นักวิจัย: คุณฉวีวรรณ คงแก้ว
เรียบเรียงโดย: อิชย์ชญาน์ สินเจริญเลิศ
ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ
ปัญหาที่พบในการผลิตแอสฟัลต์ซีเมนต์โดยใช้น้ำยางพาราข้นคืออะไร ?
การผลิตแอสฟัลต์ซีเมนต์ (Para AC) โดยใช้น้ำยางพาราข้นเป็นวัตถุดิบที่อุณหภูมิ 140-160 องศาเซลเซียส มักเกิดปัญหาการไอระเหยของแอมโมเนียซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ทั้งยังเกิดการอุดตันของน้ำยางพาราข้นในท่อนำส่ง แม้ว่าผู้ประกอบการลงทุนติดตั้งเครื่องจักรสำหรับดูดไอระเหยของแอมโมเนียและสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียเพิ่มเติมแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
น้ำยางพาราข้นชนิดแอมโมเนียต่ำมากคืออะไร ?
น้ำยางพาราข้นชนิดแอมโมเนียต่ำมาก (Ultra-low Ammonia, ULA) มีปริมาณแอมโมเนียอยู่ในช่วง 0.10-0.15% มีค่าเสถียรภาพต่อการปั่นไม่ต่ำกว่า 1,500 วินาที และมีเสถียรภาพต่อความร้อนสูง จึงเหมาะกับการใช้เป็นวัตถุดิบในผลิตภัณฑ์ Para AC สำหรับอุตสาหกรรมก่อสร้างถนน
ทีมวิจัยพัฒนาน้ำยางพาราข้นชนิดแอมโมเนียต่ำมากอย่างไร ?
• พัฒนาสูตรและกระบวนการผลิตน้ำยาง ULA ระดับห้องปฎิบัติการโดยใช้สารเคมีชนิดอื่นทดแทนแอมโมเนีย
• ร่วมกับ บริษัท ไทยอีสเทิร์น รับเบอร์ จำกัด ผลิตน้ำยาง ULA ระดับอุตสาหกรรม โดยตรวจสอบสมบัติทางกายภาพและทางเคมีของน้ำยาง ULA อ้างอิงตามมาตรฐาน มอก. 980-2552 (น้ำยางข้นธรรมชาติ)
• ร่วมกับ บริษัท ทิปโก้แอสฟัลท์ จำกัด (มหาชน) นำน้ำยาง ULA ไปใช้ผลิตผลิตภัณฑ์ Para AC สำหรับทำถนนที่โรงงานจำนวน 2 แห่ง โดยตรวจสอบสมบัติทางกายภาพและทางเคมีของผลิตภัณฑ์ ULA-Para AC อ้างอิงตามมาตรฐาน มอก. 2731-2559 (แอสฟัลต์ซีเมนต์ปรับปรุงคุณภาพด้วยยางธรรมชาติ)
น้ำยางพาราข้นชนิดแอมโมเนียต่ำมากมีจุดเด่นอย่างไรบ้าง ?
น้ำยางพาราข้นทางการค้า
- มีกลิ่นเหม็นจากแอมโมเนีย
- ใช้เวลาบ่ม 21 วัน
- ทำให้ท่อนำส่งอุดตัน
- สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการบำบัดกลิ่นและน้ำเสีย
- ไม่เสถียรต่อความร้อน
น้ำยางพาราข้น ULA
- ลดกลิ่นเหม็นจากแอมโมเนีย
- ไม่ต้องบ่ม
- ไม่ทำให้ท่อนำส่งอุดตัน
- ไม่มีค่าใช้จ่ายในการบำบัดกลิ่นและน้ำเสีย
- เสถียรต่อความร้อน
- Para AC ที่ผลิตจากน้ำยาง ULA มีสมบัติผ่านมาตรฐาน มอก. 2731-2559
สถานภาพงานวิจัยเป็นอย่างไร ?
• ยื่นจดสิทธิบัตรการประดิษฐ์ “กรรมวิธีการเพิ่มเสถียรภาพของน้ำยางและลดปริมาณแอมโมเนียในการผลิตน้ำยางข้นชนิดแอมโมเนียต่ำสำหรับการใช้ที่อุณหภูมิสูง” เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2559 และจดความลับทางการค้า “สูตรน้ำยางข้นชนิดแอมโมเนียต่ำมากสำหรับผสมกับแอสฟัลต์” เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2560
• ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตและการใช้ประโยชน์น้ำยาง ULA สำหรับทำผลิตภัณฑ์ Para AC ให้แก่ บริษัท ไทยอีสเทิร์น รับเบอร์ จำกัด เรียบร้อยแล้ว
• บริษัท ไทยอีสเทิร์น รับเบอร์ จำกัด ได้ผลิตน้ำยาง ULA ในเชิงพาณิชย์แล้ว โดยจำหน่ายให้แก่ บริษัท ทิปโก้แอสฟัลท์ จำกัด (มหาชน) เพื่อใช้ทำผลิตภัณฑ์ Para AC ในระดับอุตสาหกรรมจำหน่ายให้แก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมก่อสร้างถนน โดยใช้ชื่อว่า ผลิตภัณฑ์ ULA-Para AC
ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติม
คุณฉวีวรรณ คงแก้ว
นักวิจัยอาวุโส ทีมวิจัยน้ำยางและวัสดุยาง
กลุ่มวิจัยนวัตกรรมการแปรรูปยาง
ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ
โทรศัพท์ 02 5646 500 ต่อ 4503
E-mail : chaveer@mtec.or.th