บทบาทและแนวทางวิจัยของเอ็มเทคกับการเข้าเป็นสมาชิก IAPRI
สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย งานสื่อสารและขับเคลื่อนความรู้
ฝ่ายเผยแพร่เทคโนโลยีวัสดุ
เกี่ยวกับ IAPRI
IAPRI (International Association of Packaging Research Institutes) (www.iapri.org) เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ไม่แสวงหากำไร มุ่งส่งเสริมการดำเนินงานวิจัยและพัฒนาด้านบรรจุภัณฑ์ มีหลักการดำเนินงานมุ่งเน้นการวิจัย การพัฒนา และการศึกษาเชิงวิชาการเป็นหลัก
สิทธิประโยชน์ที่สมาชิกประเภท Institution ได้รับคือ การเข้าร่วมสัมมนาวิชาการ IAPRI world conferences และ IAPRI member conferences ซึ่งจัดสลับปีกัน โดยสมาชิกใน IAPRI Communities of Practice ได้แก่ Packaging and Consumers, Distribution Packaging, Sustainable Packaging, Active and Intelligent Packaging, University and Education การใช้งานฐานข้อมูล การได้รับทราบข้อมูลความก้าวหน้า การแบ่งปันความรู้ในกลุ่มสมาชิก การร่วมพิจารณาให้ทุนการวิจัยกับนักศึกษาแลกเปลี่ยน อีกด้วย
สมาชิกอีกประเภทของ IAPRI คือ Corporate มาจากกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีแรงขับเคลื่อนในการทำงาน แต่ยังมีการทำงานเชิงวิชาการและการวิจัยและพัฒนาเป็นแกนหลัก จุดประสงค์ของการมีสมาชิกกลุ่มนี้คือเพื่อเป็นการผลักดันงานวิจัยไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมและพัฒนาโมเดลธุรกิจ โดยให้น้ำหนักกับผลประโยชน์ในเชิงวิชาการและการนำองค์ความรู้จากการวิจัยไปใช้งานจริง เน้นการพัฒนาวิจัยบนหลักการของความยั่งยืน (Sustainability Development Goal, SDGs) โดยมีการรวบรวมกรณีศึกษาและแนวปฏิบัติที่เป็นสถานการณ์ในปัจจุบันเข้ามาแบ่งปันและลงความเห็นร่วมกัน แล้วเผยแพร่ผ่านการตีพิมพ์บทความวิชาการที่นำเสนอในการประชุมวิชาการ ปัจจุบันมีจำนวนสมาชิก IAPRI ทั้งหมด 81 องค์กรจาก 29 ประเทศทั่วโลก ส่วนใหญ่มาจากกลุ่มประเทศในยุโรป โดยภูมิภาคเอเชียมีประเทศจีนและประเทศไทยรวมอยู่ด้วย
IAPRI มีเว็บบอร์ดเพื่อเผยแพร่การดำเนินงาน ฐานข้อมูลเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ บทความวิชาการจากการประชุมวิชาการ การอัปเดตข่าวสารของสถาบันที่เป็นสมาชิก จดหมายข่าวอิเล็กทรอนิกส์ กระดานข่าว ข้อมูลเชิงลึกเหล่านี้ สมาชิกสามารถล็อกอินเพื่อเข้าถึงข้อมูลได้ โดยมีค่าธรรมเนียมรายปี ซึ่ง IAPRI นำรายได้ส่วนนี้ไปใช้ในการบริหารและการดำเนินงาน
การเข้าเป็นสมาชิกและคณะกรรมบริหารใน IAPRI
ดร. วิชชุดา เดาด์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยเทคโนโลยีโพลิเมอร์ขั้นสูง ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เล่าว่า “ที่ผ่านมาประเทศไทยได้เข้าเป็นสมาชิกของ IAPRI นานกว่า 10 ปีแล้ว และมีส่วนร่วมในการส่งเสริมแนวปฏิบัติด้านบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน (sustainable packaging) มาโดยตลอด ต่อมาให้ทำหน้าที่ในวาระการดำรงตำแหน่ง 3 ปี ร่วมกับ Board of Directors ที่ประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญอีก 10 คนจากมหาวิทยาลัยและองค์กรในทวีปอเมริกา ยุโรป เอเชีย และแปซิฟิก โดยดำรงตำแหน่งติดต่อกันได้ไม่เกิน 2 วาระ”
ดร. วิชชุดาอธิบายบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารว่า “หน้าที่หลักของคณะกรรมการบริหารใน IAPRI คือ เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการบริหารเพื่อพิจารณาให้ความเห็นในประเด็นการบริหารงานต่างๆ มีการพิจารณาลงความเห็น (consensus) ในฐานะ voting member ส่งเสริมและประชาสัมพันธ์งานของสมาคมฯ พิจารณาบทความตีพิมพ์ และนำเสนอผลงานและเข้าร่วมการประชุมวิชาการ ที่ผ่านมามีการประชุมคณะกรรมการฯ ทุก 2 เดือน
ประสบการณ์ของนักวิจัย MTEC กับการเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการบริหารของ IAPRI
ปัจจุบัน ดร. วิชชุดาทำงานวิจัยด้านบรรจุภัณฑ์พลาสติก ซึ่งมีส่วนช่วยขับเคลื่อนแผนงานสำคัญด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) ช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจที่เกี่ยวกับการออกแบบเพื่อเศรษฐกิจหมุนเวียน (design for circular economy, DE4CE) อีกทั้งร่วมเป็นคณะทำงานทางเทคนิคในการร่างมาตรฐานเศรษฐกิจหมุนทั้งระดับประเทศและนานาชาติอีกด้วย
เมื่อถามถึงประสบการณ์ในฐานะนักวิจัยที่เข้าไปมีส่วนร่วมในบทบาทการเป็นคณะกรรมการบริหารของ IAPRI ดร.วิชชุดากล่าวว่า “จากที่เคยเป็นคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการทั้งในเวทีระดับประเทศและระดับโลก เราต้องการเสนอเรื่องมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (CE environmental standard) และการลดขยะพลาสติก (plastic waste reduction) เพราะเรามีประสบการณ์ในมุมมองตรงนี้รู้ว่าการออกมาตรฐานจะมีประเด็นอะไรที่เกี่ยวข้องบ้าง หรือมีประเด็นอะไรที่วงการวิชาการต้องตระหนักว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง สิ่งหนึ่งที่คิดว่า IAPRI อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมากคือ เรื่องของ European green deal ที่มีเรื่องการแบน (banned) พลาสติกโดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์ ดังนั้น งานวิจัยรูปแบบใหม่จึงไม่ใช่แค่การพัฒนาวัสดุใหม่ แต่อาจมีโมเดลธุรกิจ หรือเรื่องอื่นด้วย เราจึงต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องนี้ เพราะถ้าเรามองแค่การเปลี่ยนไปใช้วัสดุใหม่ก็อาจจะยังไม่ใช่การพัฒนาที่ยั่งยืน การพัฒนาไปสู่ความยั่งยืนควรคิดอย่างเป็นระบบ (system thinking) และมองภาพเป็นโซลูชั่น (solution) ทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันกำลังเป็นกระแสโลก เราจะเห็นว่าประเทศทางยุโรป อเมริกา และ ออสเตรเลีย ก็กำลังปลูกฝังคนรุ่นใหม่ที่เข้าสู่วงการไปในแนวทางนี้ ดังนั้น การเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการบริหารของ IAPRI ก็จะเปิดโอกาสให้เราได้สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับพันธมิตรใหม่ๆ รวมถึงสร้างความก้าวหน้าในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านบรรจุภัณฑ์ ในกรณีของบรรจุภัณฑ์ แนวทางการพัฒนาต้องคำนึงถึงความสมดุลระหว่างเรื่องความยั่งยืน (sustainability) ประสิทธิภาพ (efficiency) ในการทำหน้าที่ปกป้องสิ่งที่บรรจุภายใน และเรื่องของความปลอดภัย (safety) ด้วย ซึ่งโดยรวมจะสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกให้แก่อุตสาหกรรมและสังคมได้”
ประโยชน์ต่อหน่วยงานในประเทศจากการเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการบริหารของ IAPRI
การที่เอ็มเทคเข้าไปเป็นสมาชิกในคณะกรรมการบริหารของ IAPRI จะมีส่วนผลักดันการขับเคลื่อนนโยบายของประเทศด้านไหนหรือไม่นั้น ดร.วิชชุดาอธิบายว่า “ตอนนี้มองความร่วมมือเป็นอันดับหนึ่ง ส่วนการกำหนดนโยบายในระดับประเทศอาจจะยังไม่เกี่ยวข้องนัก เพราะในเวทีนี้เน้นเรื่องการเรียนรู้จากการแบ่งปันประสบการณ์ทำงาน เรื่องของการเข้าใจปัญหาและการศึกษาความเป็นไปได้ทางเทคนิค (technical feasibility) ในด้านทิศทางการวิจัยจากประเทศที่มีประสบการณ์ในการนำกฎระเบียบ ข้อบังคับ (regulation) ไปประยุกต์ใช้ ถือเป็นการถอดบทเรียนที่เกิดจากการเรียนรู้ของแต่ละประเทศนำมาถ่ายทอดให้กับผู้เกี่ยวข้องโดยเฉพาะภาคเอกชนในประเทศ เพราะการนำมาตรฐานและวิธีการดำเนินงานมาปฏิบัติจะต้องพิจารณาว่าระบบโครงสร้างสาธารณูปโภคของประเทศมีความพร้อมหรือมีความเป็นไปได้ที่จะรองรับและสามารถทำได้หรือไม่”
ดังนั้นเราสามารถใช้เวทีนี้ส่งเสริมให้นักวิจัยเอ็มเทคไปนำเสนอผลงานใน IAPRI ได้ด้วย ตามทิศทางในปัจจุบันไม่ใช่เฉพาะเรื่องของการวิจัยวัสดุเท่านั้น เราอาจอาศัยพันธมิตรที่ช่วยผลักดันเราให้ไปได้ไกลกว่านี้ หรือเราอาจจะพบกับพันธมิตรที่เกิดปัญหาเหมือนกัน ช่วยกันคิด และแก้ปัญหาให้สามารถทำงานต่อไปได้
เมื่อสอบถามถึงมุมมองเกี่ยวกับเป้าหมายของการทำงานในฐานะคณะกรรมการบริหารของ IAPRI ดร. วิชชุดา กล่าวว่า “ก่อนจะหมดวาระในอีกสามปีข้างหน้า อยากที่จะเข้าร่วมขับเคลื่อนทิศทาง และสร้างเครือข่ายวิจัย โดยเฉพาะใน COP: Sustainable Packaging และ COP: Active and Intelligent Packaging รวมถึงถ่ายทอดบทเรียนที่ได้ในการทำงานใน Communities of Practices เพื่อให้เกิดการปรับปรุงในรูปแบบของการสร้าง platform ของนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ในด้านการใช้งาน และคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ที่จะช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้อุตสาหกรรมในประเทศได้ในอนาคต”
ข้อมูลเพิ่มเติม:
1. https://www.iapri.org/board_of_directors.php
3. https://www.mtec.or.th/bcg-economy/internview-dr-witchuda-daud
4. https://www.memberleap.com/members/directory/search_bootstrap.php?org_id=IAPR&mem_dir=X
5. https://memberleap.com//news_detail.php?org_id=IAPR&id=25323
ขอบคุณข้อมูลจาก:
ดร.วิชชุดา เดาด์ นักวิจัย ผู้อำนวยการ กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีโพลิเมอร์ขั้นสูง
ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค)
อีเมล: witchuds@mtec.or.th