ศุภกาญจน์ กิจอำนาจสุข : ผู้สร้างความเชี่ยวชาญจากการวิเคราะห์ทดสอบ

สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย งานสื่อสารและขับเคลื่อนความรู้
ฝ่ายเผยแพร่เทคโนโลยีวัสดุ

“การได้ใช้ความรู้ ความสามารถ และความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ที่ไม่จำกัดขอบเขตในการเรียนรู้มาให้คำปรึกษาเชิงเทคนิคแก่กลุ่มอุตสาหกรรม รวมทั้งสามารถนำมาพัฒนาต่อยอดเพื่อตอบโจทย์ที่เป็นประโยชน์กับประเทศ คือ สิ่งที่สร้างความภาคภูมิใจ”

ศุภกาญจน์ กิจอำนาจสุข

คุณศุภกาญจน์ กิจอำนาจสุข เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการอาวุโส และรักษาการผู้จัดการ งานวิเคราะห์เชิงฟิสิกส์ ฝ่ายสนับสนุนเทคนิคด้านวิเคราะห์ลักษณะเฉพาะของวัสดุ จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หลังจบการศึกษาได้เริ่มทำงานที่กองควบคุมเครื่องมือแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จากนั้นได้มาทำงานที่ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) จวบจนปัจจุบัน

บ่มเพาะความเชี่ยวชาญด้านจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบสแกนนิง

คุณศุภกาญจน์เริ่มทำงานที่เอ็มเทคเมื่อปลายปี พ.ศ. 2540 ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ มีหน้าที่ให้บริการวิเคราะห์ทดสอบด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบสแกนนิง (Scanning Electron Microscope, SEM) และกล้องจุลทรรศน์แบบแสง (Optical Microscope, OM) แก่นักวิจัยภายในและลูกค้าภายนอก

คุณศุภกาญจน์เล่าย้อนว่า “ส่วนตัวเป็นคนที่ชอบเครื่องมือวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว ในสมัยที่เรียนปริญญาตรีก็เคยเห็นภาพถ่ายจากกล้อง SEM และ OM มาก่อน แต่ไม่ทราบหลักการทำงาน ดังนั้น เมื่อเข้ามาทำงานที่เอ็มเทคก็เริ่มมาเรียนรู้ใหม่อย่างจริงจัง โดย ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ ซึ่งตอนนั้นเป็นหัวหน้าห้องปฏิบัติการเป็นผู้สอนทั้งการใช้งานเครื่องและหลักการทำงาน ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีมาก”

ตลอดระยะเวลาเกือบ 10 ปี ที่ทำงานให้บริการด้วยกล้อง SEM ก็ได้วิเคราะห์ตัวอย่างจำนวนมาก คุณศุภกาญจน์เล่าถึงตัวอย่างที่สร้างความประทับใจว่า “เป็นงานวิจัยด้านชีววิทยาของนักวิจัยไบโอเทคที่ทำร่วมกับต่างประเทศ เกี่ยวกับการใช้สิ่งมีชีวิตกำจัดศัตรูที่เป็นเชื้อรา งานนี้ให้ความรู้สึกเหมือนว่าได้ถ่ายภาพเอเลี่ยน อีกงานหนึ่งเป็นตัวอย่างการวิเคราะห์ชิ้นงานจำลอง (replica) เพราะไม่สามารถวิเคราะห์ชิ้นงานจริงได้โดยตรง เช่น ชิ้นงานอาจมีขนาดใหญ่ หรือเคลื่อนย้ายไม่สะดวก นักวิจัยต้องเตรียมตัวอย่างด้วยการลอกลายโดยใช้แผ่นโพลิเมอร์ จากนั้นจึงค่อยนำแผ่นโพลิเมอร์ที่มีลายมาวิเคราะห์ด้วยกล้อง SEM ซึ่งภาพที่ได้จะดูยากมาก ดังนั้น ผู้ที่จะวิเคราะห์ภาพลักษณะนี้ได้ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์เท่านั้น”

โดยปกติในการให้บริการ เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการจะทำหน้าที่ให้บริการการใช้เครื่องมือ ส่วนนักวิจัยจะเป็นผู้ตีความผลการวิเคราะห์ แต่การที่ให้บริการแก่นักวิจัยบ่อยครั้ง ทั้งในงานวิจัย หรืองานแก้ปัญหาให้แก่อุตสาหกรรม ทำให้คุณศุภกาญจน์มีโอกาสได้แลกเปลี่ยน เรียนรู้ และสั่งสมประสบการณ์จากการรับฟังนักวิจัยเล่าถึงที่มาที่ไปของงาน กระบวนการทำงาน ตรรกะในการวิเคราะห์ และแง่คิดต่างๆ ทำให้เกิดการพัฒนาศักยภาพแบบก้าวกระโดด

อย่างไรก็ดี “สำหรับเทคนิคการจำลองนั้น แม้จะเคยทำมาพอสมควร แต่ก็ยังไม่สามารถให้ความเห็นในรายงานได้ เพราะผู้ที่จะแสดงความเห็นในรายงานได้นั้นต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการเรียนและสั่งสมประสบการณ์มานาน แต่กรณีของงานวิจัย ถ้ามีความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ก็สามารถที่จะคิดวิเคราะห์ได้ สามารถใช้ตรรกะทางวิทยาศาสตร์ในการสรุปผลได้” คุณศุภกาญจน์เล่าเสริม

เมื่อทำงานจนมีประสบการณ์มากพอและมีผู้ใช้บริการมากขึ้น ทำให้ห้องปฏิบัติการจำเป็นต้องรับเจ้าหน้าที่เพิ่ม ในฐานะที่มีประสบการณ์มากที่สุดคุณศุภกาญจน์ก็ได้ถ่ายทอดความรู้สู่เจ้าหน้าที่รุ่นน้อง และกล่าวว่า

“เนื่องจากเจ้าหน้าที่คนเดียวไม่สามารถใช้งานกล้องได้ทั้งวัน เพราะในการถ่ายภาพต้องใช้สายตาในการโฟกัสภายใต้แสงไฟสลัว ประกอบกับอาจเกิดความเครียดในการทำงาน ดังนั้นหลังจากที่ทำงานมาระยะหนึ่ง ห้องปฏิบัติการก็เริ่มรับเจ้าหน้าที่รุ่นใหม่ๆ เราก็รับหน้าที่สอนงานให้แก่รุ่นน้อง”

“ปัจจุบันกล้อง SEM มีเจ้าหน้าที่ที่ดูแลหลายคน ได้แก่ คุณวิยภรณ์ กรองทอง, คุณเบญจวรรณ ทองชื่นตระกูล และคุณพงศธร สุขสนอง นอกจากนี้ นโยบายการใช้เครื่องมือมีการปรับเปลี่ยนตามยุคสมัย ดังนั้น นักวิจัยและผู้ช่วยวิจัยที่ต้องการความสะดวกและความมีอิสระในการใช้เครื่องมือเองนั้น จำเป็นต้องได้รับการฝึกจากเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการที่มีความเชี่ยวชาญก่อน โดยเป็นการฝึกไปพร้อมกับการปฏิบัติงานจริง (on the job training)”

นอกจากการให้บริการวิเคราะห์ทดสอบภายในเอ็มเทคแล้ว คุณศุภกาญจน์ยังให้บริการลูกค้าภายนอกด้วย แม้ในช่วงเวลานั้น การให้บริการภายนอกจะมีสัดส่วนที่น้อยกว่าการให้บริการภายใน

เมื่อถามถึงความท้าทายของงานให้บริการลูกค้าภายนอก คุณศุภกาญจน์เล่าว่า

“งานที่ยากและท้าทายมักเป็นเรื่องของความคาดหวังผลทางวิทยาศาสตร์จากการวิเคราะห์ เพราะลูกค้าเสียเวลาและเสียค่าบริการเครื่องมือ เขาย่อมต้องการได้ผลที่น่าพอใจ เช่น ภาพสวย คมชัด ภายใต้กรอบเวลาในการดำเนินการที่จำกัด ส่วนการวิเคราะห์ผลนั้น นักวิจัยจะเป็นผู้รับผิดชอบในการตั้งสมมุติฐาน หาสาเหตุมาอธิบาย และให้ข้อแนะนำเพื่อเป็นข้อมูลช่วยในการตัดสินใจ นี่คือความท้าทายที่ต้องทำออกมาให้ดีที่สุด เพื่อตอบโจทย์ได้ตามความคาดหวังของลูกค้า รวมถึงสร้างความน่าเชื่อถือและความไว้วางใจด้วย”

ขยายฐานความรู้สู่เทคนิคการเลี้ยวเบนรังสีเอกซ์ (X-ray diffraction, XRD)

ในปีพ.ศ. 2550 คุณศุภกาญจน์ได้โอนย้ายมาดูแลเครื่อง XRD โดยในตอนนั้นมีคุณศุภฤกษ์ เห็นประเสริฐแท้ เป็นผู้สอนการใช้งาน และดร.พิมพา ลิ้มทองกุล เป็นหัวหน้าห้องปฏิบัติการ คุณศุภกาญจน์เล่าว่า “การเปลี่ยนบทบาทจากเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการเทคนิคจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบสแกนนิง และจุลวิเคราะห์มาสู่เทคนิคเอกซเรย์ดิฟแฟรกชันนั้นเพราะตรงกับความรู้พื้นฐานทางด้านฟิสิกส์ที่เรียนมา และต้องการเรียนรู้ในเทคนิคใหม่ๆ ประกอบกับเครื่อง XRD ช่วยให้เห็นข้อมูลของวัสดุระดับนาโน ซึ่งขณะนั้นนาโนเทคโนโลยีกำลังได้รับความสนใจมากขึ้น”

ในช่วงที่ห้องปฏิบัติการยังมีเครื่องเอกซ์เรยฟลูออเรสเซนส์ (X-ray fluorescence spectrometer, XRF) สำหรับใช้วิเคราะห์ธาตุ ในขณะที่เครื่อง XRD ให้ข้อมูลโครงสร้างของสารประกอบ เมื่อมีลูกค้าภายนอกมารับบริการ นอกจากห้องปฏิบัติการจะวิเคราะห์ตามที่ลูกค้าต้องการแล้ว บางครั้งก็แนะนำให้ลูกค้าทราบข้อมูลว่า การวิเคราะห์ตัวอย่างโดยใช้เพียงเทคนิคใดเทคนิคหนึ่งจะมีข้อจำกัด

“ยกตัวอย่างเทคนิค XRF วิเคราะห์ธาตุได้ แต่ไม่ทราบชนิดสารประกอบที่แน่นอน ดังนั้น ถ้าใช้เทคนิค XRD มาประกอบกันก็จะได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์มากขึ้น” คุณศุภกาญจน์เล่าประสบการณ์

ประสบการณ์ที่สั่งสมกับบทบาทที่เพิ่มขึ้น

ปี พ.ศ.2560 เป็นปีที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง คุณศุภกาญจน์ได้ผันตัวเองมาช่วยงานบริการด้านเทคนิค โดยรับหน้าที่เป็นผู้รับข้อมูลเบื้องต้นจากลูกค้า และให้คำแนะนำในการรับบริการวิเคราะห์ทดสอบเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าได้ตรงจุด รวมถึงการมีตำแหน่งบริหารเป็นรักษาการผู้จัดการ งานวิเคราะห์เชิงฟิสิกส์ ฝ่ายสนับสนุนเทคนิคด้านวิเคราะห์ลักษณะเฉพาะของวัสดุ ซึ่งประกอบด้วยห้องปฏิบัติการวิเคราะห์สมบัติทางความร้อนของวัสดุ ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ลักษณะเฉพาะของผง และห้องปฏิบัติการการเลี้ยวเบนรังสีเอกซ์

คุณศุภกาญจน์ กล่าวว่า “จากประสบการณ์ทำงานทำให้มีโอกาสได้คุยกับลูกค้าจึงทำให้รู้ปัญหาว่า เมื่อลูกค้าโทรมาแล้วได้คุยกับเจ้าหน้าที่ที่สามารถตอบคำถามได้ครบถ้วนภายในการคุยเพียงครั้งเดียว ลูกค้าจะรู้สึกสะดวกสบาย เพราะไม่ต้องอธิบายความต้องการซ้ำหลายครั้งทำให้ไม่เสียเวลา นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้อยากเข้ามาช่วยในส่วนนี้”

“ในมุมมองส่วนตัวคิดว่าการมีเจ้าหน้าที่ที่คอยให้คำแนะนำลูกค้าในเบื้องต้นนั้น มีข้อดีมากกว่าข้อเสีย เพราะสามารถแนะนำเครื่องมือในการวิเคราะห์ที่เหมาะสม โดยให้ข้อมูลเชิงเทคนิคเพิ่มเติมเพื่อให้ลูกค้ามีทางเลือก เช่น หากลูกค้าต้องการวิเคราะห์องค์ประกอบและปริมาณของธาตุ ก็จะอธิบายว่ามีเทคนิคอะไรบ้าง และแต่ละเทคนิคมีจุดเด่นหรือจุดด้อยอะไร หรือในกรณีที่ไม่เชี่ยวชาญก็อาจช่วยกรองข้อมูล แล้วส่งต่อให้เจ้าหน้าที่ที่เชี่ยวชาญโดยตรงได้เลย เป็นการลดขั้นตอนและประหยัดเวลา”

คุณศุภกาญจน์เชื่อว่าการมีเจ้าหน้าที่ทำงานในลักษณะนี้ก็น่าจะช่วยแก้ปัญหาของลูกค้าได้ตรงจุดมากขึ้น รวมถึงช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการงานวิเคราะห์เชิงฟิสิกส์ด้วย

“อย่างไรก็ดี การทำหน้าที่คอยให้คำแนะนำลูกค้าในเบื้องต้น ถือเป็นสิ่งใหม่ที่ต้องเรียนรู้ เพราะนอกจากการรับข้อมูลในเบื้องต้นแล้ว ยังมีกระบวนการในขั้นตอนอื่น รวมถึงการเตรียมเอกสารต่างๆ อีก เช่น การสืบค้นข้อมูลวิธีการทดสอบ การออกแบบวิธีการทดสอบ การคิดค่าบริการ ใบเสนอราคา และการส่งอีเมลเพื่อแจ้งให้เจ้าหน้าที่ท่านอื่นทราบ”

หากมีลูกค้าต้องการปรึกษาในส่วนอื่นนอกเหนือจากงานบริการวิเคราะห์ทดสอบ เช่น งานที่เกี่ยวกับความเชี่ยวชาญของนักวิจัย หรืองานที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายพัฒนาธุรกิจ คุณศุภกาญจน์ก็สามารถให้ความช่วยเหลือลูกค้าได้ โดยการรับฟังรายละเอียดที่จำเป็น และสรุปประเด็นความต้องการของลูกค้า เพื่อเชื่อมโยงระหว่างลูกค้ากับบุคลากรหรือหน่วยงานภายในได้อย่างถูกจุด เป็นการลดขั้นตอนในการติดต่อและเพิ่มความสะดวกสบายให้แก่ลูกค้าด้วย

ส่วนผลการตอบรับการให้บริการจากลูกค้า คุณศุภกาญจน์ กล่าวว่า

“ลูกค้ายังส่งงานมาที่เอ็มเทคอย่างต่อเนื่อง เพราะเชื่อในคุณภาพของงานที่ส่งมอบ ราคาสมเหตุสมผล ระยะเวลาเหมาะสม แต่หากต้องการเร่งด่วน เอ็มเทคก็มีบริการงานด่วนในราคาค่าบริการที่สูงกว่าปกติ นอกจากนี้ การที่เราได้คุยกับลูกค้าโดยตรงก็เปรียบเสมือนเป็นการสร้างพันธมิตรที่ให้ความช่วยเหลือและคำแนะนำ ทั้งนี้เพื่อสร้างความประทับใจให้แก่ลูกค้าด้วย”

พัฒนาบุคลากรและสร้างองค์ความรู้ใหม่ด้วยความเชี่ยวชาญที่มี

เมื่อถามว่าหลังจากที่ผันตัวไปช่วยงานบริการเทคนิค รวมถึงมีตำแหน่งบริหาร งานในส่วนการให้บริการวิเคราะห์ทดสอบด้วยเทคนิค XRD ยังอยู่ในความรับผิดชอบหรือไม่ คุณศุภกาญจน์ตอบว่า “ทำบ้างเป็นบางครั้ง แต่จะเป็นงานในลักษณะการพัฒนาวิธีการวิเคราะห์ทดสอบ เช่น การวิเคราะห์แร่ใยหินในแป้งทัลคัม (talcum) ซึ่งเป็นโจทย์จากบริษัทเอกชน การวิเคราะห์ต้องใช้หลายเทคนิคทั้ง SEM, XRD, จุลทรรศน์แสงโพลาไรซ์ (Polarized Light Microscope, PLM) และในประเทศไทยยังไม่มีใครรับวิเคราะห์”

“ดังนั้นด้วยศักยภาพทั้งโครงสร้างพื้นฐานและความเชี่ยวชาญของเจ้าหน้าที่เอ็มเทค เราจึงเริ่มศึกษาความเป็นไปได้โดยใช้เครื่องมือที่มี ซึ่งก็สามารถพัฒนาได้ระดับหนึ่ง แต่หากพัฒนาเพิ่มเติมก็น่าจะลดขีดจำกัดในการตรวจวัด (detection limit) ลงได้ ซึ่งจะช่วยให้สามารถวิเคราะห์แร่ใยหินในปริมาณต่ำได้”

นอกจากนี้ คุณศุภกาญจน์ยังใช้ความเชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ด้วยเทคนิค XRD ช่วยสนับสนุนงานวิจัยไม่ว่าจะเป็นการสอนนักวิจัยหรือผู้ช่วยวิจัยให้ใช้เครื่องมือในการวิเคราะห์ หรือการมีส่วนร่วมในงานวิจัยในส่วนของการวิเคราะห์ทดสอบ ทั้งยังจัดสัมมนาให้ความรู้แก่ผู้สนใจทั้งภายในและภายนอกเอ็มเทคอีกด้วย

การมองไปในอนาคตและบทบาททางเทคนิค

สำหรับการมองอนาคตในสายอาชีพนั้น คุณศุภกาญจน์เล่าว่า “ส่วนตัวชอบทำงานบริการ เพราะได้พูดคุยกับลูกค้าเพื่อให้ข้อมูลต่างๆ ซึ่งทำให้รู้สึกว่าได้ให้สิ่งที่มีประโยชน์ทั้งกับองค์กรและลูกค้า การทำงานที่ผ่านมาสามารถให้บริการลูกค้าที่ติดต่อเข้ามาผ่านช่องทาง MTEC INFO และทางโทรศัพท์ได้เกือบ100% แต่ถ้าหากต้องกลับไปทำงานห้องปฏิบัติการก็สามารถทำได้ เพราะมีความสุขกับการทำงานในห้องปฏิบัติการ หรือหากมีโจทย์ที่เป็นการพัฒนาวิธีการวิเคราะห์ทดสอบจะมองว่าถ้าต่างประเทศทำได้ เราก็ต้องทำได้ ถ้าขาดความรู้ก็ไปศึกษาหรืออบรมเพิ่มเติม และสั่งสมประสบการณ์ ถ้าเกิดประโยชน์ต่อประเทศก็ต้องยิ่งทำให้ได้”

ความภาคภูมิใจ

เนื่องจากอุตสาหกรรมบางรายอาจไม่สามารถซื้อเครื่องมือราคาสูงที่มีความหลากหลายได้ อีกทั้งไม่มีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านเครื่องมือ การวิเคราะห์ทดสอบ ตลอดจนการแปลผลและการให้คำแนะนำเชิงเทคนิค ดังนั้น การได้ใช้ความรู้ ความสามารถ และความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ที่ไม่จำกัดขอบเขตในการเรียนรู้ มาให้คำปรึกษาเชิงเทคนิคแก่กลุ่มอุตสาหกรรม รวมทั้งสามารถนำมาพัฒนาต่อยอดเพื่อตอบโจทย์ที่เป็นประโยชน์กับประเทศ คือสิ่งที่สร้างความภาคภูมิใจให้แก่คุณศุภกาญจน์อย่างยิ่ง