วันที่ 10 ตุลาคม 2567
กรุงเทพมหานคร
สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ชี้อุตสาหกรรมนอนวูฟเวนในตลาดโลกโตแรงไม่หยุดกว่า 8.7% ต่อปี โดยไทยเป็นผู้นำตลาดนอนวูฟเวนระดับภูมิภาค มีส่วนแบ่งตลาดสูงถึง 48% จึงเล็งเห็นโอกาสดันไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกอุตสาหกรรมนอนวูฟเวนของภูมิภาค โดยร่วมกับสมาคมการค้าอุตสาหกรรมผ้านอนวูเว่นไทย และ MGT Expo Planning and Management Ltd, Baobab Tree Event Management Co. Ltd. และ Tradelink Co. Ltd. จัดงาน “Asia Nonwovens Technology Expo 2024” หรือ ANTEX Asia 2024 มหกรรมแสดงสินค้าและการประชุมนานาชาติด้านนอนวูฟเวนในประเทศไทยและยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทางเทคโนโลยี ความร่วมมือระหว่างประเทศ และสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ พร้อมชูไฮไลต์นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อตอบรับกระแสการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมี ดร.ณัฐภพ สุวรรณเมฆ นักวิจัยทีมวิจัยสิ่งทอ (TETT) กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีโพลิเมอร์ขั้นสูง (APT) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) เข้าร่วมภายในงาน
ดร.ชาญชัย สิริเกษมเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอแห่งประเทศไทย (THTI) กล่าวว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยกำลังปรับตัวก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ที่เน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงและมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ตัวอย่างที่ชัดเจนในการปรับตัวตามทิศทางนี้ คือ อุตสาหกรรมนอนวูฟเวน (Nonwoven Fabric) ซึ่งเป็นหนึ่งในนวัตกรรมสิ่งทอที่ไม่ใช้กระบวนการถักหรือทอเส้นใยผ้าแบบดั้งเดิม แต่ใช้เทคโนโลยีทำให้เส้นใยเรียงต่อกันเป็นผ้าผืน มีทั้งที่ทำจากเส้นใยธรรมชาติหรือทำจากโพลีเอสเตอร์ซึ่งกำลังได้รับความนิยมอย่างมาก เนื่องจากมีกระบวนการผลิตที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน ช่วยลดเวลาและต้นทุนในการผลิต อีกทั้งยังมีคุณสมบัติพิเศษทั้งในด้านความทนทาน กันน้ำ น้ำหนักเบา สามารถนำไปผลิตเป็นสินค้าได้หลากหลาย ทั้งในอุตสาหกรรมการแพทย์ ยานยนต์ การเกษตร สุขอนามัย ฯลฯ ที่รู้จักกันดี เช่น หน้ากากอนามัย ชุด PPE ผ้าอ้อม แผ่นกรอง ที่สำคัญ
ยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จัดเป็นอุตสาหกรรมดาวเด่น อนาคตไกล ซึ่งเติบโตอย่างรวดเร็วทั้งในประเทศไทย
และในตลาดโลก โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา มีมูลค่าในตลาดโลกสูงถึง 50.33 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนในปี 2567 นี้ คาดว่าจะเติบโตถึง 54.27 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะมีมูลค่าถึง 148.87 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2579 ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยมากกว่า 8.7% ต่อปี 1
ปัจจุบัน ประเทศไทยเป็นผู้นำตลาดนอนวูฟเวนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีส่วนแบ่งตลาดสูงถึง 48% และกำลังการผลิตสูงถึง 162,000 ตันต่อปี อีกทั้งไทยยังเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งคาดการณ์ว่าผลิตได้เกิน 1.7 ล้านคันต่อปี 2 ซึ่งใช้นอนวูฟเวนเป็นวัตถุดิบในการผลิต ยิ่งตอกย้ำถึงตลาดที่มีขนาดใหญ่และดีมานด์สูงในประเทศไทย
ดร.ชาญชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า สถาบันสิ่งทอฯ เล็งเห็นโอกาสและความพร้อมของประเทศไทย จึงมีมาตรการส่งเสริมการค้าและการลงทุนในอุตสาหกรรมนอนวูฟเวน และมีนโยบายที่จะผลักดัน ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ จึงร่วมกับหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องจัดงาน Asia Nonwovens Technology Expo หรือ ANTEX Asia 2024 ซึ่งเป็นมหกรรมแสดงสินค้า เทคโนโลยีและนวัตกรรมของอุตสาหกรรมนอนวูฟเวนที่ครบวงจรในประเทศไทยและใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยนอกจากจะแสดงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมล่าสุดในอุตสาหกรรมนอนวูฟเวนแล้ว ยังเป็นเวทีกลางที่เปิดโอกาสให้ผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย ลูกค้า ผู้สนใจในเทคโนโลยี นวัตกรรม ผู้เชี่ยวชาญ และพันธมิตรทางธุรกิจจากทั่วโลกได้มีโอกาสมาพบกันเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ เจรจาแลกเปลี่ยนทางธุรกิจ การค้า การลงทุน และสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ โดยมีไฮไลต์สำคัญอยู่ที่ การแสดงจุดยืนของผู้ประกอบการในการร่วมส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนของอุตสาหกรรมนอนวูฟเวนด้วยการพัฒนานวัตกรรมและใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การใช้วัตถุดิบรีไซเคิล ส่งเสริมแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน และการผลิตผลิตภัณฑ์ที่สามารถรีไซเคิลหรือย่อยสลายทางชีวภาพได้ ซึ่งจะช่วยลดปริมาณขยะและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ด้าน นายนิวัติ เลิศนิมิตธรรม นายกสมาคมการค้าอุตสาหกรรมผ้านอนวูเว่นไทย กล่าวว่า อุตสาหกรรมนอนวูฟเวนเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูง น่าจับตา มีมูลค่ามหาศาลในตลาดโลก และมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยมีปัจจัยสำคัญมาจาก การขยายตัวของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น อุตสาหกรรมการแพทย์ สุขอนามัย ยานยนต์ รวมถึงกระแสเรื่องความยั่งยืนที่ทำให้ทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น ผ้านอนวูฟเวนที่ทำจากวัสดุชีวภาพ ใช้วัสดุรีไซเคิลและย่อยสลายได้ตามธรรมชาติจึงได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะช่วยลดปัญหาขยะพลาสติกและส่งเสริมแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งหากส่งเสริมให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการผลิต และส่งออกของอุตสาหกรรมนอนวูฟเวนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้จะก่อให้เกิดประโยชน์มหาศาลไม่ว่าจะเป็นการเติบโตทางเศรษฐกิจจากการลงทุนที่เพิ่มขึ้น การส่งออกที่ขยายตัว การพัฒนาอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง รวมถึงยังช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ของการเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมในภูมิภาค
ซึ่งประเทศไทยเองมีศักยภาพและความพร้อมในหลายด้าน เนื่องจากเป็นฐานการผลิตที่แข็งแกร่ง มีแรงงานที่มีทักษะและประสบการณ์ มีต้นทุนการผลิตที่แข่งขันได้ อีกทั้งยังมีความได้เปรียบในด้านภูมิศาสตร์ซึ่งเป็นทำเลยุทธศาสตร์ที่เอื้อต่อการขยายธุรกิจในระดับสากล การจัดงาน ANTEX Asia 2024 ในครั้งนี้ จึงถือเป็นโอกาสสำคัญที่จะแสดงศักยภาพและความพร้อมของประเทศไทยให้ปรากฏสู่สายตานานาชาติ เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ดึงดูดการลงทุน และการแลกเปลี่ยนนวัตกรรมและเทคโนโลยีจากผู้ประกอบการและผู้ซื้อจากทั่วโลก
ด้าน ดร.ดวงเด็ด ย้วยความดี ผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรมการแสดงสินค้านานาชาติ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. กล่าวว่า สสปน. มุ่งมั่นปฏิบัติภารกิจที่จะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางในการจัดงานเชิงธุรกิจ หรืออุตสาหกรรมไมซ์ (MICE) โดยเฉพาะการจัดงานแสดงสินค้านานาชาติ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อมให้เติบโตขึ้น ไม่ว่าจะเป็นจากการใช้จ่ายของนักธุรกิจที่เดินทางเข้ามาเพื่อร่วมงาน การเจรจาธุรกิจและการตกลงซื้อขาย หรือการจ้างงานที่เกิดขึ้นระหว่างการจัดงาน
นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสไปสู่การพัฒนาในด้านอื่นๆ เช่น การใช้งานแสดงสินค้าเป็นแพลตฟอร์มที่ขับเคลื่อนนวัตกรรม เช่น การแลกเปลี่ยนความรู้ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี การสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างประเทศ อีกทั้งยังเป็นช่องทางในการประชาสัมพันธ์ประเทศไทยให้เป็นที่รู้จักในเวทีโลก ที่สำคัญยังเป็นกระจกสะท้อนศักยภาพและความพร้อมของประเทศ เพราะการที่มีผู้เข้ามาจัดงานสะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจด้านนั้นมีศักยภาพ มีกำลังการเติบโต เช่นเดียวกับงาน ANTEX Asia 2024 ที่จะทำให้บริษัทต่างชาติที่เข้ามามองเห็นศักยภาพประเทศไทย และมองเห็นลู่ทางและโอกาสการลงทุนในประเทศไทยในอนาคต
ด้าน คุณเกรซ มาร์ค ผู้ก่อตั้ง บริษัท MGT Expo Planning and Management Ltd. (MGT) หนึ่งในผู้จัดงานกล่าวว่า ภายในงาน ANTEX ASIA 2024 จะมีการจัดแสดงสินค้า เทคโนโลยี และนวัตกรรมล้ำสมัยจากบริษัทชั้นนำระดับโลก ครอบคลุมตั้งแต่วัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์ เครื่องจักร โซลูชัน ไปจนถึงเทคโนโลยีการผลิต โดยมีไฮไลต์สำคัญ คือ การมุ่งเน้นการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยจะนำเสนอผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่การใช้วัสดุรีไซเคิลและวัสดุที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ การใช้พลังงานสะอาด การจัดแสดงเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการผลิต และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติพิเศษที่ตอบโจทย์ความต้องการในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น ผ้านอนวูฟเวนที่มีคุณสมบัติพิเศษป้องกันไฟฟ้าสถิต กันน้ำ ทนไฟ และต้านเชื้อแบคทีเรีย เส้นใยดูดซับพิเศษที่สามารถดูดซับน้ำได้ถึง 200 เท่าของน้ำหนักตัวเอง ผ้านอนวูฟเวนที่ออกแบบมาเพื่อใช้งานเฉพาะทางในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ยานยนต์ การดูแลสุขภาพ และการกรอง รวมถึงนวัตกรรมการรีไซเคิลขยะจากโรงงาน
นอกจากนี้ ยังมีการจัดสัมมนาวิชาการ ANTEX Asia Nonwovens Conference 2024 ในหัวข้อ “การดูแลสุขภาพอย่างยั่งยืนและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วยวัสดุและผลิตภัณฑ์นอนวูฟเวน” โดยผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญมาร่วมแบ่งปันความรู้และประสบการณ์และให้ข้อมูลเชิงลึกที่เป็นประโยชน์ เช่น แนวโน้มและทิศทางของตลาดนอนวูฟเวนทั่วโลกและในเอเชีย พัฒนาการของการผลิตนอนวูฟเวน ในอุตสาหกรรมสุขภาพ บทบาทของนอนวูฟเวนในการสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน และนวัตกรรม และเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมงานได้ในวันที่ 13 – 15 พฤศจิกายน 2567 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค (BITEC) กรุงเทพฯ
ANTEX Asia 2024 จึงไม่ใช่แค่งานแสดงสินค้า แต่ยังเป็นเวทีสำคัญสำหรับผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมนอนวูฟเวนในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ อัพเดทเทรนด์เทคโนโลยีและนวัตกรรม ค้นหาพันธมิตรและความร่วมมือทางธุรกิจใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มโอกาสและความก้าวหน้าทางธุรกิจ สำหรับงานในครั้งนี้คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมจัดแสดงสินค้ามากกว่า 100 ราย จาก 10 ประเทศและภูมิภาค และมีผู้เข้าเยี่ยมชมงานประมาณ 4,000 ราย
ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานล่วงหน้าได้ที่ https://bit.ly/3X2LnyE และสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานได้ที่ www.antexasia.com
หมายเหตุถึงกองบรณาธิการ แหล่งที่มาข้อมูล
1 : http://researchnester.com/reports/nonwoven-fabrics-market/4808
2. https://www.bangkokpost.com/business/motoring/2836022/thailand-cuts-car-manufacturing-target-to-1-7m-in-2024
ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับสื่อมวลชนติดต่อ
เจซีแอนด์โค คอมมิวนิเคชั่นส์ – JC&CO COMMUNICATIONS –
พลอย พิมพ์ศิริ/ 089-477-9982 / ployp@jcco.co.th
** MEDIA HOTLINE: 02-634-4557 / 063 – 641-9549** (ฝ่ายสื่อมวลชนสัมพันธ์)