จากวิศวกรอิเล็กทรอนิกส์....สู่วิศวกรทางการแพทย์ คุณอรรถกร สุวนันทวงศ์ ทีมวิจัยการออกแบบเพื่อการเป็นอยู่ที่ดี

สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย งานสื่อสารและขับเคลื่อนความรู้
ฝ่ายเผยแพร่เทคโนโลยีวัสดุ

คุณอรรถกร สุวนันทวงศ์ สะสมประสบการณ์หลายด้านจากการทำงานวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ หนึ่งในผลงานสำคัญและภาคภูมิใจคือ การพัฒนาเครื่องรบกวนสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ T-Box ระหว่างทำงานที่ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือเนคเทค ต่อมาได้มีโอกาสดูแลภาพรวมด้านการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงวิศวกรรมของโครงการต่างๆ ภายใต้ศูนย์บริการปรึกษาการออกแบบและวิศวกรรม ส่วนงานกลางของ สวทช.

ปัจจุบันคุณอรรถกรทำงานในฐานะวิศวกร ทีมวิจัยการออกแบบเพื่อการเป็นอยู่ที่ดี กลุ่มวิจัยการออกแบบเชิงวิศวกรรมและการคำนวณ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ

การเปลี่ยนแปลง สู่การเริ่มต้น

คุณอรรถกรจบการศึกษาระดับปริญญาตรี ด้านวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม หลังจบการศึกษาก็เริ่มงานที่เนคเทค คุณอรรถกรเล่าว่า “ผมเริ่มทำงานที่เนคเทค ซึ่งตอนนั้นได้ร่วมทำโครงการวิจัยเครื่องรบกวนสัญญาณโทรศัพท์มือถือประสิทธิภาพสูง หรือ T-Box ที่นำไปให้ทหารทางภาคใต้ได้ใช้ ต่อมาได้ย้ายมาสังกัดที่ฝ่ายสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา งานเตรียมความพร้อมทางวิศวกรรมเพื่อการผลิต ของส่วนงานกลาง สวทช. ดูแลภาพรวมของโครงการด้านงานออกแบบและวิศวกรรม โดยช่วยดูแลระบบการทำงาน วิเคราะห์ต้นทุน วิเคราะห์ความต้องการของลูกค้า เพื่อให้โครงการเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด เป็นงานที่ไม่เคยทำมาก่อน แต่ได้ความรู้เยอะมาก”

“เมื่อทำงานไปสักพัก ผมพยายามค้นหาตัวเอง จนเริ่มสนใจงานทางด้านวิศวกรรมทางการแพทย์ และเริ่มขอทุนศึกษาเรียนต่อในระดับปริญญาโท สาขาวิศวกรรมทางการแพทย์ โดยขอลาเรียนต่อ 2 ปี พอจบก็ได้รับการชักชวนให้มาทำงานในทีมของ ดร.ศราวุธ (เลิศพลังสันติ) ขณะนั้นเป็นหัวหน้าทีมวิจัยการออกแบบเพื่อการเป็นอยู่ที่ดี (ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัย กลุ่มวิจัยการออกแบบเชิงวิศวกรรมและการคำนวณ) จึงเป็นจุดเปลี่ยนของการเริ่มต้นของวันนี้ครับ”

ผลงานแรกที่เอ็มเทค

ในช่วงที่สังกัดฝ่ายสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา งานเตรียมความพร้อมทางวิศวกรรมเพื่อการผลิต ของส่วนงานกลาง สวทช. ส่วนงานกลาง คุณอรรถกรมีโอกาสได้ดูแลภาพรวมของโครงการต่างๆ เช่น โครงการเครื่องล้างไต เก้าอี้ทำฟัน และเครื่องช่วยทำกายภาพสำหรับแขน และเมื่อย้ายมาที่เอ็มเทค งานแรกที่ร่วมทำเป็นเครื่องอุปกรณ์ควบคุมการไหลของน้ำยาจากถุงล้างไตทางช่องท้องแบบไม่สัมผัสน้ำยาแบบอัตโนมัติซึ่งมี ดร. สิทธา (สุขกสิ) หัวหน้าทีมวิจัยการออกแบบเพื่อการเป็นอยู่ที่ดี เป็นหัวหน้าโครงการ ผลงานนี้เป็นผลงานต้นแบบเชิงสาธารณประโยชน์โดยปัจจุบันใช้งานอยู่ที่โรงพยาบาลกลาง

คุณอรรถกรเสริมว่า “ปกติการใช้น้ำยาล้างไตจะขึ้นกับส่วนสูงและน้ำหนัก ซึ่งแต่ละคนจะได้ปริมาณไม่เท่ากัน แต่เนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่สามารถประจำอยู่ที่เครื่องได้ตลอดเวลาก็อาจทำให้คนที่ตัวเล็กได้รับน้ำยาล้างไตในปริมาณมากเกินก็ทำให้รู้สึกแน่นในท้องได้ ทีมวิจัยจึงได้ออกแบบอุปกรณ์ควบคุมการไหลของน้ำยาจากถุงล้างไตโดยคำนวณน้ำหนักและส่วนสูงเพื่อให้เหมาะพอดีกับผู้ใช้งาน โดยมีโปรแกรมควบคุมการหยุดของน้ำยาล้างไต และสามารถใช้กับระบบถุงล้างไตแบบปิดได้”

ความชำนาญ เสริมทีมงาน

การทำงานเป็นทีมส่วนใหญ่จะแบ่งงานกันและช่วยกันทำทุกคน เมื่อถามถึงความเชี่ยวชาญ คุณอรรถกรตอบว่า “ถ้าถามความเชี่ยวชาญของผมจริงๆ ก็จะเป็นทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ และการวิเคราะห์การเคลื่อนไหวทางการยศาสตร์ หรือ Ergonomics การทำงานที่ลดโอกาสการเกิดอาการบาดเจ็บในการทำงานของคน รวมถึงด้านการสร้างอุปกรณ์ทางการแพทย์ และการมองภาพรวม ตั้งแต่การผลิตจนต่อยอดไปถึงมือลูกค้า”

คุณอรรถกรเล่าว่า “ตัวอย่างงานที่กำลังทำอยู่ตอนนี้ เป็นชุดบอดี้สูทที่ช่วยในการเคลื่อนไหวและป้องกันการบาดเจ็บ หรือชุดเรเชล รุ่น Active ผลงานนี้ทำร่วมกับสมาชิกในทีมวิจัยการออกแบบเพื่อการเป็นอยู่ที่ดี เป็นการทำงานร่วมกันโดยอาศัยความชำนาญของแต่ละคนในทีม ส่วนผมจะช่วยดูด้านอิเล็กทรอนิกส์และการสร้างแบบจำลองการทำงานกล้ามเนื้อเชิงคณิตศาสตร์ (McKibben muscle) สำหรับใส่ในชุด บางครั้งก็ได้เข้าไปคุยเรื่องการตัดเย็บกับสถาบันพัฒนาแพ็ทเทิร์นอุตสาหกรรมและการออกแบบเสื้อผ้าสำเร็จรูปด้วย”

“นอกจากนี้ ยังได้ร่วมศึกษาความเป็นไปได้เชิงเทคนิคในการนำ Exoskeleton Technology มาใช้สำหรับการปฏิบัติงานด้านการก่อสร้าง หรือผู้ดูแลผู้ป่วย/ผู้สูงอายุ โดยศึกษาวิเคราะห์และคำนวณค่าชีวกลศาสตร์ (biomechanical) ของร่างกายคน เมื่อคนยกของที่น้ำหนักมากจะเกิดแรงกดที่กระดูกสันหลังที่ระดับ L4 และ L5 ซึ่งหากกระดูกส่วนนี้รับภาระมากเกินจะทำให้เกิดภาวะหมอนรองกระดูกบาดเจ็บได้ ทีมวิจัยจึงได้พัฒนา “Ross” (รอส) หรือชุดอุปกรณ์ที่สวมและสะพายเข้ากับร่างกาย ช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บในกิจกรรมที่ต้องใช้กล้ามเนื้อหลัง และในส่วนนี้ผมได้ช่วยทีมออกแบบเครื่องมือประเมินการวิเคราะห์การยศาสตร์ (ergonomics assessment) ให้สามารถนำไปใช้ได้ง่ายขึ้น โดยเครื่องสามารถแสดงค่าตัวเลขจากการคำนวณออกมา ซึ่งหากเกินค่าที่กำหนดก็จะทำให้เกิดการบาดเจ็บได้”

เรียนรู้จากการทำงานเป็นทีม

คุณอรรถกรเล่าว่า “ตอนผมเข้ามาเริ่มงานในทีมรู้สึกว่าทุกคนในงานเก่งมาก และส่วนใหญ่เป็นนักวิจัย ลักษณะการทำงานของทีม เมื่อได้โจทย์มาก็จะนั่งคุยปรึกษากัน ตกลงแบ่งงาน และแยกกลับไปทำการบ้าน ทำให้ผมต้องไปอ่านและศึกษาข้อมูลให้มากที่สุด เพื่อที่สุดท้ายจะสามารถกลับมาคุยกันในทีมว่าเราจะทำแบบไหน โดยในทีมจะช่วยกันทุกคน”

“สิ่งที่ได้เรียนรู้จากทีมก็มีหลายเรื่อง อย่าง ดร.ศราวุธ ถือเป็นตัวอย่างที่ดีให้ทีมได้เรียนรู้วิธีการนำเสนอ หรือวิธีการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบเพื่อการนำมาใช้งาน และ ดร. วรวริศ กอปรสิริพัฒน์ ที่มีความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างแม่นยำ การรวบรวมข้อมูลจากงานวิจัยอื่นๆ มาประยุกต์ใช้ได้ดีมากๆ นอกจากนี้ ในทีมจะมี ดร.เปริน (วันแอเลาะ) ที่เชี่ยวชาญและจบมาทางกายวิภาคศาสตร์ มีความแม่นยำเรื่องกล้ามเนื้อต่างๆ เราก็ได้ทบทวน เก็บข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล และทดลองทำจริง โดยมีทีมงานที่มีความชำนาญในแต่ละด้านสอนและเรียนรู้กันได้ตลอด เปิดโอกาสให้คิดเอง บอกเป้าหมายกว้างๆ ว่าต้องการอะไร มีการคุยกันในทีมตลอด”

การพัฒนากำลังคน

“ผมว่าคนเราถ้ามีประสบการณ์ที่ผิด จะสามารถกลับมาทำให้ถูกได้ …”

คุณอรรถกร กล่าวว่า “ปัจจุบันมีนักเรียนฝึกทักษะวิจัยมาฝึกงานในทีมที่ต้องดูแล หลักการสอนงานของผมเริ่มต้นเมื่อมีโจทย์มา ผมอยากให้น้องลองทำสิ่งที่เราแนะนำเบื้องต้นไปก่อน โดยให้น้องได้ลองผิดลองถูกก่อนเพื่อมีประสบการณ์ และมาดูว่าน้องสามารถทำงานได้ตรงตามที่เราต้องการหรือไม่ แต่ถ้ามันไม่ตรง เราก็จะพยายามแนะนำไปเรื่อยๆ ให้ได้ตามที่เราต้องการ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องดูสิ่งที่เขาชอบ เพราะถ้าเขาชอบก็จะสามารถทำได้ดี และตั้งใจทำมาก อาจเกินความคาดหวังของเรา”

วางแผนอนาคต

ปัจจุบันคุณอรรถกรได้รับมอบหมายให้ดูแลห้องปฏิบัติการให้คำปรึกษาด้านการพัฒนาและทดสอบผลิตภัณฑ์อุปกรณ์วัดและประมวลผลด้านสุขภาพแบบสวมใส่ (Wearable devices) ที่มีแผนให้บริการในอนาคต คุณอรรถกรเล่าว่า “ผมได้รับมอบหมายให้เรียนรู้การใช้งานและแก้ไขเครื่องมือ ออกแบบการทดสอบและใช้เครื่องมือ ซึ่งถือเป็นโอกาสดีที่ได้เรียนรู้เครื่องมือที่ทันสมัยที่สุดในประเทศ”

“การได้ร่วมทีมวิจัยการออกแบบเพื่อการเป็นอยู่ที่ดีทำให้ได้รับความรู้ และได้ประสบการณ์การทำงานวิจัยในหลายๆ เรื่อง ซึ่งเป็นพื้นฐานที่ดีในการศึกษาต่อปริญญาเอกได้ ผมมีความสนใจที่จะเรียนต่อทางด้านวิศวกรรมทางการแพทย์ เพื่อมุ่งหวังจะร่วมสร้างผลงานที่สามารถตอบโจทย์ผู้ใช้ร่วมกับทีมวิจัยการออกแบบเพื่อการเป็นอยู่ที่ดีต่อไปครับ”

อรรถกร สุวนันทวงศ์ ทีมวิจัยการออกแบบเพื่อการเป็นอยู่ที่ดี
การศึกษา: จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ มหาวิทยาลัยราชมงคลพระนคร และปริญญาโท สาขาวิศวกรรมทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์