15 พฤศจิกายน 2561, จังหวัดชลบุรี
การประชุมวิชาการทางโลหวิทยาแห่งประเทศไทย ได้ริเริ่มจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อ ปี พ.ศ. 2550 โดยความร่วมมือของศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค สวทช.) สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย และสถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยดำเนินการจัดประชุมต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีและประสบความสำเร็จอย่างสูงในแวดวงวิชาการทางด้านโลหวิทยา
ในปีนี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ร่วมกับสถาบันอุดม ศึกษาในประเทศ หน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่างๆ เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการทางโลหวิทยาแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 11 (TMETC11) ภายใต้หัวข้อ “Metallurgy for Thailand 4.0” ในระหว่างวันที่ 15-16 พฤศจิกายน 2561 จังหวัดชลบุรี โดย ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการเอ็มเทค และนักโลหวิทยาดีเด่นด้านอุตสาหกรรมประจำปี 2559 ให้เกียรติเข้าร่วมงานและบรรยายหัวข้อ “โอกาสในการวิจัยด้านเทคโนโลยีโลหะ (Research Opportunity for Metal Technology) และ ดร.อัญชลี มโนนุกุล นักวิจัยเอ็มเทค และนักโลหวิทยาดีเด่นด้านอุตสาหกรรมประจำปี 2559 บรรยายหัวข้อ “Industrial Based Powder Metallurgy Projects and the Implementation”
สำหรับรางวัลนักโลหวิทยาดีเด่นและรางวัลนักโลหวิทยาดีเด่นรุ่นเยาว์ พิจารณาคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมได้รับรางวัล แก่นักวิจัยดีเด่น 3 ท่าน เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติที่สร้างผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ ได้แก่
รางวัลนักโลหวิทยาดีเด่น ประจำปี 2560 ได้แก่
– นายเชาว์ เนียมสอน บริษัท พี ซี เอส ผลิตภัณฑ์หล่อ จำกัด
อาจารย์พิเศษและที่ปรึกษาของภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ และที่ปรีกษาของหน่วยเทคโนโลยีเฉพาะทาง
หล่อโลหะ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
รางวัลนักโลหวิทยาดีเด่นรุ่นเยาว์ประเภทวิชาการ ได้แก่
– ผศ. (ว่าที่ ร.ต.) ดร. ชัยสิทธิ์ บรรจงประเสริฐ
ภาควิชาฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
รางวัลนักโลหวิทยาดีเด่นรุ่นเยาว์ประเภทอุตสาหกรรม ได้แก่
– ดร.ณมุรธา สถิรจินดา พอลสัน
ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค สวทช.)
ดร.ณมุรธา กับผลงานวิจัยที่ช่วยแก้ปัญหาความเสียหายและการกัดกร่อนในภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ ชุดทดสอบการกัดกร่อนแบบเร่งสำหรับหลากหลายสภาวะการใช้งาน อาทิเช่น การใช้งานในสิ่งแวดล้อมระบบของไหล และสิ่งแวดล้อมบรรยากาศเขตร้อนชื้น อันเนื่องมาจากปัญหาการกัดกร่อนของโครงสร้างและชิ้นส่วนโลหะ ที่เกิดจากการเลือกใช้วัสดุและระบบการป้องกันการกัดกร่อนที่ไม่เหมาะสม ทำให้เป็นที่มาของการพัฒนาชุดทดสอบดังกล่าวเพื่อศึกษาการกัดกร่อนที่สอดคล้องกับสภาวะการใช้งานจริงเพื่อสร้างระบบข้อมูลสำหรับทำนายอัตราการกัดกร่อนของโลหะได้แม่นยำมากขึ้น
นอกจากนี้ ดร.ณมุรธา ยังมีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ความเสียหายของวัสดุและเทคโนโลยีการกัดกร่อน จากผลงานต่างๆ เช่น ระบบประเมินระดับความเสี่ยงจากการกัดกร่อนในหน่วยกลั่นน้ำมันดิบอยู่ในขั้นตอนการยื่นจดสิทธิบัตรเมื่อเดือนธันวาคม 2558 ชุดอุปกรณ์ทดสอบการกัดกร่อนเฉพาะที่ของวัสดุภายใต้ความเค้นแรงดึงเพื่อตรวจประเมินการกัดกร่อนภายใต้แรงเค้นอยู่ในขั้นตอนการยื่นจดสิทธิบัตรเมื่อเดือนกันยายน 2559 ชุดตรวจติดตามพฤติกรรมการกัดกร่อนของท่อโลหะใช้งานกับการไหลของสารละลายสำหรับชิ้นส่วนและอุปกรณ์ภายในหน่วยผลิตไฟฟ้าอยู่ในขั้นตอนการยื่นจดสิทธิบัตรเมื่อเดือนกันยายน 2560 และเครื่องจำลองการทดสอบการกัดกร่อนในบรรยากาศแบบเร่งเพื่อสร้างระบบข้อมูลในการเลือกใช้วัสดุ และประเมินอายุของโครงสร้างและชิ้นส่วน อาทิเช่น ระบบขนส่งราง และชิ้นส่วนยานยนต์ ใช้งานในบรรยากาศในเขตร้อนชื้น เครื่องดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนการยื่นจดสิทธิบัตรเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา