Rachel รุ่น All-day และ Everyday: บอดี้สูทช่วยการเคลื่อนไหวและป้องกันการบาดเจ็บ สำหรับผู้สูงอายุและผู้อยู่ในวัยทำงาน
สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย
งานสื่อสารและขับเคลื่อนความรู้ ฝ่ายเผยแพร่เทคโนโลยีวัสดุ
ทีมวิจัยการออกแบบเพื่อการเป็นอยู่ที่ดี ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ร่วมกับพันธมิตรพัฒนานวัตกรรมชุดเรเชลรุ่น All-day และ Everyday ซึ่งเป็นบอดีสูทที่ช่วยในการเคลื่อนไหวและป้องกันการบาดเจ็บสำหรับผู้สูงอายุและวัยทำงาน โดยบูรณาการองค์ความรู้ด้านสิ่งทอ แพทเทิร์นของการตัดเย็บ และการออกแบบด้วยกระบวนการ Human-centric Design ที่ให้ผู้ใช้เป็นศูนย์กลางรวมเข้าด้วยกัน เพื่อให้ได้ชุดที่ผู้สวมใส่พึงพอใจมากที่สุดและตอบโจทย์การใช้งาน
ชุดเรเชล (Rachel) รุ่น Active (ซ้าย) รุ่น All-day (กลาง) รุ่น Everyday (ขวา)
จากเรเชลรุ่น Active สู่รุ่น All-day และ Everyday
ชุดเรเชล (Rachel) รุ่น Active (Rachel-Motion-assist Bodysuit) เป็นบอดีสูทต้นแบบแรกที่พัฒนาโดย ดร.วรวริศ กอปรสิริพัฒน์ และคณะ ทีมวิจัยการออกแบบเพื่อการเป็นอยู่ที่ดี ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) โดยชุดเรเชล รุ่น Active มีอุปกรณ์เสริมแรงพยุงร่างกายที่เรียกว่ากล้ามเนื้อจำลอง (artificial muscle) ตัวชุดมีน้ำหนักเบา ตัดเย็บจากผ้าที่ใช้ทำชุดชั้นในหรือสเตย์รัดหน้าท้องที่ระบายอากาศได้ดี ยืดหยุ่น กระชับสัดส่วนจึงสามารถสวมใต้เสื้อผ้าได้ และสามารถช่วยผ่อนภาระการทำงานของกล้ามเนื้อได้ในปริมาณที่เหมาะสม การผ่อนภาระการทำงานของกล้ามเนื้อนี้เกิดจากการออกแบบและการคัดเลือกผ้า ซึ่งทีมวิจัยต้องการให้ผู้สูงอายุยังคงใช้กล้ามเนื้อของตัวเองเพื่อรักษาความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ โดยที่ชุดเข้าไปช่วยเติมเต็มภาระการทำงานของกล้ามเนื้อในส่วนที่ลดลงไป เพื่อให้ผู้สูงอายุทำกิจกรรมได้อย่างคล่องแคล่วและปลอดภัยมากขึ้น
อย่างไรก็ดี ชุดเรเชล รุ่น Active ซึ่งเป็นต้นแบบแรกมีการนำอุปกรณ์ต่างๆ เช่น ปั๊มลม และเซ็นเซอร์ที่มีจำหน่ายในท้องตลาดมาดัดแปลงแล้วใส่ระบบควบคุมต่างๆ เข้าไป ทำให้มีข้อจำกัดบางประการ เช่น ชุดมีอุปกรณ์หลายส่วน มีส่วนที่แข็งจึงอาจไปกดทับอวัยวะได้ อีกทั้งการสวมใส่จะต้องต่อท่อลม และการทำความสะอาดชุดต้องถอดอุปกรณ์และระบบอิเล็กทรอนิกส์ออกทั้งหมดก่อนทำให้ไม่สะดวกต่อการใช้งานและการดูแลรักษานัก
ทีมวิจัยจึงได้พัฒนาชุดเรเชลมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบโจทย์ทั้งในด้านฟังก์ชันการทำงานที่ต้องเสริมการทำงานและการพยุงกล้ามเนื้อ รวมทั้งต้องคำนึงถึงความพึงพอใจของผู้สวมใส่ โดยพยายามลดข้อจำกัดต่างๆ เพื่อให้ชุดมีรูปลักษณ์ที่น่าสวมใส่ ใส่แล้วรู้สึกสบาย ระบายเหงื่อและความร้อนได้ดี สามารถสวมใส่ได้ตลอดวันและทุกวัน
การพัฒนาเพื่อตอบโจทย์
นวัตกรรมชุดเรเชลรุ่น All-day และ Everyday เกิดจากการบูรณาการองค์ความรู้ด้านสิ่งทอและแพทเทิร์นของการตัดเย็บเข้าด้วยกัน การพัฒนาและการออกแบบใช้กระบวนการ Human-centric Design หรือให้ผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง เพื่อทำให้ชุดตอบโจทย์การใช้งานและสร้างความพึงพอใจให้แก่ผู้ใช้มากที่สุด
เป้าหมายหลักของการพัฒนาและออกแบบชุดเรเชลรุ่น All-day และ Everyday คือการพัฒนาชุดที่สามารถคืนศักยภาพด้านการเคลื่อนไหวให้แก่ผู้สวมใส่ สวมใส่สบาย สวยงามน่าใช้ ถูกใจกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้สูงอายุและวัยทำงาน ชุดเรเชลที่พัฒนาขึ้นมีลักษณะเด่นดังนี้
มีฟังก์ชันเสริมการทำงานของกล้ามเนื้อที่สำคัญตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น บริเวณไหล่ สะบัก หลังช่วงบน หลังช่วงล่าง (ที่มักเกิดการบาดเจ็บได้บ่อยครั้ง) กล้ามเนื้อก้น สะโพก และต้นขา ชุดเรเชลช่วยให้กล้ามเนื้อเหล่านี้ทำงานสัมพันธ์กันอย่างเป็นระบบ ช่วยให้ผู้สวมใส่ทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การลุกยืน การยกของ การเดิน และการออกกำลังกายได้อย่างคล่องแคล่ว ปลอดภัย และเป็นธรรมชาติ
ในส่วนการออกแบบเพื่อให้ชุดสามารถเสริมการทำงานของกล้ามเนื้อนั้น อาจารย์กนกลักษณ์ ดูการณ์ ผู้อำนวยการศูนย์อบรมแพ็ทเทิร์นอุตสาหกรรม แพ็ทเทิร์นไอที สถาบันพัฒนาแพ็ทเทิร์นอุตสาหกรรมและออกแบบเสื้อผ้าสำเร็จรูปการออกแบบ ได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างการวางแพทเทิร์นให้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องตรงกับกล้ามเนื้อ ดังนั้น เมื่อผู้สวมใส่ขยับท่าทางในอิริยาบถต่างๆ ก็จะเกิดการดึงรั้งไปยังกล้ามเนื้อส่วนที่ต้องการ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ให้เกิดการดึงรั้งในส่วนที่ไม่ต้องการ ทั้งนี้ขั้นตอนนี้ต้องมีการทดสอบเชิงเทคนิค รวมถึงการทดสอบกับผู้สวมใส่ โดยข้อมูลที่ได้จะนำกลับมาปรับปรุงชุดต่อไป ขั้นตอนดังกล่าวนี้จะดำเนินการซ้ำหลายรอบเพื่อให้ได้ชุดที่ตอบโจทย์การใช้งานและผู้สวมใส่พึงพอใจมากที่สุด
สวมใส่สบาย เนื่องจากประเทศไทยเป็นเมืองร้อน จึงต้องคำนึงถึงการเลือกใช้ผ้าและการออกแบบชุด เพื่อให้ผู้สวมใส่ไม่รู้สึกร้อนหรือคัน ชุดจะต้องระบายเหงื่อและความร้อนได้ดี ให้ความรู้สึกเสมือนเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายจึงสามารถใส่ได้ทั้งวันและทุกวัน
บริษัท ไทยวาโก้ จำกัด (มหาชน) หนึ่งในพันธมิตรได้ให้ความอนุเคราะห์ผ้าที่มีคุณสมบัติในการระบายอากาศได้ดีมาก ตลอดจนจักรเย็บผ้าเชิงเทคนิคที่ช่วยให้สามารถเย็บตะเข็บได้อย่างสวยงาม และแข็งแรงตามมาตรฐานสากล ทำให้ชุดมีอายุการใช้งานซ้ำได้ยาวนาน อีกทั้งตะเข็บยังทำให้เกิดลายเส้นบนชุดที่เป็นดีไซน์ที่สวยงามอีกด้วย
มีความสวยงามน่าใช้ ชุดเรเชลได้รับการออกแบบให้มีรูปลักษณ์เป็นแนวสปอร์ต เนื่องจากผู้สวมใส่ย่อมต้องการใช้ชีวิตในสังคมได้ตามปกติ ดังนั้น การออกแบบชุดจึงเป็นการสื่อสารกับความรู้สึกของผู้สวมใส่ว่าเมื่อใส่ชุดแล้วจะมีสุขภาพที่ดีขึ้น และช่วยให้มั่นใจในตนเอง
นอกจากคุณลักษณะที่สำคัญของชุดเรเชลตามที่กล่าวข้างต้นแล้ว ทีมวิจัยยังออกแบบให้ทั้งผู้สูงอายุและวัยทำงานโดยไม่จำกัดเพศสามารถสวมใส่ได้ ขนาดของชุดตัดเย็บให้เป็นสมาร์ตไซส์คือ ขนาด S M และ L เพื่อให้ผู้ใช้เลือกขนาดที่เหมาะสมได้สะดวก ทีมวิจัยคาดว่าชุดเรเชล รุ่น Everyday จะออกสู่ตลาดในไม่ช้าในราคาที่จับต้องได้ และในอนาคตคาดว่าจะสามารถเข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพต่อไป
ข้อมูลเพิ่มเติม
https://www.mtec.or.th/edc-research-group/wld-team/
https://www.mtec.or.th/post-knowledges/77730/
https://www.mtec.or.th/news-event/90738/
สนใจรายละเอียดติดต่อ
คุณสุนทรีย์ โฆษิตชัยยงค์
งานประสานธุรกิจและอุตสาหกรรม ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ
โทรศัพท์: 0 2564 6500 ต่อ 4783
อีเมล: soontaree.kos@mtec.or.th
ขอบคุณข้อมูลจาก
ดร.วรวริศ กอปรสิริพัฒน์ หัวหน้าทีมวิจัยการออกแบบเพื่อการเป็นอยู่ที่ดี กลุ่มวิจัยการออกแบบเชิงวิศวกรรมและการคำนวณ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค)