8 พฤษภาคม 2566
สภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) จัดงานแถลงข่าว “เปิดผลทดสอบหมวกกันน็อก ยี่ห้อไหนได้มาตรฐาน?” นำเสนอผลทดสอบที่ได้จากโครงการ “การออกแบบ พัฒนาเกณฑ์ประเมิน และทดสอบหมวกนิรภัยรถจักรยานยนต์” ภายใต้ความร่วมมือของสภาผู้บริโภค และเอ็มเทค สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยมีตัวแทนจากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน และสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) ร่วมแถลงข่าวด้วย โดยจากการทดสอบหมวกกันน็อกจำนวน 25 ตัวอย่าง พบว่ามี 11 ตัวอย่างที่ตกมาตรฐาน ทั้งยังพบปัญหาเรื่องการแสดงสัญลักษณ์มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) โดยไม่มีคิวอาร์โค้ด (QR Code) ควบคู่ด้วย ทั้งนี้ มีข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไข มี 4 ข้อถึงหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ทั้งการเร่งตรวจสอบซ้ำและนำหมวกกันน็อกที่ไม่ผ่านมาตรฐานออกจากท้องตลาด การพัฒนาหลักสูตรการอบรมขอรับใบอนุญาตขับขี่ การให้ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับหมวกนิรภัย และเสนอให้ผู้ผลิตระบุขนาดศีรษะที่เหมาะสมสำหรับหมวกนิรภัยแต่ละใบ ทั้งบนตัวผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้ผู้ใช้งานทราบ
เศรษฐลัทธ์ แปงเครื่อง นักวิชาการจากทีมวิจัยเทคโนโลยียานยนต์และการขับขี่ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ ระบุว่า จากการสุ่มซื้อหมวกนิรภัยสำหรับผู้ใช้รถจักรยานยนต์ หรือหมวกกันน็อกในท้องตลาด ทั้งจากห้างสรรพสินค้า ร้านตัวแทนจำหน่ายหมวกนิรภัย และร้านค้าออนไลน์ เช่น Shopee Lazada และนำไปทดสอบในห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองจาก สมอ. พบว่ามีหมวกกันน็อกที่ไม่ผ่านมาตรฐาน 11 ตัวอย่าง จากหมวกกันน็อกที่ทดสอบทั้งหมด 25 ตัวอย่าง แบ่งเป็นหมวกกันน็อกแบบครึ่งใบ ไม่ผ่านมาตรฐาน 3 จาก 6 ตัวอย่าง แบบเต็มใบเปิดหน้า ไม่ผ่านมาตรฐาน 2 จาก 4 ตัวอย่าง แบบเต็มใบปิดหน้าป้องกันคาง ไม่ผ่านมาตรฐาน 1 จาก 6 ตัวอย่าง แบบเต็มใบปิดหน้าป้องกันคาง ผ่านมาตรฐานทั้ง 2 ตัวอย่าง แบบเต็มใบปิดหน้าไม่ป้องกันคาง ผ่านมาตรฐานทั้ง 2 ตัวอย่าง และหมวกกันน็อกสำหรับเด็ก ไม่ผ่านมาตรฐานทั้ง 5 ตัวอย่าง
เศรษฐลัทธ์ กล่าวต่อไปว่า ข้อมูลจากการทดสอบในครั้งนี้ นอกจากจะทำให้ผู้บริโภคได้ทราบว่าหมวกกันน็อกรุ่นไหนผ่านหรือไม่ผ่านมาตรฐานแล้ว ผู้บริโภคยังสามารถเทียบราคากับคุณภาพได้ โดยดูจากคะแนน ซึ่งคะแนนเต็ม 5 หมายถึง ดีที่สุด และน้อยลงไปตามลำดับ จนถึงคะแนน 0 ซึ่งหมายถึง แย่ที่สุด ทั้งนี้ เกณฑ์การให้คะแนนหมวกกันน็อกดังกล่าว คำนวณมาจากการทดสอบและประเมินเรื่องความปลอดภัยที่แบ่งได้เป็น 3 หัวข้อ ได้แก่ ความสามารถในการปกป้องเมื่อเกิดอุบัติเหตุ (Passive Safety) ความสามารถในการป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ (Active Safety) และความพึงพอใจในการสวมใส่และใช้งาน (Comfort and Fitting) โดยอ้างอิงจากวิธีการทดสอบของ สมอ.
อย่างไรก็ตาม นักวิชาการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่น่ากังวลคือ หมวกกันน็อกทุกตัวอย่างที่นำมาทดสอบมีเครื่องหมาย มอก. แต่ข้อมูลที่ได้จากการทดสอบหมวกกันน็อกบางตัวอย่างไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานที่สมอ. กำหนด นอกจากนี้ ยังพบปัญหาเรื่องการแสดงสัญลักษณ์ มอก. โดยไม่มีคิวอาร์โค้ดควบคู่ ซึ่งมีความผิดตามกฎหมายและมีหมวกกันน็อก 1 ตัวอย่างที่มีสัญลักษณ์ มอก. คู่กับคิวอาร์โค้ด แต่เมื่อสแกนแล้วกลับเชื่อมต่อไปยังไลน์ของบริษัทแทนที่จะเป็นฐานข้อมูลรายละเอียดของสินค้าและผู้ผลิตตามที่ สมอ. กำหนด
สำหรับข้อแนะนำในการเลือกซื้อและใช้งานหมวกกันน็อก เศรษฐลัทธ์ ระบุว่า หากกล่าวในเชิงผลการทดสอบเชิงคุณภาพ การสวมหมวกกันน็อกแบบเต็มใบปิดหน้าจะสามารถป้องกันการบาดเจ็บที่จะเกิดขึ้นกับศีรษะได้ดีกว่าแบบเปิดหน้า อย่างไรก็ตาม ในการใช้งานจริงแต่ละคนอาจมีข้อจำกัดหรือเงื่อนไขอื่น ๆ เช่น การระบายความร้อน ความสะดวกในการใช้งานและการหายใจ รวมถึงด้านราคา จึงเป็นสาเหตุของการออกแบบเกณฑ์การให้คะแนนสำหรับหมวกกันน็อกเพื่อให้ผู้บริโภคมีข้อมูลที่น่าเชื่อถือและเข้าใจง่ายเพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกหมวกแบบต่าง ๆ ตามความต้องการ ทั้งนี้ ไม่ควรเลือกซื้อหรือใช้งานหมวกกันน็อกที่มีอายุมากกว่า 5 ปี เพราะตามคำแนะนำของบริษัทผู้ผลิตและจากรายงานผลการศึกษาในประเทศไทย หมวกกันน็อกแต่ละใบมีอายุการใช้งานสูงสุดไม่เกิน 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ผลิต
สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า สภาผู้บริโภคขอชื่นชมผู้ประกอบการที่ดีและให้ความสำคัญกับคุณภาพของสินค้า ส่วนหมวกนิรภัยจำนวน 11 ตัวอย่างที่ไม่ผ่านการทดสอบ โดยเฉพาะหมวกนิรภัยสำหรับเด็กที่ไม่ผ่านทุกตัวอย่าง สภาผู้บริโภคขอให้ สมอ. เร่งตรวจสอบหมวกนิรภัยที่ไม่ผ่านการทดสอบอีกครั้ง และหากพบว่าหมวกนิรภัยเหล่านั้นไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ขอให้ สมอ. บังคับใช้กฎหมายและนำออกจากท้องตลาดโดยเร็ว รวมถึงเปรียบเทียบปรับผู้ประกอบการที่กระทำผิดกฎหมาย
“ผลการทดสอบครั้งนี้จะช่วยทำให้ผู้บริโภคมีข้อมูลที่เพียงพอ และเป็นประโยชน์ในการตัดสินใจเลือกซื้อหมวกนิรภัยมาสวมใส่ ซึ่งการทดสอบในกรณีนี้เป็นหนึ่งในบทบาทของสภาผู้บริโภค ที่สามารถเปิดเผยชื่อสินค้าและชื่อของผู้ประกอบการเพื่อช่วยคุ้มครองผู้บริโภคจากผู้ประกอบการที่เอารัดเอาเปรียบได้ ขณะเดียวกันผู้ประกอบการที่ถูกเปิดเผยจะมีการปรับปรุง ปรับแก้ไขสินค้าของตัวเองให้ดีขึ้น มีมาตรฐานขึ้นได้ และหากผู้ประกอบการรายใดทำดีอยู่แล้ว ผู้บริโภคก็ควรที่จะส่งเสริมและชื่นชม” สารี กล่าว
ทั้งนี้ การจัดทดสอบสินค้าและบริการ เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของสภาผู้บริโภคที่ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นผู้แทนผู้บริโภค มีอำนาจคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคในทุกด้าน และสามารถเสนอแนะนโยบายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคต่อคณะรัฐมนตรีหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจากผลทดสอบหมวกนิรภัยที่ออกมาครั้งนี้ สภาผู้บริโภคได้มีข้อเสนอแนะให้กับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปผลักดันเป็นมาตรการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค 4 ข้อ ดังนี้
1. ขอให้ สมอ. บังคับใช้กฎหมาย นำหมวกนิรภัยที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานออกจากตลาดโดยเร็ว และมีมาตรการเปรียบเทียบปรับผู้ประกอบการที่กระทำผิดต่อกฎหมาย
2. ขอให้กรมการขนส่งทางบก ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงสาธารณสุข ยกระดับมาตรฐานการออกใบอนุญาตขับขี่ที่มีคุณภาพ และผลักดันความรู้วิธีการในการเลือกหมวกนิรภัยและการสวมใส่ให้ถูกวิธีในหลักสูตรการอบรมขอรับใบอนุญาตขับขี่
3. ขอให้ผู้ผลิตและผู้แทนจำหน่ายรถจักรยานยนต์ จัดสถานที่และบริการฝึกปฏิบัติทักษะการขับขี่อย่างปลอดภัย โดยเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับหมวกนิรภัย เช่น การวัดขนาด การเลือก และการสวมใส่ที่เหมาะสม โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายอย่างครอบคลุมทุกพื้นที่
และ 4. สนับสนุนให้ผู้ผลิตระบุขนาดศีรษะที่เหมาะสมสำหรับหมวกนิรภัยแต่ละใบ ทั้งบนตัวผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้ผู้ใช้งานทราบ
นายแพทย์อนุชา เศรษฐเสถียร ประธานอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาผู้บริโภค กล่าวว่า ประเทศไทยรับหลักการข้อตกลงข้อมติสมัชชาใหญ่สหประชาชาติที่ 74/299 ‘ประกาศทศวรรษแห่งความปลอดภัย ทางถนน ในปี ค.ศ. 2021 – 2030’ (Decade of Action for Road Safety 2021 – 2030) และได้ประกาศออกมาแล้วว่า จำนวนผู้เสียชีวิตบนท้องถนนในประเทศจะต้องลดลงให้ได้เกินครึ่งหนึ่งภายในปี พ.ศ. 2570 เหลือเพียงประมาณ 8,000 ราย จากสถิติอุบัติเหตุของปี พ.ศ. 2565 มีจำนวนผู้เสียชีวิตประมาณ 16,000 – 17,000 ราย อย่างไรก็ตามร้อยละ 80 ของยอดผู้เสียชีวิตในปีที่ผ่านนั้นส่วนใหญ่เกิดจากการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุด้วยรถจักรยานยนต์ จากการเก็บข้อมูลของนักวิชาการอย่างต่อเนื่อง พบว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้เสียชีวิตเกิดจากการไม่สวมใส่หมวกนิรภัยหรือหมวกกันน็อก โดยคนไทยที่เป็นผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สวมหมวกนิรภัยเพียงร้อยละ 40 – 50 เท่านั้น
“ที่น่าตกใจ คือ ผลการเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์มีความแตกต่างกัน โดยคนที่ไม่สวมหมวกกันน็อกเสียชีวิตมากกว่าคนที่สวมหมวกถึงร้อยละ 40 แปลว่าถ้าบังคับให้คนสวมหมวกกันน็อกมากขึ้นเท่าไร ยอดการเสียชีวิตโดยรวมของไทยน่าจะลดลงได้อย่างรวดเร็ว” นายแพทย์อนุชา กล่าว
นายแพทย์อนุชา กล่าวอีกว่า การบังคับให้ทุกคนสวมหมวกนิรภัย เป็นกุญแจสำคัญที่จะลดการบาดเจ็บและการเสียชีวิตบนท้องถนนได้ แต่การพิสูจน์ให้ได้ว่าทุกคนจะได้สวมหมวกนิรภัยที่มีมาตรฐาน มีคุณภาพ และสามารถสวมใส่ได้อย่างถูกต้อง จึงเป็นเรื่องสำคัญที่กลายเป็นโจทย์ที่ท้าทายและเร่งด่วนมากในขณะนี้
นายแพทย์ธนะพงศ์ จินวงษ์ นักวิชาการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) กล่าวถึงระบบการสุ่มตรวจของ สมอ. ว่า การเข้าไปสุ่มตรวจการผลิตหลังจากวางจำหน่ายหมวกนิรภัยแล้ว (Post – Marketing) ในแต่ละโรงงานของ สมอ. น่าจะเป็นไปตามหลักวิชาการอยู่แล้ว แต่ สมอ. ควรทบทวนและพิจารณาการสุ่มตรวจหลังจากออกจากโรงงานและนำไปจำหน่ายตามท้องตลาดหรือการวางขายในออนไลน์อีกชั้นหนึ่งควบคู่กับการตรวจโดยปกติ เพื่อความรัดกุมมากยิ่งขึ้น
“การสุ่มตรวจที่โรงงานเพียงอย่างเดียวอาจเป็นไปได้ว่าผู้ผลิตทราบล่วงหน้าว่าจะถูกสุ่มตรวจจึงอาจมีการคัดเลือกหมวกนิรภัยที่มั่นใจว่าจะผ่านเกณฑ์มาวางไว้ในโรงงานเพื่อให้หน่วยงานสุ่มตรวจ ยกตัวอย่างเช่น ในการตรวจสภาพรถ ปกติจะมีการตรวจสภาพรถตามที่ต้องตรวจตามกฎหมายอยู่แล้ว แต่หน่วยงานก็จะมีการสุ่มตรวจตามท้องถนนเพิ่มขึ้นมาเพื่อเพิ่มความมั่นใจในเรื่องความปลอดภัย” นายแพทย์ธนะพงศ์ กล่าว
ทั้งนี้ ด้วยข้อจำกัดเรื่องงบประมาณของ สมอ. จึงทำให้การสุ่มตรวจถูกจำกัดอยู่เพียงในส่วนของโรงงานเท่านั้นและยังถูกจำกัดเพียงการสุ่มตรวจหมวกนิรภัยได้บางประเภทเท่านั้น ดังนั้น ภาครัฐควรกลับมามองเชิงระบบและควรมีการวางกรอบงบประมาณให้เพียงพอเพื่อให้สามารถสุ่มตรวจทั้งในโรงงานและจากท้องตลาดได้ด้วย และหากมีงบประมาณที่เพียงพอเชื่อว่า สมอ. จะสามารถออกแบบระบบการตรวจผลิตภัณฑ์ได้ครอบคลุมมากขึ้นกว่านี้ได้ นอกจากนี้ การที่ สมอ. กำหนดให้ เครื่องหมายมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) ต้องมีเครื่องหมายคิวอาร์โค้ด (QR Code) ประกบอยู่ควบคู่กันนั้นเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคอย่างมาก เนื่องจากทำให้ทราบถึงข้อมูลของผู้ผลิตและข้อมูลการผลิตได้ และเห็นว่าในปัจจุบันการทำให้สินค้ามีระบบคิวอาร์โค้ดจะเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคได้มากทีเดียว
นายแพทย์ธนะพงศ์ กล่าวอีกว่า นอกจากการสุ่มตรวจข้างต้น หน่วยงานควรต้องมีการตรวจหมวกนิรภัยในลักษณะอื่น ๆ เพิ่มเติมด้วย เช่น กรณีมีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต และพบว่ามีการใส่หมวกนิรภัยร่วมด้วยแล้ว รวมถึงอุปกรณ์ของหมวกนิรภัยไม่ได้มีการแตกหักมากแต่อย่างใด ประกอบกับหากประเมินแล้วว่าเมื่อเกิดอุบัติเหตุไม่ได้มีความรุนแรงมาก แต่ทำไมถึงยังได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต รวมถึงควรมีการสุ่มตรวจหมวกนิรภัยที่มีผู้ต้องการจะนำไปบริจาคโดยผ่านการสั่งผลิตเป็นล็อตใหญ่ ๆ หรือการขายรถแถมหมวกนิรภัย เป็นต้น
นักวิชาการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ระบุทิ้งท้ายอีกว่า การที่ในต่างประเทศมีการส่งเสริมการใช้หมวกนิรภัยได้เป็นอย่างดี โดยพื้นฐานของประเทศเหล่านั้นจะมีความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย เช่น ในเวียดนาม จะมีการระบุในกฎหมายว่าผู้ที่ขับขี่รถจักรยานยนต์จะต้องมีหมวกนิรภัยด้วย และหากเจ้าหน้าที่ตำรวจพบว่าไม่ได้สวมหมวกนิรภัยครั้งที่สองขึ้นไปจะมีค่าปรับที่สูงมากเมื่อเทียบกับรายได้ขั้นต่ำ และบางรายถึงอาจถูกเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์ได้ ดังนั้น คนในประเทศจึงให้ความสำคัญมากกับการสวมหมวกนิรภัยเป็นอย่างมาก และหากในไทยมีการบังคับใช้ที่เข้มงวดและรณรงค์อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการทำให้ผู้ขับขี่มั่นใจในคุณภาพของหมวกนิรภัยว่าสวมใส่ไปแล้วจะมีความปลอดภัย คาดว่าจะทำให้ความสูญเสียบนท้องถนนลดลงได้อย่างมาก
ชัญญา สุทธจินดา นักวิชาการมาตรฐานชำนาญการพิเศษ ผู้แทนจาก สมอ. อธิบายว่า สมอ. มีระบบตรวจติดตามหมวกกันน็อกหลังจากออกใบอนุญาต โดยก่อนหน้านี้จะมีทั้งการสุ่มตรวจตัวอย่างจากท้องตลาดในลักษณะเดียวกับที่เอ็มเทคทำ และสุ่มตรวจสอบหมวกกันน็อกที่โรงงานผู้ผลิต และสุ่มเก็บมาทดสอบทุกรายการด้วย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันติดปัญหาเรื่องงบประมาณจึงมีเพียงการสุ่มตัวอย่างจากที่โรงงานเท่านั้น ทั้งนี้ สมอ. จะมีการตรวจสอบหมวกกันน็อกรุ่นที่ไม่ผ่านมาตรฐานตามข้อมูลผลทดสอบของสภาผู้บริโภคและเอ็มเทคอีกครั้งหนึ่ง และจะเร่งนำผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐานออกจากท้องตลาด เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคต่อไป
สำหรับเรื่องสัญลักษณ์ มอก. นั้น ชัญญา ยืนยันว่า สัญลักษณ์ มอก. ต้องแสดงควบคู่กับคิวอาร์โค้ด ซึ่งเมื่อสแกนแล้วจะเชื่อมไปยังฐานข้อมูลของ สมอ. ทำให้ผู้บริโภคทราบถึงรายละเอียดของสินค้า ชื่อผู้ผลิต ผู้นำเข้า และข้อมูลอื่น ๆ ตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดลักษณะ การทำ วิธีแสดง และการใช้เครื่องหมายมาตรฐานกับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2563 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2564 หากผู้รับใบอนุญาตรายใดฝ่าฝืน ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 3 แสนบาท
“สำหรับผู้บริโภคที่ต้องการเลือกซื้อหมวกกันน็อก สิ่งแรกที่อยากให้สังเกตคือมีสัญลักษณ์ มอก. คู่กับคิวอาร์โค้ดหรือไม่ หากมี มอก. แต่ไม่มีคิวอาร์โค้ดก็ไม่ควรซื้อ เนื่องจากเป็นสินค้าที่ถือว่าผิดกฎหมาย นอกจากนี้ อาจจะลองสแกนคิวอาร์โค้ดดูว่าเชื่อมต่อไปที่ฐานข้อมูลของสมอ. หรือไม่ ซึ่งปกติจะมีข้อมูลเกี่ยวกับตัวสินค้า ผู้ผลิตหรือผู้จัดจำหน่าย เพื่อความมั่นใจ หากพบเห็นสินค้าที่ไม่มี มอก. หรือมีสัญลักษณ์ มอก. แต่ไม่มีคิวอาร์โค้ด สามารถแจ้ง สมอ. ได้ที่… โดย สมอ. จะมีสินบนนำจับให้กับผู้ที่แจ้งเบาะแสด้วย” ผู้แทนจาก สมอ. กล่าวทิ้งท้าย