ภาพโดย: กฤษณ คูหาจิต
“งานวิจัยของเรามีส่วนช่วยประเทศด้านมาตรฐานการพลิกคว่ำ ซึ่งมีผลเรื่องความปลอดภัยของผู้โดยสาร อีกทั้ง ในอนาคตหากผลแบบจำลองทางคณิตศาสตร์และคอมพิวเตอร์ในการทำนายลักษณะภายใต้เงื่อนไขต่างๆ (SIM) ได้รับการยอมรับก็จะสามารถช่วยผู้ประกอบการให้ทำรถที่แข็งแรงขึ้นกว่าทุกวันนี้ได้ ความสูญเสียจากอุบัติเหตุต่างๆ ก็น่าจะลดลง”
ดร.ชินะ เพ็ญชาติ
หัวหน้าทีมวิจัยวิศวกรรมน้ำหนักเบา กลุ่มวิจัยการออกแบบวิศวกรรมและการผลิตขั้นสูง
ใครก็ตามที่สามารถสร้างความสมดุลของชีวิตทั้งเรื่องงาน เรื่องส่วนตัว และครอบครัวที่ตอบโจทย์ความต้องการของตัวเองได้อย่างลงตัว ย่อมมีความสุข แต่วิธีการสร้างความสมดุลของแต่ละคนย่อมแตกต่างกันไปสไตล์ใคร…สไตล์มัน
ดร.ชินะ เพ็ญชาติ หัวหน้าทีมวิจัยวิศวกรรมน้ำหนักเบา กลุ่มวิจัยการออกแบบวิศวกรรมและการผลิตขั้นสูง มีสไตล์การสร้างความสมดุลของชีวิตด้วยกิจกรรมเบาๆ ที่สวนทางกับภารกิจด้านวิศวกรรมน้ำหนักเบา ที่ความรับผิดชอบไม่ได้เบาไปตามชื่อ
ก่อนสู่เส้นทางสายวิจัย
ดร.ชินะเล่าว่า “สมัยเด็กไม่ได้รู้สึกว่าชอบสายวิทย์ แต่พอเรียนม.ปลายที่โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็เริ่มรู้สึกสนุกกับวิชาฟิสิกส์ เพราะสามารถอธิบายอะไรๆ ได้ด้วยกฎและสมการต่างๆ หลังจากจบม. 6 ก็ได้รับทุนของเอ็มเทคเพื่อไปศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี โท สาขาวิศวกรรมเครื่องกล และปริญญาเอก ด้านไทรโบโลจี (tribology) ที่อังกฤษ ในตอนนั้นผมยังไม่รู้จักไทรโบโลจีจึงปรึกษาคุณพ่อ ซึ่งท่านเป็นอาจารย์สอนที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาเครื่องกล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำให้ทราบว่าที่ Imperial College มีห้องปฏิบัติการด้านไทรโบโลจีที่อยู่ในแนวหน้าระดับโลกจึงตัดสินใจเรียนที่นี่ และอีกเหตุผลหนึ่งที่เลือกเรียนที่อังกฤษคือชอบดูฟุตบอลอังกฤษ”
ก้าวแรกสู่เส้นทางสายวิจัยและหน้าที่ความรับผิดชอบ
ภายหลังจากจบปริญญาเอก ดร.ชินะเข้าทำงานที่เอ็มเทค สังกัดห้องปฏิบัติการยานยนต์ หน่วยวิจัยการออกแบบและวิศวกรรม ภายใต้การดูแลของ ศ.ดร.ปราโมทย์ เดชะอำไพ ซึ่งสมัยนั้นดำรงตำแหน่งรักษาการรองผู้อำนวยการ งานที่หน่วยวิจัยมุ่งเน้นคือ ด้านการวิเคราะห์ด้วยวิธีไฟไนต์เอลิเมนต์ และงานวิจัยประยุกต์ขั้นสูง
ดร.ชินะเล่าว่า “ในช่วงเวลานั้น ท่านประธานกรรมการบริหารคือ คุณเขมทัต สุคนธสิงห์ ได้ให้โจทย์วิจัยเรื่องยานยนต์ไฟฟ้า เมื่อผมได้รับมอบหมาย จึงเริ่มดำเนินการวิจัยและพัฒนาเรื่องนี้มาโดยตลอด ทีมวิจัยได้พัฒนารถบัสไฟฟ้าต้นแบบมาตลอดระยะเวลา 7 ปี โดยออกแบบโครงสร้างพื้นฐานและวางระบบรถทั้งคัน แต่เมื่อมองย้อนกลับไปพบว่า สิ่งที่เป็นจุดแข็งของทีมคือ การวิเคราะห์ความแข็งแรงของโครงสร้าง และการออกแบบให้รถมีน้ำหนักเบา ซึ่งปัจจุบันกลายเป็น เทรนด์เทคโนโลยีที่มีส่วนช่วยในเรื่องการประหยัดพลังงาน ดังนั้น จึงปรับเปลี่ยนทิศทางการวิจัยและพัฒนาโดยเน้นด้านวิศวกรรมน้ำหนักเบา แต่ก็ยังไม่ทิ้งความเชี่ยวชาญด้านไทรโบโลจีซึ่งเป็นศาสตร์ที่จบมา ผมนำมาประยุกต์ใช้กับศาสตร์ด้านอาหาร โดยทำงานในลักษณะเป็นฝ่ายสนับสนุนทีมวิจัยวัสดุศาสตร์อาหาร”
ดร.ชินะเล่าถึงที่มาของการเข้าไปมีส่วนร่วมด้านการวิจัยวัสดุศาสตร์อาหารว่า “เนื่องจาก ดร.ชัยวุฒิสนใจเรื่องการทดสอบการบดเคี้ยวโดยประยุกต์ใช้ศาสตร์ไทรโบโลจี แต่ไม่มีนักวิจัยในทีมที่ทำด้านวิศวกรรม ดังนั้นจึงได้ร่วมมือกันพัฒนาชุดทดสอบที่เลียนแบบลิ้นจริง โดยนักวิจัยโพลิเมอร์พัฒนาซิลิโคน ส่วนทีมผมนำซิลิโคนที่ได้มาเตรียมให้เป็นแผ่นจำลองลักษณะของลิ้น เรามีแนวคิดนำซิลิโคนมาหล่อในแม่พิมพ์ แล้วกดด้วยแรงให้เกิดลวดลายเป็นตุ่มๆ คล้ายลิ้น แต่เมื่อทดลองทำแล้วพบว่าซิลิโคนนิ่มมาก พอมีลายมากๆ ก็ลอกไม่ออก หรือลอกแล้วขาด จึงทำเป็นลายเหล็กเรียบกลึงธรรมดาแทนน็”
เมื่อถูกถามว่าการทำงานข้ามศาสตร์ระหว่างวิศวกรรมกับอาหารต้องปรับตัวหรือไม่ ดร.ชินะตอบว่า “ต้องปรับตัวเพราะศาสตร์ด้านอาหารยากพอสมควร แต่ ดร.ชัยวุฒิ ก็ช่วยอธิบายอย่างละเอียด ส่วนเรื่องงาน เราก็จะมุ่งเน้นไปในขอบเขตที่เราเชี่ยวชาญ ผมถือว่าเป็นงานที่ฉีกแนวออกไปจากงานด้านการวิเคราะห์ด้วยวิธีไฟไนต์เอลิเมนต์ และยานยนต์ ซึ่งการได้ทำงานแนวอื่นบ้างทำให้เราสนุก”
เมื่อถามถึงบทบาทในการบริหารทีมในฐานะที่เป็นหัวหน้าทีมวิจัย ดร.ชินะกล่าวว่า “สมาชิกในทีมวิจัยด้านวิศวกรรมน้ำหนักเบาคือทีมเดิมที่เคยทำโครงสร้างรถบัสไฟฟ้า ด้วยความที่ทำงานร่วมกันมานานก็จะเข้าใจจังหวะกันทำให้การทำงานราบรื่น ปัจจุบันทีมวิจัยเน้นที่วัสดุจำพวกอะลูมิเนียมผสมความแข็งแรงสูง (high strength aluminium alloy) อย่างไรก็ดี ในอนาคตการทำวิจัยด้านวิศวกรรมน้ำหนักเบาอาจจำเป็นต้องทำงานร่วมกับทีมวิจัยอื่นที่มีความเชี่ยวชาญด้านการเชื่อม และวัสดุคอมโพสิต เนื่องจากเป็นวัสดุที่มีสมบัติด้านความแข็งแรง และมีน้ำหนักเบา แต่ก็มีราคาสูง”
“งานส่วนใหญ่เป็นงานรับจ้างและร่วมวิจัยกับบริษัทเอกชนที่ทำธุรกิจด้านยานพาหนะสมัยใหม่ ที่ต้องการยกระดับอุตสาหกรรมการออกแบบ รวมถึงผลิตแบบครบวงจร โดยเราเน้นที่การวิเคราะห์ความแข็งแรงของโครงสร้างเป็นหลัก”
“งานวิจัยของเรามีส่วนช่วยประเทศด้านมาตรฐานการพลิกคว่ำ ซึ่งมีผลเรื่องความปลอดภัยของผู้โดยสาร อีกทั้ง ในอนาคตหากผลแบบจำลองทางคณิตศาสตร์และคอมพิวเตอร์ในการทำนายลักษณะภายใต้เงื่อนไขต่างๆ (SIM) ได้รับการยอมรับก็จะสามารถช่วยผู้ประกอบการให้ทำรถที่แข็งแรงขึ้นกว่าทุกวันนี้ได้ ความสูญเสียจากอุบัติเหตุต่างๆ ก็น่าจะลดลง
ดร.ชินะ เล่าว่า “รถบัสไฟฟ้าเป็นผลงานที่มีความท้าทายที่สุด อีกทั้งได้รับความสนใจจากบริษัทเอกชนถึงขั้นทดลองทำแบบแล้ว แต่ก็น่าเสียดายที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง เนื่องจากติดปัญหาด้านค่าใช้จ่ายเรื่องแบตเตอรี่ อย่างไรก็ดี งานด้านการทดสอบการพลิกคว่ำและการออกแบบเพื่อลดน้ำหนักก็จัดว่ามีความท้าทายเช่นกัน”
“ทีมวิจัยยังนำองค์ความรู้ด้านการทดสอบการพลิกคว่ำและการออกแบบเพื่อลดน้ำหนักซึ่งเป็นจุดแข็งของทีมไปประยุกต์ใช้ในงานด้านอื่นด้วย เช่น การออกแบบโครงสร้างรับแรงของตึก อาคาร และสถาปัตยกรรมอื่นๆ เช่นเดียวกับที่ประยุกต์ใช้ศาสตร์ด้านไทรโบโลจีกับงานด้านอาหาร” ดร.ชินะ กล่าวเสริม
วิถีการสร้างสมดุล
แม้จะมีภาระหน้าที่ในการบริหารจัดการทีมวิจัยวิศวกรรมน้ำหนักเบาให้สามารถสร้างผลงานที่ตอบโจทย์และใช้ได้จริงแล้ว ดร.ชินะ ยังมีวิถีการบริหารชีวิตด้านอื่นที่นอกเหนือจากการทำงานด้วย
ดร.ชินะ เล่าว่า “ผมพยายามสร้างสมดุลให้แก่ตัวเองด้วยการทำในสิ่งที่ชื่นชอบ เช่น อ่านหนังสือการ์ตูน เล่นเกมอิเล็กทรอนิกส์ และท่องเที่ยวในประเทศญี่ปุ่น”
ภาพโดย: กฤษณ คูหาจิต
“ผมชอบอ่านหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นตั้งแต่เด็ก เพราะชอบลายเส้นของการ์ตูน อีกทั้งการ์ตูนยังช่วยให้เราคิดบวก ให้กำลังใจ และสอนใจ ผมอ่านได้เกือบทุกแนว ผู้เขียนได้แฝงวัฒนธรรมของญี่ปุ่นไว้ในหนังสือการ์ตูน เมื่อซึมซับจากการอ่านไปเรื่อยๆ ก็ทำให้เกิดความรู้สึกอยากไปสัมผัสวัฒนธรรมเหล่านั้นที่ประเทศญี่ปุ่น”
“ผมชอบอ่านหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นตั้งแต่เด็ก เพราะชอบลายเส้นของการ์ตูน อีกทั้งการ์ตูนยังช่วยให้เราคิดบวก ให้กำลังใจ และสอนใจ ผมอ่านได้เกือบทุกแนว ผู้เขียนได้แฝงวัฒนธรรมของญี่ปุ่นไว้ในหนังสือการ์ตูน เมื่อซึมซับจากการอ่านไปเรื่อยๆ ก็ทำให้เกิดความรู้สึกอยากไปสัมผัสวัฒนธรรมเหล่านั้นที่ประเทศญี่ปุ่น การ์ตูนบางเรื่องผมอ่านตั้งแต่สมัยเรียนอยู่ ป.5 ปัจจุบันก็ยังคงมีอยู่ กลับมาอ่านตอนนี้ก็ยังรู้สึกสนุกเหมือนเดิม”
“อีกกิจกรรมที่ชื่นชอบคือการเล่นเกมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นเกมของญี่ปุ่น เล่นตั้งแต่เด็กจนกระทั่งทุกวันนี้ แต่ก็มีหยุดเล่นบ้างช่วงที่ไปเรียนที่อังกฤษ ผมชอบเล่นเพราะเรื่องราวของเกมสนุกและภาพสวย ทำให้รู้สึกอิ่มเอมเมื่อได้เล่น นอกจากนี้ การเล่นเกมยังทำให้ผมสามารถอ่านฮิระงะนะและคะตะคะนะได้”
“ทั้ง 2 กิจกรรมที่เล่าไปมีส่วนทำให้ผมอยากไปท่องเที่ยวที่ประเทศญี่ปุ่น เพราะต้องการไปเห็นญี่ปุ่นในโลกจริงว่าเหมือนกับที่เราซึมซับจากการ์ตูนและเกมหรือไม่ ผมไปญี่ปุ่นครั้งแรกกับพี่และน้องภายหลังจากที่เรียนจบ รู้สึกประทับใจมาก และเกิดแรงบันดาลใจอยากเรียนภาษาญี่ปุ่นเพื่อให้สามารถอ่านและสื่อสารได้”
“กิจกรรมที่ใฝ่ฝันอยากทำ แต่ยังไม่มีโอกาสได้ทำคือ การไปเรียนดำน้ำเพื่อดำน้ำจริง การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้มีสุขภาพที่แข็งแรง การปั่นจักรยานท่องเที่ยวระหว่างเมืองเพื่อชมความงดงามของธรรมชาติตลอดเส้นทางและเป็นการออกกำลังกายไปพร้อมกัน ซึ่งการปั่นจักรยานระหว่างเมืองนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่องหนึ่งที่ผู้เขียนเป็นนักปั่น และต้องการสื่อถึงเรื่องราวการเดินทางกลับบ้านที่ฟุกุโอะกะในช่วงหน้าร้อนของตัวเอกที่เป็นนักปั่นเพื่อชมวิวทิวทัศน์ที่งดงามตลอดเส้นทาง และการเปิดร้านหนังสือการ์ตูน ซึ่งรูปแบบคงไม่เหมือนเดิมเนื่องจากยุคสมัยเปลี่ยนไป โลกก้าวสู่ยุคดิจิทัลมากขึ้น การเปิดร้านแบบเดิมๆ อาจไม่ประสบความสำเร็จ” ดร.ชินะกล่าวทิ้งท้าย
ดร.ชินะ เพ็ญชาติ
จบการศึกษาระดับปริญญาตรีและโท สาขาวิศวกรรมเครื่องกล จาก Imperial College London สหราชอาณาจักร ระดับปริญญาเอก ด้าน Tribology จาก Imperial College London สหราชอาณาจักร