำงานจริงและได้รับมอบหมายงานในส่วนของการทำการจำลองเหตุการณ์ (simulation) และการยืนยันว่าระบบใช้งานได้ (validation) เราก็จะทำงานในส่วนของเราซึ่งจะไม่มีใครมายุ่ง หลังประชุมคุยกันและได้รับมอบหมายงานแล้วก็แยกย้ายกันไปทำ พอทำเสร็จก็ส่งงานและเอามาคุยกัน แบบนี้จึงถือเป็นการทำงานแบบเป็นทีมของญี่ปุ่น”

การนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับจากการทำงานวิจัยที่ประเทศญี่ปุ่นมาใช้ในการทำงานที่เอ็มเทค

“เมื่อกลับมาทำงานต่อที่เอ็มเทคได้นำความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากการทำงานวิจัยที่ประเทศญี่ปุ่นมาบรรยายในคอร์สอบรมและสัมมนาให้ความรู้แก่หน่วยงานต่างๆ ในประเทศ รวมถึงการรับงานโครงการรับจ้างวิจัยเหล็กหล่อแกรไฟต์กลม ซึ่งแม้จะเป็นโลหะคนละกลุ่มกับอะลูมิเนียม แต่มีลักษณะการเกิดโครงสร้างกลมที่คล้ายกันกับโครงสร้างอะลูมิเนียมปฐมภูมิของอะลูมิเนียมผสมไดคาสติ้งแบบกึ่งของแข็ง ทำให้สามารถพัฒนากระบวนการหลอมและหล่อเหล็กหล่อแกรไฟต์กลมโดยใช้กระบวนการหล่อแบบหล่อทรายสำหรับชิ้นงานที่บางเพียง 3 มิลลิเมตร โดยที่ไม่เกิดโครงสร้างคาร์ไบด์ในชิ้นงาน ทำให้สามารถประยุกต์ใช้สำหรับการลดของเสียที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิต รวมถึงสามารถต่อยอดไปสู่การผลิตชิ้นส่วนยานยนต์น้ำหนักเบาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานให้สูงขึ้นได้”

งานวิจัยที่ทำอยู่ในปัจจุบันและผลงานที่สร้างความภาคภูมิใจ

“ลักษณะงานในปัจจุบันที่รับผิดชอบทั้งหมดที่กลุ่มวิจัยการออกแบบเชิงวิศวกรรมและการคำนวณ (EDC) ทีมวิจัยเทคโนโลยียานยนต์และการขับขี่ (DVTT) จะเป็นงานออกแบบวิธีการทดสอบและทดสอบผลิตภัณฑ์ของทีมวิจัยฯ รวมถึงการสร้างฐานข้อมูลโลหะที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ของทีมวิจัยฯ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานอุตสาหกรรมของทั้งต่างประเทศและในประเทศ รวมถึงยกระดับผลการคำนวณความแข็งแรงของโครงสร้างทางวิศวกรรมให้ถูกต้องแม่นยำมากขึ้น เช่น โครงการพัฒนาอุปกรณ์จับยึดภายในรถพยาบาลที่ต้องรวบรวมฐานข้อมูลวัสดุและออกแบบวิธีการทดลองเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยรถพยาบาล (European Standard EN 1789) โครงการปรับปรุงความแข็งแรงของโครงสร้างผ้าใบของเปลผู้ป่วยความดันลบที่ต้องสอดคล้องกับข้อกำหนดสำหรับเปลหามและการจัดการผู้ป่วยอื่นๆ ในรถพยาบาล (EN1865) โครงการออกแบบเปลกู้ภัยโครงสร้างสแตนเลสที่มีความแข็งแรงปลอดภัยตามมาตรฐานอุปกรณ์ที่ใช้ประกอบในงานเชือกสำหรับช่วยชีวิต (NFPA 1983) โครงการออกแบบโครงสร้างหลังคาของรถสองแถวรับส่งนักเรียนประเภทรถกระบะดัดแปลงให้มีความแข็งแรงสอดคล้องตามมาตรฐาน FMVSS 220 (School Bus Rollover Protection) และโครงการออกอุปกรณ์ป้องกันด้านข้างและด้านท้ายของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของเพื่อให้มีความปลอดภัยตามมาตรฐาน UNR 73 และ UNR 58 ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากกรมการขนส่งทางบก

โครงการทั้งหมดที่ได้กล่าวมานี้ จำเป็นต้องดัดแปลงเครื่องทดสอบทั่วไปให้สามารถทดสอบชิ้นงานที่มีขนาดใหญ่ได้ จึงถือเป็นอีกความท้าทายหนึ่งนอกจากการเลือกวัสดุที่เหมาะสมมาใช้งาน เพราะจำเป็นต้องประสานงานกับหน่วยงานภายนอกเพื่อออกแบบและสร้างโครงสร้างสำหรับการทดสอบเฉพาะทางขึ้นใหม่

แม้ว่าปัจจุบันงานหลักที่รับผิดชอบจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีการหล่อโลหะ แต่ก็ยังมีงานบรรยายและงานที่ปรึกษาที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีไดคาสติ้งและการจำลองการหล่อโลหะบนคอมพิวเตอร์ผ่านทางสมาคมอุตสาหกรรมหล่อโลหะไทยและสถาบันไทย-เยอรมัน”

สิ่งที่อยากพัฒนาความสามารถเพิ่มเติม

“เนื่องจากมองว่ารถไฟฟ้าจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นและในปัจจุบันมีการใช้วัสดุอะลูมิเนียมที่ไม่ได้ขึ้นรูปด้วยการหล่อทำให้มีต้นทุนสูง ถ้าสามารถปรับมาใช้การขึ้นรูปด้วยวิธีไดคาสติ้งจะช่วยลดทั้งเรื่องต้นทุนและเวลาในการผลิต เพราะกระบวนการ semi-solid die casting ไม่ได้จำกัดเฉพาะวัสดุที่ใช้สำหรับการหล่อเท่านั้น วัสดุอื่นๆก็สามารถนำมาใช้ได้ จึงเป็นเรื่องที่คาดหวังที่จะพัฒนาเพิ่มเติม”

เป้าหมายในชีวิตและการทำงาน

“จากสถานการณ์งบประมาณในด้านการวิจัยและพัฒนาที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ต้องปรับลักษณะและวิธีการทำงานเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายขององค์กร อย่างไรก็ตามในทุกๆ งานที่รับผิดชอบอยู่จะพยายามหาความคิดสดใหม่ของงาน (Originality) เพื่อสร้างมูลค่าให้กับชีวิตของตนเอง กล่าวคือ เป้าหมายลำดับต้นๆ ของการทำงานในปัจจุบันคือ “สิ่งที่ต้องทำ” แต่อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืม “สิ่งที่ควรทำ” เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ขึ้นใหม่ และสามารถนำไปเล่าสู่คนรุ่นหลังได้”

สิ่งที่อยากฝากถึงรุ่นน้องที่เข้ามาทำงานใหม่

“อย่างแรกเลย หลังจบการศึกษามาแล้วส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยได้ติดต่อกับอาจารย์ที่สถาบันเดิม ถ้ามีการติดต่ออยู่เสมอก็น่าจะช่วยย่นระยะเวลาในการค้นคว้าหาความรู้ใหม่ๆ การได้พบปะกันก็น่าจะช่วยทำให้เกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันและอาจได้ข้อคิดดีๆ มากมายแบบไม่คาดคิดอีกด้วย นอกจากนี้อยากเน้นเรื่องของความคิดสดใหม่ ซึ่งถ้ามองในภาพรวมของประเทศ ไม่มีประเทศไหนที่พัฒนาแล้วที่จะไม่มีเทคโนโลยีเป็นของตนเอง ฉะนั้นคำว่า ความคิดสดใหม่ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆสำหรับการพัฒนาประเทศ”

 

 

งานอดิเรก

“เรียกว่าเป็นความสนใจตามแต่ละช่วงวัยและเวลาในขณะนั้นจะเหมาะสมกว่า สำหรับในปัจจุบันที่อายุเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าหากมีโอกาสต้องเดินทางไปที่ไหน จะสำรวจก่อนล่วงหน้าว่าบริเวณนั้นมีวัดหรือศาลเจ้าที่เป็นที่เคารพของคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นหรือไม่ ถ้าเวลาเอื้ออำนวยก็จะไม่พลาดการไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของพื้นที่นั้นๆ การที่ได้ไปวัดหรือศาลเจ้าตามที่ต่างๆ จะสามารถชมงานพุทธศิลป์ที่แตกต่างกันตามช่วงเวลาได้”

“โดยส่วนตัวชอบงานไม้ งานโลหะ และงานกระเบื้องเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าได้ไปศาลเจ้าจีนจะได้เห็นถึงองค์เทพเจ้าที่แกะสลักจากไม้ บางองค์อาจจะหล่อจากโลหะหรือบางองค์อาจจะเป็นกระเบื้องหรือทำจากกระดาษซึ่งมีความงดงามที่แตกต่างกัน ทำให้เกิดความสนใจที่จะศึกษาประวัติของเทพเจ้าว่ามีที่มาอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น มีต้นกำเนิดมาจากพุทธมหายานหรือลัทธิเต๋า และเทพเจ้าแต่ละองค์มีคุณงามความดีอย่างไร ผู้คนถึงได้กราบไหว้สืบต่อเนื่องเป็นพันๆ ปีจนถึงปัจจุบัน ได้เห็นถึงการข่มกันไปข่มกันมาระหว่างพุทธและเต๋าตามยุคราชวงศ์ต่างๆ ผ่านองค์เทพ ได้ศึกษาถึงการสถาปนาองค์เทพต่างๆ โยงกับประวัติศาสตร์จริง ทำให้เวลาไปสักการะวัดหรือศาลเจ้าในครั้งต่อไปจะทำให้เรามีความรู้มากขึ้นว่าองค์เทพที่กำลังสักการะอยู่นั้นมีคุณงามความดีหรือมีอิทธิฤทธิ์ในด้านใด”

“คล้ายๆ กับการไปทัศนศึกษาโบราณสถานที่อยุธยา แล้วกลับมาศึกษาประวัติศาสตร์ของกรุงศรีอยุธยาก่อนกลับไปอีกครั้งจะทำให้เกิดความรู้สึกสนุกสนานมากขึ้นว่าซากปรักหักพังที่กองอยู่ตรงหน้าเรานั้นแต่ก่อนเคยใช้เป็นสถานที่อะไร สองชนชาติที่รบกันไปมาตั้งแต่อดีตหรือแม้กระทั่งชนชาติเดียวกันที่แก่งแย่งชิงสมบัติเพื่อแย่งชิงอาณาจักรที่ตอนนี้เหลือแต่ซากปรักหักพังนั้นเคยอยู่ในดินแดนนี้มาก่อน หากมีโอกาสได้ไปเยือนสถานที่เดิมในครั้งถัดไปจะทำให้มีอรรถรสในการเยี่ยมชมมากขึ้น”

คุณพีรกิตติ์ยังเสริมว่า “ยิ่งไปกว่านั้นหากเป็นองค์พระหรือองค์เทพที่หล่อขึ้นจากโลหะ จะทำให้เกิดหัวข้อที่ต้องไปศึกษาเพิ่มเติมว่าหล่อขึ้นในยุคใด แล้วในยุคนั้นเขามีเครื่องมืออะไรในการหล่อโลหะ ยกตัวอย่างเช่น เมืองคามากุระที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นเมืองที่ชอบมากที่สุดในช่วงเวลารวมทั้งหมดเกือบสิบปีที่ได้ไปเรียนและทำงานที่ประเทศญี่ปุ่น สถานที่เดียวกันแต่ไปต่างช่วงเวลากันในฤดูใบไม้ผลิ ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ร่วง และฤดูหนาว จะทำให้เกิดความรู้สึกที่แตกต่างกัน เมืองเล็กๆ ริมทะเลอย่างคามากุระมีสถานที่สำคัญ เช่น องค์พระใหญ่ไดบุทสึ ซึ่งเมื่อได้ไปศึกษาประวัติศาสตร์ของการสร้างองค์พระในสมัยก่อนแล้วจะเห็นได้ว่า ช่างหล่อโลหะชาวญี่ปุ่นในสมัยเมื่อเกือบ 800 ปีก่อน ยังไม่มีทักษะความชำนาญในการหล่อองค์พระที่มีขนาดใหญ่ ต้องใช้ช่างหล่อโลหะชาวจีนมาหล่อองค์พระ ทำให้ได้ทราบถึงการหลอมโลหะน้ำหนักทั้งหมดเป็นร้อยตันในสมัยก่อน การคำนวณการถ่ายน้ำหนักของพระเศียรที่โน้มไปข้างหน้า การวางแผนการเทน้ำโลหะเป็นชั้นๆ เพื่อหล่อองค์พระ เมื่อไปเที่ยวครั้งแรกจะรู้สึกตื่นตาตื่นใจกับความยิ่งใหญ่ขององค์พระและความงดงามของบรรยากาศรอบด้าน แต่เมื่อมีโอกาสได้ไปครั้งหลังๆ ในช่วงที่เรียนจบและทำงานแล้ว ก็จะเป็นความประทับใจอีกแบบที่อยากจะเข้าไปดูถึงองค์พระใกล้ๆ ทั้งด้านในและด้านนอกว่าช่างสมัยก่อนเขาใช้ทักษะในการหล่อองค์พระขึ้นมาอย่างไร ถือเป็นการนำความรู้พื้นฐานที่ได้ร่ำเรียนมาในสมัยมหาวิทยาลัยมาอธิบายปรากฎการณ์การแข็งตัวของของเหลว (solidification) ของงานพุทธศิลป์อันเป็นที่เคารพของผู้คนในปัจจุบัน”

“นอกจากงานพุทธศิลป์แล้ว การที่เราได้สังเกตสิ่งที่อยู่รอบตัวแล้วพยายามใช้วิชาความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาอธิบายก็เป็นความสนุกอีกอย่างหนึ่ง เช่น ไข่ออนเซ็นของญี่ปุ่นที่ไข่ขาวจะมีลักษณะเหลวแต่ไข่แดงที่อยู่ด้านในจะหนืดแข็งตัวเป็นก้อนมากกว่า การทำขนมไทยากิ การทำช็อกโกแลต หรือแม้แต่การทำขนมครกของประเทศไทย เหล่านี้ล้วนใช้ความรู้ในการแข็งตัวของโลหะมาประยุกต์ใช้อธิบายได้ด้วยทั้งสิ้น จะแตกต่างกันที่การแข็งตัวของปรากฎการณ์บางอย่างจะมีปฏิกิริยาทางเคมีเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยนอกจากเงื่อนไขทางความร้อน แม้ศาสตร์ทางด้านโลหะวิทยาและการแข็งตัวอาจจะดูไม่ทันสมัยเหมือนกับงานวิจัยที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์อันล้ำสมัยในปัจจุบัน แต่ก็เป็นพื้นฐานของปรากฎการณ์ทางกายภาพที่เกิดขึ้นอยู่รอบตัวเราในปัจจุบันและเชื่อว่าจะเป็นตัวช่วยสนับสนุนให้งานทางด้านวิศวกรรมมีความแข็งแรงมากขึ้น” คุณพีรกิตติ์กล่าวสรุป