ปิยพงศ์ เปรมวรานนท์ จากวิศวกรไฟฟ้า....สู่การทำงานด้านวิศวกรรมน้ำหนักเบา

ถ่ายภาพโดย เมธยา สุดใจ
สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย งานสื่อสารและขับเคลื่อนความรู้
ฝ่ายเผยแพร่เทคโนโลยีวัสดุ

คุณปิยพงศ์ เปรมวรานนท์ วิศวกรอาวุโส ทีมวิจัยวิศวกรรมน้ำหนักเบา กลุ่มวิจัยการออกแบบเชิงวิศวกรรมและการคำนวณ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) มีความรู้และความเชี่ยวชาญในหลากหลายด้าน เช่น วิศวกรรมไฟฟ้า การใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ช่วยในการออกแบบทางแสง และการใช้ระเบียบวิธีไฟไนต์เอลิเมนต์ในการออกแบบทางวิศวกรรม และได้ต่อยอดองค์ความรู้ไปสู่การสร้างสรรค์ผลงานมากมายในด้านการออกแบบทางแสง ยานยนต์ไฟฟ้า และวิศวกรรมน้ำหนักเบา รวมถึงการมีแนวความคิดและแรงบันดาลใจในการทำงานที่ดีเยี่ยมและนำไปสู่ผลที่ได้รับทั้งความสนุกและผลงานเด่น ภายใต้วลีเด็ดที่ชื่นชอบว่า “ฝันใกล้ๆ แล้วไปให้ถึง”

จุดเริ่มต้นของการศึกษาด้านวิศวกรรมไฟฟ้า

“จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ โดยในช่วงระหว่างทำโครงงานเพื่อจบการศึกษา ทางอาจารย์ที่ปรึกษาได้แนะนำให้ทราบว่าจะมีอุทยานวิทยาศาสตร์มาเปิดใกล้ๆ และบอกว่าน่าสนใจนะ ถ้าเรียนจบแล้วไม่อยากทำงานเป็นวิศวกรในสายโรงงานหรือบริษัทต่างๆ สนใจจะมาทำงานเป็นอาจารย์หรือทำวิจัยอะไรแบบนี้ไหม อาจารย์คงเห็นว่าเราเหมาะที่จะทำงานทางด้านนี้ หลังจบการศึกษาระดับปริญญาตรี จึงได้สมัครสอบขอรับทุน ก.พ. (ทุนของกระทรวงวิทยาศาสตร์ที่จบแล้วกลับมาทำงานที่เอ็มเทค) ไปศึกษาต่อปริญญาโท คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัย University of Southern California ประเทศสหรัฐอเมริกา”

ก้าวแรกสู่เส้นทางสายวิจัยและการนำความรู้มาใช้ในการทำงานที่เอ็มเทค

“หลังจบการศึกษาระดับปริญญาโทได้ขอกลับมาทำงานที่เอ็มเทคก่อน โดยเริ่มต้นเข้าทำงานในทีมของอาจารย์ปราโมทย์ เดชะอำไพ โดยงานแรกๆ ที่เริ่มทำด้านไฟไนต์เอลิเมนต์ จะเป็นการวิเคราะห์ด้านความร้อนและการถ่ายเทความร้อน ซึ่งมีสมการใกล้เคียงกับการแผ่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีความรู้เดิมอยู่แล้ว จากนั้นก็ขยับไปทำงานเกี่ยวกับการวิเคราะห์ความแข็งแรง และร่วมเป็นทีมงานช่วยอบรมเรื่องการใช้งานระเบียบวิธีไฟไนต์เอลิเมนต์ในคอร์สอบรมของอาจารย์ปราโมทย์”

คุณปิยพงศ์ กล่าวเสริมว่า “ในการใช้ระเบียบวิธีไฟไนต์เอลิเมนต์ในการวิเคราะห์การถ่ายเทความร้อน จะมีสมการเชิงอนุพันธุ์ใกล้เคียงกับสมการของการแผ่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า จึงทำให้สามารถเชื่อมโยงความรู้ทางด้านวิศวกรรมไฟฟ้าที่มีอยู่กับการใช้ระเบียบวิธีไฟไนต์เอลิเมนต์ในงานวิเคราะห์ทางด้านความร้อนได้”

“หลังจากทำงานไปได้สักพักก็เริ่มมีโครงการที่ขอทุนทางด้านยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์จากทาง วช. ซึ่งมีประมาณ 5 โครงการ โดยจะเป็นงานที่เกี่ยวกับการออกแบบไฟหน้ารถยนต์ กระจกรถยนต์ และรถไฟฟ้า งานที่ทำก็เลยเริ่มเปลี่ยนจากการวิเคราะห์ทางด้านความแข็งแรงโครงสร้างมาเป็นการวิเคราะห์ทางแสงและการออกแบบรถไฟฟ้า

กรณีตัวอย่างการวิเคราะห์ปัญหาโดยใช้องค์ความรู้ทางด้านการวิเคราะห์แสง

“การวิเคราะห์ทางด้านแสงจะพิจารณาความเข้มของแสงที่ตกกระทบเพื่อดูความสว่างและค่าความเข้มของแสง เช่น ในส่วนของไฟหน้ารถยนต์จะพิจารณาเรื่องรูปแบบและความสว่างลำแสงที่ส่องไปยังถนน ความเข้มแสงที่ออกมาจากโคมไฟว่ามีค่ากี่วัตต์ต่อตารางเมตร แล้วนำไปคำนวณต่อในเรื่องของความร้อนภายในโคมไฟ กรณีตัวอย่างเช่น การวิเคราะห์ปัญหาเลนส์ของโคมไฟหน้ารถเกิดการหลอมละลายก็จะใช้องค์ความรู้การวิเคราะห์ทางแสง โดยการเปลี่ยนค่าความเข้มของแสงไปเป็นความร้อน แล้วนำไปวิเคราะห์ไฟไนต์เอลิเมนต์ว่าความร้อนในโคมไฟจะทำให้เกิดการละลายของตัวพลาสติกที่ใช้ทำเลนส์หรือตัวโคมไฟหรือไม่”

“บางครั้งการออกแบบโคมไฟที่ไม่ดี อาจทำให้เกิดการโฟกัสของแสงไปที่จุดๆ หนึ่งของเลนส์และเกิดความร้อนสะสมจนเกินจุดหลอมตัวของพลาสติก ซึ่งเราจะวิเคราะห์และดูตรงจุดนี้ให้ เช่น กรณีไฟหน้าของรถรุ่นเก่าที่ยังใช้หลอดไส้ที่มีความร้อนสูง ยังไม่ใช้หลอด LED ก็จะมีการออกแบบตัวจานสะท้อนไว้ที่ส่วนด้านในตัวโคม โดยบางโรงงานอาจจะทำการผลิตเองและออกแบบทางแสงได้ไม่ดีนัก จึงทำให้แสงไปรวมกันที่จุดๆ หนึ่งบนเลนส์ ซึ่งพอเปิดใช้งานไปนานๆ ตัวเลนส์พลาสติกครอบไฟหน้าก็อาจจะหลอมละลายได้”

คุณปิยพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “กรณีตัวอย่างการหลอมละลายของเลนส์นี้มีโจทย์มาจากภาคอุตสาหกรรมคือโรงงานผลิตรถสำหรับใช้ในงานทางการเกษตรที่ทำการผลิตเองทั้งคันรวมถึงตัวไฟส่องสว่างหน้ารถด้วย โดยพบปัญหาเลนส์ของไฟส่องสว่างเกิดการหลอมละลายหลังใช้งานต่อเนื่องประมาณ 10 ชั่วโมง เป็นเวลานาน 2-3 วัน เราก็เลยได้เข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาในส่วนนี้”

“ในเรื่องความสว่างของไฟหน้ารถจะมีมาตรฐานของยานยนต์สากลกำกับอยู่แล้วว่าลำแสงที่ออกมาต้องมีรูปแบบลำแสงยังไง มีค่าความสว่างเท่าไร ซึ่งเราได้เข้าไปช่วยและพัฒนาโครงการวิจัยร่วมกับบริษัทวิเชียรไดนามิกที่มีการออกแบบพวกโคมไฟรถยนต์อยู่แล้วและเสนอขอทุนวิจัยจากวช. โดยโครงการวิจัยได้ดำเนินการเสร็จสิ้นและส่งมอบงานเรียบร้อยไปนานแล้ว”

การต่อยอดความรู้สู่งานด้านวิศวกรรมเครื่องกล

“หลังจากเข้ามาทำงานอยู่ในกลุ่มอาจารย์ปราโมทย์ก็ได้เริ่มเรียนรู้การใช้ไฟไนต์เอลิเมนต์ การวิเคราะห์ความแข็งแรงของโครงสร้าง และการถ่ายเทความร้อน โดยมีพี่ๆ น้องๆ ในกลุ่มฯ ช่วยสอนและแนะนำ และทุกครั้งที่อาจารย์ปราโมทย์มีการจัดคอร์สอบรมก็ได้เรียนรู้เรื่องต่างๆ เพิ่มเติมอีกด้วย”

“ต่อมาเมื่อได้มาอยู่ในทีมของ ดร.ชินะ เพ็ญชาติ การมีความรู้พื้นฐานและได้รับคำแนะนำที่ดีจากทีม ทำให้การต่อยอดความรู้ทำได้ราบรื่น งานที่ทำจึงค่อยๆ ปรับเปลี่ยนมาด้านการวิเคราะห์โครงสร้างและโชคดีที่มีโครงการรถไฟฟ้าคันสีเขียว ทำให้ได้ใช้ความรู้ด้านไฟฟ้า ในการออกแบบระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า รวมถึงเรื่องการวิเคราะห์ความแข็งแรงของโครงสร้างตัวรถในส่วนที่ต้องแบกรับน้ำหนักแบตเตอรี่เพิ่มขึ้น โดยเป็นการทำงานภายใต้ทีมของ ดร.ชินะ และถือเป็นหนึ่งในผลงานที่สร้างความภาคภูมิใจ”

งานวิจัยที่สร้างความภาคภูมิใจ

“อันแรกเลยคือโครงการรถไฟฟ้าคันสีเขียวที่ถือเป็นต้นแบบรถไฟฟ้าคันแรกๆ ที่เราทำเองในประเทศ สามารถวิ่งได้จริง และทำให้ได้ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับการนำรถโดยสารพลังงานไฟฟ้าล้วนมาใช้งานในการขนส่งคนที่สามารถนำมาใช้ต่อยอดได้ในหลากหลายมิติ หลังจากทำโครงการรถไฟฟ้าคันสีเขียวเสร็จสิ้นก็มีงานต่อเนื่องทั้งในด้านของการออกแบบรถโดยสารไฟฟ้ารวมถึงการออกแบบโครงสร้างรถโดยสารขนาดใหญ่”

“จากนั้นก็มีงานให้คำปรึกษาการออกแบบรถไฟฟ้าที่มีขนาดใหญ่ขึ้น (12 เมตร) ซึ่งทำร่วมกับบริษัทล็อกเล่ย์ จำกัด (มหาชน) โดยเราทำการวิเคราะห์ความแข็งแรงของโครงสร้างตัวรถไฟฟ้าที่บริษัทฯ มีแผนทำการผลิต ตั้งแต่การเลือกรูปแบบของแชสซีและระบบช่วงล่าง การวิเคราะห์ความแข็งแรงโครงสร้างตัวถัง การเลือกใช้ระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าที่เหมาะสม การออกแบบภายนอกและภายในรถโดยสาร การออกแบบและเลือกใช้ชิ้นส่วนหลักของรถ โดยข้อมูลที่จำเป็นทั้งหมดนี้ถูกจัดเก็บในรูปแบบเอกสารเชิงเทคนิคที่สอดคล้องกับขั้นตอนการขอจดทะเบียนกับกรมขนส่งทางบก”

แรงบันดาลใจในการทำงานวิจัย

“เริ่มมาจากอาจารย์ปราโมทย์ซึ่งคอยสนับสนุนและผลักดันให้วิศวกรมาทำงานให้บริการช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมและเขียนบทความวิจัยด้วย และจากการทำงานร่วมกับ ดร.ชินะ ที่เน้นให้ทำงานรับจ้างจากภาคเอกชนในเชิงของงานวิจัย ทำให้ได้องค์ความรู้เก็บสะสมและสามารถต่อยอดไปได้เรื่อยๆ ประกอบกับเป็นความชอบส่วนตัวที่ได้ทำงานในโจทย์ที่มีความหลากหลายแตกต่างกันในแต่ละงาน ทำให้ได้ทั้งความสนุกและผลงานร่วมด้วย”

งานวิจัยที่ทำอยู่ในปัจจุบัน

“งานหลักๆ ตอนนี้จะเน้นเรื่องเกี่ยวกับโครงสร้างน้ำหนักเบาสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า และทำงานตาม S-curve ของห้องปฏิบัติการ งานด้านแสงก็มีทำบ้างแต่น้อยลงมากครับ โดยในส่วนของงานที่เป็นโครงสร้างน้ำหนักเบา ทางผมและทีมก็ได้มีโอกาสร่วมออกแบบและวิเคราะห์ความแข็งแรงรถบัสอะลูมิเนียม (9 เมตร) ให้กับบริษัท สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น จำกัด ซึ่งเราได้ช่วยวิเคราะห์และทำนายความสามารถในการรับแรงของโครงสร้างรถโดยสารอะลูมิเนียมเมื่อทำการทดสอบพลิกคว่ำตามมาตรฐานทดสอบยานยนต์สากล UN R66 เพื่อประเมินความปลอดภัยเบื้องต้นของโครงสร้างก่อนการนำไปผลิตจริงและเป็นข้อมูลให้กับผู้ประกอบการในการออกแบบรถโดยสารรุ่นอื่นๆ ต่อไปในอนาคต”

“นอกจากนี้ก็มีการเป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อเรื่องเกี่ยวกับการออกแบบ วิศวกรรมน้ำหนักเบา โครงสร้างวิศวกรรมน้ำหนักเบาและอื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย การให้คำปรึกษาและแนะนำวิทยานิพนธ์ให้กับน้องปริญญาโท และการดูแลน้องๆ ฝึกงาน ซึ่งส่วนนี้จะชอบและสนุกกับการทำงานมาก โดยจะถามน้องๆ ที่มาฝึกงานก่อนว่ามีโครงงานมาด้วยไหม ถ้ามีมาและห้องปฎิบัติการของเราสามารถสนับสนุนได้ ก็จะให้ทำโครงงานที่มีมานั้น แต่ถ้าไม่ใกล้เคียงเลย ก็จะมอบหมายงานที่ทีมวิจัยมีอยู่ในช่วงนั้นให้ทำ โดยให้น้องๆรู้สึกเหมือนกับว่าน้องๆ จบมาแล้วมาทำงานจริงๆ เลย ซึ่งเป็นงานที่ไม่ยากแต่อยากรู้แนวคิดในการทำงานและการทำงานร่วมกันของน้องๆ ว่าเป็นอย่างไร และมีอะไรที่จะกลับมานำเสนอให้เราทราบบ้าง โดยให้ลองทำเองดูก่อนแล้วค่อยให้ความรู้และแนะนำเขาไปเรื่อยๆ จนจบ”

คุณปิยพงศ์ กล่าวเสริมด้วยน้ำเสียงที่มีความสุขว่า “มีหลายกลุ่มที่ทำให้เราประหลาดใจว่าเค้าสามารถทำงานได้ดี โดยมีการวางแผนงานมาก่อนที่จะมาฝึกงานกับเรา มีแนวคิดการทำงานและความคิดริเริ่มที่ดีมาก เราแค่ให้โจทย์อะไรไปแล้วดูว่าเค้าจะให้คำตอบหรือแผนงานอะไรกลับมาก็ทำให้รู้สึกสนุกมาก ถือเป็นการแลกเปลี่ยนมุมมองการทำงานระหว่างเรากับน้องๆ ที่เป็นคนรุ่นใหม่ครับ”

จุดแข็งของทีมวิจัยวิศวกรรมน้ำหนักเบา

“ถ้าถามเรื่องจุดแข็งของทีมก็คือเรื่องการทำงานเป็นทีมที่ทุกคนช่วยกันทำงาน เวลามีปัญหาก็พร้อมที่จะช่วยกันแก้ไขและสู้ไปด้วยกัน ส่วนเรื่องจุดแข็งในเชิงการทำงานคือเรื่องการออกแบบ วิเคราะห์ และทดสอบ ซึ่งทางทีมเราได้พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้งานที่ได้ สามารถนำไปใช้ในขั้นตอนการออกแบบ ทดสอบ และนำไปสู่การผลิตเชิงอุตสาหกรรมได้”

“ในการทำงานเป็นทีมบางช่วงอาจมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน ทีมเราก็จะเปิดให้แต่ละคนแสดงความคิดเห็นกันได้อย่างเต็มที่ สุดท้ายหัวหน้าทีมจะช่วยเลือกโดยอิงอยู่ในกรอบที่ทำได้จริงและในระยะเวลาที่ทำได้ แล้วมาสรุปกันว่าวิธีไหนที่เหมาะสมและถ้ามีเวลาเหลือก็จะลองทดลองตามแนวคิดอื่นๆ ที่มีคนนำเสนอมา แต่ด้วยทำงานกันมานาน ดังนั้นเรื่องทะเลาะหรือขัดแย้งกันหนักๆ ก็ไม่มี และทุกคนก็สนิทกันและยอมรับซึ่งกันและกัน”

 

งานอดิเรก

“ชอบดูซีรี่ย์และการ์ตูนใน Netfix ชอบดู Youtube และชอบอ่านหนังสือ เช่น งานเขียนของหนุ่มเมืองจันท์ โดยชอบมุมมองแง่คิดในการแก้ปัญหาธุรกิจและชีวิต รวมถึงการตั้งชื่อหนังสือ โดยชื่อหนังสือที่ชื่นชอบเป็นพิเศษคือ ฝันใกล้ๆ ไปช้าๆ เพราะตอนทำงานใหม่ๆ ก็จะมีความฝันและความคาดหวังมาก แต่ก็คิดว่าจะค่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ แต่หลายปีที่ผ่านมาเรามีการเปลี่ยนแปลงในองค์กรเยอะและไวมาก พอทำงานมาสักพัก ก็จะรู้สึกว่าโลกเปลี่ยนไวมากๆ ทำให้เราเองก็ต้องปรับเปลี่ยนการทำงานให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงไปด้วย ซึ่งก็อาจทำให้เครียดบ้างในช่วงปรับตัว แต่ทุกวันนี้เวลาทำงานจะคิดว่าเรามี S-curve ภาพใหญ่อยู่แล้ว พอแยกรายละเอียดให้ได้เป็นภาพย่อยในแต่ละปี เราก็พยายามทำให้ได้และไม่ให้หลุดกรอบใหญ่ สุดท้ายมันก็จะตอบโจทย์ภาพใหญ่ได้และเราก็ไม่เครียดมากด้วย สรุปก็คือ จากเดิมที่เคยฝันให้ไกล แล้วจะไปช้าๆ ก็ต้องปรับเป็น ฝันใกล้ๆ แล้วรีบไปให้ถึงครับ”

สิ่งที่อยากฝากถึงรุ่นน้องที่เข้ามาทำงานใหม่

“อยากให้สู้ๆ ค่อยๆ เรียนรู้และเติบโตไป อย่าท้อครับ โดยเฉพาะเรื่องการขอทุนวิจัย เพราะเข้าใจว่าน้องๆ ส่วนใหญ่ที่เข้ามาใหม่น่าจะต้องปรับตัวมากพอสมควร ส่วนตัวคิดว่าการทำงานที่เอ็มเทคเป็นการทำงานที่มีความสุข เพราะเรายังทำงานแบบพี่ๆ น้องๆ ที่พร้อมช่วยกัน ผมเชื่อมั่นว่าทุกคนมีความสามารถและจะเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนให้กับเอ็มเทคต่อไปได้แน่นอน ฝันใกล้ๆ แล้วไปให้ถึงครับ” คุณปิยพงศ์กล่าวปิดท้าย