บทบาทของ MTEC ในการพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์ยาง

สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย งานสื่อสารและขับเคลื่อนความรู้
ฝ่ายเผยแพร่เทคโนโลยีวัสดุ

การพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์ยางถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมหลักของทีมวิจัยผลิตภัณฑ์ยางรูปแบบใหม่และมาตรฐาน กลุ่มวิจัยนวัตกรรมการแปรรูปยาง ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) บทบาทสำคัญของกิจกรรมนี้คือการทำหน้าที่จัดทำร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมยางระดับประเทศ (มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม, มอก.) และมาตรฐานผลิตภัณฑ์ยางระดับระหว่างประเทศ (International Organization for Standardization, ISO)

ปัจจุบันมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมยางระดับประเทศยังไม่ครอบคลุมผลิตภัณฑ์ยางทั้งหมดที่มีการใช้งานในประเทศ จึงต้องเพิ่มการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ยางให้ครอบคลุมมากขึ้น อีกทั้งยังต้องทำการปรับปรุงมาตรฐานผลิตภัณฑ์ยางบางชนิดที่ล้าสมัยให้สอดคล้องกับพื้นฐานเทคโนโลยีของประเทศและมาตรฐานสากล เพื่อพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งในระดับประเทศและระดับสากล

จุดเริ่มต้นของการพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์ยาง

ดร.พงษ์ธร แซ่อุย นักวิจัยอาวุโส ทีมวิจัยผลิตภัณฑ์ยางรูปแบบใหม่และมาตรฐาน เล่าถึงที่มาของการพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์ยางว่า “สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ สมอ. สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ดูแลเรื่องการมาตรฐานของประเทศ ต้องการทบทวนมาตรฐานเก่าที่ไม่เคยได้รับการปรับปรุงแก้ไข จึงได้ทาบทาม ผศ.ดร.กฤษฎา (สุชีวะ) ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นรองผู้อำนวยการเอ็มเทค และเป็นหัวหน้าศูนย์วิจัยเทคโนโลยียาง คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลในขณะนั้น ให้เป็นที่ปรึกษาและจัดตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการทบทวนและแก้ไขมาตรฐาน มอก. ฉบับเก่าที่ล้าสมัยและจัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์ใหม่ขึ้นมา โดยมีคุณชญาภา นิ่มสุวรรณ เป็นผู้ประสานงานและดำเนินการหลัก ส่วนผมได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของคณะทำงานโดยทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาเชิงเทคนิค ซึ่งในปีแรกได้ดำเนินการแก้ไขและจัดทำมาตรฐาน มอก. รวมทั้งสิ้น 6 ฉบับ และจากนั้น เราก็ได้รับทุนจาก สมอ. ต่อเนื่องอีกประมาณ 3 ปี โดยในช่วงระยะเวลารวม 4 ปีนั้น เราได้ดำเนินการแก้ไขและพัฒนามาตรฐาน มอก. รวมทั้งสิ้นประมาณ 30 ฉบับ และเราได้รับประสบการณ์จากการปฏิบัติหน้าที่ในส่วนนี้มากพอสมควร”

ปัจจุบัน ดร.พงษ์ธรและคุณชญาภา สังกัดทีมวิจัยผลิตภัณฑ์ยางรูปแบบใหม่และมาตรฐาน โดยทีมวิจัยเป็นหนึ่งในหน่วยงานกำหนดมาตรฐาน (Standard Developing Organization: SDOs) ที่ได้รับการรับรองจาก สมอ. ให้จัดทำมาตรฐานยางและผลิตภัณฑ์ยางทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ และคุญชญาภายังเป็นหนึ่งในคณะกรรมการวิชาการ รายสาขา คณะที่ 29 (ยางและผลิตภัณฑ์ยาง) ของ สมอ. ด้วย

ขั้นตอนและระยะเวลาการจัดทำมาตรฐาน

การดำเนินการจัดทำมาตรฐานแต่ละขั้นตอนมีกรอบเวลากำหนดที่ชัดเจน ถ้าเป็นมาตรฐานระดับประเทศ (มอก.) มีกำหนดเวลาการทบทวนใหม่ทุก 5 ปี ส่วนมาตรฐานระดับระหว่างประเทศ (ISO) จะทบทวนใหม่ทุก 3 ปี แต่ก็สามารถทบทวนได้ก่อนหากจำเป็น (เช่น ในกรณีที่ภาคเอกชนร้องขอให้ทำการแก้ไข) โดยการแก้ไขมาตรฐานทุกครั้งจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการวิชาการ (กว.) ของ สมอ.

คุณชญาภา เล่าว่า “เมื่อคณะวิจัยได้รับโจทย์มาจากผู้ผลิตหรือผู้ใช้ที่มีความต้องการจะให้ผลิตภัณฑ์ยางที่ผลิตหรือใช้อยู่มีมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) เราจะศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำมาตรฐาน เสนอคณะกรรมการวิชาการ (กว.) ของ สมอ. เพื่อขอความเห็นชอบที่จะดำเนินการจัดทำร่างมาตรฐาน และดำเนินการขออนุมัติงบประมาณจากแหล่งทุน”

“เมื่อแหล่งทุนอนุมัติงบประมาณ คณะวิจัยฯ จะเป็นเจ้าภาพในการจัดตั้งคณะทำงานซึ่งประกอบด้วยผู้ผลิต ผู้ใช้ และนักวิชาการ พร้อมทั้งดำเนินการศึกษามาตรฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์นั้นๆ จากแหล่งข้อมูลทั้งในและต่างประเทศเพื่อนำข้อมูลต่างๆ รวมถึงสเปคของผลิตภัณฑ์มาใช้ในการอ้างอิง นอกจากนี้ เรายังต้องออกไปภาคสนามเพื่อพูดคุยและเยี่ยมชมกระบวนการผลิตและการใช้งานของผลิตภัณฑ์ ก่อนที่จะนำข้อมูลทั้งหมดมาจัดทำร่างมาตรฐานฉบับแรกเพื่อนำเสนอให้ที่ประชุมคณะทำงานที่จัดตั้งขึ้นร่วมกันพิจารณาในประเด็นต่างๆ ได้แก่ บทนิยาม ขอบเขตของมาตรฐาน รวมถึงสมบัติต่างๆ ที่ควรจะต้องมีการกำหนดไว้ในร่างมาตรฐาน”

“หลังจากการประชุมครั้งที่ 1 เราจะทำการเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์มาทดสอบทั้งสมบัติพื้นฐานของยางและประสิทธิภาพการใช้งานของผลิตภัณฑ์ตามรายการต่างๆ ที่ได้รับจากมติของที่ประชุม ทั้งนี้ เราต้องแน่ใจด้วยว่ารายการต่างๆ ที่จะทดสอบนั้นจะต้องมีห้องปฏิบัติการทดสอบภายในประเทศรองรับไว้ด้วย เพื่อให้ผู้ผลิตสามารถขอตรารับรองได้ง่ายหลังจากที่มาตรฐานฉบับนี้ประกาศบังคับใช้ สำหรับในกรณีที่จำเป็นต้องทดสอบประสิทธิภาพการใช้งานของผลิตภัณฑ์ แต่ประเทศไทยยังไม่มีเครื่องมือทดสอบ เราเองก็จำเป็นต้องสร้างเครื่องทดสอบขึ้นมาเพื่อรองรับการทดสอบที่อาจจะมีขึ้นในอนาคต เมื่อเราทดสอบสมบัติต่างๆ ตามรายการที่กำหนดเรียบร้อยแล้ว ก็จะนำผลการทดสอบมาวิเคราะห์ และนำเสนอในที่ประชุมคณะทำงานครั้งที่ 2 เพื่อให้ที่ประชุมพิจารณาและกำหนดเกณฑ์ตัวเลขที่เหมาะสมของแต่ละสมบัติ จากนั้นเราก็จะนำมติที่ประชุมไปจัดทำร่าง มอก. และส่งเวียนขอข้อคิดเห็นจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และนำข้อคิดเห็นที่ได้รับจากการเวียนขอข้อคิดเห็นดังกล่าวมาประชุมหารือกับคณะทำงานอีกครั้ง ท้ายสุด เราก็จะทำการแก้ไขร่างมาตรฐานตามมติของที่ประชุมซึ่งถือเป็นร่างสุดท้ายก่อนที่จะส่งให้ สมอ.พิจารณาประกาศใช้ต่อไป” คุณชญาภา กล่าวเสริม

ดร.พงษ์ธร กล่าวว่า “หัวข้อมาตรฐานที่จัดทำขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากนโยบายของผู้บริหารที่ต้องการผลักดันผลงานวิจัยของเอ็มเทคไปสู่มาตรฐานทั้งระดับประเทศ (มอก.) และระดับระหว่างประเทศ (ISO) เพื่อให้ผลงานวิจัยมีมาตรฐานและได้รับการยอมรับในวงกว้าง สามารถใช้ประโยชน์ได้จริง อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้ผู้ผลิตเกิดความมั่นใจในการมารับการถ่ายทอดเทคโนโลยี อย่างไรก็ดี หัวข้อมาตรฐานที่จัดทำขึ้นส่วนใหญ่ก็ยังคงเกิดจากความต้องการของภาคเอกชนที่ต้องการให้มีมาตรฐานสำหรับผลิตภัณฑ์ที่บริษัทผลิตขึ้น เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค หรือเพื่อใช้เป็นเกณฑ์อ้างอิงในการจัดซื้อจัดจ้างกับหน่วยงานของภาครัฐ”

“ปัจจุบัน คณะวิจัยกำลังดำเนินการจัดทำร่าง มอก. ยางปิดช่องว่างระหว่างชานชาลาและขบวนรถขนส่งทางรางอยู่ ส่วนผลงานล่าสุดของเราที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมในระดับประเทศเรียบร้อยแล้ว ได้แก่ มอก. 3011-2562 แผ่นยางปูพื้นสำหรับคนพิการทางการเห็น มอก. 3052-2563 แผ่นยางปูทางผ่านเสมอระดับทางรถไฟ และ มอก. 2666-2563 ยางถอนขนสัตว์ปีก เป็นต้น”

การผลักดันมาตรฐานสู่ระดับระหว่างประเทศ

คุณชญาภามีประสบการณ์คลุกคลีกับงานด้านมาตรฐานมานานกว่า 10 ปี ทั้งในบทบาทการเป็นเจ้าภาพในการดำเนินการจัดทำร่างมาตรฐานและเป็นหนึ่งในผู้แทนของประเทศไทยในการเข้าร่วมประชุมมาตรฐานในระดับระหว่างประเทศ (ISO) และระดับภูมิภาค (อาเซียน) โดยการทำงานลักษณะนี้ต้องละเอียดรอบคอบและใช้ความรู้ทางเทคนิคค่อนข้างมาก ที่ผ่านมา คณะชญาภาได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการผลักดันและยกระดับ มอก. ให้เป็นมาตรฐานระดับระหว่างประเทศ (ISO) เพื่อให้ทั่วโลกใช้มาตรฐานเดียวกันกับเรา ซึ่งถือว่าเป็นโจทย์ยาก มีกติกาที่แตกต่างกัน และมีระยะเวลาการทำงานประมาณ 3 ปี

คุณชญาภา เล่าว่า “มาตรฐานระดับระหว่างประเทศ (ISO) มีการแบ่งขั้นตอนการจัดทำเอกสารร่างมาตรฐานเป็น 4 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนแรกเป็นการยื่นข้อเสนอโครงการที่เรียกว่า NWIP (New Work Item Proposal) ซึ่งเสนอโดยประเทศสมาชิก ISO ซึ่ง NWIP ต้องผ่านความเห็นชอบอย่างน้อย 2 ใน 3 ของประเทศสมาชิกและมีผู้เชี่ยวชาญจากประเทศสมาชิกเข้าร่วมเป็นคณะทำงานอย่างน้อย 5 ประเทศ จึงจะผ่านการเห็นชอบให้ดำเนินโครงการต่อไปได้ เมื่อผ่านการเห็นชอบ ผู้นำโครงการจะจัดทำร่างมาตรฐานฉบับ NP (New Proposal) ส่งให้ ISO เพื่อดำเนินการเวียนขอข้อคิดเห็นจากประเทศสมาชิกต่อไป”

“หลังจากได้ข้อคิดเห็นจากการเวียนร่างมาตรฐาน แล้ว ISO จะมีการประชุมคณะทำงานปีละ 1 ครั้งเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้นำโครงการได้ชี้แจงข้อคิดเห็นจากประเทศต่าง ๆ ก่อนที่จะมีการลงมติให้ร่างนั้นผ่านขึ้นไปอยู่ในสถานะถัดไป ขั้นตอนที่สอง เป็นการจัดทำร่างมาตรฐานฉบับ CD (Committee Draft) ที่มีรายละเอียดทางเทคนิคค่อนข้างมาก บางทีก็อาจจะมีการเพิ่มการทดสอบอื่นๆ (หากมติที่ประชุมเสนอให้มีการทดสอบเพิ่มเติม) ในขั้นตอนที่สาม เป็นการจัดทำร่าง DIS (Draft International Standard) ซึ่งเป็นร่างมาตรฐานที่ได้รับการปรับปรุงแก้ไขทั้งทางเทคนิคและภาษาตามข้อคิดเห็นที่ได้รับมาก่อนหน้านี้ และทำการเวียนร่างฉบับนี้เพื่อที่จะขอข้อคิดเห็นและนำเข้าที่ประชุมอีกครั้งเพื่อให้ที่ประชุมพิจารณาอนุมัติก่อนที่จะไปสู่ขั้นตอนสุดท้าย คือการปรับปรุงร่าง DIS ให้สมบูรณ์ตามข้อเสนอแนะของที่ประชุม จากนั้นก็จะทำการส่งร่างมาตรฐานฉบับสุดท้ายนี้ซึ่งเรียกว่า FDIS (Final Draft International Standard) ให้แก่ ISO เพื่อเตรียมประกาศใช้ต่อไป” คุณชญาภากล่าว

“สำหรับมาตรฐานเส้นด้ายยาง เราได้ดำเนินการร่วมกับศูนย์วิจัยเทคโนโลยียาง คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยได้รับทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ในการจัดทำมาตรฐาน ISO 20058:2017 General purpose rubber thread — Specification และ ISO 2321:2017 Rubber threads — Methods of test ซึ่งเป็นงานที่ค่อนข้างยาก เนื่องจากประเทศมาเลเซียซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตหลักมีความเห็นไม่ตรงกันกับประเทศไทย จึงต้องมีการเจรจากันหลายครั้ง เพื่อให้ทุกฝ่ายเห็นชอบตรงกัน”

ดร.พงษ์ธร ให้ข้อมูลเสริมว่า “ผลิตภัณฑ์แผ่นยางปูพื้นคอกปศุสัตว์ ISO 22941:2021 Rubber sheets for livestock — Dairy cattle — Specification เป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่เราได้ผลักดันให้เป็นมาตรฐานระดับระหว่างประเทศ และเป็นผลงานวิจัยของเอ็มเทคที่ต้องการผลักดันมาตรฐานไทยสู่ระดับโลก นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังได้สร้างเครื่องทดสอบความต้านทานต่อการลื่นไถลของแผ่นยางปูคอกปศุสัตว์ พร้อมทั้งได้กำหนดวิธีทดสอบไว้ในมาตรฐาน ISO ฉบับดังกล่าว ปัจจุบัน เอ็มเทคจัดเป็นหน่วยงานทดสอบเพียงที่เดียวในประเทศไทยที่สามารถให้บริการทดสอบสมบัติดังกล่าวของแผ่นยางปูพื้นคอกปศุสัตว์ได้”

เทคนิคการประสานงาน และการรับมือ

การจัดการมีขั้นตอนการทำมาตรฐานที่ชัดเจนอยู่แล้ว และรู้ว่าต้องทำอะไรบ้าง แต่การทดสอบสมบัติต่างๆ ของแต่ละผลิตภัณฑ์จะเปลี่ยนไป โดยเฉพาะเรื่องการทดสอบประสิทธิภาพการใช้งานของผลิตภัณฑ์ (performance test) ที่หาหน่วยงานที่รับทดสอบได้ค่อนข้างยากมาก แต่ก็ถือเป็นสิ่งที่ท้าทายหรือเป็นปัญหาที่เราต้องหาทางแก้ไข

คุณชญาภา เล่าว่า “ในขั้นตอนการทำงาน ได้ประสานกับผู้คนหลากหลาย ทั้งนักวิชาการ ผู้ผลิต และผู้ใช้ ทั้งในประเทศและจากทั่วโลก เราต้องฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย และหาข้อสรุปที่ทุกคนเห็นชอบตรงกัน บางครั้งก็ต้องมีการเจรจานอกรอบบ้าง หรืออาศัยผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชาชีพนี้ช่วยสื่อสารให้ก็มี เป็นการทำงานแบบพึ่งพากัน เพราะเราเป็นเพียงหนึ่งในหน่วยงานที่รับจัดทำมาตรฐานก่อนส่งต่อให้ สมอ. พิจารณาประกาศใช้ นอกจากเราจะเป็นเจ้าภาพจัดทำมาตรฐานเองแล้ว บ่อยครั้งที่เราเองก็ได้รับเชิญให้เข้าร่วมเป็นคณะทำงานในการจัดทำร่างมาตรฐานที่มีหน่วยงานอื่นเป็นเจ้าภาพในการจัดทำด้วยเช่นกัน”

ดร.พงษ์ธร เล่าเสริมว่า “ในบางครั้งเราก็ต้องขอคำแนะนำเรื่องการทดสอบสมบัติของยางจากทีมวิจัยในกลุ่มวิจัยนวัตกรรมการแปรรูปยางด้วย เช่น ถ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับน้ำยางก็จะขอความช่วยเหลือจาก ดร.พร้อมศักดิ์ (สงวนธำมรงค์) นักวิจัยจากทีมวิจัยผลิตภัณฑ์ยางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือคุณฉวีวรรณ (คงแก้ว) นักวิจัยจากทีมวิจัยน้ำยางและวัสดุยาง หรือกรณีที่ต้องการผลักดันผลงานวิจัยของเอ็มเทคไปเป็นมาตรฐาน เราก็จำเป็นต้องทำงานกันร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับนักวิจัยเจ้าของผลงาน อุปสรรคใหญ่ที่สุดของการทำมาตรฐานคือเรื่องการทดสอบประสิทธิภาพการใช้งานของผลิตภัณฑ์ (performance test) เพราะผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดก็จะมีการทดสอบที่แตกต่างกัน และหาสถานที่ที่รับทดสอบได้ยาก เช่น การทดสอบความสามารถในการเปลี่ยนแปลงรูปร่าง (deformability) หรือความต้านทานต่อการลื่นไถล (slip resistance) ของผลิตภัณฑ์แผ่นยางปูพื้นคอกปศุสัตว์ ที่เราไม่สามารถหาหน่วยงานที่รับทดสอบได้ ทำให้เอ็มเทคต้องสร้างเครื่องทดสอบขึ้นใหม่ ซึ่งก็ต้องอาศัยความร่วมมือกันจากหลายฝ่าย กว่าจะประสบความสำเร็จจนถึงทุกวันนี้”

การส่งมอบงานให้ทีมงานรุ่นใหม่

เมื่อถามว่า คนที่มาทำงานส่วนนี้ได้ต้องมีพื้นฐานความรู้ด้านไหน จำเป็นต้องจบมาทางด้านยางโดยตรงหรือไม่ อย่างไร

คุณชญาภา กล่าวว่า “ก็ต้องมีความรู้พื้นฐานเรื่องยาง โดยเฉพาะเรื่องการทดสอบ เพื่อให้สามารถวิเคราะห์ได้ว่าผลิตภัณฑ์ที่กำลังจะจัดทำมาตรฐานนี้ ถูกใช้งานอย่างไร และต้องการสมบัติหรือคุณลักษณะเด่นอะไรบ้าง เพื่อที่จะนำข้อมูลดังกล่าวไปจัดทำเป็นร่างมาตรฐานในขั้นต้นก่อนที่จะนำไปเสนอต่อที่ประชุมคณะทำงาน นอกจากนี้ หากมีการถกเถียงกันหรือมีการตั้งคำถามในระหว่างการประชุม เราต้องสามารถชี้แจงและอธิบายได้ หรือเวลานำชิ้นงานตัวอย่างมาทดสอบ ต้องสามารถสื่อสารได้ว่าควรจะทดสอบสมบัติอะไรบ้าง ถ้าเป็นการทดสอบใหม่ที่เราไม่รู้จักมาก่อน เราก็ต้องไปดูวิธีการและขั้นตอนการทดสอบด้วย”

“ส่วนการสอนงานจะเป็นการเรียนรู้ร่วมกัน แม้การจัดทำมาตรฐานจะมีขั้นตอนการทำงานที่ชัดเจนอยู่แล้ว แต่ความท้าทายจะเป็นเรื่องเชิงเทคนิคที่เกิดขึ้นในระหว่างการทำงาน ในช่วงแรกเป็นการเรียนรู้การทำมาตรฐานในระดับประเทศ โดยทำตามขั้นตอนและเรียนรู้วิธีการค้นข้อมูล แหล่งข้อมูล ซึ่งการทำงานแต่ละครั้งจะมีการระบุขั้นตอนการทำงานอย่างชัดเจนไว้ในข้อเสนอโครงการอยู่แล้ว แต่สิ่งที่คาดการณ์ไม่ได้คือ ข้อคิดเห็นเพิ่มเติมที่ได้รับจากการประชุมในแต่ละครั้ง บ่อยครั้งที่เราต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และอธิบายหรือชี้แจงให้ผู้ร่วมประชุมเข้าใจและเห็นพ้องตรงกันกับเรา ซึ่งงานประเภทนี้อาจถือได้ว่าเป็นการทำงานนโยบายเชิงเทคนิคก็ได้”

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้แสดงให้เห็นถึงการทำงานของผู้เชี่ยวชาญที่อยู่เบื้องหลังการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ยางของไทย เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันในระยะยาวได้ทั้งในตลาดระดับประเทศและระดับโลกนั่นเอง

ผู้ให้สัมภาษณ์:
ดร.พงษ์ธร แซ่อุย นักวิจัยอาวุโส ทีมวิจัยกระบวนการผลิตยางขั้นสูงและมาตรฐานยาง
คุณชญาภา นิ่มสุวรรณ ผู้เชี่ยวชาญเทคนิค ทีมวิจัยกระบวนการผลิตยางขั้นสูงและมาตรฐานยาง