วิศวกรหน้าที่ความรับผิดชอบในวิถีเรียบง่าย

สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย งานสื่อสารและขับเคลื่อนความรู้
ฝ่ายเผยแพร่เทคโนโลยีวัสดุ

 

วิศวกรหน้าที่ความรับผิดชอบในวิถีที่เรียบง่าย
“ปัญหาเพียงจุดเล็กๆ ถ้าหากปล่อยทิ้งไว้อาจกลายเป็นหายนะที่ใหญ่โตได้”

คุณสุรศักดิ์ พุทธินันท์ 
ตำแหน่งวิศวกรอาวุโส ฝ่ายบริหารโครงสร้างพื้นฐาน

คุณสุรศักดิ์ พุทธินันท์ จบการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) สาขาไฟฟ้ากำลัง จากโรงเรียนฝีมือช่างทหาร ภายหลังจบการศึกษาได้รับราชการ สังกัดช่างโยธาทหาร และได้ศึกษาในระดับปริญญาตรีเพิ่มเติมในช่วงนอกเวลาราชการ โดยศึกษาด้านไฟฟ้ากำลังที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เมื่อเรียนจบปริญญาตรี ได้สมัครเข้าทำงานในบริษัท Air Catering Service ก่อนจะมาทำงานในฐานะวิศวกรที่ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค)

“ช่างซ่อมทีวี” แรงบันดาลใจสู่เส้นทางการเป็นวิศวกร

ในกรณีของคุณสุรศักดิ์ คำกล่าวที่ว่า “บุคคลหรือเหตุการณ์ บางครั้งก็มีส่วนสำคัญในการสร้างแรงบันดาลใจให้แก่มนุษย์เราได้เลือกเส้นทางอาชีพของตัวเอง” คงไม่เกินจริงนัก!

คุณสุรศักดิ์เล่าถึงเกร็ดบางอย่างในช่วงวัยเด็กว่า “โทรทัศน์ของที่บ้านสมัยก่อนเป็นเครื่องหลอด เมื่อใช้ไปนานๆ มักเกิดปัญหาภาพล้ม ต้องตามช่างซ่อมทีวีมาซ่อมให้ ซึ่งแต่ละครั้งเสียค่าซ่อมประมาณ 100-200 บาท (เมื่อ 50 ปีก่อนเงินขนาดนี้ค่อนข้างมีค่ามาก) ผมนั่งดูช่างซ่อมสังเกตว่าไม่ได้ทำอะไรมาก เพียงแค่บัดกรี และเปลี่ยนอะไหล่นิดหน่อย ทำให้คิดว่าเราก็น่าจะซ่อมเองได้บ้าง หลังจากนั้นผมก็เริ่มสนใจด้านไฟฟ้า และงานด้านวิศวกรรมอื่นๆ เรื่อยมา”

รู้จัก “คุณสุรศักดิ์” วิศวกรอาวุโสของเอ็มเทค

คุณสุรศักดิ์เป็นคนกรุงเทพฯ โดยกำเนิด ประวัติการศึกษาได้เข้าเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนวัดราชโอรส และเมื่อจบ ม.ศ.3 ได้ไปศึกษาต่อที่โรงเรียนช่างกล แต่เรียนได้ 1 ปีก็ลาออกไปเรียนที่โรงเรียนช่างฝีมือทหาร กระทั่งได้วุฒิ ปวช.

เขาเล่าว่า “การศึกษาที่โรงเรียนช่างฝีมือทหาร ปีแรกทุกคนจะได้เรียนเกือบทุกสาขาวิชาชีพ1 แต่ในปี 2-3 ก็จะเลือกเรียนในสาขาวิชาชีพที่สนใจ การได้มาศึกษาที่นี่ผมมองว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะทำให้เปลี่ยนแปลงตัวเองในเรื่องระเบียบวินัยและความอดทน อีกทั้งเมื่อจบการศึกษาแล้วยังสามารถเข้าทำงานราชการได้เลย ซึ่งผมเข้ารับราชการเป็นช่างโยธาทหาร ขณะเดียวกันก็ศึกษาในระดับปริญญาตรี ด้านไฟฟ้ากำลังเพิ่มเติมในช่วงนอกเวลาราชการด้วย”
__________________________________
1 โรงเรียนช่างฝีมือทหาร เปิดหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพเพื่อผลิตช่างฝีมือให้แก่หน่วยงานราชการต่างๆ ในกระทรวงกลาโหม และตอบสนองต่อความต้องการของตลาดแรงงานใน 7 สาขาวิชาชีพ ได้แก่ ช่างซ่อมบำรุงเครื่องจักร ช่างกลโรงงาน ช่างเชื่อมโลหะ ช่างแมคคาทรอนิกส์ ช่างยานยนต์ ช่างไฟฟ้ากำลัง และช่างอิเล็กทรอนิกส์

เส้นทางการทำงานก่อนมาเป็นวิศวกรที่เอ็มเทค

เมื่อจบการศึกษาระดับปริญญาตรี คุณสุรศักดิ์ได้สอบเข้าทำงานที่บริษัท Air Catering Service โดยทำงานในแผนกซ่อมบำรุงของส่วนครัวการบิน เขาเล่าว่า “งานที่รับผิดชอบเกี่ยวข้องกับระบบบำบัดน้ำเสีย ในเวลานั้นกฎหมายเรื่องระบบบำบัดน้ำเสียเป็นเรื่องใหม่สำหรับเมืองไทย ผมมองว่าการได้ทำงานในส่วนนี้ทำให้เราได้เพิ่มพูนความรู้หลายๆ อย่างที่ไม่เคยเรียนในหลักสูตรมาก่อน เช่น จุลินทรีย์ เครื่องกล และการเติมอากาศ นอกจากนี้ ในช่วงที่ครัวการบินย้ายสถานที่ไปยังตึกใหม่ ผมก็มีหน้าที่ย้ายครุภัณฑ์ที่มีหลากหลายประเภทเพื่อไปติดตั้งยังที่ใหม่ด้วย ซึ่งประสบการณ์ตรงนี้ได้นำมาปรับใช้เมื่อมาทำงานที่เอ็มเทค”

“เมื่อทำงานที่สายการบินได้ประมาณ 5 ปี คุณสุรศักดิ์ก็เปลี่ยนมาทำงานเป็นที่ปรึกษาอีกประมาณ 1 ปี จากนั้นก็กลับมาทำงานที่ในแผนกซ่อมบำรุงของครัวการบินที่จังหวัดภูเก็ต และดูแลเครื่องมือต่างๆ เช่นเดิม อย่างไรก็ดี แม้การทำงานที่ครัวการบินจะได้ประสบการณ์ทำงานมากมาย แต่เขาก็ต้องการหาประสบการณ์ใหม่ๆ ดังนั้นในอีก 5 ปีต่อมาจึงเปลี่ยนงานอีกครั้ง โดยครั้งนี้มาทำงานที่เอ็มเทคในฐานะวิศวกรจวบจนปัจจุบัน (พ.ศ. 2566)”

จุดเริ่มต้นการทำงานที่เอ็มเทค

คุณสุรศักดิ์เล่าว่า “ในช่วงที่ทำงานที่ภูเก็ต ผมอ่านหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งและเห็นว่าเอ็มเทคประกาศรับสมัครงานในตำแหน่งวิศวกร ก็เกิดความสนใจจึงมาสมัครและได้งาน โดยเริ่มทำงานในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2543 ตอนนั้นงานวิศวกรรมแบ่งเป็น 2 งานย่อย คือ งานซ่อมบำรุงวิศวกรรม และงานความปลอดภัย ซึ่งผมอยู่งานซ่อมบำรุงวิศวกรรม”

“ผมทำงานที่ตึกโยธีประมาณ 3-4 เดือน จากนั้นก็ย้ายมาอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย (Science Park) หน้าที่และความรับผิดชอบหลักในตอนนั้นคือ การทำแผน เขียนขั้นตอนการย้ายคน เครื่องจักร ครุภัณฑ์ และการติดตั้งเครื่องมือต่างๆ ของเอ็มเทค อย่างไรก็ดี หากมีครุภัณฑ์ของศูนย์แห่งชาติอื่นที่คล้ายคลึงกัน ผมก็ต้องทำงานร่วมกับศูนย์อื่น รวมถึงผู้รับเหมาด้วย”

นอกจากภารกิจการย้ายและติดตั้งเครื่องมือแล้ว คุณสุรศักดิ์ยังมีภารกิจอื่นๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบ โดยเขาเล่าว่า “การซ่อมบำรุงเครื่องมือทางด้านวิทยาศาสตร์ก็เป็นงานส่วนหนึ่งที่ต้องรับผิดชอบ ส่วนงานปรับปรุงพื้นที่ (renovate) ก็ยังคงมีมาตลอดขึ้นอยู่กับโครงการของนักวิจัย หรืองานเดิมที่เคยปรับปรุงเมื่อเวลาผ่านไปก็อาจต้องรื้อถอน ปรับปรุง และพัฒนาใหม่ให้เหมาะสม สอดคล้องกับการใช้งานที่เปลี่ยนแปลงไป”

งานที่ท้าทาย

เมื่อถามถึงงานที่ท้าทาย คุณสุรศักดิ์ตอบว่าเป็นงานติดตั้งเตาชุบโลหะอาคาร Pilot Plant และงานปรับปรุงพื้นที่ เพราะต้องใส่ใจรายละเอียดและแก้ไขปัญหาต่างๆ เขาเล่าว่า “การปรับปรุงพื้นที่ ถึงแม้จะมีเอกสารการจ้างงาน หรือ TOR (Terms of Reference) ที่ดีเพียงใดก็มักเกิดปัญหาที่ต้องแก้ไขที่หน้างานอยู่เสมอ อาจเพราะผู้รับเหมาไม่ค่อยสนใจเรื่องกฎระเบียบที่เป็นรายละเอียดยิบย่อยที่ระบุไว้ใน TOR มากนัก เขามักให้ความสำคัญกับเนื้องานที่ทำได้ หรือไม่ได้เท่านั้น เราก็ต้องคอยกำกับดูแลเพื่อให้งานเสร็จทันเวลาตามเป้าหมาย”

“ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม คืองานปรับปรุงและต่อเติมชั้น 6 อาคารเอ็มเทคจากดาดฟ้าให้เป็นพื้นที่สำนักงาน สิ่งแรกที่ต้องศึกษาคือโครงสร้างเดิมสามารถรับน้ำหนักที่จะเพิ่มมากขึ้นได้หรือไม่ หากได้ ก็หาผู้ออกแบบ และมีการกำหนดสเปกของวัสดุที่จะนำมาใช้ในการก่อสร้าง เพราะวัสดุที่ใช้ควรมีน้ำหนักเบาเพื่อไม่ให้ฐานรากรับน้ำหนักที่มากเกินไป” เขายกตัวอย่าง

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของระบบระบายอากาศที่อาจเกิดขึ้นภายหลังการปรับปรุงพื้นที่ เนื่องจากพื้นที่เดิมเป็นดาดฟ้าที่มีปล่อง (hood) สำหรับระบายไอของสารเคมีจากห้องปฏิบัติการต่างๆ คุณสุรศักดิ์เล่าถึงวิธีการแก้ปัญหาว่า “เราให้งานความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมตรวจเช็คสภาพอากาศในพื้นที่ ซึ่งผลที่ได้พบว่า เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน อีกทั้งงานวิศวกรรมสนับสนุนก็เป็นงานกลุ่มแรกที่ย้ายเข้าพื้นที่ เพื่อพิสูจน์ว่าไม่มีปัญหาใดๆ นอกจากนี้อีกผลงานคือ การติดตั้งเตาชุบโลหะอาคาร Pilot Plant มี 2 พื้นที่คือ ห้อง MP107 เป็นเตาชุบโลหะแบบแนวนอน และห้อง MP128 เป็นเตาแบบแนวตั้ง เนื่องจากเป็นเตาที่มีขนาดใหญ่ระบบควบคุมมีความซับซ้อน”

งานที่ภาคภูมิใจมากที่สุด

การทำงานตลอดระยะเวลา 20 กว่าปี ย่อมมีงานที่สร้างความภูมิใจ คุณสุรศักดิ์เล่าว่า “ครั้งหนึ่งเครื่องมือภายในห้องปฏิบัติการชั้น 1 ใช้งานไม่ได้ คาดว่าระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือบอร์ด (board) มีปัญหา ช่างที่รับผิดชอบให้ความเห็นว่าไม่น่าจะสามารถซ่อมได้ เพราะบอร์ดตัวเก่าไหม้อาจต้องเปลี่ยนบอร์ดใหม่ ซึ่งมีราคาค่อนข้างสูง ผมลองนำแผ่นบอร์ดตัวเก่ามาดู สังเกตเห็นรอยเขม่าเหมือนเส้นผมขนาดเล็กมาก จึงทดลองซ่อมด้วยการขูดเอาเขม่าออกให้หมดแล้วลองใส่กลับเข้าไปในเครื่องพบว่าเครื่องสามารถใช้งานได้ตามปกติ”

“ปัจจุบันอาจนิยมเปลี่ยนเป็นของใหม่มากกว่าการซ่อมเพราะไม่เสียเวลา แต่บางครั้งก็อาจต้องใช้งบประมาณค่อนข้างมาก โดยเฉพาะบอร์ดที่ใช้ในเครื่องมือที่มีราคาค่อนข้างสูง และโรงงานเลิกผลิตไปแล้ว ทำให้ต้องสั่งทำเฉพาะขึ้นมาใหม่ทำให้มีราคาสูงมาก บางอย่างหากเราสามารถแก้ปัญหาได้ก็จะช่วยประหยัดได้มาก ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และปัจจัยโดยรอบว่าจะใช้วิธีใด”

“ผมคิดว่าปัญหาเพียงจุดเล็กๆ ถ้าหากปล่อยทิ้งไว้อาจกลายเป็นหายนะที่ใหญ่โตได้ อย่างเรื่องการทำความสะอาดเครื่องมือครุภัณฑ์ บางครั้งแค่ฝุ่นก็อาจส่งผลให้เครื่องมือมีปัญหาได้ ประเทศไทยไม่เหมือนต่างประเทศทั้งเรื่องความชื้น สภาพอากาศที่ต่างกัน เมื่อบอร์ดมีทั้งฝุ่นและมีความชื้น อาจส่งผลให้เกิดความร้อนแล้วทำให้เกิดรอยไหม้ระหว่างจุดสองจุดได้ สำหรับงานนี้บางคนอาจจมองว่าเป็นเพียงงานเล็กๆ แต่สำหรับผมเป็นงานที่ภาคภูมิใจที่สุดครับ”

การบริหาร ทีมงาน และการถ่ายทอดงาน

คุณสุรศักดิ์ มีประสบการณ์ที่หลากหลาย ทั้งเรื่องการบริหารคน งาน และงบประมาณในฐานะหัวหน้างาน การซ่อมบำรุงและการปรับปรุงพื้นที่ในฐานะของวิศวกร หรือการสอนงานรุ่นน้องในฐานะรุ่นพี่ที่ทำงานมาก่อน เขากล่าวถึงบทบาทที่เคยทำว่า “ที่ผ่านมาเคยทำงานด้านบริหารและดูแลงบประมาณ สำหรับผมเป็นเรื่องที่ท้าทาย เพราะการทำงานกับคนจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการให้เหมาะกับแต่ละคนไปเรื่อยๆ ไม่มีจุดตายตัว ในขณะที่การทำงานซ่อมบำรุง ถ้าจับจุดการทำงานของเครื่องจักรได้ก็จบ”

“ส่วนการสอนงานรุ่นน้อง ผมจะใช้วิธีให้งานเพื่อทดลองทำ เพราะงานจะสอนเขาเอง อย่างไรก็ดี สไตล์การทำงานของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน เวลาที่มอบหมายงานบางคนก็อยากลองทำก่อน แต่บางคนก็จะปฏิเสธทันทีถ้าเขาคิดว่าไม่น่าจะทำได้ สไตล์ของผม ผมอยากให้ลองทำงานที่ได้รับมอบหมายก่อน ถ้าทำไม่ได้ก็ค่อยมาหาวิธีแก้ไขปัญหากัน”

งานอดิเรกที่ชอบและงานถนัดที่ใช่

สำหรับงานอดิเรก คุณสุรศักดิ์บอกว่า “ผมมีความชอบหลายอย่าง สมัยก่อนชอบเรื่องการบริหาร งานเทคนิค ต่อมาก็สนใจเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ ปรัชญา ภาพเขียน โดยความชอบก็จะเปลี่ยนไปตามวัยและช่วงอายุ สำหรับงานอดิเรกตอนนี้น่าจะเป็นการบริหารจัดการต้นไม้ในสวนที่ต่างจังหวัด ส่วนเวลาว่างจะดูสื่อโซเชียลบ้าง เพราะก็มีประโยชน์แต่บางครั้งก็กินเวลาในชีวิตไปเยอะ จึงต้องรู้จักแบ่งเวลาให้เหมาะสม หากไม่แบ่งเวลาก็จะไม่ได้งาน อีกอย่างโซเชียลก็เป็นดาบสองคมอ่านแล้วก็ไม่รู้ว่าจริงหรือไม่จริงต้องใช้วิจารณญาณ”

การวางแผนหลังเกษียณ

ปลายเดือนกันยายนเป็นวันสิ้นปีงบประมาณ และวันเกษียณอายุราชการ ในปี 2566 นี้ คุณสุรศักดิ์เป็นหนึ่งในพนักงานที่เกษียณอายุ คุณสุรศักดิ์ เล่าถึงแผนหลังเกษียณว่า “แผนที่วางไว้คือใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ให้มีความสุขและทำหน้าที่ต่อครอบครัวให้ดีที่สุด เพราะช่วงที่ผ่านมาได้ละทิ้งหน้าที่ในส่วนนี้ไปบ้าง คนเราก็บอกไม่ได้หลังจากเกษียณไปแล้วจะอยู่สักกี่ปี ส่วนตัวผมพยายามบริหารจัดการทรัพย์สินที่มีเพื่อจะได้ไม่เป็นภาระแก่คนข้างหลัง ถึงแม้การเกษียณจากงานประจำ แต่ก็ยังมีภาระงานในส่วนอื่นที่รออยู่เพียงแต่ให้ความรู้สึกอิสระมากกว่า”

ข้อคิดถึงคนรุ่นหลัง

“การทำงานอะไรก็แล้วแต่ต้องมีความอดทน รอบคอบ ช่างสังเกต และความท้าทายที่ต้องแก้ปัญหาตรงนั้น งานทุกงานมีคุณค่า ปัญหาทุกปัญหามีทางออก เพียงแต่ต้องมองให้เห็นคุณค่าและหาแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ให้เจอ ชีวิตคนเราก็เหมือนเส้นโค้งคว่ำ มีจุดกำเนิด จุดสูงสุด และกลับสู่จุดกำเนิด ซึ่งแต่ละคนก็มีวิธีจัดการชีวิตที่ต่างกัน สำหรับผมพยายามให้เส้นโค้งที่ว่าเกิดการ overshoot เมื่อเวลาหาค่าเฉลี่ยจะได้ไม่ตกต่ำมากนัก!”
เขากล่าวทิ้งท้าย