สัมภาษณ์โดย ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ
ถอดบทสัมภาษณ์โดย อรวรรณ สัมฤทธิ์เดชขจร
รายการก่อ กอง Science วันนี้ขอชวนคุณผู้ฟังมาเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีอาหาร ซึ่งเป็นตอนต่อเนื่องจากที่คุยกันครั้งก่อน แขกรับเชิญเป็นนักวิจัยจากทีมวัสดุศาสตร์อาหาร กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีโพลิเมอร์ขั้นสูงของเอ็มเทค ดร.ชัยวุฒิ กมลพิลาส หรือ ดร.ชัย
ถาม : ดร.ชัยวุฒิ จบการศึกษาด้านไหนครับ?
ตอบ:
ผมได้รับทุนรัฐบาลไปศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี โท เอก สาขาวิศวกรรมเครื่องกลที่ Imperial College London ขณะที่เรียนปริญญาเอกทำวิจัยด้านกลศาสตร์เชิงคำนวณ (computational mechanics) ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ใช้คอมพิวเตอร์ในการสร้างแบบจำลองเพื่อทำนายสมบัติของวัสดุ
วัสดุที่ผมสนใจเป็นวัสดุคอมโพสิต หมายความว่ามีวัสดุอย่างน้อย 2 ชนิดอยู่ด้วยกัน ในกรณีนี้คือโลหะและเซรามิก และเนื่องจากเป็นวัสดุเคลือบผิวจึงมีขนาดบางมากเท่ากับเส้นผมคนหรือประมาณ 100 ไมโครเมตร
การตรวจสอบสมบัติของวัสดุที่บางระดับนี้จึงทำได้ยาก เพราะไม่สามารถใช้วิธีการทดสอบสมบัติเชิงกลของวัสดุทั่วไปมาวิเคราะห์สมบัติรวมของวัสดุคอมโพสิตได้ ดังนั้น เราต้องรู้สมบัติของแต่ละเฟสเพื่อนำข้อมูลไปทำแบบจำลองวัสดุ และทำนายสมบัติโดยรวมของวัสดุคอมโพสิตชนิดนี้
ถาม : เราทราบได้อย่างไรว่าการคำนวณจะให้ข้อมูลที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงที่สุดครับ?
ตอบ:
เนื่องจากวัสดุที่ผมสนใจเป็นวัสดุเคลือบผิวชิ้นส่วนในอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ (aerospace) เช่น ใบพัดของเครื่องยนต์กังหัน (turbine blade) เมื่อเราได้ข้อมูลเบื้องต้นจากการทำนายแล้วก็จะทดสอบวัสดุคอมโพสิตนี้โดยใช้วิธีการทดสอบการสึกหรอ จากนั้นจึงนำผลที่ได้จากการทำนายการสึกหรอมาเปรียบเทียบกับผลการทดลอง ซึ่งผลที่ได้ก็สอดคล้องไปในทางเดียวกัน เพราะฉะนั้นจึงมั่นใจได้ระดับหนึ่งว่าข้อมูลที่ได้จากการทำนายค่อนข้างถูกต้อง
ในวิศวกรรมเครื่องกลมีงานวิจัยกลุ่มหนึ่งที่ศึกษาการสึกหรอของวัสดุต่างๆ ซึ่งการสึกหรอจะเชื่อมโยงกับสมบัติเชิงกลของวัสดุ และศาสตร์ไทรโบโลจี (tribology)
หากอธิบายไทรโบโลจีเป็นภาพง่ายๆ อาจนึกถึงการขับรถ ถ้าขับในสภาวะปกติ ไม่มีฝนตก เวลาแตะเบรก ก็จะสามารถหยุดรถได้สนิทแบบทันทีทันใด แต่ในสภาวะที่มีฝนตก น้ำจะเคลือบเป็นชั้นฟิล์มบางระหว่างผิวถนนกับล้อรถยนต์ เวลาแตะเบรกรถอาจลื่นไถลได้ไกลกว่าปกติ เพราะฉะนั้นในอุตสาหกรรมยานยนต์ การออกแบบยางรถยนต์จึงต้องออกแบบให้รีดน้ำจากผิวถนนให้ได้มากที่สุด หรือมีน้ำอยู่ระหว่างผิวถนนกับยางรถน้อยที่สุด เพื่อให้สามารถหยุดรถได้ทันทีที่แตะเบรกเหมือนในสภาวะปกติ ดังนั้น เรื่องศาสตร์ไทรโบโลจีจึงเกี่ยวกับการเข้าใจแรงเสียดทานที่เกิดขึ้นระหว่างผิวสัมผัสของวัสดุ 2 ชนิดที่สัมผัสกัน
ถาม : จุดเชื่อมโยงของศาสตร์ด้านไทรโบโลจีกับอาหารคืออะไรครับ?
ตอบ:
จุดที่ผมเริ่มสนใจเกี่ยวกับอาหารคือหลังจากที่เรียนจบปริญญาเอก ตอนนั้นมีตำแหน่งงานวิจัยหลังปริญญาเอก (postdoctoral position) ที่มหาวิทยาลัยเกี่ยวกับอาหาร อาหารก็คือวัสดุคอมโพสิตประเภทหนึ่ง เพราะมีองค์ประกอบมากกว่า 1 อย่าง เช่น โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน คล้ายกับวัสดุคอมโพสิตที่มีโลหะและเซรามิกมาอยู่รวมกัน
ตอนที่ผมทำงานนี้ยังมีการทำงานในลักษณะข้ามสาขา (interdisciplinary) ค่อนข้างน้อย คนที่ทำงานในอุตสาหกรรมอาหารก็สนใจให้คนที่ทำงานด้านวัสดุศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์มาช่วยทำนายสมบัติของอาหาร ผมจึงลองสมัครในตำแหน่งนี้ และทำงานอยู่ 3 ปีจึงกลับประเทศไทย
อาหารจัดเป็นวัสดุแข็งแต่อ่อนนุ่ม (soft solid) ความท้าทายอย่างหนึ่งของอุตสาหกรรมอาหารในสมัยก่อนคือ ทุกครั้งที่ผลิตอาหารก็มักมีวิธีที่ตรวจสอบสมบัติค่อนข้างหลากหลาย จึงไม่มีมาตรฐานรองรับ สุดท้ายไปจบที่ผู้ประเมินชิม ซึ่งการทำเช่นนี้มักมีค่าใช้จ่ายสูง
อุตสาหกรรมอาหารจำเป็นต้องตรวจสอบคุณภาพอาหารค่อนข้างมาก ทำให้มีต้นทุนสูง จึงต้องหาวิธีทดสอบโดยใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์ นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมอุตสาหกรรมอาหารต้องการนักวัสดุศาสตร์และวิศวกร เพราะการชิมจะขึ้นกับความรู้สึกของผู้ประเมินอย่างมาก
ถาม : งานวิจัยที่ ดร.ชัย สนใจมุ่งเน้นไปที่เรื่องไหนครับ?
ตอบ:
ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้นทำให้ผมสนใจวิธีการทดสอบสมบัติของอาหารที่ไม่อาศัยความรู้สึกส่วนบุคคล
ลองนึกถึงกลไกการเคี้ยวอาหาร 1 ชิ้นในปาก สิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร ขั้นแรกเมื่อเคี้ยวอาหาร 1 ชิ้นอาหารจะแตกเป็น 2 ชิ้น และเมื่อเคี้ยวไปเรื่อยๆ อาหารจาก 2 ชิ้นจะกลายเป็นหลายชิ้น กลไกที่ทำให้เกิดการแตกหักจะเชื่อมต่อโดยตรงกับสมบัติเชิงกลของวัสดุว่ามีความแข็งหรือเหนียวอย่างใด ซึ่งสามารถนำวิธีการทางวัสดุศาสตร์มาช่วยวิเคราะห์ทดสอบได้
ยกตัวอย่าง การนำชิ้นงานวัสดุมาดึงหรือกด เพื่อดูมันตอบสนองต่อแรงดึงอย่างไร แตกหักหรือฉีกขาดออกจากกันอย่างไร เพราะฉะนั้นค่าที่ได้จากการทดสอบในลักษณะดังกล่าวจึงสามารถนำมาใช้เปรียบเทียบระหว่างผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างกันได้
เมื่อเคี้ยวไปสักพักสิ่งที่เกิดขึ้นคือ กลไกทางกลในการเคี้ยวจะไปกระตุ้นให้ต่อมน้ำลายหลั่งน้ำลายออกมา น้ำลายจะไปคลุกเคล้าอนุภาคของอาหารที่แตกออกมาเป็นชิ้นเล็กๆ เรียกกลไกนี้ว่า การมารวมกลุ่มกันเกาะกันเป็นก้อนใหญ่ (agglomeration) เกิดเป็นโบลัส (bolus) ซึ่งเป็นก้อนอนุภาคอาหารที่มีสภาวะที่เหมาะสมที่สามารถกลืนเข้าสู่หลอดอาหารโดยไม่เกิดการติดคอ
สิ่งที่เห็นคือการรวมตัวระหว่างอนุภาคกับน้ำลาย เกิดการไหลจากช่องปากสู่คอหอย และเข้าสู่หลอดอาหาร ซึ่งสามารถใช้ศาสตร์รีโอโลยี (rheology) มาอธิบายกลไกที่เกิดขึ้นทั้งหมดได้
การกลืนโบลัสอาหารในระยะคอหอย
รีโอโลยีคือศาสตร์ที่ว่าด้วยการศึกษาการเสียรูปและการไหลของวัสดุ ใช้ศึกษาตัวอย่างที่เราสนใจว่ามีพฤติกรรมการไหลอย่างใด มีความหนืดเท่าใด มีการตอบสนองต่อแรงกระทำ และเปลี่ยนแปลงตามเวลาอย่างไร
ยกตัวอย่าง การบีบยาสีฟันบนแปรงสีฟัน ยาสีฟันที่ดีจำเป็นต้องอยู่บนแปรงโดยไม่ไหลออกจากแปรง ซึ่งเรียกสมบัตินี้ว่า ทิโซทรอปิก (thixotropic) คือเมื่อออกจากหลอดแล้วสามารถกลับไปอยู่สถานะเดิมได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งสมบัตินี้จะตรงข้ามกลับการทาสีผนัง เราต้องการให้สีมีเวลาแห้ง ถ้าทาแล้วสีแห้งทันที ผนังจะเป็นรอยแปรงที่ใช้ทา ทำให้สีที่ทาไม่เรียบ
ถาม : มุมมองของวิศวกรและนักวัสดุศาสตร์ที่มีต่ออาหารมี 3 เรื่อง คือ หนึ่ง – สมบัติเชิงกลและความแข็งแรง สอง – ไทรโบโลจี คือวัสดุ 2 ชนิดเสียดสีกัน และสาม – รีโอโลยี คือการไหล ดร.ชัยศึกษาทั้ง 3 เรื่องเลยหรือเปล่าครับ?
ตอบ:
ใช่ครับ กรณีการบดเคี้ยวอาหารในช่องปากยังมีเรื่องของไทรโบโลจีมาเกี่ยวข้อง หากจินตนาการถึงโบลัสที่ถูกบีบระหว่างเพดานปากด้านบนกับลิ้น หรืออยู่ระหว่างผนังหลอดอาหาร สิ่งเหล่านี้เกี่ยวข้องกับไทรโบโลจีทั้งหมด เวลาที่เราออกแบบอาหาร เราสามารถนำศาสตร์ไทรโบโลจีมาใช้ในการวิเคราะห์ว่าอาหารหรือเครื่องดื่มมีสมบัติเกี่ยวกับการไหลลื่น การเคลือบผิวสัมผัสที่อยู่ในช่องปากอย่างไร ก็จะช่วยให้สามารถออกแบบอาหารที่ให้ความรู้สึกในปาก (mouthfeel) ที่ดีต่อผู้บริโภคได้มากขึ้น
ถาม : อาหารบางอย่างที่รับประทานแล้วกลืนยากทำให้ติดคอ บางอย่างไหลลื่นจนทำให้สำลัก ทั้งสองอย่างนี้เกี่ยวข้องกับไทรโบโลจีและรีโอโลยีไหมครับ?
ตอบ:
เกี่ยวทั้งสองเรื่องครับ ปัจจุบันยังไม่มีตัวเลขที่แน่ชัดว่าค่าที่เหมาะสมสำหรับอาหารแต่ละประเภทควรเป็นอย่างไร เพราะยังอยู่ในขั้นตอนการวิจัยว่าในอนาคตจะสามารถกำหนดตัวเลขออกมาได้ไหม เช่น ค่าความหนืดและแรงเสียดทานของอาหารที่ทานแล้วไม่เกิดการสำลักที่เหมาะสมควรเป็นเท่าไหร่ ประเด็นนี้ทีมวิจัยกำลังศึกษาอยู่ครับ
เนื่องจากเราสนใจที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารที่เหมาะสมกับผู้ที่มีภาวะกลืนลำบาก ดังนั้น เราต้องการที่จะออกแบบอาหารที่เมื่อเข้าสู่ระยะหลอดอาหารแล้ว สามารถดึงตัวเข้าสู่หลอดอาหารได้ทั้งหมดโดยไม่มีอะไรตกค้างในบริเวณคอหอย เพื่อไม่ให้เศษอาหารเล็ดรอดเข้าไปในหลอดลมและทำให้เกิดการสำลักจนอาจทำให้เกิดปอดติดเชื้อได้ ซึ่งการดึงตัวของอาหารจะต้องมีสมบัติรีโอโลยีและไทรโบโลจีที่เหมาะสม
ถาม : งานที่ ดร.ชัยวุฒิสนใจในขณะนี้เกี่ยวกับเรื่องไหน และจะศึกษาลงลึกในแง่มุมใดครับ?
ตอบ:
ปัจจุบันเราศึกษากลไกการย่อยอาหารในช่องปากเพื่อสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารได้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค เนื่องจากทั้งผู้ที่มีภาวะกลืนลำบากหรือผู้บริโภคปกติย่อมต้องการอาหารที่บริโภคแล้วให้ความรู้สึกในปากที่ดี
ยกตัวอย่าง นม ซึ่งมีทั้งแบบนมไขมันเต็ม (full fat milk) นมไขมันต่ำ (low fat milk) และนมไม่มีไขมัน (fat free milk) เวลาที่เราดื่มนมไขมันเต็มจะรู้สึกลื่นปาก มีความกลมกล่อม และมีความรู้สึกในปากที่ดี แต่เมื่อดื่มนมที่ไม่มีไขมันจะรู้สึกไม่อร่อย และมีความรู้สึกในปากที่ไม่ดี ทั้งนี้เพราะไม่มีไขมันที่เคลือบปากและลิ้น ซึ่งศาสตร์ไทรโบโลจีที่เราสนใจสามารถช่วยจำแนกลักษณะความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้ค่อนข้างชัดเจน ทำให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารได้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น
ถาม : ช่วยยกตัวอย่างผลิตภัณฑ์ใกล้ตัวที่ได้รับการพัฒนามาจากข้อมูลการวิจัยด้วยครับ?
ตอบ:
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับกลไกการย่อยอาหารในช่องปากที่เรามีส่วนร่วมกับบริษัทเอกชนคือ ผลิตภัณฑ์ผงให้ความหนืดสำหรับใช้เติมในน้ำดื่มเพื่อเพิ่มความหนืดให้เหมาะสมต่อผู้ที่มีภาวะกลืนลำบาก
ผลิตภัณฑ์นี้จะช่วยให้ผู้ที่มีภาวะกลืนลำบากซึ่งไม่สามารถดื่มน้ำได้เหมือนคนปกติ สามารถดื่มน้ำได้โดยไม่เกิดการสำลัก เพราะเมื่อผสมผงให้ความหนืดในน้ำจะทำให้น้ำมีความหนืดเพิ่มขึ้นและยึดเกาะกันได้ดีขึ้น เมื่อผู้บริโภคดื่มน้ำนี้ น้ำจะดึงตัวมันทั้งหมดลงสู่หลอดอาหารทำให้บริโภคได้อย่างปลอดภัย
ปัจจุบัน ประเทศไทยยังต้องนำเข้าผงให้ความหนืดจากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาค่อนข้างสูงคือกระปุกละประมาณ 500 บาท และสามารถใช้ได้ประมาณ 3 วัน ดังนั้นผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้นจะช่วยลดค่าใช้จ่ายของผู้ที่มีปัญหาได้
นอกจากศึกษากลไกการย่อยอาหารในช่องปากแล้ว ทีมวิจัยยังศึกษาทั้งระบบทางเดินอาหาร เช่น ในกระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก และลำไส้ใหญ่ เพราะการออกแบบอาหารคงไม่ใช่แค่ให้ความรู้สึกในปากที่ดีเพียงอย่างเดียว คงต้องมีเรื่องหน้าที่ (function) ด้วย กล่าวคือ เมื่ออาหารเข้าสู่ร่างกายแล้วส่งผลต่อสุขภาพอย่างไร
ยกตัวอย่าง เช่น โรคอ้วน ปัจจุบันมีจำนวนประชากรมากถึง 30-40% ของประชากรโลกที่เป็นโรคอ้วน ดังนั้น ถ้าเข้าใจกลไกของอาหารที่เข้าสู่กระเพาะก็สามารถที่จะออกแบบอาหารให้อยู่ในกระเพาะได้นาน และย่อยยากขึ้น ทำให้คนรับประทานหิวช้าลง ก็น่าจะช่วยแก้ปัญหาโรคอ้วนได้
ถาม : ปัจจุบันศึกษาถึงขั้นไหนแล้วครับ?
ตอบ:
เรากำลังจะเริ่มศึกษาในกระเพาะ ลำไส้เล็ก และลำไส้ใหญ่ครับ โดย สวทช.เห็นโอกาสการทำงานทางด้านนี้จึงลงทุนครุภัณฑ์ที่เรียกว่า โมเดลจำลองการศึกษากระบวนการย่อยในระบบทางเดินอาหาร (simulated gut model)
โมเดลนี้สามารถจำลองกลไกการย่อยอาหารภายในร่างกายของมนุษย์ในสภาวะต่างๆ ได้ เช่น ถ้าสนใจอาหารสำหรับทารกก็ใช้สภาวะสำหรับทารก หรือ ถ้าสนใจอาหารสำหรับผู้สูงอายุก็ใช้สภาวะสำหรับผู้สูงอายุ ก็จะสามารถทำนายได้ว่าอาหารที่พัฒนาขึ้นเหมาะสมกับบุคคลแต่ละช่วงอายุหรือไม่ อย่างไร ทั้งในแง่ของการย่อยและการดูดซึม
ถาม : หากจินตนาการถึงกระบวนการย่อย ตั้งแต่ในช่องปากใช้กลไกทางฟิสิกส์เชิงกล ไทรโบโลจี และรีโอโลยี ในกระเพาะใช้กลไกทางเคมี เนื่องจากในกระเพาะมีกรดที่ช่วยในการย่อย เมื่อมาถึงลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่ก็จะใช้กลไกทางชีวภาพ เนื่องจากมีจุลินทรีย์มาเกี่ยวข้อง ดังนั้น อาจถือได้ว่าวัสดุศาสตร์อาหารใช้ความรู้วิทยาศาสตร์พื้นฐานครอบคลุมมิติต่างๆ ทั้งฟิสิกส์ เคมี ชีวะไหมครับ?
ตอบ:
สิ่งที่เกิดขึ้นในร่างกายมนุษย์ต้องบูรณาการความรู้หลายแขนงเข้าด้วยกัน ถ้ามีความรู้ในแต่ละแขนงก็สามารถทำงานให้ครบวงจรมากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่าง เช่น
ถ้าเราสนใจสิ่งที่เกิดขึ้นในกระเพาะอาหาร วัสดุศาสตร์อาหารก็ไปเชื่อมโยงในส่วนเริ่มต้นว่าอาหารที่รับประทานไปแล้วเกิดการแตกสลายอย่างไร เรายังต้องเข้าใจสมบัติทางเคมีของอาหารด้วย เพราะในกระเพาะอาหารจะเกี่ยวข้องกับกรด
ส่วนในลำไส้เล็กมีกลไกการดูดซึม ซึ่งเกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์การขนย้าย (transport phenomena) ที่ช่วยให้เรารู้ว่าการดูดซึมยากง่ายเพียงใด เกิดจากอนุภาคในลำไส้เล็กว่ามีขนาดเล็กใหญ่อย่างไร มีกลไกการดูดซึมเกี่ยวข้องอย่างไรด้วย ดังนั้น วัสดุศาสตร์อาจเป็นแค่จุดเริ่มต้น แต่เราต้องเข้าใจในศาสตร์อื่นๆ ที่ช่วยบูรณาการให้สามารถตอบภาพรวมที่เราสนใจได้ด้วย
ถาม : ดร.ชัยและทีมต้องทำงานร่วมกับนักวิจัยในสาขาอื่นด้วยไหมครับ?
ตอบ:
เราไม่สามารถทำงานภายในทีมวิจัยของเราทีมเดียวได้ เราทำงานร่วมกับทีมวิจัยหลายทีม เช่น การศึกษาในช่องปากก็ทำงานร่วมกับแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะกลืนลำบาก การศึกษาในกระเพาะและลำไส้เล็กทำงานร่วมกับทีมวิจัยไบโอเทค (BIOTEC) ซึ่งมีความเชี่ยวชาญเรื่องสมบัติทางเคมีของอาหาร หรือในลำไส้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับจุลินทรีย์ก็ทำงานร่วมกับไบโอเทค เพราะมีความรู้ด้านจุลชีววิทยา (microbiology)
ส่วนไบโอเทคเองก็ทำงานร่วมกับพันธมิตรที่เป็นแพทย์ที่มีความรู้เกี่ยวกับกลไกการย่อยในระบบทางเดินอาหาร โดยแพทย์จะทดสอบในร่างกายมนุษย์ (in vivo test) เพื่อนำผลมาเปรียบเทียบกับการทดลองด้วยโมเดลจำลองการศึกษากระบวนการย่อยในระบบทางเดินอาหาร ถ้าสามารถพิสูจน์ได้ว่าข้อมูลที่ได้มีความน่าเชื่อถือและเทียบเคียงได้ ในอนาคตก็ไม่จำเป็นต้องทดสอบในมนุษย์ทุกครั้ง
ถาม : ปัจจุบันเริ่มมีผลิตภัณฑ์หรืองานบริการใหม่ๆ ที่พัฒนาขึ้นจากการนำข้อมูลที่ได้จากการบูรณาการศาสตร์ต่างๆ ร่วมกับวัสดุศาสตร์บ้างหรือยังครับ?
ตอบ:
ถ้าในเรื่องการย่อยทั้งระบบยังไม่มีครับ เพราะสิ่งที่เรากำลังทำอยู่เป็นการสร้างองค์ความรู้ภายในทีมวิจัยของ สวทช. ที่สนใจเรื่องการย่อยอาหารทั้งหมด
ในเรื่องของการลงทุนโมเดลจำลองการศึกษากระบวนการย่อยในระบบทางเดินอาหาร เรามองว่าจะช่วยเรื่องการพัฒนาอาหารที่มีหน้าที่ได้มากขึ้นในอนาคต เพราะปัจจุบันปัญหาที่เป็นคอขวดในการทำงานด้านนี้คือ การกล่าวอ้าง (claim) กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยปกติต้องมีการทดลองในสัตว์ แต่เราเข้าถึงได้ยากและมีราคาค่อนข้างสูง ดังนั้น การนำโมเดลจำลองดังกล่าวมาใช้ก็จะช่วยลดระยะเวลาการทดลองในสัตว์ทำให้งานวิจัยมีผลงานออกมาได้เร็วขึ้น เมื่อเรามีองค์ความรู้มากระดับหนึ่งก็จะสามารถร่วมมือกับบริษัทเอกชนที่สนใจงานวิจัยทางด้านนี้ได้ไม่ยาก ซึ่งจะสามารถพัฒนาและผลักดันผลิตภัณฑ์ให้ออกสู่ท้องตลาดได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
ถาม : ในภูมิภาคเอเชียมีประเทศใดที่ใช้โมเดลจำลองการศึกษากระบวนการย่อยในระบบทางเดินอาหารบ้างแล้วครับ?
ตอบ:
ประเทศไทยจะเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีเครื่องมือนี้ครับ
ถาม : ความรู้ที่ถูกสร้างขึ้นจากการวิจัยโดยใช้โมเดลจำลองการศึกษากระบวนการย่อยในระบบทางเดินอาหารบวกกับความรู้อื่นๆ ตั้งแต่การบดเคี้ยวน่าจะเป็นข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) ที่สำคัญของคนในภูมิภาคนี้ ซึ่งมองเป็นโอกาสทางธุรกิจในการพัฒนาผลิตภัณฑ์แห่งอนาคตได้ไหมครับ?
ตอบ:
ได้ครับ โมเดลจำลองการศึกษากระบวนการย่อยในระบบทางเดินอาหารเดิมทีนำไปใช้ในอุตสาหกรรมยาเพื่อศึกษาว่า เมื่อยาเข้าสู่ร่างกายจะมีการดูดซึมอย่างไร ในอุตสาหกรรมอาหารก็เล็งเห็นประโยชน์ในการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคมากที่สุด อีกทั้งต้องการผลักดันให้ผู้บริโภคได้บริโภคอาหารที่มีสารอาหารที่ดีต่อสุขภาพ
เราได้รับฟังเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับการนำความรู้วัสดุศาสตร์ และเรื่องที่หลายคนอาจคาดไม่ถึง โดยเฉพาะเรื่องของกลศาสตร์ ไทรโบโลจี รีโอโลยี ตลอดจนการบูรณาการศาสตร์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับการบริโภคอาหารของมนุษย์ ไม่ใช่แค่การบดเคี้ยวในช่องปาก แต่ยังรวมถึงกระเพาะ ลำไส้เล็ก และลำไส้ใหญ่ ซึ่งทีมวิจัยวัสดุศาสตร์อาหารจะวิจัยแบบลงลึกเพื่อสร้างข้อมูลพื้นฐานและนำไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ได้จริงในอนาคต
ขอขอบคุณ ดร.ชัยวุฒิ กมลพิลาส เป็นอย่างสูงที่ให้เกียรติมาร่วมรายการกับเรา การสัมภาษณ์ครั้งนี้เป็นการให้ข้อมูลพื้นฐานที่ดีมาก เพราะถ้าพูดถึงผลิตภัณฑ์หรือบริการต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ไปก็จะสามารถอ้างอิงภาพรวมที่ให้ไว้ในครั้งนี้ได้
ผู้ที่สนใจรายการนี้ในรูปแบบพอดแคสต์ (podcast) สามารถรับฟังได้ที่