ภาพโดย: กฤษณ คูหาจิต
“ผมภูมิใจในงานที่ทำทุกงาน ผมจะไม่มองผลลัพธ์ของงานว่าต้องประสบความสำเร็จทุกงาน
ผมมองว่างานนิทรรศการเป็นช่องทางหนึ่งในการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ผลงานวิจัย
ให้หลายคนได้รับทราบว่าตอนนี้เทคโนโลยีของศูนย์ฯ วิจัยเรื่องอะไรบ้าง…”
ศิลป์ชัย สุขโชติ
เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ งานประชาสัมพันธ์
งานแสดงนิทรรศการเป็นช่องทางหนึ่งในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานวิจัยของศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ผู้ที่รับผิดชอบดูแลงานแสดงนิทรรศการจำเป็นต้องประสานงานกับบุคลากรทั้งภายในและภายนอกหน่วยงาน
ศิลป์ชัย สุขโชติ หรือ พี่ตั้ม เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ มือหนึ่งและเป็นเพียงผู้เดียวที่รับผิดชอบดูแลงานนี้ ตลอดเส้นทางการทำงาน วิถีชีวิตย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา แต่พี่ตั้มก็ทุ่มเทและตั้งใจทำงานมาโดยตลอด ด้วยนิสัยร่าเริง อัธยาศัยดี มีมนุษย์สัมพันธ์ และมีน้ำใจกับทุกคนทำให้เป็นที่รักของเพื่อนร่วมงาน
พี่ตั้มเล่าให้ฟังว่า “ก่อนมาทำงานที่เอ็มเทค ผมเคยทำงานเป็นพนักงานขับรถอยู่ที่ บริษัท เงินทุนหลักทรัพย์ไทยเม็กซ์ จำกัด และคุณเนตร1 ก็เคยทำงานอยู่บริษัทเดียวกันแต่ลาออกไปก่อน พอถึงช่วงฟองสบู่แตกปี พ.ศ. 2540 บริษัทได้ปลดพนักงานออก และวันหนึ่งผมได้มาเจอคุณเนตรที่กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งตอนนั้นคุณเนตรทำงานอยู่ที่เอ็มเทคแล้ว จึงชักชวนให้มาสมัครเป็นพนักงานขับรถที่เอ็มเทค”
“ผมเข้ามาเป็นพนักงานขับรถประจำตำแหน่งให้ ดร.ปริทรรศน์ พันธุบรรยงก์ ซึ่งตอนนั้นท่านดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ ผมขับรถให้ท่านเป็นเวลา 7 ปี เมื่อหมดวาระของ ดร.ปริทรรศน์ จึงได้ปรึกษากับคุณฉัตรชัย รัตนลาภ ผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนในช่วงนั้นเพื่อขอไปทำงานด้านอื่น ประจวบกับ สวทช. มีนโยบายไม่ให้มีพนักงานขับรถประจำแต่ละศูนย์ฯ เนื่องจากเปลี่ยนเป็นการจ้างจากภายนอกแทน ซึ่งคุณฉัตรชัยก็ช่วยผลักดันให้พนักงานขับรถไปทำงานด้านอื่น ผมจึงได้ย้ายมางานประชาสัมพันธ์ ในส่วนของนิทรรศการตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมา”
ก้าวสู่งานใหม่ที่ท้าทาย
ด้วยมีพื้นฐานด้านงานช่างจึงสามารถทำงานนิทรรศการได้เป็นอย่างดี พี่ตั้มเล่าว่า “เริ่มช่วงแรกที่ได้เข้ามาทำงานที่งานประชาสัมพันธ์ต้องปรับตัวให้สามารถทำงานได้ แม้หลายคนเป็นห่วงว่าจะทำได้ไหม เนื่องจากผมมีความสามารถด้านงานช่างเป็นพื้นฐานจึงสามารถช่วยงานนิทรรศการได้ โดยในช่วงนั้นมีคุณปัญญา ฉายาลักษณ์ หรือคุณกบที่รับผิดชอบงานนิทรรศการเป็นหลักอยู่”
“ผมพยายามเรียนรู้งานด้านนิทรรศการทุกอย่างมาเกือบ 5 ปี โดยทำทุกอย่างตั้งแต่ขนของ จัดของในบูธ เรียนรู้ว่าการจัดงานแต่ละงานเราได้พื้นที่มาเท่าไหร่ จะออกแบบการจัดวางโปสเตอร์และชิ้นงานแบบไหน แต่ละงานควรเอาอะไรไปแสดงเพื่อให้ตรงกับวัตถุประสงค์ของงาน การทำงานนิทรรศการสมัยก่อน ผู้รับผิดชอบต้องขอข้อมูลเองและทำโปสเตอร์เอง ผมสามารถตามข้อมูลให้ได้ตามเวลาเพราะเป็นคนที่รู้จักคนในศูนย์ฯ ค่อนข้างเยอะ จนมาวันหนึ่งคุณกบได้ลาออกไป หลังจากนั้นก็รับผิดชอบงานนิทรรศการเพียงคนเดียวโดยให้คนในงานประชาสัมพันธ์ช่วยเรื่องการออกแบบโปสเตอร์”
การประสานงาน สร้างประสบการณ์
ด้วยประสบการณ์จัดงานนิทรรศการมากกว่า 200 งาน พี่ตั้มเล่าว่า “การเข้าไปขอข้อมูลกับนักวิจัยเพื่อนำไปออกนิทรรศการ จะมีเงื่อนไขเวลาเป็นตัวกำหนดในการส่งเนื้อหาข้อมูลแต่ละครั้ง ทำให้ต้องวางแผนล่วงหน้าเพื่อนำเนื้อหาไปออกแบบโปสเตอร์และตรวจก่อนผลิตไปเผยแพร่ แต่ก็มีบางงานที่ต้องขอข้อมูลแบบกระชั้นชิดทำให้เกิดความลำบากในการประสานงานได้ ด้วยบุคลิกเป็นคนจริงจัง เสียงดัง ทำให้ต้องปรับตัวเองมากขึ้น บางเหตุการณ์อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดกันบ้าง ซึ่งผมก็นำประสบการณ์มาเป็นบทเรียนสำหรับการทำงานครั้งต่อไป”
การพิจารณาผลงานไปแสดงนิทรรศการมีเกณฑ์อย่างไร พี่ตั้มบอกว่า “ผมจะดูผลงานที่ตรงกับงานเป็นหลัก โดยให้ข้อมูลย้อนหลังจากปีที่ผ่านมากับหัวหน้าว่า งานนี้เคยนำผลงานใดไปออกบ้างแล้วและมีรูปแบบงานแบบไหนเป็นข้อมูลเบื้องต้น เสนอกับผู้บังคับบัญชาตามขั้นตอน แล้วเสนอให้ผู้บริหารสูงสุดรับทราบพิจารณาต่อไป หลักเกณฑ์การเลือกผลงานจะเลือกงานที่ใหม่ก่อน และไม่ควรซ้ำกับที่เคยออกงานไปแล้ว ที่สำคัญต้องเป็นผลงานที่เสร็จแล้วและพร้อมถ่ายทอด หรือถ่ายทอดแล้วแต่นำผลงานไปแสดงเพื่อโชว์ศักยภาพ หรือผลงานที่ยังไม่สำเร็จก็สามารถนำไปแสดงได้เพื่อหาความร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัยหรือหน่วยงานอื่น”
ผลงานที่สร้างความร่วมมือ
เมื่อถามถึงผลงานที่ประทับใจ พี่ตั้มเล่าถึงผลงานนิทรรศการที่นำไปแสดงแล้วเกิดความร่วมมือตามมา และทีมวิจัยสามารถนำไปต่อยอดได้จะถือเป็นความภาคภูมิใจมาก “งานเรื่อง โลหะโฟม ของ ดร.สมพงษ์ ศรีมโนเสาวภาคย์ นักวิจัยจากทีมวิจัยเทคโนโลยีกระบวนการผลิตวัสดุผง กลุ่มวิจัยกระบวนการทางวัสดุและการผลิตอัตโนมัติ ที่ได้นำผลงานไปแสดงนิทรรศการในงาน METALEX และงาน INTERMACH ที่ผ่านมา ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากเพราะทีมวิจัยได้ไปแสดงผลงานแล้วยังได้รับโจทย์เพิ่มเติมจากกลุ่มลูกค้าโดยตรง ทีมวิจัยและนักวิจัยก็มีความสามารถนำเสนอได้ดีด้วย ผมคิดว่าถ้างานไหนมีนักวิจัยไปออกนิทรรศการด้วยก็จะได้ประโยชน์จากการไปรับโจทย์ รับทราบทิศทางเทคโนโลยี และได้พบปะผู้คนในแวดวงอุตสาหกรรมด้วย”
“สุดท้ายก็ขึ้นกับทีมวิจัยว่า อยากไปร่วมออกนิทรรศการด้วยไหม โดยจะเลือกงานนิทรรศการที่ตรงกลุ่มเป้าหมายของงานวิจัยให้มากที่สุด แต่ถ้างานไหนนักวิจัยไม่สะดวก ก็จะให้ทีมผู้ช่วยนักวิจัย หรืองานประสานธุรกิจและอุตสาหกรรมไปออกงานแทน โดยผมก็อยากให้ทีมวิจัยเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นด้วย”
ผลกระทบของงานนิทรรศการช่วงโควิด-19
ปกติศูนย์ฯ จะออกงานนิทรรศการตลอดทั้งปี พอมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เกิดขึ้น มีผลกับงานนิทรรศการเป็นอย่างมาก พี่ตั้มบอกว่า “การแพร่ระบาดใหม่รอบนี้หนักกว่าเดิม ทำให้งานถูกยกเลิกเกือบหมด การจัดงานแสดงต่างๆ ผู้จัดงานมีการขายพื้นที่ หรือติดต่อให้ไปออกงานล่วงหน้าเป็นปี ทำให้การวางแผนงานยากขึ้น หรืองานไหนไม่ถูกยกเลิกงานก็จะมีขนาดเล็กลงจากเดิมมาก เพราะบริษัทต่างชาติไม่สามารถเข้ามาแสดงสินค้าได้ แต่ผมคิดว่า ถ้ามองในแง่ดีก็ทำให้เรามีเวลาสร้างผลงานวิจัยพร้อมออกแสดงในวันข้างหน้าได้”
“ปกติเวลาทำงานผมจะดูจากสิ่งที่เรามีอยู่ ไม่ค่อยใช้เงินของศูนย์ฯ มาลงทุนกับนิทรรศการมาก
เพราะเวลาเราไปแสดงนิทรรศการ เราเป็นหน่วยงานของรัฐมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงผลงาน
โดยพยายามเลือกผลงานให้ตรงกับโจทย์ผู้เข้าชมของงานนั้นให้มากที่สุด
เพื่อให้สามารถเกิดประโยชน์กับคนส่วนมากสู่การนำไปใช้หรือผลิตได้”
มุมมอง แง่คิดการทำงาน
จากประสบการณ์การทำงานกว่า 20 ปี เมื่อถามถึงแง่คิดในการทำงาน พี่ตั้มบอกว่า “ปกติเวลาทำงานผมจะดูจากสิ่งที่เรามีอยู่ ไม่ค่อยใช้เงินของศูนย์ฯ มาลงทุนกับนิทรรศการมาก เพราะเวลาเราไปแสดงนิทรรศการ เราเป็นหน่วยงานของรัฐมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงผลงานโดยพยายามเลือกผลงานให้ตรงกับโจทย์ผู้เข้าชมของงานนั้นให้มากที่สุด เพื่อให้สามารถเกิดประโยชน์กับคนส่วนมากสู่การนำไปใช้หรือผลิตได้”
เมื่อถามถึงความภูมิใจของงานที่ทำ พี่ตั้มบอกว่า “ผมภูมิใจในงานที่ทำทุกงาน ผมจะไม่มองผลลัพธ์ของงานว่าต้องประสบความสำเร็จทุกงาน ผมมองว่างานนิทรรศการเป็นช่องทางหนึ่งในการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ผลงานวิจัยให้หลายคนได้รับทราบว่าตอนนี้เทคโนโลยีของศูนย์ฯ วิจัยเรื่องอะไรบ้าง ผลงานอยู่ในระดับไหน เพราะคนส่วนใหญ่ไม่ได้เข้าเว็บไซต์ เวลาไปออกงานนิทรรศการแล้วมีคนมาเดินชมงานก็จะได้เห็นผลงานของเรา ซึ่งเราสามารถเชิญชวนให้เข้าไปดูเว็บไซต์ของเราได้ อย่างเช่น เวลาเราไปออกงานด้านโพลิเมอร์ก็จะสามารถเห็นและรับรู้งานด้านอื่นของศูนย์ฯ ด้วย ไม่ใช่บริษัทไปขายของเพื่อทำยอด แต่เราไปเผยแพร่ประชาสัมพันธ์หน่วยงานและผลงานมากกว่า”
มีหลายเหตุการณ์ที่ต้องจัดนิทรรศการต้อนรับคณะคนสำคัญสำหรับนำเสนอผลงาน พี่ตั้มเล่าว่า “เมื่อตอนต้อนรับคณะผู้บริหารของสำนักพิมพ์มติชน ผมมองว่าได้ประโยชน์มาก อะไรก็ตามที่ทำให้สื่อจากภายนอกออกข่าวของศูนย์ฯ ได้ ทำให้เรามีแหล่งข่าวจากที่อื่นมาช่วยกระจายเผยแพร่ผลงานมากขึ้น เพราะกลุ่มคนและฐานคนรับสื่อไม่เหมือนกัน มีรูปแบบการนำเสนอที่หลากหลายกว่า”
วางแผนถ่ายทอดงาน
อีกไม่กี่ปี พี่ตั้มจะเกษียณ ต้องหาคนมาทำงานแทน มีวิธีการสอนงานอย่างไร พี่ตั้มบอกว่า “ต้องแนะนำให้รู้จักจากข้างในศูนย์ฯ ก่อน ต้องรู้ว่าใครทำงานวิจัยเรื่องอะไร โดยต้องสร้างความสัมพันธ์กับคนภายในก่อน เพื่อความราบรื่นในการขอข้อมูลผลงานวิจัย หรือวางแผนการออกนิทรรศการ ส่วนตัวผมคิดว่าการสร้างความสัมพันธ์ภายในศูนย์ฯ เป็นสิ่งสำคัญ ผลลัพธ์เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ของเนื้องานต้องพึ่งพาอาศัยกัน ช่วยเหลือกัน มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีกับทุกคน และต้องมีเวลาให้กับงานมาก เพราะงานนิทรรศการเป็นงานที่ต้องใช้เวลานอกเหนือเวลางานปกติ เดินทางไปทำงานข้างนอกเป็นส่วนใหญ่ ส่วนการประสานกับคนภายนอกมักมีรูปแบบเป็นมาตรฐานอยู่แล้ว ไม่ซับซ้อน แต่ถ้าเราซื้อพื้นที่เปล่าจะต้องประสานงานกับหลายฝ่ายมากขึ้น เช่น การส่งรูปแบบแปลนนิทรรศการ การประสานกับผู้จัดใหญ่ และส่วนต่างๆ พวกน้ำ ไฟฟ้า เป็นต้น”
มีวันที่ทำงานแล้วรู้สึกท้อแท้หรือไม่ พี่ตั้มบอกว่า “ไม่เคยเบื่อเพราะงานนิทรรศการเป็นงานที่ออกไปจัดงานข้างนอก ได้เจอผู้คนหลากหลาย เรารู้ว่าเราคือใคร แต่เราไม่รู้ว่าคนที่มาคุยกับเราเขาคือใคร เราได้ความคิดจากเขาและเขาได้ความคิดจากเรา ทำให้เราได้ประสบการณ์จากการพูดคุยกับคนอื่น ทำให้รู้จักใช้ทักษะการพูด บางทีเจอคนที่มาคุยด้วยต่างความคิดเห็นก็ทำให้รู้ว่าจะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างไร”
เมื่อถามถึงแผนหลังเกษียณ เนื่องจากจะใกล้ถึงเวลาในอีก 4 ปีข้างหน้า พี่ตั้มบอกว่า “ยังไม่ได้คิดทำอะไร คิดแต่ว่าวันนี้เราอยู่ เราจะทำอะไร”
ศิลป์ชัย สุขโชติ
จบการศึกษาระดับ มศ.3 โรงเรียนเทศบาลท่าอิฐ จังหวัดอุตรดิตถ์
1 คุณเนตร ยินดี ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป งานบริหารอาคารสถานที่ ฝ่ายบริหารโครงสร้างพื้นฐาน ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ