ภาพโดย: กฤษณ คูหาจิต
“ในแต่ละวันเวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว เราต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลา ต้องทำงานที่มีคุณค่า เพราะผลงานจะเป็นเครื่องพิสูจน์ตัวเรา”
ยุวนุช พจน์ประสาท
ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายบริหารงานทั่วไป
คอลัมน์ Precious Experience ครั้งนี้ ขอแนะนำคุณยุวนุช พจน์ประสาท พนักงานรุ่นบุกเบิก (รหัสพนักงานในลำดับ 000002) ผู้เป็นกำลังสำคัญของศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) มายาวนานเกือบ 37 ปี ได้เห็นพัฒนาการของเอ็มเทคมาตั้งแต่มีบุคลากรเพียงไม่ถึง 10 คน ทำงานบนพื้นเพียงไม่กี่ตารางเมตร จวบจนปัจจุบันที่มีบุคลากรเกือบ 500 คน บนพื้นที่กว่า 16,000 ตารางเมตร
ก่อนมาทำงานที่เอ็มเทค
หลังจากที่คุณยุวนุชจบหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) สาขาบัญชี ได้สอบเข้าทำงานที่โรงพยาบาลศิริราช ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่การเงินและบัญชี และได้เป็นลูกจ้างชั่วคราวที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
คุณยุวนุชเล่าว่า “หลังเรียนจบ ปวช. ได้สอบคัดเลือกเพื่อเป็นเจ้าหน้าที่การเงินและบัญชี ที่โรงพยาบาลศิริราช ในตอนนั้นสอบได้ลำดับที่ 8 แต่ไม่ได้ถูกเรียกเข้าทำงานที่โรงพยาบาลฯ หลังจากนั้น ดร.ศุภชัย ตั้งวงศ์ศานต์ ผู้อำนวยการศูนย์คอมพิวเตอร์ ได้ใช้รายชื่อผู้ผ่านการสอบคัดเลือกดังกล่าวมาสัมภาษณ์และรับเข้าทำงานที่ศูนย์คอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ท่านเป็นผู้บังคับบัญชาท่านแรกที่มีส่วนสนับสนุนด้านการศึกษาอย่างมาก เพราะในสมัยนั้นพนักงานบางท่านสามารถรับทำงานนอกเวลา เช่น รับพิมพ์วิทยานิพนธ์ของนักศึกษา แต่อาจารย์ศุภชัยแนะนำให้มุ่งอ่าน/เรียนหนังสือ เนื่องจากในช่วงเวลานั้นพี่สมัครเรียนที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหงและทำงานไปพร้อมกัน ในช่วงเวลาที่ทำงานกับอาจารย์ศุภชัยก็สามารถสอบผ่านทุกวิชาที่ลงเรียนใน 6 เดือนนั้นได้ครบ”
“เมื่อทำงานที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ 8 เดือนก็ลาออกมาทำงานเอกชนที่บริษัทเงินทุนแห่งหนึ่ง มีเพื่อนที่บริษัทฯ ชวนไปเรียนวิชาการบัญชีภาคค่ำ ที่มหาวิทยาลัยเกริก ในระหว่างทำงานได้ไปสอบคัดเลือกเป็นข้าราชการที่สำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เมื่อสอบผ่านได้เข้าทำงานรับราชการที่สำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งขณะนั้นทำงานและเรียนไปพร้อมกันจนจบปริญญาตรี ประจวบกับที่เอ็มเทคเปิดรับสมัครพนักงานธุรการ ต้องการวุฒิการศึกษาปริญญาตรี สาขาบัญชี จึงสมัครและได้คัดเลือกให้มาสัมภาษณ์ ตอนนั้น ดร.หริส [1] และพี่สมชาย เทียมบุญประเสริฐ เป็นผู้สัมภาษณ์ เมื่อได้งานจึงทำเรื่องโอนอายุราชการมาสังกัดที่ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการพลังงาน (ชื่อกระทรวงวิทย์ฯ ในขณะนั้น)
ชีวิตการทำงานที่เอ็มเทค
คุณยุวนุชเล่าถึงภาพเอ็มเทคในจินตนาการตอนก่อนเริ่มทำงานว่า
“ตอนได้อ่านประกาศรับสมัครงาน ชื่อศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติครั้งแรก ภาพที่นึกถึงคือสถานที่คล้ายโรงงานที่มีโลหะและวัสดุ แต่ในภาพความเป็นจริงเป็นอาคารสำนักงานที่มีภารกิจคือการสนับสนุนงานวิจัย ให้ทุนวิจัยด้านโลหะและวัสดุ ตอนนั้น ดร.หริส เป็นผู้บังคับบัญชา ทำงานร่วมกับพนักงานไม่กี่คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักวิเคราะห์ด้านโลหะ เซรามิก โพลิเมอร์ และเครื่องจักรกลการเกษตร มีหน้าที่วิเคราะห์ในด้านที่รับผิดชอบเพื่อให้ทุน พี่มีหน้าที่ด้านธุรการ ประสานงาน จัดเตรียมเอกสารต่างๆ และจัดการประชุมพิจารณาโครงการเพื่อสนับสนุนทุนวิจัยฯ ภายใต้กระทรวงวิทย์ฯ”
“งานหลักอีกงานคือ งานการจัดทำงบประมาณเพื่อของบประมาณของศูนย์ฯ พี่มีหน้าที่รวบรวม จัดทำแฟ้มรายละเอียดประกอบเอกสารงบประมาณให้สอดคล้องกับเอกสารขาวคาดแดงและเอกสารสีฟ้า ซึ่งเป็นเอกสารแสดงรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีของหน่วยงานต่างๆ ทุกปี หน่วยงานจะทำเรื่องของบประมาณ สมัยก่อนเอ็มเทคตั้งงบประมาณโดยใช้หลัก bottom up และ top down ผสมกัน คือแต่ละฝ่ายงานต้องเสนองบฯ ที่จะขอใช้ โดยพี่ทำหน้าที่รวบรวมรายละเอียดงบประมาณและข้อมูลสนับสนุน ซึ่งสมัยนั้นเป็นข้อมูลโครงการวิจัยที่ของบประมาณหมวดเงินอุดหนุนให้มหาวิทยาลัย และหน่วยงานราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และงบดำเนินการ เช่น งบการจัดพิมพ์เอกสารประชาสัมพันธ์ เป็นต้น เมื่อรวบรวมครบถ้วนจะเตรียมส่งให้สำนักงบประมาณ และเสนอต่อคณะกรรมาธิการฯ พิจารณา”
คุณยุวนุชกล่าวถึง ดร.หริส ว่า “การทำงานกับ ดร. หริส ในส่วนของการเตรียมเอกสารเสนอของบประมาณ อาจารย์จะไม่ถามในรายละเอียดของโครงการกับพี่ แต่ถ้าต้องการข้อมูลเพิ่มจะใช้วิธีการติดธงและเขียนชื่อคนที่ให้ข้อมูล ซึ่งทุกธงจะต้องได้รับคำตอบ แฟ้มเอกสารที่เตรียมจะมีขนาดพอๆ กับ ‘ลูกหมู’ ดังนั้น เวลาขออนุมัติงบ อาจารย์จะต้องหอบแฟ้มขนาดเท่า ‘ลูกหมู’ จึงมีการแซวว่าอาจารย์อุ้มแฟ้มเหมือนอุ้มลูกหมูอย่างน้อย 2 ตัว อาจารย์เป็นคนที่ทุ่มเท เสียสละ และทำงานหนักมาก ดังนั้นคนที่ทำงานด้วยก็จะเป็นคนที่รู้สึกสนุกกับการทำงานด้วยเช่นกัน”
“ในช่วงระหว่างการพิจารณาขั้นกรรมาธิการงบประมาณ จะเป็นช่วงเวลาที่เครียดที่สุด เนื่องจากอาจารย์ต้องเข้าใจงานและมีข้อมูลสนับสนุนครอบคลุม โดยจะสอบถามผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้ติดตามเหมือนกับการสอบวิทยานิพนธ์ บรรยากาศตอนรอคำถามจากอาจารย์ทุกคนจะนั่งตรงตัวเกร็ง การที่อาจารย์ทำเช่นนี้พี่คิดว่าเป็นการฝึกคนแบบหนึ่ง แต่อาจารย์มักถ่อมตนว่าอาจารย์ไม่เก่งจึงต้องถาม ซึ่งเป็นวิธีการทำงานของอาจารย์ ดังนั้นทุกครั้งที่เข้าสู่การพิจารณาของบประมาณ ทุกคนจึงต้องเตรียมตัวให้พร้อม เมื่องบประมาณผ่านการพิจารณาไปได้จะรู้สึกโล่ง”
“เมื่อข้อมูลที่เตรียมถูกส่งให้กรรมาธิการพิจารณา พี่ต้องติดตาม ดร.หริสไปที่รัฐสภา เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนข้อมูล ส่วนการตอบคำถามของกรรมาธิการนั้นผู้บริหารจะเป็นผู้ตอบเอง แต่มีครั้งหนึ่งตอนของบประมาณโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีคุณชัย ชิดชอบ เป็นประธานคณะกรรมาธิการ ท่านให้ทุกคนที่เข้าร่วมประชุมแนะนำตัวเอง ดร.หริสรู้จักพี่ดีว่าเป็นคนไม่ค่อยกล้าพูด อาจารย์ก็หันมากระซิบว่าให้พูดอย่างไร ทำให้คุณชัยกระเซ้าอาจารย์ว่าให้พี่พูดเอง”
เมื่อถามถึงบรรยากาศในการเสนอขออนุมัติงบประมาณประจำปี คุณยุวนุชเล่าว่า
“บรรยากาศของการเสนอขออนุมัติงบประมาณประจำปีจะขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น คณะกรรมาธิการ เรื่อง และช่วงเวลา บางปีที่คณะกรรมาธิการเห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก็จะใช้เวลาไม่นาน แต่บางปีก็ต้องกลับมาทำแผนเพื่อส่งให้พิจารณาใหม่ โดยให้เวลา 2-3 วันบ้าง หรือ 1 สัปดาห์บ้าง หรือบางครั้งก็ต้องกลับไปในวันรุ่งขึ้นก็มี การขออนุมัติงบประมาณเป็นหนึ่งในภารกิจที่สำคัญมาก หัวหน้าหน่วยงานทุกหน่วยงานที่ขอต้องรอห้ามไปไหน บางครั้งรอตั้งแต่เช้าจนดึกก็อาจไม่ได้เข้าที่ประชุมก็ได้ ต้องมาใหม่ในวันรุ่งขึ้น และในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการต้องได้รับความเห็นชอบจากทุกคน หากมีเพียงคนใดคนหนึ่งไม่เห็นชอบจะถือว่าไม่ผ่าน”
“การเสนอของบประมาณประจำปีไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันที่เงินกองทุนมีไม่มากนัก พี่ขอเตือนน้องๆ ว่าอนาคตไม่แน่นอน หากสถานการณ์โรคติดต่อโควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย เศรษฐกิจไม่ดี การเก็บภาษีอาจไม่ได้ตามเป้าหมาย และอาจโดนตัดงบประมาณค่าใช้จ่าย ดังนั้น เราต้องจัดลำดับความสำคัญและพยายามสร้างงานที่มีคุณค่า” คุณยุวนุชกล่าวเสริม
“ต่อมาในยุคของ ดร.ปริทรรศน์ [2] พี่ยังเป็นผู้เตรียมเอกสารเสนอของบประมาณประจำปีเช่นเดิม แต่เริ่มมีน้องๆ มาช่วย สไตล์การทำงานของ ดร.ปริทรรศน์ จะแตกต่างจาก ดร.หริส ยกตัวอย่าง ครั้งหนึ่ง ดร.ศักรินทร์ [3] ซึ่งตอนนั้นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ สวทช. โทรมาขอข้อมูล พี่ก็ถาม ดร.ปริทรรศน์ว่าควรขอข้อมูลนี้ที่ใคร อาจารย์ตอบว่า ‘ผมนี่แหละ’ เพราะอาจารย์สามารถตอบเองได้ทุกเรื่อง”
“นอกจากนี้ ในยุคของ ดร.ปริทรรศน์ สวทช. เริ่มมีการนำระบบบริหารจัดการการวิจัยพัฒนาภายใต้นโยบายคลัสเตอร์ หรือ SPA (Strategic Planning Alliance) มาใช้เพื่อวางเป้าหมายร่วมกันระหว่างหน่วยงานใน สวทช. ก็ทำให้ได้รู้จักคนมากขึ้น”
“การเปลี่ยนระบบบริหารจัดการเป็น SPA การของบประมาณจะไม่ขอและจัดสรรให้ตามศูนย์แห่งชาติ แต่รวมไปที่ศูนย์กลางคือ สวทช. มีการแบ่งงานวิจัยและพัฒนาเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) ประเด็นวิจัยมุ่งเน้นและประเด็นมุ่งเน้นย่อย เพื่อสร้างผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคม 2) งานวิจัยและพัฒนาในคลัสเตอร์ เป็นการพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์และขยายผลได้ในหลายคลัสเตอร์ 3) เทคโนโลยีฐาน เพื่อสั่งสมขีดความสามารถด้านเทคโนโลยี บุคลากร และโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่ง ดร.ปริทรรศน์ เป็นผู้จัดโครงการที่มีอยู่ทั้งหมดของเอ็มเทค และขออนุมัติงบตามกลุ่ม”
“งานวิจัยของเอ็มเทคจะรับผิดชอบในการจัดทำรายละเอียดของบประมาณเฉพาะโครงการที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีฐานและงบดำเนินการของศูนย์ฯ ส่วนโครงการอื่นเปลี่ยนผู้รับผิดชอบจัดทำรายละเอียดให้เจ้าภาพเป็นฝ่ายบริหารคลัสเตอร์และโปรแกรมวิจัย (Cluster and Program Management Office, CPMO) และงบบุคลากรก็รับผิดชอบโดยงานทรัพยากรบุคคล (Human Resources, HR) ดังนั้น รายละเอียดโครงการและงบประมาณที่เอ็มเทครับผิดชอบจะลดน้อยลง”
จังหวะชีวิตกับบทบาทที่เปลี่ยนไป
ปัจจุบันคุณยุวนุชดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายบริหารงานทั่วไป มีงานในสังกัด 4 งาน ได้แก่ งานจัดซื้อจัดจ้าง งานบริหารพัสดุ งานธุรการ และงานเลขานุการ
เมื่อถามถึงงานที่คุณยุวนุชมีความเชี่ยวชาญที่สุด คุณยุวนุชตอบว่า “เรื่องงบประมาณ แต่สาเหตุที่ปัจจุบันไม่ได้ดูแลงานในส่วนนี้แล้ว เนื่องจากในสมัยที่ ดร.วีระศักดิ์ [4] เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ ตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายบริหารงานทั่วไปยังว่าง และอยู่ในช่วงพิจารณาคัดเลือกบุคลากรภายใน สวทช. ดร.วีระศักดิ์เสนอให้ทุกฝ่ายรวมทั้งฝ่ายที่คุณฉัตรชัย รัตนลาภ รองผู้อำนวยการดูแลฝ่ายสนับสนุนเสนอชื่อผู้เหมาะสมเพื่อคัดเลือก ซึ่งมีเพียงพี่ที่ได้รับการเสนอชื่อ แต่แม้จะมีเพียงคนเดียว ดร.วีระศักดิ์แจ้งว่าก็ต้องนำเสนอ เพื่อให้ผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการร่วมกันพิจารณาตัดสิน”
“เมื่อผ่านการพิจารณาเป็นผู้อำนวยการฝ่ายบริหารงานทั่วไปแล้ว มีหน่วยงานที่ต้องกำกับดูแล ได้แก่ งานงบประมาณ งานธุรการ และงานพัสดุ แต่ต่อมาภายหลังมีการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ โดยย้ายงานงบประมาณไปรวมกับฝ่ายแผน พี่จึงไม่ได้ดูแลงานงบประมาณ” คุณยุวนุชกล่าวเสริม
การปรับเปลี่ยนตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายฯ ทำให้ต้องรับบทบาทเป็นผู้บังคับบัญชากำกับดูแลในภาพใหญ่ขึ้น มีผู้ใต้บังคับบัญชาที่ต้องรับผิดชอบดูแลมากขึ้นด้วย วิธีการสอนงานให้แก่ผู้ใต้บังคับบัญชาที่คิดว่าได้ผลดีที่สุดคือวิธีใด และมีเทคนิคในการบริหารคนอย่างไร
คุณยุวนุชตอบว่า “พี่เน้นการทำงานที่ลงมือทำร่วมกันและมีการติดตามผล อีกทั้งคอยสังเกตจุดแข็งและจุดอ่อนของแต่ละคนและแนะนำให้พัฒนาเพิ่มเติม อาจมีการส่งไปอบรมบ้างตามแผนการพัฒนาบุคลากร แต่ส่วนตัวคิดว่าการอบรมอาจได้ผลไม่ดีเท่ากับการได้ลงมือปฏิบัติจริงโดยมีคนช่วยแนะนำ แต่อย่างไรก็ดี ผู้ใต้บังคับบัญชาแต่ละคนก็มีสไตล์การเรียนรู้ที่แตกต่างกัน บางคนพร้อมที่จะพัฒนาก็มักหยิบยกประเด็นปัญหามาปรึกษา และเราก็เรียนรู้ถูกผิดไปพร้อมกัน”
“ส่วนการบริหารคนนั้น ต้องยอมรับว่าแต่ละคนมีสไตล์การทำงานที่แตกต่างกันทำให้การทำงานในบางครั้งก็ไม่ราบรื่น ในฐานะหัวหน้าก็ต้องพูดคุยให้ลูกน้องเข้าใจ โดยอาจมีการเชิญมาคุยและมีการติดตามผลภายหลังการคุย บางครั้งก็ได้ผล เพราะเขามาบอกว่า เขาน่าจะคิดได้ตามที่พี่แนะนำตั้งแต่แรก ซึ่งมันทำให้เขาดีขึ้น แต่บางครั้งเราก็ได้เรียนรู้ว่าคนมีความแตกต่างกันมาก เราจะนำความคิดเราไปให้เขาทำก็ไม่ได้ ในความเป็นจริงต้องยอมรับว่าความรู้สึกที่มีให้ลูกน้องแต่ละคนย่อมมีความแตกต่างกันบ้าง แต่ด้วยความที่เป็นลูกคนกลางจะเข้าใจความรู้สึกนี้ดีก็พยายามตัดความลำเอียงออกไป”
“ในการบริหารงานบางครั้งก็มีอุปสรรคบ้าง แต่เมื่อแก้ปัญหาได้ มันก็ผ่านไป แต่การบริหารคนเป็นเรื่องยากกว่า บางครั้งถึงขั้นนอนไม่หลับ เพราะก่อนที่จะไปคุยต้องมีการเตรียมความพร้อม โดยกำหนดประเด็นและผลลัพธ์ที่ต้องการจากการพูดคุยด้วย”
คุณยุวนุชเล่าว่า “บางครั้งเครียดมาก เคยประเมินตัวเองว่ามีความสามารถพอไหม ถึงขั้นคิดลาออก แต่ด้วยความที่ทำงานที่นี่มานานก็มีความผูกพันกับทั้งเพื่อนร่วมงานและเอ็มเทคจึงใช้วิธีจัดการกับความเครียดด้วยการออกกำลังกาย” คุณยุวนุชเสริม
“การบริหารคนต้องใช้ความอดทน บางคนเก่งแต่พูดจาโผงผาง หากเราจับจุดเขาได้ ว่าเขาแค่ต้องการคนที่เข้าใจสิ่งที่เขาคิด แต่อาจไม่ได้ต้องการการสนับสนุน เราก็สามารถคุยกันได้ แต่บางคนที่เฉื่อยชาก็จำเป็นต้องกระตุ้นและเตือนให้ทราบถึงสถานการณ์ หากเขายังไม่ปรับปรุงตัวก็คงต้องประเมินการทำงานไปตามจริง”
ความภูมิใจ
คุณยุวนุชเผยว่า “เรื่องแรกคือ ตอนที่ย้ายมาทำงานที่อุทยานวิทยาศาสตร์ใหม่ๆ ได้เห็นภาพอาคารสถานที่ทำงาน ความรู้สึกตอนนั้นคือ ขนลุกและภูมิใจ เพราะไม่น่าเชื่อว่า เราซึ่งเป็นพนักงานตัวเล็กๆ คนหนึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมสร้าง สวทช. ขึ้นมา ได้เห็น สวทช. เติบโตจากโต๊ะทำงานตัวเล็กๆ ในพื้นที่เล็กๆ ที่กระทรวงวิทย์ฯ ชั้น 6 และมีพนักงานเพียง 6 อัตรา ส่วนอีกเรื่องคือ การได้รับเสนอเลื่อนตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายบริหารงานทั่วไปจาก ดร.วีระศักดิ์ เป็นกรณีพิเศษ”
อนาคตที่วางไว้
เนื่องจากใกล้จะเกษียณอายุราชการในปลายปีงบประมาณ 2563 หรืออีก 2-3 เดือนข้างหน้า ความรู้สึกเป็นเช่นใด
คุณยุวนุชเผยว่า “บางครั้งก็ดีใจ เพราะรู้สึกว่าจะได้พัก หลังจากเหนื่อยล้าจากการทำงานมานาน แต่บางครั้งก็ใจหาย เพราะปกติจะทำอะไรตามตารางทุกวัน เช่น ตื่นตี 4 เตรียมตัวมาทำงาน แต่เมื่อเกษียณอายุก็อยากใช้ชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์ โดยอาจช่วยลูกทำธุรกิจสอนดนตรี และไปช่วยพี่สาวทำธุรกิจร้านอาหารเวียดนาม ซึ่งเขาทำร่วมกับเพื่อน”
ข้อคิดดีที่ฝากไว้
“การทำงานในเอ็มเทคเหมือนอยู่ในสังคมคนเก่ง คนแรง ถ้าทำให้ทุกคนทำงานด้วยความเข้าใจ ก็จะสามารถทำงานได้สำเร็จอย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องอธิบายอะไรมาก เรามีความผูกพัน มีวัฒนธรรมย่อยภายในองค์กร และเน้นการทำงานที่มีสาระและสร้างสรรค์”
“การทำงานในปัจจุบันยากขึ้น จึงอยากให้ข้อคิดคนทำงานทุกคนว่า ในแต่ละวันเวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว เราต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลา ต้องทำงานที่มีคุณค่า เพราะผลงานจะเป็นเครื่องพิสูจน์ตัวเรา” คุณยุวนุชกล่าวทิ้งท้าย
ยุวนุช พจน์ประสาท
จบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกริก