ทีมวิจัย: Ecocera
เรียบเรียงโดย: อิชย์ชญาน์ สินเจริญเลิศ
ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ
คิทเพาะคืออะไร
คิทเพาะเป็นอุปกรณ์อย่างง่ายที่อำนวยความสะดวกในการเพาะเมล็ดงอกหรือต้นอ่อนของธัญพืชในพื้นที่จำกัด ใช้เวลาดูแลน้อย ช่วยให้คนที่ไม่ค่อยมีเวลาสามารถเตรียมเมล็ดงอกหรือต้นอ่อนไว้บริโภคภายในครัวเรือนได้เองในระยะเวลาสั้นๆเมื่อเทียบกับการปลูกผักทั่วไป
ทำไมเมล็ดงอกหรือต้นอ่อนของธัญพืชจึงเป็นที่นิยมบริโภคในกลุ่มคนรักสุขภาพ ?
เมล็ดงอกหรือต้นอ่อนของธัญพืชมีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายในปริมาณที่สูงเมื่อเทียบกับผักทั่วไป สารอาหารในต้นอ่อนเป็นสารประกอบที่ไม่ซับซ้อน ย่อยง่าย และมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ เช่น วิตามิน แร่ธาตุ กรดอะมิโน กรดไขมัน คาร์โบไฮเดรท และไฟโตเคมิคอลต่างๆ
ปัจจัยอะไรบ้างที่มีผลต่อการงอกของเมล็ด ?
ปัจจัยที่มีผลต่อการงอกของเมล็ด ได้แก่ ความชื้นหรือน้ำที่จะเป็นตัวกระตุ้นปฎิกิริยาและเมตาบอลิซึมในการงอก อุณหภูมิ ออกซิเจนสำหรับการหายใจเพื่อย่อยสลายอาหารให้ได้พลังงานที่จำเป็นสำหรับการงอก ทั้งนี้การงอกของเมล็ดส่วนใหญ่มักอยู่ในที่ไม่มีแสง
คิทเพาะ มีข้อดีอย่างไร ?
คิทเพาะใช้งานง่าย ทำความสะอาดได้สะดวกเหมือนภาชนะเครื่องใช้ในครัวทั่วไป ใช้งานซ้ำได้หลายครั้ง ไม่มีเชื้อราสะสม การเพาะด้วยคิทเพาะนี้ช่วยลดขั้นตอนการเพาะจากวิธีการเพาะทั่วไป ไม่ต้องแช่เมล็ดให้อิ่มน้ำก่อนเพาะ ไม่ต้องใช้พลังงานหรืออุปกรณ์จ่ายน้ำที่มีกลไกซับซ้อนเหมือนชุดเพาะอัตโนมัติ ใช้น้ำน้อยในปริมาณที่จำเป็นต่อการงอกเท่านั้น และไม่มีค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ช่วยให้สามารถเตรียมเมล็ดงอกหรือต้นอ่อนไว้บริโภคภายในครัวเรือนได้เอง
คิทเพาะ มีส่วนประกอบอย่างไร ?
คิทเพาะประกอบด้วย 4 ส่วนหลัก ได้แก่
1. ถาดเพาะ รูปทรงไม่จำกัด โดยมีผนังรอบทิศสูงประมาณ 1-15 ซม. ก้นเป็นตะแกรงโปร่งมีขาสูง 1 ซม.รองรับก้นตะแกรงให้ลอยเหนือก้นถาดรองน้ำ รูมีขนาดระหว่าง 0.4-5.0 มม. โดยขนาดของรูจะต้องไม่เล็กกว่าขนาดของเมล็ดแห้ง ก้นตะแกรงทำหน้าที่ส่งผ่านน้ำให้กับเมล็ดและเป็นที่ยึดของรากที่งอกออกมา
2. ถาดรองน้ำ ถาดรองน้ำมีขนาดกว้างกว่าก้นของถาดเพาะประมาณ1 ซม.เพื่อกันมดหรือแมลงไม่ให้มาที่ถาดเพาะ ถาดรองน้ำอาจขยายเพิ่มพื้นที่ เพื่อวางแท้งค์สำรองน้ำสำหรับเมล็ดที่ต้องการน้ำมาก เพื่อให้สามารถให้น้ำได้อย่างต่อเนื่อง
3. แท้งค์สำรองน้ำ สำหรับต้นงอกที่ต้องการน้ำมาก ด้านล่างมีช่องเปิดหรือรูสำหรับปล่อยน้ำ ช่องเปิดมีความกว้าง 6-11 มม. สูงไม่เกิน 15มม. ขอบบนของช่องเปิดอยู่สูงจากผิวน้ำในถาดน้ำประมาณ 5 มม. แท้งค์มีความสูงไม่เกิน 20 ซม. ขนาดช่องเปิดและความสูงของแท้งค์ดังกล่าวเป็นขนาดที่ช่วยรักษาระดับน้ำไม่ให้เปลี่ยนแปลงเกิน 1.5 มม.
4. ฝาครอบกันแมลงและควบคุมความชื้น มีลักษณะโปร่ง เป็นตาข่ายที่มีขนาดรูไม่เกิน 0.5 มม. เพื่อกันแมลงเล็กๆและช่วยให้อากาศถ่ายเท หรือเป็นฝาครอบทึบ ไม่ให้อากาศถ่ายเท เพื่อรักษาความชื้นภายในถาดเพาะ การเลือกใช้ขึ้นกับเมล็ดธัญพืชที่จะเพาะ หากเป็นเมล็ดที่ต้องการน้ำมากเช่น ถั่วเขียว ควรใช้ฝาทึบ หากเป็นเมล็ดอื่นๆเช่น ทานตะวัน ไควาเระ ควรใช้ฝาครอบตาข่ายหรือหากไม่มีแมลงรบกวนก็ไม่ต้องใช้ฝาครอบ
คิทเพาะ มีขั้นตอนการใช้งานอย่างไร ?
คิทเพาะมีขั้นตอนการใช้งาน ดังนี้
1. ล้างทำความสะอาดเมล็ด เพื่อกำจัดสิ่งสกปรก (ปริมาณเมล็ดขึ้นกับขนาดของถาดเพาะ)
2. ใส่เมล็ดลงในถาดเพาะโดยไม่ต้องแช่เมล็ดก่อน
3. วางถาดเพาะลงบนถาดรองน้ำ โดยให้ก้นตะแกรงอยู่สูงกว่าก้นถาดรองน้ำประมาณ 1 ซม.
4. เติมน้ำลงในถาดรองน้ำ โดยให้ระดับน้ำอยู่ที่ผิวตะแกรงพอดี หากเมล็ดมีขนาดมากกว่า 2-3 มม. อาจเติมน้ำเลยขึ้นมาถึงครึ่งเมล็ด
5. เกลี่ยเมล็ดให้กระจายสม่ำเสมอบนตะแกรงเพาะ
6. หากเป็นชนิดของเมล็ดที่โตเร็ว จะใช้น้ำปริมาณมาก ควรวางแท้งค์ช่วยจ่ายน้ำและรักษาระดับน้ำ เพื่อความสะดวก ไม่ต้องมาคอยเติมน้ำ
7. ปิดฝาครอบ หรือตาข่ายครอบ
8. เก็บไว้ในที่ไม่มีแสง จนได้เมล็ดงอกหรือต้นอ่อนตามต้องการ หากต้องการให้ได้ต้นอ่อนมีใบเขียว สามารถนำออกมาให้ถูกแสง 1-2 วันสุดท้ายก่อนเก็บเกี่ยว ทั้งนี้ระยะเวลาในการรอให้ต้นงอกขึ้นกับชนิดของเมล็ดและอุณหภูมิระหว่างการเพาะ
ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติม
ทีมวิจัยวัสดุและระบบเพื่อสิ่งแวดล้อม
ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ
E-mail: Ecocera@mtec.or.th