ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้เข้าร่วมจัดสัมมนา “องค์ความรู้อัจฉริยะด้านโลหการ” ในมหกรรม METALEX 2024 งานแสดงเครื่องจักรกลและเทคโนโลยีโลหการที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ภายใต้แนวคิด “The Masterpiece” หรือ “ผลงานชิ้นเอก” มีเป้าหมายเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ทั้งด้านเทคนิคและธุรกิจจากผู้เชี่ยวชาญในวงการโลหการและอุตสาหกรรมขั้นสูง โดยมี ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับเกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดงาน METALEX 2024 พร้อมกับงานสัมมนา Thailand Industrial Conference เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมหลากหลายภาคส่วนได้แลกเปลี่ยนความรู้และวิสัยทัศน์ ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 – 23 พฤศจิกายน 2567 ณ ฮอลล์ 98-104 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค
ในงานสัมมนา เอ็มเทค ร่วมกับโครงการสร้างเครื่องจักรต้นแบบด้วยกระบวนการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า ภายใต้สำนักงานปลัดกระทรวง อว. ได้จัดหัวข้อที่น่าสนใจหลากหลาย ไว้ให้ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งประกอบไปด้วย
1. คาร์บอนฟุตพริ้นต์ การประเมินวัฏจักรผลิตภัณฑ์ และกลยุทธ์การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล โดย คุณณัฐวีร์ พงศ์อาจารย์ บริษัท แพลนเน็ตซี จำกัด
มุ่งเน้นเพื่อให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับ carbon footprint ในอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล การประเมินวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ (LCA; Life Cycle Assessment) เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบจนถึงการรีไซเคิล และปรับปรุงการผลิตให้มีความยั่งยืนมากขึ้น กลยุทธ์การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตั้งแต่ การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การใช้พลังงานหมุนเวียน และการใช้เทคโนโลยีทันสมัย รวมถึงกรณีศึกษาจากบริษัทที่ประสบความสำเร็จ
2. การจัดการขยะแบตเตอรี่อย่างถูกวิธี เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการเกิดก๊าซเรือนกระจก Ffp
โดย คุณณัฐวีร์ พงศ์อาจารย์ บริษัท แพลนเน็ตซี จำกัด
ความสำคัญของการจัดการขยะแบตเตอรี่อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในด้านการปกป้องสิ่งแวดล้อมและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยจะกล่าวถึงผลกระทบที่ขยะแบตเตอรี่มีต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การปนเปื้อนของสารเคมีและโลหะหนัก เจาะลึกถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตแบตเตอรี่และการลดปริมาณการผลิตใหม่ผ่านการรีไซเคิลและการใช้แบตเตอรี่อย่างยั่งยืน แนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลและการสนับสนุนการใช้แบตเตอรี่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว
3. แนวทางการจัดการขยะแบตเตอรี่ในประเทศไทยด้วยหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน โดย คุณสุวัฒน์ สูงเลิศส่งฟ้า ผู้จัดการฝ่ายนวัตกรรมสิ่งแวดล้องและคอร์บอนโซลูชั่นส์ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
การจัดการขยะแบตเตอรี่จากยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย มีแนวโน้มจะมีปริมาณมากขึ้นและอาจสะสมจนก่อให้เกิดปัญหาด้านการบริหารจัดการขยะเฉพาะกลุ่มดังกล่าวได้หากไม่มีการเตรียมความพร้อมในการรับมืออย่างเหมาะสม การบรรยายในหัวข้อแนวทางการจัดการขยะแบตเตอรี่ในประเทศไทยด้วยหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน นำเสนอข้อมูลเชิงเทคนิคที่เป็นประโยชน์สำหรับการนำไปประยุกต์ใช้เพื่อการสื่อสารในกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง และอาจนำไปสู่การมีส่วนร่วมในการบรรเทาปัญหาขยะแบตเตอรี่ได้ในอนาคต
4. Solar hybrid system is coming ระบบโซลาร์ไฮบริดกับโอกาสที่เปิดกว้าง
โดย ดร. เอกสิทธิ์ วันสม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยโซลาร์เวย์ จำกัด
ตั้งแต่ปี 2567 เราจะเริ่มเห็นการมาของระบบ ESS ทั้งในตลาด บ้าน และตลาด C&I (commercial and industrial) มากขึ้น เพราะราคา battery ที่ลดต่ำลง และราคาค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นในระบบ grid ของการไฟฟ้า ซึ่ง self-consumption จากการติดตั้ง solar PV จะมากกว่าแค่ช่วงเวลากลางวัน และการติดตั้งระบบ on grid ไปสู่การมีระบบ ESS ไว้ทำ function ต่าง ๆ ให้เข้ากับพฤติกรรมผู้ใช้แต่ละคน แต่ละครัวเรือน แต่ละอุตสาหกรรม หรือธุรกิจต่าง ๆ มากขึ้น
งาน METALEX 2024 มหกรรมเครื่องจักรกลและเทคโนโลยีโลหการของอาเซียน สามารถช่วยให้ผู้ประกอบการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ไปใช้พัฒนาธุรกิจของตนเอง เพื่อให้ตอบโจทย์ที่ซับซ้อนในโลกยุคปัจจุบัน การจัดงานในปีนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 38 ภายใต้แนวคิด “The Masterpiece” หรือ “ผลงานชิ้นเอก” นำเสนอนวัตกรรมใหม่ที่เป็นผลงานชิ้นเอก กว่า 3,000 แบรนด์ จาก 50 ประเทศ 21 พาวิลเลียนนานาชาติ จาก 8 ประเทศและเขตปกครองพิเศษ ได้แก่ เกาหลีใต้ เยอรมนี จีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) สิงคโปร์ อิตาลี และอินเดีย ที่จะมาช่วยยกระดับการผลิต ให้นักอุตสาหกรรมได้สร้างผลงานชิ้นเอกให้กับธุรกิจตน คาดว่าจะมีผู้เข้าชมงานไม่น้อยกว่า 100,000 คน และมีมูลค่าการลงทุนที่เกิดขึ้นในการเจรจาธุรกิจในงาน มากกว่า 7,000 ล้านบาท ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง www.metalex.co.th