(วันที่ 22 พฤศจิกายน 2565) กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดผลสำเร็จของการประยุกต์ใช้หลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ในการออกแบบของสถานประกอบการเพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตอบสนองนโยบายรัฐบาลในการมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emission หรือ Net Zero Carbon) ในงานสัมมนาหัวข้อ “ต่อยอดธุรกิจด้วยการออกแบบตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน” (CE Design Solution in Practice)”
ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. กล่าวว่า การจัดสัมมนาในหัวข้อในวันนี้ เป็นกิจกรรมหนึ่งภายใต้ “โครงการส่งเสริมการออกแบบตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Design for Circular Economy) เพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน” โดยได้รับการสนับสนุนจาก กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งที่ผ่านมามีการถ่ายทอดองค์ความรู้นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ผ่านการจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการภายใต้หลักสูตรเข้มข้น “ติดอาวุธอุตสาหกรรมไทย ด้วยการออกแบบตามหลักคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน” และการให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิต การเลือกใช้วัตถุดิบ ไปจนถึงการจัดการเมื่อสิ้นอายุการใช้งานหรือไม่ใช้แล้ว ให้แก่สถานประกอบการที่ได้รับการคัดเลือก นอกจากการให้คำปรึกษาและเป็นพี่เลี้ยงแล้ว เอ็มเทค ยังได้ใช้ความเชี่ยวชาญด้านวัสดุศาสตร์ของกลุ่มวิจัย ผนวกกับการใช้กลไกเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการของเอ็มเทคที่มีอยู่ทั้งในและต่างประเทศพัฒนาผลิตภัณฑ์และกระบวนการต้นแบบ CE Design Solution เพื่อเป็นตัวอย่างให้แก่ผู้ประกอบการอื่น ๆ ต่อไป
ดร.ธีรวุธ ตันนุกิจ ผู้อำนวยการกองนวัตกรรมวัตถุดิบและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง กพร. กล่าวว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจโลกที่ผ่านมาพัฒนาขึ้นบนพื้นฐานของเศรษฐกิจเส้นตรง (Linear Economy) ทำให้ผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตส่วนใหญ่ถูกออกแบบโดยไม่ได้คำนึงถึงการนำกลับมาใช้ซ้ำ การรีไซเคิล หรือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดวัฏจักรชีวิต (Life Cycle) ของผลิตภัณฑ์ แต่เน้นให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ระยะสั้น เช่น ต้นทุนการผลิต และยอดขาย เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการออกแบบในลักษณะที่ทำให้อายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์สั้นกว่าที่ควรจะเป็น รวมถึงการจูงใจให้ผู้บริโภคเปลี่ยนมาใช้ผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่กว่า ส่งผลให้ปริมาณขยะหรือของเสียทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ แม้ว่าจะมีความพยายามในการนำวัตถุดิบที่มีค่ากลับมาใช้ประโยชน์ใหม่โดยการรีไซเคิล แต่เมื่อพิจารณาจากลำดับขั้นในการจัดการของเสีย (Waste Management Hierarchy) การรีไซเคิลถือเป็นขั้นปลายทางในการจัดการของเสียที่ต้องใช้พลังงานและต้นทุนเป็นอย่างมาก โดยความยาก-ง่ายของกระบวนการรีไซเคิลจะขึ้นกับการออกแบบว่าได้คำนึงถึงการนำผลิตภัณฑ์ที่สิ้นอายุการใช้งานหรือของเสียที่เกิดขึ้นกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่หรือไม่ การคิดใหม่/การออกแบบใหม่ (Rethink/Redesign) จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ เพื่อก่อให้เกิดรูปแบบการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน
กพร. ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักในการจัดหาและบริหารจัดการวัตถุดิบ ทั้งวัตถุดิบจากแหล่งแร่ธรรมชาติ (Primary Raw Materials) วัตถุดิบทดแทนที่ได้จากการรีไซเคิลขยะหรือของเสีย (Secondary Raw Materials) จึงได้ริเริ่มโครงการนี้ขึ้น โดยได้มอบหมายเอ็มเทค เป็นที่ปรึกษาดำเนินโครงการ โดยมุ่งหวังให้ผู้ประกอบการนำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบและร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้ไทยบรรลุเป้าหมายทิศทางการพัฒนาประเทศเพื่อให้ไทยมีเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ รวมทั้งเป้าหมายของไทยสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emission หรือ Net Zero Carbon) ภายในปี ค.ศ. 2065 ต่อไป
ดร. ธีรวุธ กล่าวต่อว่า เป็นที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่โครงการนี้ประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมจากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 6 ราย โดยในเบื้องต้นคาดว่าจะก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ รวมไม่ต่ำกว่า 60 ล้านบาทต่อปี และหากมีการนำต้นแบบที่ได้พัฒนาตามแนวคิดนี้ไปประยุกต์ใช้ จะสามารถลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ ไม่ต่ำกว่า 6,000 ตันก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (เทียบเท่า) ต่อปี ทั้งนี้ยังไม่นับรวมมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นจากการลดปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม นอกจากนี้ โครงการยังก่อให้เกิดตัวอย่างความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการในโซ่อุปทาน (Supply Chain) เพื่อให้เกิดผลสำเร็จร่วมกันอีกด้วย
ดร. นุจรินทร์ รามัญกุล ผู้เชี่ยวชาญวิจัย เอ็มเทค หัวหน้าโครงการ กล่าวว่า โครงการนี้สำเร็จลุล่วงได้ ด้วยการร่วมแรงร่วมใจ ของผู้ประกอบการนำร่องทั้ง 6 ราย ได้แก่ บจก. อุตสาหกรรมดีสวัสดิ์ บจก. สันติภาพ (ฮั่วเพ้ง1958) มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ บจก. ซิกเวอร์ค (ประเทศไทย) บจก. บี เอช พลาสติก และ TPE บริษัทในเครือ เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน)
“การประยุกต์ใช้แนวคิด CE ในการออกแบบในช่วงต้น ดูเหมือนจะเป็นเรื่องยาก เพราะเรายังติดกับดัก Linear Economy อยู่ ทำให้จำกัดการคิดการพัฒนาอยู่แต่ในกรอบรั้วโรงงาน และไม่ได้ติดตามจะคงคุณค่าหรือหมุนเวียนทรัพยากรที่ส่งออกจากโรงงานให้อยู่ในระบบเศรษฐกิจให้ได้นานที่สุดได้อย่างไร โดยปล่อยให้กลายเป็นปัญหากับคนรุ่นต่อไปที่ต้องมาแก้ไข แต่เมื่อผู้ประกอบการนำร่องทั้ง 6 รายได้นำหลักคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบ ได้ใช้การคิดเชิงระบบ (Systems Thinking) โดยคำนึงการเพิ่มมูลค่าของทรัพยากรในโซ่อุปทานแล้วจะเริ่มเห็นชัดว่า เศรษฐกิจหมุนเวียนจะดำเนินการองค์กรเดียวไม่ได้ แต่ต้องร่วมมือกันเป็นเครือข่ายคุณค่าหรือ Value network เมื่อทุกฝ่ายยอมถอยจากจุดยืนของตนเองกันคนละก้าว แล้วมาเดินบนเส้นทางใหม่พร้อมกัน ทำให้เห็นแนวทางชัดเจนขึ้น ซึ่งจากโครงการนี้ ด้วยความร่วมมือกันทำให้ Solution ที่ออกแบบไว้ประสบความสำเร็จได้เร็วและไกลกว่าที่คาดกันไว้ตั้งแต่ต้น”
รับชมวิดีโองานสัมมนา “ต่อยอดธุรกิจด้วยการออกแบบตามหลักคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน”