เทคโนโลยีวัสดุศาสตร์อาหาร
สัมภาษณ์โดย ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ
ถอดบทสัมภาษณ์โดย อรวรรณ สัมฤทธิ์เดชขจร
รายการก่อ กอง science ครั้งนี้จะชวนคุยเกี่ยวกับเทคโนโลยีวัสดุศาสตร์อาหาร ผู้ที่จะให้ความรู้กับคุณผู้อ่านเป็นหัวหน้าทีมวิจัยวัสดุศาสตร์อาหาร กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีโพลิเมอร์ขั้นสูงของเอ็มเทค ดร.นิสภา ศีตะปันย์
ถาม : ปัจจุบันเอ็มเทคมีการศึกษาวิจัยด้านอาหาร ซึ่งอาจทำให้คนภายนอกแปลกใจเพราะคำว่า ‘วัสดุ’ ชวนให้นึกถึงโลหะ เซรามิก พลาสติก ยาง อยากให้เล่าว่างานวิจัยด้านวัสดุศาสตร์อาหารมีจุดเริ่มต้นมาอย่างไรครับ?
ตอบ:
เนื่องจากผู้บริหารเห็นความสำคัญของอุตสาหกรรมอาหารในประเทศไทย และมีแนวคิดว่าสมบัติการไหลหรือการเสียสภาพของอาหารมีความสำคัญ ทั้งยังส่งผลต่อเนื้อสัมผัสในแง่ความพึงพอใจของผู้บริโภค รวมถึงกระบวนการผลิตด้วย
ผู้บริหารจึงได้รวบรวมนักวิจัยที่มีความรู้ด้านรีโอโลยี (rheology) และกลศาสตร์ (mechanics) โดยปรับงานวิจัยจากที่เน้นวัสดุโพลิเมอร์ไปเป็นอาหาร เอ็มเทคมีนักวิจัยที่ทำในช่วงเริ่มต้นจำนวน 4 คน ได้แก่ ดิฉัน ดร.อศิรา เฟื่องฟูชาติ ดร.ภาวดี เมธะคานนท์ และ ดร.ชัยวุฒิ กมลพิลาส
ถาม : เมื่อจัดตั้งกลุ่มขึ้นมาแล้วก็ต้องมีทิศทางของงานวิจัย อยากทราบวิธีคิดในตอนนั้นว่ามองอนาคตเรื่องอาหารไว้อย่างไร และจะใช้ความรู้ด้านวัสดุศาสตร์มาประยุกต์ใช้ในแง่มุมไหนบ้างครับ?
ตอบ:
ตอนนั้นเราตระหนักถึงแนวโน้มการบริโภคของผู้บริโภค ซึ่งเกือบ 20 ปีมาแล้วที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ เช่น อาหารไขมันต่ำ เกลือต่ำ น้ำตาลต่ำ แต่ผู้บริโภคส่วนใหญ่จะรู้สึกว่าอาหารเพื่อสุขภาพไม่อร่อย เราจึงพยายามผลิตอาหารเพื่อสุขภาพให้มีเนื้อสัมผัสคล้ายกับอาหารปกติ ดังนั้น โครงการแรกๆ ที่เราวิจัยจึงเป็นอาหารประเภทปราศจากไขมันและโปรตีนกลูเตน
สำหรับอาหารไขมันต่ำเมื่อถูกดึงไขมันออก โดยเฉพาะไขมันสัตว์ที่มีคอเลสเตอรอลและไขมันอิ่มตัวค่อนข้างสูง เราต้องแทนที่ด้วยวัตถุดิบอื่นหรือองค์ประกอบอื่นที่มีสมบัติทดแทนไขมันได้ เช่น เสียสภาพได้ง่ายเมื่ออยู่ในปาก กักเก็บความชื้นได้ดี และให้ความรู้สึกสัมผัสนุ่มเมื่ออยู่ในปาก
ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ปราศจากกลูเตน เมื่อดึงกลูเตนออกจากผลิตภัณฑ์ประเภทแป้งสาลี เราก็จะต้องทดแทนวัตถุดิบอื่นหรือองค์ประกอบอื่นที่มีลักษณะหรือหน้าที่คล้ายกับโปรตีนกลูเตนที่มีโครงสร้างเป็น 3 มิติ เพื่อให้ลักษณะทางกายภาพของผลิตภัณฑ์และความรู้สึกในปากหรือการทดสอบการชิมมีลักษณะคล้ายคลึงกับผลิตภัณฑ์ดั้งเดิมมากที่สุด
ถาม : คำว่า “ไส้กรอกไขมันต่ำ” สามารถระบุเป็นตัวเลขได้ไหมครับว่าแค่ไหนถึงเรียกว่าไขมันต่ำ?
ตอบ:
ตามฉลากโภชนาการของกระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้ว่า ผลิตภัณฑ์ไขมันต่ำต้องมีปริมาณไขมันทั้งหมดไม่เกิน 3 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคอ้างอิง กรณีไส้กรอกไขมันต่ำ หนึ่งหน่วยบริโภคอ้างอิงเท่ากับ 55 กรัม แสดงว่าไส้กรอก 55 กรัม ต้องมีไขมันไม่เกิน 3 กรัม หรือคิดเป็น 5.45%
ไส้กรอกแฟรงเฟอร์เตอร์หมูมีไขมันต่ำกว่า 4 เท่า แต่ยังให้เนื้อสัมผัสที่ดีใกล้เคียงกับไส้กรอกสูตรเดิมที่มีไขมันสูงถึง 20%
จัดเป็นผลิตภัณฑ์ไขมันต่ำ
ถาม : วัตถุดิบอื่นที่ไปทดแทนไขมันให้ความรู้สึกใกล้เคียงกับไขมันหรือไม่ครับ?
ตอบ:
จริงๆ ก็ไม่เหมือนไขมันเสียทีเดียวค่ะ เพราะไขมันเป็นแหล่งของกลิ่นและรสชาติ (flavor) เนื่องจากกลิ่นและรสชาติที่ใส่ในไส้กรอกบางครั้งก็เป็นชนิดที่ละลายในไขมัน (oil soluble) จึงอาจไม่เหมือนเดิมเท่าไหร่ แต่สิ่งที่เราทำในห้องปฏิบัติการคือ ปรับเปลี่ยนกระบวนการและองค์ประกอบที่ใช้ทดแทนไขมันเพื่อให้ได้ทั้งเนื้อสัมผัสและรสสัมผัสในปากใกล้เคียงมากที่สุด เนื่องจากไขมันช่วยเพิ่มความฉ่ำน้ำ (juiciness) ดังนั้นตัวที่เราใช้ก็จะช่วยเพิ่มความชุ่มฉ่ำน้ำให้แก่ผลิตภัณฑ์ด้วยค่ะ
ถาม : อุตสาหกรรมจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเครื่องจักรกลที่ใช้ในกระบวนการหรือไม่ครับ?
ตอบ:
ในกรณีนี้ ไม่ค่ะ ในการทำงานร่วมกับบริษัทเอกชน สิ่งหนึ่งที่เราให้ความสำคัญคือ บริษัทต้องสามารถใช้เครื่องจักรที่มีอยู่เดิมในโรงงานได้ จะได้ไม่ต้องลงทุนซื้อเครื่องจักรใหม่ สิ่งที่เราทำคือการออกสูตรและการปรับเปลี่ยนกระบวนการ
ถาม : การแพ้กลูเตนเป็นปัญหาใหญ่ของคนตะวันตก สำหรับคนไทยประเด็นนี้เป็นปัญหาไหมครับ?
ตอบ:
เข้าใจว่าคนไทยไม่ได้บริโภคข้าวสาลีมากนัก แต่จะเน้นไปที่ข้าวเจ้ามากกว่า จึงยังไม่มีใครรู้ว่าเราแพ้เพราะอะไร หรืออาจไม่แพ้เพราะยังบริโภคในปริมาณน้อย แต่มีข้อมูลจากต่างประเทศว่ากลูเตนก่อให้เกิดอาการแพ้ การที่เรามุ่งที่ประเด็นนี้เพราะเป็นโจทย์วิจัยของบริษัทเอกชนที่ต้องการส่งออกแป้งสำเร็จรูป (premix) ที่ปราศจากกลูเตนไปต่างประเทศ ประกอบกับในระยะหลังคนไทยไปตรวจการแพ้กลูเตนมากขึ้นเมื่อเทียบกับสมัยก่อน บางครั้งเราก็จะเห็นจากเฟสบุ๊กหรืออินเทอร์เน็ตว่ามีคนแพ้กลูเตน
ถาม : ถ้าใช้แป้งสาลีปราศจากกลูเตนทำขนมปังหรือครัวซองต์ผลที่ได้เป็นอย่างไรครับ?
ตอบ:
ลักษณะทางกายภาพจะเสียไปเพราะกลูเตนมีโครงสร้าง 3 มิติที่ให้ความยืดหยุ่น เช่น เวลาทำโด (dough) ขนมปัง ถ้าไม่มีกลูเตนเราจะไม่สามารถทำเป็นก้อนโดที่ดึงยืดได้ ไม่สามารถรีดเป็นแผ่นบางๆ ได้
โครงสร้างของขนมปังทั่วไปเทียบกับขนมปังปราศจากกลูเตน และลักษณะของขนมปังปราศจากกลูเตนที่ทำจากแป้งข้าว
เราจะเห็นครัวซองต์ปกติเป็นชั้นๆ เพราะขั้นตอนการทำต้องรีดโดให้เป็นแผ่นบางๆ จากนั้นทาเนย พับ และทำซ้ำเช่นเดิมอีกหลายครั้งก่อนจะนำแป้งโดไปหมักเพื่อให้แป้งแต่ละชั้นขึ้นฟู เมื่อนำไปอบ แป้งแต่ละชั้นก็จะไม่ติดกันเพราะเราทาเนยระหว่างชั้นไว้ ครัวซองต์ที่ได้จะฟูและคงรูป แต่ถ้าไม่มีกลูเตนก็จะทำแบบนี้ไม่ได้ เพราะเสียสภาพวิสโคอี-ลาสติก (viscoelasticity)
ถาม : วัตถุดิบที่ใช้แทนกลูเตนทำหน้าที่อะไรเพื่อทำให้ครัวซองต์มีลักษณะเดิม?
ตอบ:
กรณีขนมปังหรือครัวซองต์ ต้องหมักโดก่อนนำไปอบ ดังนั้นวัตถุดิบที่ใส่แทนกลูเตนต้องมีสมบัติวิสโคอีลาสติก เพื่อทำให้โดดึงยืดได้ รีดได้ และคงรูปเพื่อกักเก็บแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นจากการที่ยีสต์กินน้ำตาลในกระบวนการหมัก และเมื่อนำไปอบก็ต้องทนต่ออุณหภูมิสูงถึง 180 องศาเซลเซียสเพื่อไม่ให้โดเกิดการยุบตัว ดังนั้น เวลาที่เติมวัตถุดิบที่มาแทนกลูเตนก็ต้องตระหนักว่า วัตถุดิบแต่ละตัวเหมาะกับกระบวนการไหน ซึ่งบางทีก็จะใส่หลายตัวเป็นส่วนผสมเพื่อให้ช่วยกัน แต่เรามักใช้วัตถุดิบทดแทนที่มาจากธรรมชาติที่เป็นวัตถุดิบเกรดสำหรับอาหาร (food grade) ที่มีวางจำหน่ายอยู่แล้ว
ลักษณะของครัวซองต์
ถาม : ช่วยอธิบายความแตกต่างของคำต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับแป้งด้วยครับ?
ตอบ:
อะไรก็ตามที่มีลักษณะเป็นผงที่มาจากการนำเมล็ดธัญพืช ถั่วเมล็ดแห้ง (legume) หรือซีเรียลมาบดให้เป็นผงแป้ง ในศาสตร์อาหารเรียกว่า ฟลาว (flour) ซึ่งมีองค์ประกอบหลายอย่างรวมกัน เช่น ไฟเบอร์ สตาร์ช โปรตีน เถ้า ไขมัน แต่เมื่อนำฟลาวมาสกัดส่วนที่เป็นคาร์โบไฮเดรตออกมาเรียกว่า สตาร์ช (starch)
ส่วนอะไรที่มีลักษณะเป็นก้อนปั้นได้เหมือนดินน้ำมันเรียกว่า โด (dough) ในการทำขนมปังหรือครัวซองต์จะใช้ ฟลาวและส่วนประกอบอื่นๆ มาผสมกับน้ำและนวดจนเป็นก้อน ในขนมปังทั่วไปที่เกิดเป็นก้อนได้เพราะมีโปรตีนกลูเตน เมื่อเติมน้ำและใช้แรงเฉือนหรือผ่านการนวดผสมโปรตีน 2 ชนิดจะฟอร์มตัวเป็นกลูเตนที่มีโครงสร้าง 3 มิติ โดที่ได้จึงมีความยืดหยุ่นหรือมีสมบัติวิสโคอีลาสติก
ในขณะที่การนำฟลาวหรือสตาร์ชที่ไม่มีกลูเตนเป็นองค์ประกอบมาผสมน้ำแต่ส่วนผสมไม่สามารถฟอร์มเป็นก้อนได้ ปั้นไม่ได้ และไม่คงรูปจะเรียกว่า แบทเทอร์ (batter) ยกตัวอย่างน้ำแป้งที่ใช้ทำราดหน้า ถ้านำแป้งข้าวโพดหรือแป้งมันสำปะหลังมาเติมน้ำในระดับหนึ่ง เมื่อกวนจะได้แป้งที่อาจข้นแต่ยังไหลได้
ถาม : งานวิจัยเรื่องหมูนุ่มที่ทำในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้มีที่มาอย่างไรครับ?
ตอบ:
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 60 หรือ 65 ปีจำนวนมากขึ้น ในขณะเดียวกันอัตราการเกิดลดลง สังคมเราจึงอยู่กับผู้สูงอายุในสัดส่วนที่สูงขึ้น
ผู้สูงอายุมักมีปัญหาในการบริโภคอันเนื่องมาจากความเสื่อมถอยของอวัยวะกล้ามเนื้อในช่องปากและฟัน ทำให้ไม่สามารถบริโภคอาหารที่เหนียวและแข็งได้ จึงพยายามหลึกเลี่ยงโดยเฉพาะเนื้อสัตว์ที่เคี้ยวค่อนข้างยาก บางครั้งก็เลือกบริโภคปลา แต่แม้ว่าปลาจะดีอยู่แล้ว ก็น่าจะมีทางเลือกอื่นด้วย
การที่ผู้สูงอายุเลี่ยงบริโภคเนื้อหมูและเนื้อวัวเพราะมีเส้นใยเหนียว เราจึงคิดว่าทำไมไม่ทำเนื้อสัตว์จากเนื้อหมูที่มีเนื้อสัมผัสนุ่ม เราพบว่าผู้บริโภคสูงวัย ถ้าบริโภคเนื้อหมูจะปั่นจนเละและเติมน้ำไปเยอะๆ เป็นพูเร (puree) หน้าตาไม่ค่อยน่ารับประทานนักทำให้หมดความอยากอาหาร
ถ้าเราทำเนื้อหมูให้มีลักษณะนุ่มในระดับใช้ฟันหรือเหงือกเคี้ยวได้และกลืนได้ โดยที่เวลากลืนไม่สากคอ ในขณะเดียวกันอาหารที่เตรียมจากเนื้อหมู ถ้ายังคงรูปลักษณ์เป็นชิ้นก็ยิ่งเพิ่มความอยากรับประทานอาหาร ทำให้บริโภคได้มากขึ้นกว่าเดิม
สเต๊กเนื้อนุ่มจากเนื้อหมูหรือเนื้อวัวบดหยาบ
การที่เราเน้นโปรตีนเพราะร่างกายผู้สูงอายุผลิตกล้ามเนื้อได้น้อยลงทำให้กล้ามเนื้อลีบ แต่แทนที่จะบริโภคโปรตีนเป็นอาหารเสริมแบบละลายน้ำดื่มจึงเสนอเป็นเมนูหลักแบบโปรตีนนุ่มที่มีหน้าตาเหมือนอาหารปกติ
ถาม : ดร.นิสภา มีแนวทางบริหารทีมวิจัยอย่างไรครับ?
ตอบ:
ถ้าเป็นผู้ช่วยนักวิจัยก็จะให้เขาทำงานในส่วนที่มีความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ เช่น ถ้าจบวัสดุศาสตร์ สาขาโพลิเมอร์ หรือ กระบวนการขึ้นรูปโพลิเมอร์ (polymer processing) ก็จะให้ทำด้านการวิเคราะห์และการแปรรูปอาหาร (food processing) หากจบด้านอาหารโดยตรง หรือด้านการพัฒนาสินค้า (product development) ก็ให้ช่วยให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการใช้สารทดแทนอาหาร หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ต้นแบบ โดยจะมอบหมายงานให้ตรงกับความชำนาญ แต่ในขณะเดียวกันก็สอนในศาสตร์ใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับห้องปฏิบัติการด้วยเพื่อให้มีความรู้เพิ่มมากขึ้นและสอดคล้องกับงานวิจัยของเรา
ส่วนงานวิจัยในอนาคตจะมุ่งไปในทิศทางใดก็จะปรึกษากับนักวิจัยในทีม ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะดูแนวโน้มผู้บริโภคของโลกว่าไปในแนวไหนด้วย
ตอนทำอาหารสำหรับผู้สูงอายุ เราได้สำรวจตลาดโดยไปคุยกับผู้ดูแลที่โรงพยาบาลหรือสถานดูแลผู้สูงอายุ อาจารย์แพทย์ที่ทำงานด้านอาหาร รวมถึงนักวิจัยภายนอกองค์กรด้วยเพื่อให้ทราบมุมมอง ทำให้มีข้อมูลของผู้สูงอายุพอสมควร รู้ว่าต้องดูแลอย่างไร บริโภคแบบไหน และอาหารที่ต้องการบริโภคเป็นอย่างไร ขณะเดียวกันก็คุยกับผู้ประกอบการหรือบริษัทเอกชนที่ผลิตอาหารด้วย
ถาม : ทีมวิจัยมีวิธีการอัปเดตความรู้ที่ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วอย่างไรครับ?
ตอบ:
ส่วนใหญ่เน้นที่การร่วมสัมมนา ไม่ว่าจะเป็นแบบออนไลน์หรือเดินทางไปทั้งในและต่างประเทศ ขณะเดียวกันก็พยายามหาความรู้จากวารสารและนิตยสารต่างๆ ดูแนวโน้มการบริโภค แล้วดูว่าเรามีความพร้อม สามารถเริ่มงานวิจัยตามแนวโน้มนั้นได้หรือยัง
ถาม : เกี่ยวกับโมเดลจำลองการศึกษากระบวนการย่อยในระบบทางเดินอาหาร (simulated gut model) ในปัจจุบันมีความก้าวหน้าอย่างไร?
ตอบ:
ตอนนี้โมเดลจำลองการศึกษากระบวนการย่อยในระบบทางเดินอาหารมาถึง สวทช.แล้ว แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 จึงยังไม่สามารถติดตั้งได้ เนื่องจากต้องรอผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามาติดตั้ง รวมถึงอบรมการใช้งาน ช่วงนี้นักวิจัยจึงหาข้อมูลวิจัยเพื่อเตรียมร่างข้อเสนอโครงการรองรับการทำงานวิจัยทางด้านนี้
งานวิจัยที่จะดำเนินการจะเน้นที่ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่เราเตรียมขึ้น บางครั้งการเติมสารสำคัญลงไปหรือปรับเนื้อสัมผัสของอาหาร เมื่อเข้าไปในโมเดลจำลองการศึกษากระบวนการย่อยในระบบทางเดินอาหารจะย่อยง่าย และดูดซึมได้ดีหรือไม่
อย่างเช่น เนื้อหมูปกติเมื่อผ่านการเคี้ยวในช่องปากอย่างละเอียดแล้ว เมื่อเทียบกับหมูนุ่มที่ผ่านการบดเคี้ยวแล้วจะย่อยและถูกดูดซึมในกระบวนการย่อยในระบบทางเดินอาหารได้เหมือนกันหรือไม่ ผลการทดลองที่ได้สามารถใช้เป็นข้อมูลเพื่อให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ที่เติมสารสำคัญนี้สามารถดูดซึมได้และเป็นประโยชน์ต่อร่างกายจริงๆ
การศึกษาและเข้าใจกลไกการย่อยอาหารโดยบูรณาการศาสตร์ด้านสมบัติเชิงกล สมบัติรีโอโลยี และไทรโบโลจีสำหรับการบดเคี้ยว
และย่อยอาหารในช่องปาก และเทคโนโลยีระบบจำลองการย่อยอาหารโดยใช้เครื่อง tiny-TIMagc และ TIM-2
สำหรับการย่อยและดูดซึมอาหารในอวัยวะทางเดินอาหารตอนบนและตอนล่าง ตามลำดับ
ถาม : มองอนาคตสถานภาพองค์ความรู้ของทีมวิจัยวัสดุศาสตร์อาหารในอีก 5 ปีข้างหน้าไว้อย่างไรครับ ?
ตอบ:
ขณะนี้เราพยายามทำงานให้ครบวงจร คือผลิตอาหารเพื่อสุขภาพที่มีหน้าตาคล้ายคลึงกับอาหารดั้งเดิม สามารถเคี้ยวและกลืนง่ายโดยที่ไม่สำลัก โดยมุ่งไปที่ผู้บริโภคที่มีภาวะกลืนลำบาก
นอกจากนี้จะศึกษากระบวนการย่อยในระบบทางเดินอาหารเพื่อทำให้มั่นใจว่า อาหารที่เราเตรียมตั้งแต่แรก นอกจากมีเนื้อสัมผัสดี ลักษณะปรากฏที่ดี กลืนง่าย มีความปลอดภัยแล้ว ยังสามารถย่อยได้ง่ายและสารสำคัญถูกดูดซึมได้ในระบบทางเดินอาหารของร่างกาย ซึ่งคุ้มค่ากับเงินที่ผู้บริโภคซื้อไป
ขณะนี้ผู้บริโภคมีแนวโน้มบริโภคอาหารทางเลือกที่ไม่ใช่อาหารจากเนื้อสัตว์ เนื่องจากมีความตระหนักทั้งในเรื่องสิ่งแวดล้อมที่มีการปล่อยแก๊สเรือนกระจก หรือโรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสัตว์ เราจึงเริ่มศึกษาการผลิตอาหารเพื่อทดแทนเนื้อสัตว์ โดยเน้นไปที่โปรตีนพืชค่ะ
ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อทดแทนเนื้อไก่จากโปรตีนถั่วเหลืองก่อนปรุง
เมนูต่างๆ ที่ปรุงจากผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อทดแทนเนื้อไก่จากโปรตีนถั่วเหลือง
จากการได้พูดคุยกับ ดร.นิสภา จะเห็นว่ามีมิติการศึกษาที่หลากหลายทั้งในแง่วิทยาศาสตร์ การตลาด ทิศทางของโลก ทั้งนี้ก็เพื่อตอบโจทย์สุขภาพของผู้บริโภคโดยเฉพาะคนไทย หากมองกว้างกว่านี้ก็เป็นอาหารโลกได้ด้วย ประเด็นสังคมผู้สูงอายุก็มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมาก เพราะประเทศเราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์แล้ว ทีมวิจัยวัสดุศาสตร์อาหารได้วิจัยพัฒนาเพื่อตอบโจทย์อย่างเข้มแข็ง
ขอขอบคุณ ดร.นิสภาที่ให้เกียรติมาร่วมรายการกับเรา โอกาสหน้าจะขอเชิญมาอัปเดตข้อมูลงานวิจัยใหม่ๆ ทิศทางการศึกษาที่เกิดขึ้นจากทีมวิจัยวัสดุศาสตร์อาหารครับ
ผู้ที่สนใจรายการนี้ในรูปแบบพอดแคสต์ (podcast) สามารถรับฟังได้ที่