จากงานการตลาดในธุรกิจเกษตรและอาหาร สู่สายสนับสนุนในองค์กรวิจัยตามสไตล์ ชลาลัย ชัตตั้น
สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย งานสื่อสารและขับเคลื่อนความรู้
ฝ่ายเผยแพร่เทคโนโลยีวัสดุ
คุณชลาลัย ซัตตั้น ผู้จัดการ งานวิเคราะห์และพัฒนารูปแบบทางธุรกิจ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ จบการศึกษาระดับปริญญาตรีและโท จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในสาขาชีวเคมีและสาขาเทคโนโลยีชีวภาพ ตามลำดับ หลังจบการศึกษาได้เข้าทำงานในฝ่ายการตลาดของบริษัทส่งออกผลิตผลสดทางการเกษตร ต่อมาได้ร่วมงานกับบริษัทผู้ผลิตอาหารแปรรูปทางการเกษตร ซึ่งหลังจากทำงานในภาคเอกชนได้กว่า 5 ปี ก็ได้เข้ามาทำงานในสายสนับสนุนที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยเริ่มงานแรกที่สำนักงานจัดการสิทธิเทคโนโลยี หรือ TLO (Technology Licensing Office) เก็บเกี่ยวประสบการณ์ในการทำงานด้านการอนุญาตสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาและบริหารจัดการโครงการ ราว 13 ปี จึงได้ปรับบทบาทไปเป็นรักษาการผู้จัดการในงานพัฒนาธุรกิจ ฝ่ายธุรกิจนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี ที่ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) และปัจจุบันได้มาทำหน้าที่ในตำแหน่งผู้จัดการงานวิเคราะห์และพัฒนารูปแบบธุรกิจ ของศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค)
บทบาทและหน้าที่รับผิดชอบ
คุณชลาลัย เล่าถึงงานที่เริ่มต้นทำใน สวทช. ว่า “ตอนที่เข้ามาทำงานที่ สวทช. ช่วงนั้น TLO กำลังปรับเพิ่มบทบาท ที่เดิมมีพนักงานเฉพาะในกลุ่มคุ้มครองทรัพย์ทรัพย์สินทางปัญญาและด้านกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา โดยปรับเข้าสู่การสร้างทีมที่จะทำงานด้านธุรกิจทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งตนเองได้มีโอกาสเข้าร่วมทีมนี้ โดยช่วงเริ่มต้นนั้น งานด้านธุรกิจทรัพย์สินทางปัญญามีกำลังคนเพียงสามคนเท่านั้นในดูแลการอนุญาตสิทธิผลงานวิจัยของสวทช. ทำให้ตนเองมีโอกาสได้เข้าไปทำงานและเรียนรู้การผลักดันการถ่ายทอดเทคโนโลยีผ่านกระบวนการอนุญาตสิทธิผลงานวิจัยในหลายสาขาเทคโนโลยี รวมถึงได้มีโอกาสในการพัฒนาความสามารถด้านการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งหน้าที่ความรับผิดชอบหลักในขณะนั้นคือการอนุญาตสิทธิผลงานวิจัยของเอ็มเทคให้กับเอกชนในภาคอุตสาหกรรมการผลิต เมื่อได้เข้ามาทำงานในตำแหน่งผู้จัดการ งานวิเคราะห์และพัฒนารูปแบบทางธุรกิจ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ทำให้เรียนรู้และเข้าใจเทคโนโลยี ของเอ็มเทค อีกทั้งยังคุ้นเคยกับทั้งทีมวิจัย และทีมงานของฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ทำให้สามารถทำงานของงานวิเคราะห์และพัฒนารูปแบบทางธุรกิจ ที่เอ็มเทคได้ดียิ่งขึ้น
ในช่วง 1-2 ปี ที่ผ่านมาที่ สวทช. ได้มีการปรับกลยุทธ์เข้าสู่ BCG Implementation ซึ่งผู้บริหารของเอ็มเทคก็มีนโยบายตอบรับโดยการพัฒนาและผลักดัน Theme strategy ที่สอดคล้องกับแนวทาง BCG ทำให้งานวิเคราะห์และพัฒนารูปแบบทางธุรกิจของเอ็มเทค หรือมีชื่อย่อว่า BAM (Business Analysis and Business Model Development Section) ได้มีการปรับตัวเพื่อสนับสนุนทั้งทางด้านข้อมูลการตลาด ระบบนิเวศทางธุรกิจ และการออกแบบโมเดลธุรกิจให้กับโครงการ ซึ่งเป็นการดำเนินงานภายใต้โครงการเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ในระดับองค์กร (strategic project) ที่ต้องการการศึกษาข้อมูลทางการตลาดสำหรับโครงการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อให้เห็นความต้องการที่แท้จริงของอุตสาหกรรมได้ชัดเจนมากขึ้น และส่งมอบผลที่ชัดเจนว่าเอ็มเทคจะเข้าไปตอบโจทย์ความต้องการเทคโนโลยีของประเทศทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาครัฐ ซึ่งเป็นทำการวิเคราะห์ข้อมูลตั้งแต่ต้นทาง ที่ไม่ได้มองแค่ผลลัพธ์ที่ออกมาเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการวางกลยุทธ์สำหรับธุรกิจนวัตกรรมให้สามารถนำผลงานวิจัยและพัฒนาของเอ็มเทคให้สามารถนำไปใช้ได้จริงอย่างยั่งยืน
นอกเหนือจากโครงการเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ในระดับองค์กรแล้ว ภารกิจงานที่สำคัญส่วนหนึ่งของทีม BAM คือการสนับสนุนโครงการที่มีรายได้ของเอ็มเทค โดยการจัดทำข้อมูลตลาดสำหรับโครงการที่ยื่นรับทุนวิจัย รวมถึงการประเมินด้านการเงินที่บางแหล่งทุนกำหนดให้ต้องมีการประเมินผลตอบแทนจากการลงทุน หรือ ROI (Return on Investment) นอกจากนี้ในปัจจุบันแหล่งทุน เช่น บพข. ก็เริ่มมีการสื่อสารมากขึ้นเรื่องการประเมิน Feasibility study ของโครงการที่ยื่นขอทุนหรือให้มีการดำเนินการอยู่ภายใต้โครงการที่ได้รับทุนวิจัย ซึ่งงาน BAM จะต้องเตรียมพร้อมสำหรับกิจกรรมดังกล่าว โดยนอกจากโครงรับทุนวิจัยแล้ว ยังได้ดำเนินงานภายใต้โครงการรับจ้างวิจัยและการประเมินต้นทุนสำหรับต้นแบบผลงานวิจัยและการผลิตในระดับห้องปฏิบัติการอีกด้วย
งานอีกส่วนหนึ่งที่อยู่ในความรับผิดชอบของงาน BAM คือการดำเนินงานภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 หรือ TRIUP Act เพื่อให้เอ็มเทคในฐานหน่วยงานผู้รับทุนได้รับสิทธิความเป็นเจ้าของในผลงานวิจัยและนวัตกรรม ซึ่ง พรบ. ฉบับนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะเพิ่มอัตราการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยและนวัตกรรมในเชิงพาณิชย์หรือสาธารณประโยชน์ได้อย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น ซึ่งตาม พ.ร.บ. จะให้ผู้รับทุนสามารถขอสิทธิความเป็นเจ้าของในผลงานวิจัยและนวัตกรรมได้โดยต้องจัดทำแผนและกลไกการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์เสนอต่อแหล่งทุน พร้อมกับมีการประเมินมูลค่าการใช้ประโยชน์นั้นยื่นเรื่องไปด้วย
ซึ่งคุณชลาลัยได้เล่าต่อไปว่า นอกจากการทำงานเพื่อตอบเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ของเอ็มเทคและร่วมสร้างรายได้ให้หน่วยงานแล้ว งาน BAM ยังมีภาระกิจในการสนับสนุนโครงการวิจัยในแง่การศึกษากฎหมาย ระเบียบ มาตรฐานรวมถึงข้อกำหนดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจเทคโนโลยีนั้นๆ เพื่อใช้ประกอบในการวางแผนงานสำหรับโครงการด้วย รวมไปถึงการระบุพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ในห่วงโซ่คุณค่า (Value chain) ที่เอ็มเทคควรเข้าไปทำความร่วมมือด้วย เช่น งานวิจัยทางด้านการแพทย์นั้น งาน BAM ก็ได้ทำงานร่วมกับงานบริหารเทคโนโลยีฐาน ฝ่ายบริหารเทคโนโลยีฐานและสนับสนุนการวิจัย ในรูปแบบคณะทำงานสนับสนุนผลงานวิจัยทางด้านเครื่องมือแพทย์เพื่อสนับสนุนนักวิจัย ซึ่งเริ่มตั้งแต่ช่วงที่ ดร.กฤษดา ประภากร อดีตรองผู้อำนวยการ เอ็มเทค ได้ผลักดันให้มีคณะทำงานสนับสนุนงานวิจัยด้านเครื่องมือแพทย์เข้ามาสนับสนุนนักวิจัยที่ทำงานด้านนี้
นำประสบการณ์พัฒนางานและสร้างทีม
จากประสบการณ์การทำงานที่สั่งสมมาตลอดเวลาที่อยู่ใน สวทช. ซึ่งองค์กรมีแบบแผนการทำงานและสามารถนำมาปรับปรุงการทำงานที่่อยู่ภายใต้ฝ่ายพัฒนาธุรกิจได้ คุณชลาลัยมองว่า “สิ่งที่ต้องพัฒนาอยู่ตลอด คือ คุณภาพของงานที่ส่งมอบ โดยจะดูว่าลูกค้าต้องการอะไร วางแผนให้สอดคล้อง และต้องการส่งมอบอะไร ดังนั้นเวลาทำงานต้องออกแบบงานเองได้และต้องไม่ผิดกฎระเบียบ สำหรับการพัฒนางานมีการปรึกษาหารือกันในทีม ส่วนหนึ่งก็มาจากการทำงานจริงและได้รับความเห็นและข้อแนะนำจากลูกค้าภายในองค์กรและจากความเห็นของหน่วยงานภายนอก เช่น จากเอกชน แหล่งทุน และหน่วยงานพันธมิตร และเร่งพัฒนาทักษะของคนในทีม BAM ให้สามารถตอบสนองความต้องการนั้นได้”
“ตอนที่เข้ามาทำงานที่สวทช. และทำในงานธุรกิจทรัพย์สินทางปัญญาของ TLO ช่วงแรกยังทำได้ไม่ดีนัก มีช่วงที่ต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ หลายอย่าง แต่โชคดีว่ามีหัวหน้าและเพื่อนร่วมงาน รวมถึงส่วนพี่ๆ เพื่อนๆ ที่ศูนย์แห่งชาติที่ช่วยกันแนะนำและทำงานร่วมกันจนทุกอย่างสำเร็จได้ด้วยดี จนทำให้เกิดความประทับใจของทีมงานที่เคยได้ร่วมงานกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน อีกทั้งลักษณะงานที่แตกต่างกับบริษัทเอกชนที่เคยทำมาก่อนหน้านี้ด้วย ซึ่งการทำงานเป็นทีมจะเกิดความแน่นแฟ้นและได้แลกเปลี่ยนความรู้กันมากกว่า มีการเติบโตในสายอาชีพชัดเจนรวมถึงการเติบโตทางความคิดทำให้เกิดความประทับใจมาก นอกจากนี้โอกาสที่ได้รับจากผู้บริหารก็สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่นำเสนอแนวคิดในการบริหารจัดการโครงการกับผู้บริหารศูนย์แห่งชาติ แล้วเขารับฟังและให้ข้อแนะนำที่ดีๆ กลับมาเพิ่ม ทำให้เราได้เรียนรู้และนำแนวทางนั้นมาพัฒนาตัวเองกับงานในครั้งหน้าได้”
“การมาทำงานในทีม BAM ที่เอ็มเทค เกิดจากแรงบันดาลใจที่ได้รับจากผู้บริหารที่เป็นผู้บังคับบัญชาเดิมตอนที่ไปปรึกษาเรื่องงานและได้รับความเห็นว่า เราน่าจะเหมาะกับงานการศึกษาการตลาดมากกว่า ซึ่งก่อนหน้านั้นเราไม่เคยคิดเกี่ยวกับงานด้านนี้มาก่อน พอได้มาทำจริงก็เลยเข้าใจว่า หัวหน้าเข้าใจเรายิ่งกว่าเราเข้าใจตัวเองซะอีก ซึ่งการได้มาทำงานด้านการศึกษาข้อมูลตลาดกับที่เอ็มเทค เป็นเพราะมีความคุ้นเคยกับเทคโนโลยีตั้งแต่ตอนที่ทำงานอนุญาตสิทธิในผลงานวิจัย และการได้เริ่มต้นทำงานในด้านใหม่ๆ กับเพื่อนร่วมงานที่รู้มือกันอยู่ก่อนแล้วก็ทำให้อุ่นใจได้มาก”
เมื่อถามถึงความสุขในแต่ละช่วงการทำงานแตกต่างกันหรือไม่ คุณชลาลัย ตอบว่า “การทำงานในระดับ middle management นับเป็นงานที่ท้าทายและให้โอกาสเราได้เติบโตอีกขั้นในชีวิต และสิ่งที่มุ่งหวังก็ต่างกับตอนที่เป็นลูกทีม ตอนนั้นความสุขในการทำงานคืองานที่ส่งมอบถูกนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ช่วยงานนักวิจัยได้ เป็นความสุขที่ได้รับตอนเป็นผู้ปฏิบัติงาน แต่พอได้ทำในตำแหน่งผู้จัดการงานก็พบความสุขที่ขยายตัวขึ้น เป็นการที่ได้เห็นคนในทีมเติบโต ก้าวหน้า พัฒนาความสามารถใหม่ๆ รองรับการเปลี่ยนแปลงและความคาดหวังจากภายนอกได้ และได้เห็นผลงานที่ส่งมอบคุณค่าให้กับองค์กรได้”
ความภาคภูมิใจ
การทำงานในสวทช. มีหลายงานที่ค่อนข้างยากแต่ก็ภูมิใจว่าสามารถแก้ไขปัญหาได้หลายโครงการและผ่านไปได้ด้วยดี และจากประสบการณ์ที่ได้จากการทำงานก็สามารถยื่นขอรับรองเป็น Registered Technology Transfer Professional (RTTP) ซึ่งเป็นมาตรฐานรับรองระดับสากลในการประเมินความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ของบุคคลในด้านการแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดความรู้ (Knowledge Exchange and Knowledge Transfer) ซึ่งตอนที่ได้มาในปี 2022 นั้นประเทศไทยยังมีไม่กี่คนที่ได้รับรองเป็น RTTP จึงเป็นความภูมิใจเล็กๆ ที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็น RTTP
งานอดิเรก
เมื่อถามถึงงานอดิเรก คุณชลาลัยตอบว่า “ชอบทำขนมอบ พวกขนมปัง ขนมเค้กต่างๆ เพราะการทำขนมให้ความรู้สึกเหมือนตอนทำ Lab มาก ตรงที่เวลาทำจะมีการชั่งตวงวัดตามสูตร แถมเราสามารถลองปรับสูตรเองได้ ทำการขึ้นรูป ปรับอุณหภูมิอบ และเมื่อทำเสร็จก็จะให้คนรอบข้างได้ชิม นอกจากนี้ ชอบการปลูกต้นไม้ ซึ่งก็จะคอยสังเกตว่าต้นไม้เจริญเติบโตดีไหม ต้นไหนชอบแสงมากหรือน้อยต้องคอยย้ายตำแหน่งให้เหมาะสม หรือน้ำมากน้อยแค่ไหน ต้นไม้เติบโตดี เราก็มีความสุขไปด้วย”